1 เดือนกับ Specialized S-Works Evade 2

Specialized S-Works Evade เป็นหมวกกันน็อคใบแรกๆ ที่ DT รีวิว ส่วนตัวผมใช้เองมานานจนตอนนี้แตกไปแล้ว ประจวบกับมีเวอร์ชันสองออกมาใหม่พอดี ที่ Specialized เคลมว่าลู่ลมประหยัดพลังกว่าเดิม เย็นกว่าเดิมเหมือนใส่หมวกธรรมดาที่มีรูระบายอากาศเยอะๆ ตอนนี้ลองใส่มาได้ร่วมเดือนกว่าแล้ว ก็เลยอยากมาเล่าให้ฟังว่าเป็นยังไงบ้างครับ

 

หมวกนี้คืออะไร?

Specialized S-Works Evade 2
ราคาตั้ง: 10,900 บาท (ส่วนลดสอบถามร้านค้า)

Specialized เป็นผู้ผลิตหมวกกันน็อคจักรยานถนนรายแรกๆ ของวงการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องแอโรไดนามิก เปิดตัวหมวก Evade รุ่นแรกในช่วงต้นปี 2013 ซึ่งหมวกรุ่นนั้นก็ทำออกมาได้ไม่เลวครับ เรื่องความลู่ลม คนใช้ธรรมดาอย่างเราคงพิสูจน์ไม่ได้ แต่จากข้อมูลการทดลองในอุโมงค์ลมจากสื่อต่างประเทศหลายๆ สื่อ ไม่ว่าจะเป็น Tour Magazine, Bikeradar, และ Road Bike Action ต่างก็ได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่ Specialized เคลม

ปัญหาเดียวคือหมวกแอโรเจเนอเรชันแรกๆ นั้นมักมีปัญหาเรื่องการระบายความร้อน เพราะจัดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญรองจากความลู่ลม จนช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตเริ่มรับรู้ถึงปัญหานี้ พัฒนาหมวกแอโรรุ่นใหม่ๆ ที่ระบายอากาศได้ดีแต่ก็ยังรักษาความลู่ลมไว้ได้เท่ากับหรือมากกว่าเดิมด้วย Evade 2 ก็เป็นหนึ่งในนั้น

การทำหมวกแอโรนั้นจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้ยากเท่าไร ถ้าอยากให้ลมไหลผ่านได้ดี โฟลว์สมูทไม่เกิด drag ตามหลังก็แค่ทำให้หมวกเรียว ยาว คล้ายๆ หมวก time trial แล้วก็รูระบายอากาศน้อยๆ แต่การจะทำหมวกแอโรให้เร็ว เย็นสบาย และน้ำหนักเบาแล้วด้วยนั้นเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายครับ ส่วนใหญ่หมวกแอโรจะได้แค่สองอย่าง คือลู่ลม เย็นสบาย แต่น้ำหนักมาก (เช่น Giro Vanquish MIPS ที่เราเคยรีวิวไป)

 

การออกแบบ

Specialized อ้างว่าระยะเวลาในการพัฒนาหมวก Evade 2 กว่าครึ่งนั้นทุ่มให้การระบายอากาศ​ โดยที่ใช้อุโมงค์ลมร่วมทดสอบไปด้วยเพื่อให้ได้หมวกที่ยังลู่ลมดีอยู่โดยที่ไม่เสียเรื่องการระบายความร้อน ใช้การวางเซนเซอร์ความร้อนไว้ในหมวกระหว่างที่ออกแบบช่องระบายอากาศที่ได้สมดุลระหว่างความเย็นสบายและความลู่ลม

แน่นอนว่านี่คือ Specialized ก็จะโม้เก่งอยู่แล้ว ในข้อมูลโฆษณา Specialzied บอกว่าหมวก Evade 2 นั้่น “เย็นสบายเหมือนไม่ใส่อะไรเลย” ระหว่างปั่นที่ความเร็ว 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อีกหนึ่งดีไซน์ที่เราเห็นได้เยอะในหมวกแอโรเจนเนอเรชันใหม่คือการเพิ่มช่องที่ช่วยการไหลของลม (channel) ในโฟมกันกระแทกด้านใน ช่องพวกนี้ช่วยให้เกิดปรากฏการณ์การไหลผ่านคอคอด (Venturi effect)

ดีไซน์นี้อาศัยหลักการที่ว่า เมื่อกระแสลมไหลผ่านช่องขนาดเล็กจะทำให้ความเร็วลมเพิ่มมากขึ้น ช่วยถ่ายเวียนอากาศร้อนออกไปข้างหลังหมวกได้อย่างรวดเร็ว

ฟิตติ้งหมวก Evade 2 จะต่างจากหมวกทั่วไปเล็กน้อย ตำแหน่งหมวกจะอยู่ต่ำครอบขมับ อยู่เหนือใบหูนิดเดียวครับ

ข้อดีคือช่วยให้หมวกไม่ดูโป่งและสูงเกินไป ดูกระชับลู่ไปกับศีรษะดี ทรงหมวกเพรียวกว่า Evade รุ่นแรกเล็กน้อย และหางหลังสั้นกว่า 1cm แต่การที่มันอยู่ต่ำก็อาจจะทำให้ขอบหมวกแตะกับขาแว่นกันแดดจนรำคาญได้

 

ใส่แล้วเป็นยังไง?

Photo: Anut Pruksuwat

ฟิตหมวกโดยรวมแล้วใส่สบายดี ไม่มีจุดไหนที่รู้สึกบีบไปหรือกว้างไปไม่กระชับ ระบบปรับรัดกระชับของ Specialized ทำงานไม่ต่างกับของเจ้าอื่น คุณปรับความกระชับได้จากลูกบิดด้านหลังหมวก และเลื่อนตำแหน่งโครงที่ใช้ปรับกระชับขึ้นลงได้ ขึ้นอยู่กับว่าอยากให้มันรั้งบริเวณไหนของศีรษะ

จุดเด่นใน Evade 2 คือฟองน้ำด้านหน้าหมวกจะอยู่ห่างจากตัวหมวกครับ พูดแล้วอาจจะงงลองดูภาพประกอบ

การที่มันยื่นออกมาแบบนี้หมายความว่าศีรษะเราจะไม่กระทบกับหมวกโดยตรงเหมือนในใบอื่นๆ ผลที่ได้คือฟิลลิงการสวมใส่ที่เหมือนหมวกลอยอยู่บนหัว (แต่ยังแน่นไม่หลวม) และเหงื่อไม่อมมากองอยู่บริเวณหน้าผาก

อย่างไรก็ดี เราจะเห็นได้ชัดว่าด้านหน้าของหมวกนั้นยื่นยาวออกมาจากดีไซน์หมวกปกติเล็กน้อย ถ้าเราก้มหน้าลงแล้วชายตามองด้านบนจะเห็นส่วนหน้าของหมวกครับ ก็ไม่ได้รำคาญอะไรเท่าไร ใส่สักพักก็ชิน แต่คงดีกว่าถ้ามันเปิดโล่งเลย ตรงนี้คล้ายๆ กับ Giro Vanquish

สายรัดคางก็เป็นแบบปกติไม่ได้พิเศษอะไร ใส่สบายดีไม่ระคายเคืองครับ ระบบรัดล็อกเป็นแม่เหล็ก ปลดและใส่ด้วยมือเดียวได้สะดวกดี

ถามว่าเย็นแค่ไหน เย็นอย่างที่ Specialized อ้างหรือเปล่า? หลังจากที่ใส่มาเดือนกว่าๆ ทั้งขึ้นเขาวันที่อากาศร้อนๆ และปั่นทางราบแบบช้าๆ และเร็วๆ ผลก็คือเย็นดีกว่าหมวก Evade รุ่นแรกนิดหน่อย และเย็นกว่าหมวกแอโรทั่วๆ ไปแต่ไม่มาก นั่นก็เพราะดีไซน์รูระบายอากาศดีกว่าเดิมครับ ลมเข้าช่องด้านหน้าเหนือคิ้วเราได้ง่าย เวลาหันข้างลมก็เข้าได้ด้วย ทำให้ลมไหลผ่านได้ดีกว่าเดิม ช่องที่เว้าในโฟมด้านบนก็น่าจะช่วยให้อากาศไหลได้ดีขึ้น ก็พอจะใส่ในวันที่ร้อนๆ ได้ จากแต่ก่อนที่ไม่ค่อยอยากจะใส่ครับ

ทรงหมวก เรียวลู่ไปกับศีรษะ เทเปอร์ให้แหลมด้านหลัง / Photo: Anut Pruksuwat

แต่ถามว่าเย็นเท่าหมวกธรรมดาที่ไม่ใช่ทรงแอโรไหม บอกเลยว่าไม่ครับ ดีขึ้นแต่ยังไม่เทียบเท่า ถ้าใครชอบความเย็นโปร่งสบายศีรษะ Evade 2 ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เสียทีเดียว

ผมรู้สึกว่าหมวก Giro Vanqusih ระบายอากาศได้ดีกว่า กับช่องระบายอากาศที่ใหญ่กว่าพอสมควร และลมไหลเข้าได้จากหลายมุม

279 กรัมในไซส์ M จัดว่าไม่เลวสำหรับหมวกทรงนี้

ส่วนเรื่องความลู่ลมนั้นเป็นประเด็นเดียวที่ทดสอบได้ยาก Specialized อ้างว่า Evade 2 เป็นหมวกแอโรถนนที่เร็วที่สุดในตลาดตอนนี้ เราจะเชื่อคำ Specialized ก่อนละกัน เพราะถ้าดูจากผลการทดสอบ Evade รุ่นแรกในอดีตโดย third party หลายๆ รายก็พบว่าเป็นหนึ่งในหมวกแอโรที่เร็วที่สุดในตลาด เพราะงั้นรุ่นสองก็คงไม่ได้แย่กว่าเดิมครับ

เรื่องการทัดเก็บแว่นเวลาก็ทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ไม่มียาง stopper สำหรับกันไม่ให้แว่นไหลหลุดออกมา เหมือนในหมวก Specialzied Prevail และ Airnet แว่นบางชนิดที่ขาแว่นใหญ่ เช่น POC ที่หลายๆ คนนิยมกันจะใส่ไม่ค่อยอยู่

พูดถึงแว่น หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่มีชิลด์มาด้วย (เหมือนของ Giro) ทาง Specialized กล่าวว่า หลังจากการทดสอบในอุโมงค์ลม ชิลด์ไม่ได้ช่วยให้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับแว่นกันแดดธรรมดา

อีกจุดที่ทำได้ดีกว่า Evade รุ่นแรกมากๆ คืองานสีและ finishing สีกลอสที่เคลือบเนี้ยบสวยงาม และดีเทล์ต่างๆ ของหมวกดูราคาแพงครับ โลโก้บนหมวกใช้ป้ายแท็กเงินแบบนูนต่ำไม่ใช่แค่สติกเกอร์ธรรมดาๆ

หมวกมากับถุงผ้ากันรอยด้วย

 

สรุป: หมวกแอโรที่ใส่ได้ทุกวัน

Photo: Anut Pruksuwat

หมวก S-Works Evade 2 น่าจะถูกใจนักปั่นที่ชอบหมวกทรงแอโรครับ ใส่กระชับสบาย น้ำหนักไม่ถึงกับเบาหวิวแต่ก็เบาจนไม่รู้สึกเป็นภาระศีรษะเมื่อต้องใส่นานๆ และระบายอากาศได้ดีกว่ารุ่นก่อนแบบรู้สึกได้ (แต่ยังไม่เท่าหมวกธรรมดาที่ไม่ใช่ทรงแอโร) และงานสีเนี้ยบๆ ที่ทำให้ดูมีราคา

มีสีให้เลือกพอสมควร ราคาตั้งที่ 10,900 บาท (ส่วนลดสอบถามร้านค้า)

 

Good

  • สบาย ฟิตกระชับไม่รั้ง Comfortable, well fit
  • ทรงหมวกเพรียว ฟิตต่ำไม่ปูด
  • งานสีและ finishing ดูมีราคา
  • สายรัดคางใช้แม่เหล็กล็อก ถอดง่าย
  • มีสีให้เลือกเยอะ
  • แถมถุงใส่หมวกให้ด้วย

Bad

  • ราคาสูง
  • ช่องเก็บแว่นใช้กับแว่นบางรุ่นไม่สะดวก
  • ยังไม่เย็นสบายเท่าที่โฆษณา (แต่ดีกว่าหมวกแอโรทั่วๆ ไป)
  • ไม่แถมฟองน้ำสำรอง

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *