ในมุมอับของความเจ็บปวด

คุณเคยถามตัวเองไหมครับว่าการปั่นจักรยานมีความหมายอะไรสำหรับเรา? สำหรับประเทศไทยที่การปั่นจักรยานกำลังเริ่มเป็นที่นิยมในวงกว้าง มันอาจจะหมายถึงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหรือเพื่อความสนุกกับเพื่อนฝูง และความบันเทิงในการจับจ่ายเลือกซื้ออุปกรณ์ แต่หากเราลองมองไปยังประเทศอื่นๆ ที่การปั่นจักรยานเฟื่องฟูมาหลายร้อยปี เราจะพบว่าการปั่นจักรยานนั้นมีความหมายมากกว่าที่เราคิด

ผมขอยกตัวอย่าง 3 ประเทศที่เป็น “เมืองหลวง” ของการปั่นและการแข่งขันจักรยานนั่นก็คือ เบลเยียม ฝรั่งเศส และสเปน ซึ่งการปั่นในประเทศดังกล่าวสะท้อนลักษณะวัฒนธรรมของคนในประเทศได้เป็นอย่างดี สำหรับประเทศเบลเยียมนั้น การแข่งขันจักรยานคือการทดสอบความแกร่งของมนุษย์ เส้นทางการแข่งขันมักจะยาวเกินกำลังมนุษย์ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ บนเส้นทางถนนหินโบราณคั่นสับหว่างด้วยเนินชันนับสิบลูกตลอดการแข่งเช่นรายการ Tour of Flanders ที่เส้นทางยาวกกว่า 250 กิโลเมตร ชาวเบลเยียมไม่สนใจถึงท่าทางความสวยงามในการปั่น บ่อยครั้งที่ใบหน้าผู้เข้าแข่งขันถูกปกคลุมไปด้วยโคลนตม ยิ่งลำบากเท่าไรชัยชนะยิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเท่านั้น ความท้าทายของสนามแข่งจะเฟ้นคัดเหลือแค่ผู้ชนะที่กล้าแกร่งและคู่ควรเพียงคนเดียว 

ในมุมกลับการแข่งขันในฝรั่งเศสกลับมีภาพลักษณ์ที่ดูมีรสนิยม สง่า ยิ่งใหญ่และสวยงาม นิยมจัดการแข่งขันอย่างใหญ่โตเช่น Tour de France เทือกเขานับร้อยที่เรียงตัวอยู่รายล้อมชายแดนมีบรรยากาศแห่งความลึกลับน่าพิศวง ไม่ใช่เพียงแค่อุปสรรคทางการกีฬาที่ต้องก้าวข้าม เขาชันหลายลูกกลายเป็นตำนานที่นักปั่นต้องพยายามพิชิตเปรียบเสมือนบททดสอบคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเขา 

Tour de France 2014 Stage 8 (3 of 7)

ในประเทศสเปน การแข่งขันจักรยานเปรียบเสมือนเทศกาลเฉลิมฉลอง สเปนเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป สนามแข่งในสเปนจึงเป็นกระจกสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชนได้เป็นอย่างดี นักปั่นจากแคว้นต่างๆ พยายามถ่ายทอดเอกลักษณ์ออกมาในท่วงท่าการปั่น  ถึงแม้จะมองจากไกลๆ ผู้ชมก็รู้ได้ทันทีว่านักปั่นคนนี้เป็นนักปั่นท้องที่ สำหรับนักปั่นชาวสเปนแล้ว การแข่งขันจักรยานเป็นกระบวนการเรียนรู้ สำรวจความสามารถตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ​ ซึ่งเขาให้ความสำคัญมากกว่าผลการแข่งขัน

ถึงแม้แต่ละชาติจะให้ความหมายการปั่นจักรยานต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงนักปั่นและคนดูจากทุกชาติทั่วโลกเข้าด้วยกันก็คือ “ความเจ็บปวด”​ (suffering) ในคอลัมน์ On the Road ตอนที่แล้วผมได้เล่าถึงคุณลักษณะของนักปั่นอาชีพสองคนที่ทำให้ผู้คนนับถือและหลงไหล ยกย่องให้เป็นผู้กล้าประดุจนักรบกลาดิเอเตอร์ เพราะทั้งคู่ก้าวข้ามกำแพงแห่งความเจ็บปวดและแข่งขันต่อจนประสบความสำเร็จ 

สำหรับแฟนๆ ผู้ชมการแข่งขันนั้นเรายกย่องความกล้าแกร่งของผู้เข้าแข่งขัน เราอยากเห็นนักปั่นข้ามกำแพงความเจ็บปวดเอาชนะปีศาจทั้งภายในและภายนอก เฟ้นความกล้าออกมาปะทะกันจนเหลือผู้ชนะเพียงคนเดียว ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความบันเทิงของเรามักจะแปรผันตามระดับความทุกข์ทรมานของผู้เข้าแข่งขันเพราะร่างกายของมนุษย์ถูกโปรแกรมให้เสพย์ติดสัญชาติยาณดิบในความตื่นเต้นท้าทายจากการต่อสู้ หลายต่อหลายครั้งที่วรรณกรรมและสื่อในวงการจักรยานถ่ายทอดเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของสนามแข่งยกมาเปรียบเทียบกับสงครามและสนามรบ มีผู้ชนะเป็นฮีโรที่เราควรเอาเยี่ยงอย่าง

ในมุมหนึ่งการแข่งขัน กีฬาอาชีพเป็น “ความบันเทิง” และตัวแทนของจิตใจมนุษย์ที่อยากจะเอาชนะอุปสรรคโดยไม่ต้องออกไปลำบากด้วยตัวเอง แต่ในมุมกลับกัน จุดไหนที่มันก้าวข้ามเส้นความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน เพื่อแลกกับความสนุกสนานของผู้ชม? การแข่งจักรยานอาจจะไม่ใช่กีฬาที่ดูรุนแรงเหมือนอเมริกัน ฟุตบอล มวยสากลและฮ๊อกกี้น้ำแข็ง แต่เรื่องความอันตรายนั้นก็น่ากลัวไม่แพ้กัน

Milano-Sanremo 2013

ผมนึกถึงสนามแข่ง Milan-San Remo ในประเทศอิตาลีเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำหรับคนที่ไม่เคยติดตามการแข่งขันจักรยานทางไกล การแข่ง Milan-San Remo คือหนึ่งในสนามแข่งแบบวันเดียวจบที่ยาวที่สุดในรอบปีด้วยเส้นทางกว่า 300 กิโลเมตร – ยาวเกินกว่าที่คนทั่วไปคิดว่าจะปั่นจบได้ในวันเดียว มีนักปั่นเข้าร่วมกว่า 200 คน อุปสรรคที่ท้าทายกว่าเส้นทางในสนาม San Remo ปีนี้กลับเป็นสภาพอากาศความหนาวระดับติดลบและพายุหิมะที่รุนแรงจนต้องปิดถนน…ระหว่างการแข่งขัน ผู้จัดแข่งพยายามหาเส้นทางใหม่ ตัดทางขึ้นและลงเขาที่นักปั่นต้องทำความเร็วและอาจจะเป็นอันตรายได้ แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดสำหรับคนดูหลายๆ คนก็คือทำไมผู้จัดแข่งไม่คิดที่จะระงับการแข่งขัน? 

เรื่องนี้อาจจะฟังดูแปลกประหลาดสำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามการแข่งจักรยาน แต่เชื่อหรือไม่โลกแห่งการแข่งขันกีฬาเสือหมอบนั้นยังติดอยู่ในหลุมที่ผู้มีส่วนร่วมทั้งนักปั่น ผู้ชม สปอนเซอร์ ผู้จัดแข่ง ขุดฝังตัวเองด้วยประวัติศาสตร์ ตำนานและวัฒนธรรมการแข่งที่ยึดมั่นกับความกล้าแกร่งและความเจ็บปวดของนักปั่น จนบางครั้งเราก็มองข้ามเรื่องง่ายๆ อย่างความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขันไป ในรายการ San Remo นักปั่นร่วมสิบคนเกิดอาการ Hypothermia อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำอย่างรวดเร็วจนอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อีกกว่าร้อยคนก็อยากจะแข่งขันต่อให้จบเอารางวัลให้ได้ เพราะมันเป็นสนามแข่งที่ยิ่งใหญ่จัดต่อเนื่องยาวนานกว่าร้อยปีและจัดขึ้นแค่ปีละหนึ่งวันเท่านั้น ขณะเดียวกันผู้จัดแข่งรู้ว่าหากยกเลิกการแข่งต้องโดนแฟนๆ และสปอนเซอร์ต่อว่า เพราะเช่นเดียวกับนักแข่ง คนดูก็ต้องรอหนึ่งปีเต็มกว่าจะได้ชม Milan-San Remo อีกหนึ่งครั้ง

กรณีสุดโต่งแบบ Milan-San Remo ในปีนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่มันก็เป็นภาพสะท้อนว่ากีฬาจักรยานอาจจะหลงลืมรากของตัวเอง ในสมัยก่อนการแข่งจักรยานเสือหมอบเกิดขึ้นในยุโรป และเป็นกีฬาของชนชั้นแรงงาน เป็นกีฬาที่ใครจะเข้าร่วมแข่งขันก็ได้และเป็นโอกาสให้ผู้คนได้หลุดพ้นหาความบันเทิงจากสภาพแวดล้อมแย่ๆ ในโรงงานซึ่งในสมัยนั้นจัดว่าอันตรายกว่าการแข่งขันจักรยานมาก ปัจจุบันกลับเป็นการแข่งจักรยานที่อันตรายกว่าการทำงานในโรงงานด้วยซ้ำไป

การเอาชนะความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงนักปั่นทั่วโลกเข้าด้วยกัน หากเรามองข้ามภาพลักษณ์ ประวัติศาสตร์และเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อของบรรดาผู้กล้าที่พิชิตอุปสรรคในการแข่งจักรยานไปได้ เราอาจจะพบว่าความหมายของการปั่นจักรยานมันก็แค่การเอาชนะใจตัวเองอย่างหยาบที่สุด ไม่ว่าเป้าหมายของคุณจะเป็นการเอาชนะแชมป์ Tour de France หรือการปั่นสนุกสนานเพื่อลดน้ำหนัก คุณก็ต้องก้าวข้ามแรงเฉื่อยทั้งในใจและนอกกายที่คอยรั้งไม่ให้คุณไปข้างหน้าเหมือนๆ กัน แต่ที่แน่ๆ ทุกครั้งที่เท้าของเรากดบันได เรารู้ดีว่าในมุมอับของความเจ็บปวดนั้น มันอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวและแรงบันดาลใจให้เราพร้อมจะอดทนมากขึ้นอีกนิดหนึ่งเสมอ

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Cycling Plus Thailand, กุมภาพันธ์ 2557

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *