พรีวิว: ใครจะชนะ Omloop Het Nieuwsblad 2019?

อันดับแรก ต้องขออภัยคนอ่านก่อนที่ช่วงต้นปีมานี้ไม่มีโอกาสได้อัปเดตวงการนักปั่นอาชีพเลย ไม่ว่าจะเป็นวิเคราะห์การแข่งและผลการแข่งขันครับ ถ้าใครพอติดตามข่าวต่างประเทศก็น่าจะเห็นว่าปีนี้วงการคึกคักมาก เดือดตั้งแต่ Tour of Colombia ลากยาวมาจนถึง UAE Tour ที่กำลังแข่งกันตอนนี้ และมีนักปั่นหน้าใหม่ไฟแรงที่เริ่มชนะมากขึ้นเรื่อยๆ ให้เราติดตามกัน 

ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ cover การแข่งเท่าไรก็เพราะเวลาไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยจากที่ตอนนี้ผมมาเรียน ป.โท ที่เนเธอร์แลนด์ (แต่ก็ยังติดตามวงการทุกวันนะ) แต่จะทิ้งช่วงยาวกว่านี้ก็คงไม่ดี เพราะสุดสัปดาห์นี้ฤดูกาลแข่งขันสนามคลาสสิคจะเริ่มแล้ว เปิดสนามกันด้วยรายการ Omloop Het Niewsblad และ Kurrne-Brussel-Kuurne ในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 2/3 มีนาคมนี้ 

ถึงทั้งสองรายการจะเป็นสนาม “อุ่นเครื่อง” แต่ด้วยเลเวลการแข่งขันของนักปั่นสนามคลาสสิคที่สูงขึ้นทุกปี บวกกับ Omloop ที่มากับเส้นทางใหม่ ดูแทบไม่ต่างจาก Tour of Flanders (แค่สั้นกว่า 50 กิโลเมตร) แถมได้ยกระดับเป็นสนามแข่งระดับ UCI WorldTour ด้วยแล้ว เดิมพันก็สูงไม่แพ้รายการอื่น และหมายความว่าความเดือดในการแข่งขันก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน 

 

Omloop Het Nieuwsblad

Omloop แข่งมาแล้วทั้งหมด 73 ครั้ง ปีนี้จะเป็นครั้งที่ 74 เป็นการแข่งขันแบบวันเดียวจบ ไฮไลท์คือมีเนินชันและสั้น ถึง 13 ลูก แต่ละเนินนั้นก็ไม่ใช่ถนนธรรมดา เป็นถนนหิน cobble ที่ทอนแรงผู้เข้าแข่งขันได้ไม่น้อย 

ด้วยที่เนินลูกสุดท้ายอยู่ห่างเส้นชัยไม่ถึง 10 กิโลเมตร ทำให้เกมมักจบด้วยการชิงชัยของตัวเต็งที่แกร่งที่สุดกลุ่มเล็กๆ หรือหนีรอดมาคนเดียว อย่างปีที่แล้ว ไมเคิล วาลเกรน (Astana) โซโล่เดี่ยวหนีรอดกลุ่มเกือบห้าสิบคนที่ไล่เขาได้สำเร็จ เข้าเส้นชัยไปก่อนถึง +12 วินาที 

Omloop จะแข่งวันเสาร์ Kurrne-Brussel-Kurrne (KBK) จะแข่งวันอาทิตย์ ทีมส่วนใหญ่ใช้นักปั่นชุดเดียวกันในการแข่งทั้งสองรายการ แต่สนาม KBK จะเอื้อสปรินเตอร์มากกว่า เพราะเนินสุดท้ายอยู่ห่างเส้นชัยเกือบห้าสิบกิโลเมตร ส่วนใหญ่จบด้วยเกมสปรินต์ ไม่ก็เบรคอเวย์กลุ่มเล็กๆ 

ถึงเนินจะเยอะแต่สนามคลาสสิคในเบลเยียมก็ไม่ได้เหมาะกับนักปั่นที่เป็นนักไต่เขาอย่างพวกตัวเต็ง GC เราจะไม่ได้เห็นนักปั่นพวกนั้นในสนามเหล่านี้ครับ กลับกันมันเหมาะกับนักปั่นตัวใหญ่ แรงเยอะ ระเบิดพลังแอนาโรบิกระยะสั้นในการขยี้เนินที่ยาวไม่เกิน 500-2 กิโลเมตรได้อย่างรวดเร็ว ไหวพริบดี พร้อมแก้เกมตลอดเวลา อึดทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็น และต้องมีท่าไม้ตาย ไม่ว่าจะเป็นสปรินต์ระยะสั้นที่ใช้ทิ้งคู่แข่ง หรือเล่นเกมเบรกอเวย์ยาวๆ หนีคนเดียวได้ เรารู้จักกันดีอยู่แล้วว่านักปั่นสไตล์นี้มีใครบ้าง คนดังก็เล่นปีเตอร์ ซากาน (Bora-Hansgrohe) และเกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (CCC Team) 

เส้นทาง Omloop 2019 (คลิกเพื่อซูม)
เส้นทาง KBK 2019 (คลิกเพื่อซูม)

อย่างไรก็ดีปีนี้มีผู้เข้าแข่งขันหน้าใหม่ ที่แข็งแรงและมีลุ้นแชมป์หลายคน มาดูกันว่ามีใครบ้างและฟอร์มตอนนี้เป็นยังไงครับ 

 

1. เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (CCC Team) 

แวน เอเวอร์มาร์ทหรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า GVA เป็นแชมป์สนามนี้สองสมัยในปี 2016 และ 2017 แต่ปีที่แล้วหลุดฟอร์มนิดหน่อย ได้ที่ห้าสิบกว่าๆ จับเบรกอเวย์ไม่ทันหลุดกลุ่มไป 

GVA เริ่มขึ้นมาเป็นแถวหน้าของตัวเต็งรายการคลาสสิคตั้งแต่ปี 2016 และชนะรายการใหญ่ Paris-Roubaix ในปี 2017 โดยรวมแล้วเรารู้สไตล์การปั่นของเขากันอยู่แล้ว เล่นได้ทุกเนิน เบรกอเวย์ดี และสปรินต์พอได้ (เวลาต้องสปรินต์ 1v1 เขาชนะซากานมาแล้วสองครั้ง) 

ปีนี้ GVA มาอยู่กับทีมใหม่ที่สร้างมาเพื่อเขาโดยเฉพาะและโฟกัสของทีมอยู่ที่สนามคลาสสิคล้วนๆ เพราะงั้นเจ้าตัวเองก็คงมีความกดดันอยู่ไม่น้อย (แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยชิน เพราะระหว่างที่อยู่ BMC GVA ก็ต้องแบกหน้าทำผลงานแทนริชีย์ พอร์ทที่ไม่รุ่งทางฝั่งแกรนด์ทัวร์) ปีนี้เขาจะมีลูคาส วิสเนียวสกี้่ อดีตตัวแรงจากทีม Sky ที่ปีที่แล้วขึ้นโพเดี้ยม Omloop ด้วย เป็นผู้ช่วย 

 

2. ทีม Quickstep 

ฟิลลิป จิลแบร์ชนะใน Tour de La Provence กลางเดือนกุมภา / Photo – Luc Claessen, Getty Images

Quickstep ส่งทีมแรงมาลงตั้งแต่รายการแรก แต่หัวหน้าทีมเราเดาว่าน่าจะเป็นอีฟ แลมแพร์และฟิลลิป จิลแบร์ อดีตแชมป์สองสมัย (เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วตั้งแต่รายการนี้ชื่อ Omloop Het Volk) เบอร์รองมีบ็อบ ยุงเกลส์และชเน็ค สตีบาร์ รวมๆ แล้วมีนักปั่นที่มีโอกาสชนะถึงสี่คน ถ้าดูจากผลงานปีที่แล้วที่ Quickstep ชนะรายการคลาสสิคเกือบทุกรายการ คำถามเดียวที่ถามได้คือ ใน Top 10 จะมี QS กี่คน? 

 

3. แยสเปอร์ สตอยเว็น (Trek-Segafredo)

สตอยเว็นขึ้นมาเป็นตัวตายตัวแทน แทนที่เฟเบียน แคนเชอลาราอย่างเต็มตัว และเป็นคนที่ผลงานในรายการนี้ดีครับ ลงแข่งมาสามครั้งแต่ไม่เคยได้อันดับต่ำกว่าที่ 9 เลยทั้งสามครั้ง (ถึงจะยังไม่ชนะก็ตาม) ปีนี้โอกาส Top 10 ก็คงมีเช่นกัน แต่ฟอร์มอาจจะไม่ 100% เพราะล้มเจ็บหนักใน Volta ao Algarve เมื่อสองอาทิตย์ก่อน 

ถ้าสตอยเว็นไม่พร้อม ทีมมีเบอร์สองคือเอ็ดเวิร์ด เทิร์นส์และแมด พีเดอร์เซ็นที่พอจะลุ้นขึ้นอยู่เหมือนกัน (เทิร์นส์ได้ที่ 6 ในปี 2018, ที่ 8 ในปี 2016 และที่ 14 ในปี 2015) 

 

4. ไมเคิล วาลเกรน (Dimension Data) 

วาลเกรนได้แชมป์ปีที่แล้ว

แชมป์เก่าปีที่แล้ว ย้ายทีมจาก Astana มาอยู่ Dimension Data และมีทีมซัพพอร์ทที่ไม่เลวเลย ไม่ว่าจะเป็นเอ็ดวาลด์ บอสซัน ฮาเก็น, จูเลียน เวอร์โมต์ และจิอาโคโม่ นิซโซโล่ คนหลังถึงจะเป็นสปรินเตอร์แต่ก็แข่งสนามคลาสสิคได้ดี

 

5. ทีช เบนูท (Lotto-Soudal)

อีกคนที่ไฟแรง ทีช เบนูท วัย 24 ปีจากเบลเยียมโชว์ฟอร์มแรงในปีที่แล้วที่เขาได้แชมป์ Strade Bianche ก่อนหน้านี้เคยขึ้นโพเดียม Omloop มาแล้วหนึ่งครั้งในปี 2016 ถ้าเบนูทไม่ไหวทีมยังมี ทิม เวลเลนส์ที่พร้อมขึ้นแทน ตั้งแต่เริ่มฤดูกาลมา เวลเลนส์ชนะมาแล้วสามครั้ง 

 

6. Team Sky 

ทีม Sky ไม่ใช่ทีมที่เราคาดหวังได้มากนักในรายการคลาสสิค แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีตัวเล่นครับ รายการนี้ Sky ส่งสามคนที่เป็นตัวเต็ง มีแชมป์สองสมัย เอียน สแตนนาร์ด ที่ฟอร์มไม่ค่อยร้อนแรงเท่าไรในสองปีที่ผ่านมา แล้วก็มีลุค​ โรว์ กับดีแลน แวน บาร์ล อย่างโรว์นี่ก็ติด Top 15 ตลอดทุกครั้งที่เคยลงแข่ง ส่วนแวน บาร์ลเพิ่งชนะรายการ Herald sun Tour เมื่อเดือนมกราคม ก็น่าจะฟอร์มดีอยู่ทีเดียว 

 

7. เซป ฟานมาร์ค (EF Education First) 

ฟานมาร์ค ตัวเต็งจาก EF ที่เคยชนะรายการนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้วนู้น หลังจากที่ไม่ชนะอะไรเลยมาสามปีเต็ม ในทีสุดฟานมาร์ค ก็ชนะสเตจนึงในรายการ Tour de Haut Var สัปดาห์ที่แล้ว ปกติเป็นคนที่ผลงานดีในรายการคลาสสิคแต่ก็ยังไม่ถึงยอดโพเดี้ยมสักที ปีนี้จะเปลี่ยนไปหรือเปล่า? ปีนี้ EF ดูผลงานดีผิดปกติ น่าจะมีโมเมนตั้มที่ดีครับ ฟานมาร์คมีผู้ช่วยเจ๋งๆ อย่างเทย์เลอร์ ฟินนีย์ และเซบาสเตียน แลงเกเวลด์ ซึ่งก็เชี่ยวรายการคลาสสิคพอตัว 

ถ้าฟานมาร์คจะชนะ น่าจะต้องเล่นเกมเบรกอเวย์ แต่นั่นหมายความว่าก็ต้องท็อปฟอร์มเหนือคนอื่นอยู่พอประมาณถึงจะสำเร็จ 

 

8. นิกี้ เทิร์ปสตร้า (Direct-Energie) 

เทิร์ปสตร้าย้ายออกจาก Quickstep รังเก่าไปอยู่กับ Direct Energie ซึ่งเป็นดีลที่หลายคนแปลกใจ เพราะเทิร์ปสตร้าเป็นลูกหม้อคนสำคัญของ QS และทำผลงานให้ทีมหลายครั้ง แต่ก็เป็นการย้ายทีมที่เข้าใจได้เมื่อ QS ไม่มีเงินที่จะจ้างดาวดังหลายๆ คน และเลือกที่จะตัดนักปั่นอายุมาก (เทิร์ปสตร้าอายุ 34) ออกจากทีมแล้วทุ่มพัฒนานักปั่นรุ่นใหม่แทน ขณะเดียวกัน Direct Energie เองก็ไม่มีตัวเต็งคลาสสิคเลย การย้ายครั้งนี้ทำให้เทิร์ปสตร้าได้นำทีมเพียงคนเดียว ไม่ต้องแย่งกับตัวเต็งคนอื่นๆ เหมือนในรายการคลาสสิคซึ่งอาจจะเป็นเรื่องดีสำหรับตัวเขาเองครับ 

สิ่งที่น่าคิดคือปกติ QS เล่นเกมแบบเป็นทีม ตามสไตล์ฝูงหมาป่าเท่ห์ๆ ของเขานั่นหละครับ ทีมจะได้เปรียบจากที่มีตัวรุกเยอะ แต่เมื่อเทิร์ปสตร้าต้องลุยคนเดียวแบบนี้ เขาจะปิดเกมได้ไหม เดี๋ยวก็คงรู้กัน 

 

9. โอลิเวอร์ เนเซ็น (AG2R) 

AG2R ไม่ใช่ทีมแรกที่เราถึงในสนามคลาสสิค แต่จริงๆ แล้วเป็นทีมที่แข็งใช้ได้ เนเซ็นเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในสนามแข่งแบบวันเดียว ปีที่แล้วเขาติด Top 10 ใน E3 Harelbeke และ Gent-Wevelgem รวมถึงได้ที่ 12 ใน Paris-Roubaix ด้วย ที่สำคัญเขามีผู้ช่วยเป็นซิลเวน ดิลิเย อันดับสอง Paris-Roubaix ปีที่แล้วที่พ่ายให้ซากานเท่านั้น และมีสไตน์ แวนเดนเบิร์ก อีกหนึ่งอดีตลูกทีม Quickstep ที่ชำนาญการคุมเกมคลาสสิคครับ เป็นทีมที่ลุ้นได้เหมือนกัน 

 

10. เวาท์ แวน อาร์ท (Jumbo-Visma) 

ถึงจะเก็บแชมป์โลก Cyclocross ได้ไม่สำเร็จ แต่ปีนี้จะเป็นปีที่ WVA ได้ลุยสนาม road อย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรก ผมว่าเป็นคนที่น่าดูที่สุดในสนามนี้ครับ เรารู้ว่าเขาเด็ดขนาดไหนในรายการ Cyclocross แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือจะสามารถทำฟอร์มผูกขาดการแข่งขันในรายการ Road ได้หรือเปล่า ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน อย่างสตีบาร์ (Quickstep) เองที่ว่าแน่ใน CX ก็ยังชนะแค่ประปรายเมื่อย้ายมาเป็นโปรฝั่งถนน 

 

สปรินเตอร์

อย่างที่บอกไป รายการคลาสสิคทั้งสองสนามนี้มีโอกาสที่สปรินเตอร์พอจะชนะได้อยู่ โดยเฉพาะในสนาม KBK วันอาทิตย์ครับ และเราก็มีสปรินเตอร์ที่น่าดูหลายคนเหมือนกันเช่น

  • อานอด์ เดอมาร์ (FDJ) 
  • ปาสคาล แอคเคอร์แมน (Bora-Hansgrohe)
  • ไมเคิล แมธธิวส์ (Sunweb)
  • ซันนี้ โคลเบรลลี (Bahrain-Merida)
  • ดีแลน โกรนเวเก็น (Jumbo-Visma)
  • ฟาบิโอ้ ยาค็อบเซ็น (Quickstep)
  • อังเดร ไกรเปิล (Team Arkea Samsic)
  • แยสเปอร์ ฟิลลิปเซ็น (UAE)
  • แมทเทโอ เทรนติน (Mitchelton-Scott)

ในลิสต์ข้างบนนี้ หลายคนมีชัยชนะแล้วในฤดูกาลนี้ โดยเฉพาะเทรนตินที่ชนะแล้วสามครั้ง ส่วนโกรนเวเก็นที่เป็นแชมป์เก่าก็ประมาทไม่ได้ทีเดียวครับ 

โดยรวมแล้วน่าจะเป็นสุดสัปดาห์ที่สนุกสำหรับแฟนจักรยานครับ อย่าลืมติดตามกัน 

 

ถ่ายทอดสด

Omloop Het Nieuwsblad, 2 มีนาคม 

20:15-23:00 

Kuurne-Brussel-Kuurne, 3 มีนาคม

21:15-23:00

ลิงก์ถ่ายทอดสด: https://tiz-cycling.live

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *