ทาสเทคโนโลยี

ชั่วโมงนี้ไม่ว่าจะเดินทางที่ไหนไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้า ร้านอาหารหรือแม้แต่ลานรวมตัวนักปั่นจักรยานก็ดี ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเห็น “อาการ” หนึ่งที่ดูจะกลายเป็นอิริยาบทใหม่ประจำยุคนี้เสียแล้ว มันคืออาการ “ก้มหน้า” ก้มอะไร? คงไม่ต้องถาม ก้มหน้ากดสมาร์ทโฟนที่คอยเชื่อมต่อคุณและ “เพื่อน” รอบโลกทุกที่ ทุกเวลา บ้างก็กล่าวว่ามันคือโรคระบาด บ้างก็ว่ามันคือยาเสพติดดิจิตอลที่ทำให้เราหลงลืมคนข้างกาย 

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ถึงเราจะใช้อินเตอร์เน็ตกันมาหลายสิบปี แต่ครั้งแรกที่พูดได้อย่างเต็มปากจริงๆ ว่า “โลกทั้งใบอยู่ในมือคุณ” ก็เมื่อเรามีเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ช่วยให้เราติดต่อสื่อสารกับเพื่อน ครอบครัวและผู้คนมากมายที่ทั้งมีและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตเรา แต่อ่านมาได้สองย่อหน้า คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า Facebook Line และ Twitter เหล่านี้มันเกี่ยวกับจักรยานยังไง? ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเริ่มเดาออกแล้วหละว่าผมกำลังจะพูดถึงอะไร — วงการจักรยานของเราก็มีเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับนักปั่นโดยเฉพาะเหมือนกัน

 

The Cyclist Social Media

Strava (อ่าน: สตราวา) คือแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน (Android/ iOS) ที่สามารถบันทึกข้อมูลการปั่นแต่ละครั้งของคุณ ไม่ว่าจะเป็นระยะทาง ความเร็ว อัตราการเต้นของหัวใจ กำลังวัตต์ เส้นทางแบบ GPS คุณสามารถดูข้อมูลเหล่านี้ย้อนหลังผ่านทางเว็บไซต์และแอพพคลิเคชัน Strava ราวกับเป็นบันทึกการปั่นส่วนตัวของคุณ 

ลำพังฟังก์ชันแค่นี้คงไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่หมัดเด็ดของ Strava ก็คือคุณสามารถเปรียบเทียบข้อมูลการปั่นของคุณกับเพื่อนคนไหนก็ได้  (ที่สามารถ add/ follow ได้ไม่ต่างจาก Facebook) และล่าสุดผู้ใช้ยังสามารถตั้งกลุ่มหรือทีมขึ้นมาเพื่อเทียบข้อมูลกันเฉพาะคนในวงก็ยังได้ ทั้งยังสามารถคอมเมนต์ถึง “activity” หรือบันทึกการปั่นล่าสุดของแต่ละคนไม่ต่างอะไรกับการคอมเมนต์สถานะใน Facebook สถานะการปั่นที่กล่าวถึงนี้มีมากกว่า 100 ล้านครั้งทั่วโลกในแต่ละเดือน! 

 

กำเนิด Strava

นักปั่นที่ทำความเร็วได้เยอะที่สุดในแต่ละเส้นทาง (Segment) นั้นจะมีรางวัลดิจิตอลที่เรียกว่า KOM (King of the Mountain) เป็นเสมือนโล่เกียรติยศที่ทำให้ทุกคนรู้ว่านักปั่นคนนี้คือคนที่เร็วที่สุดประจำเส้นทางนี้ แน่นอนว่ามีคนสร้างเซกเมนท์ขึ้นมาทั่วโลก ผ่านเส้นทางปั่นที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาลูกเด็ด หรือแม้กระทั่งเส้นทางที่ใช้แข่งรายการใหญ่อย่างตูร์ เดอ ฟรองซ์ก็มีกันครบ ในไทยเราก็มีหลากหลายตั้งแต่เส้นทางสนามบินสุวรรณภูมิแหล่งรวมตัวนักปั่น ไปจนถึงดอยอินทนนท์และดอยสุเทพในจังหวัดเชียงใหม่ การันตีได้ว่าไม่ว่าคุณจะไปจังหวัดไหนต้องมีเซกเมนท์เด็ดที่มีราชัน KOM คอยพิชิตความเร็วคุณอยู่ ในแต่ละเซกเมนท์จะมีอันดับตารางนักปั่น (leaderboard) จากคนที่เร็วที่สุดไปถึงคนที่ช้าที่สุด 

ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณได้ครอง KOM จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจทำความเร็วก็ดี ถ้ามีคนทำความเร็วได้ดีกว่าคุณ Strava จะส่งอีเมล์อัตโนมัติมาเตือนคุณทันทีว่ามีคนขโมยรางวัลเกียรติยศของคุณไปซะแล้ว การแย่งชิงอันดับ KOM จึงกลายมาเป็นกิจกรรมที่นักปั่นทั่วโลก “ติด” ไม่ต่างอะไรกับคอยเช็คยอด Like ใน Facebook มาร์ค เกนีย์ ผู้ก่อตั้ง Strava เข้าใจดีถึงสัญชาติญาณดิบของมนุษย์ที่อยากจะเอาชนะคู่แข่ง ไม่ว่าเขาจะเป็นเพื่อนบ้านที่ปั่นด้วยกันทุกเย็น หรือจะเป็นนักปั่นอาชีพที่อาจจะแวะมาปั่นเส้นทางเดียวกันก็ตาม 

S__33333336

เมื่อคอมพิวเตอร์จักรยานแบบ GPS เริ่มเป็นที่แพร่หลายในช่วงปี 2008 มาร์คซึ่งเป็นที่ปรึกษาบริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอน วัลเลย์จึงร่วมมือกับไมค์ โฮเวิร์ท — ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อสร้างสังคมออนไลน์ที่นักปั่นสามารถเปรียบเทียบข้อมูลการปั่นและคุยทับถมกันออนไลน์ได้ไม่ต่างอะไรกับนักกีฬาที่ชอบอวดช๊อตเด็ดของตัวเองในห้องล๊อกเกอร์หลังแข่งเสร็จ 

ทั้งคู่ได้ทดลองให้เพื่อนๆ นักกีฬายืมเครื่องคอมพิวเตอร์จักรยาน Garmin ไปใช้แล้วอัปโหลดข้อมูลลงในซอฟต์แวร์ที่พวกเขาคิดค้นและบังคับให้กลุ่มเพื่อนๆ ทดลอง ประเด็นที่ทั้งคู่เห็นว่าน่าสนใจที่สุดในบรรดาพฤติกรรมของเพื่อนนักกีฬาก็คือ พอทุกคนปั่นเสร็จ กลับถึงบ้าน สิ่งแรกที่นักกีฬาเหล่านี้ทำเหมือนกันก็คือ เช็คดูว่า “บันทึกการปั่นออนไลน์” เพื่อนคนอื่นเป็นยังไง? 5 ปีถัดมา Strava กลายเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ของนักปั่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Garmin ก็ต้องหันมาเพิ่มฟีเจอร์คล้ายๆ กับ Strava เพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน

 

ด้านมืดและด้านสว่าง

เทคโนโลยีเป็นเสมือนดาบสองคม ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีนั้นโตเร็วเกินกว่าความสามารถของมนุษย์ที่จะเรียนรู้และใช้มันให้ “พอดี” ยกตัวอย่าง Facebook เรารู้กันดีว่ามันกลายเป็นสิ่งเสพติดดิจิตอลที่ได้ทำลายความสัมพันธ์และหน้าที่การงานของคนไปไม่น้อยเพียงเพราะให้ความสำคัญกับโลกเสมือนมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง พนักงานบางคนโพสต์สถานะหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม กระทบกระทั่งกับเพื่อนร่วมงานจนถูกไล่ออกก็มีไม่น้อย คนรักอาจจะทะเลาะกันเพียงเพราะคู่ของตนไปแอบคุย (ออนไลน์) กับคนอื่นและไหนจะนักเรียนนักศึกษาที่ก้มหน้าก้มตาแชท Line มากกว่าจะสนใจอาจารย์ที่สอนอยู่หน้าชั้น

S__33333337

เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นแค่เครื่องมือ จะใช้มันได้เกิดประโยชน์หรือโทษนั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ใช้เป็นหลัก Strava เองก็เจอกับปัญหาเดียวกับเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ มีนักปั่นหลายคนที่ “อิน” กับสถิติและตัวเลขออนไลน์จนเลยเถิดเกินความพอดีไป ในปี 2555 คิม ฟลินท์ นักปั่นชาวอเมริกันที่มุ่งมั่นกับการล่าตำแหน่ง KOM ต้องเสียชีวิตระหว่างที่เขากำลังพยายาม “ทวงคืน” อันดับ KOM ที่โดนคู่แข่งขโมยไปหนึ่งวันก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิต ฟลินท์ดิ่งลงเขาด้วยความเร็วสูงกว่า 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และประสานงาเข้ากับรถยนต์ที่สวนมา ครอบครัวของฟลินท์พยายามฟ้องร้อง Strava ว่า “สนับสนุนให้ผู้ใช้ปั่นจักรยานอย่างไร้สติ” แต่คดีก็ถูกยกฟ้องเพราะทางศาลตัดสินว่าไม่ใช่ความผิดของ Strava แต่เป็นความประมาทเลินเล่อของฟลินท์เอง 

 

LIKE ME LIKE ME LIKE ME! 

อีกเรื่องที่เห็นได้บ่อยคือพฤติกรรมของผู้ใช้ Strava ที่สนใจเพียงแต่จะทำลายสถิติความเร็วเพียงอย่างเดียว ผู้ใช้หลายคนเลิกปั่นตามโปรแกรมฝึกซ้อม หวังทุบสถิติของคู่แข่งและตัวเองในทุกครั้งที่ปั่น เพราะต้องการคำชื่นชมหรือยอด Like จากเพื่อนนักปั่นในกลุ่มจนกลายเป็นนิสัยที่แก้ได้ยาก ไม่ต่างอะไรกับหลายๆ คนที่นิยมถ่ายรูปมุมที่ตัวเองดูดีที่สุดโพสต์ขึ้นสื่อออนไลน์หวังคำชื่นชมจากคนรอบข้าง

เมื่อเราปล่อยให้เทคโนโลยีกลายเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมของเรา มันก็ไม่ต่างอะไรกับการตกเป็นทาสเทคโนโลยี ผมเห็นเพื่อนนักปั่นหลายคนออกมาทะเลาะกันผ่านโลกออนไลน์เพียงเพราะว่าอีกฝ่ายอิจฉาที่ไม่สามารถทำลายสถิติของเพื่อนเขาได้ บ้างใส่ร้ายกันว่าโกง โด๊ป ให้เพื่อนคอยบังลม จนพาลมองหน้ากันไม่ติด บางคนที่ทะเลาะกันนั้นยังไม่เคยเจอหน้ากันจริงๆ ด้วยซ้ำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Strava ก็มีส่วนดีไม่น้อย ผมเองก็เป็นผู้ใช้ Strava ที่ต้องอัปโหลดข้อมูลแทบทุกครั้งหลังการปั่นเพื่อเช็คสถิติการปั่น ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาทุกคนและสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาจุดด้อยของเราได้อย่างแม่นยำ เทคโนโลยีที่เคยจำกัดอยู่ในวงของนักปั่นอาชีพในอดีตนั้นกลายมาเป็นบริการฟรีที่นักปั่นทุกๆ คนสามารถเข้าถึงได้ ไหนจะเช็คการปั่นของเราเทียบกับคนอื่นที่ช่วยกระตุ้นให้เราอยากคว้าจักรยานออกมาปั่นจนเป็นนิสัย จะด้วยเป้าหมายที่หวังพิชิต KOM คู่แค้นหรือเพื่อเก็บยอดระยะทางการปั่นในแต่ละเดือนก็ดี อะไรที่ทำให้คนอยากลุกจากโซฟามาออกกำลังกายถือเป็นเรื่องดีทั้งนั้น 

IMG_6781

เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ถ้าเรารู้จักใช้มันอย่างพอเหมาะ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าเมื่อบนถนนทุกวันนี้เราเห็นคนก้มหน้ามองจอมือถือ ไม่หันมายิ้มแย้มทักทายกันเหมือนแต่ก่อน บนจักรยานผมก็เห็นหลายๆ คนก้มมองแต่หน้าจอความเร็วทั้งๆ ที่ทิวทัศน์สองข้างทางนั้นสวยจนแทบจะลืมหายใจ เงยหน้ามองสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ปิดคอมพิวเตอร์บ้าง สนุกกับการปั่นมากกว่าการคำนวนตัวเลขบ้าง บางทีมันอาจจะทำให้เราจำได้ว่าจริงๆ แล้วเราเริ่มปั่นจักรยานกันเพราะอะไร

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Cycling Plus Thailand สิงหาคม 2557

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *