ต่อจากนี้เราคงเรียกปีเตอร์ ซากาน นักปั่นจาก Tinkoff-Saxo และนักปั่นทีมชาติสโลวาเกียว่า “ที่สองตลอดกาล” ไม่ได้แล้วครับ เมื่อเขาคว้ารางวัลแชมป์โลกจักรยานถนนเมื่อคืนนี้ในสนามชิงแชมป์โลก Richmond 2015 ออกหนีคู่แข่งที่เนินยุทธศาสตร์ไปคนเดียวจนถึงเส้นชัย กลายเป็นผู้ครองรางวัลเสื้อสีรุ้งคนล่าสุด
เขาคว้าชัยชนะได้ยังไง? มาย้อนรอยการแข่งขันกัน!
The Rainbow Challenge
ด้วยระยะทางกว่า 260 กิโลเมตร การแข่งชันใช้เวลาร่วม 6 ชั่วโมงเต็ม ถามว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงแรกของการแข่งขัน? เบรคอเวย์จากหลายชอดฟอร์มตัวกันหนีกลุ่มชิงทำเกม ช่วงแรกเป็นทีมชาติเนเธอร์แลนด์ที่พยายามคุมระยะเบรคอเวย์ จนถึงราว 120 กิโลเมตรสุดท้ายที่ทีมชาติเยอรมัน, โปแลนด์และเบลเยี่ยม ผลัดกันขึ้นนำกลุ่มเป็นระยะๆ รวบจับกลุ่มหนีได้จนหมด
ไม่บ่อยที่เบรคอเวย์กลุ่มใหญ่จะหนีรอดไปท้าชิงกันหน้าเส้นชัยในสนามชิงแชมป์โลก เมื่อมีหลายชาติที่มีตัวเต็งคับทีมรอทำผลงานกันอยู่ในกลุ่มเปโลตอง ราว 90 กิโลเมตรสุดท้าย กลุ่มหนีอีกกลุ่มเริ่มทำงาน แต่คราวนี้มีนักปั่นตัวโหดหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ยาลินสัน พานทาโน (โคลอมเบีย), คอนสแตนติน ซิทซอฟ (เบลารุส) เทย์เลอร์ ฟินนีย์ (อเมริกา) ด้านหลังเซ็ป ฟานมาร์ค (เบลเยี่ยม) ลากเอาไซมอน เกทช์ (เยอรมัน) และแดเนียล เบนนัทตี้ (อิตาลี) ออกมาด้วย
แต่จังหวะที่เกมกำลังเดือดท้ายกลุ่มเปโลตองเกิดอุบัติเหตุใหญ่ ราฟาล ไมย์ก้า (โปแลนด์) อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (นอร์เวย์) ติดอยู่ในกลุ่มด้วย แต่สุดท้ายไล่กลับมาเข้ากลุ่มทัน และกลุ่มของฟินนีย์โดนรวบจับที่ราว 26 กิโลเมตรสุดท้าย
ต่อจากนั้นไม่ทันไร แชมป์โลกคนปัจจุบัน มิฮาล เควียทคอฟสกี้ ออกกระชากกลุ่มหวังป้องกันตำแหน่งหนีไปกับบอเค่ โมเลมม่า (ดัทช์), เอลิอา วิวิอานี (อิตาลี), ทอม โบเน็น (เบลเยี่ยม), เอียน สแตนนาร์ด (อังกฤษ), แดนเนียล โมเรโน (สเปน) และแอนเดรย์ อามาดอร์ (คอสตาริก้า) หนีเปโลตองได้ร่วม 30 วินาที ก เยอรมันเป็นชาติใหญ่ชาติเดียวที่พลาดเบรคอเวย์กลุ่มนี้ เลยเริ่มออกแรงไล่จับกลุ่มหนีได้ในที่สุด เข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้าย ก็ยังไม่มีกลุ่มหนีทิ้งห่างเปโลตองได้สำเร็จ
10 กิโลเมตรสุดท้าย ซิทซอฟ ออกกระชากทิ้งกลุ่มอีกครั้ง ดึงเอาสปรินเตอร์อเมริกัน ไทเลอร์ ฟาร์ราออกมาด้วย แต่ก็ถูกจับอีกครั้งที่ 4 กิโลเมตรหน้าเส้นชัย
มาถึงจุดนี้การแข่งขันแทบจะลอกแบบมาจาก Milan Sanremo ที่เปโลตองยังเกาะกลุ่มกันอยู่ เหลือเนินชันสามลูกเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการตัดสินการแข่งขัน
ถึงเนินลูกแรก Libby Hill, ชเน็ค สตีบาร์ (สาธารณรัฐเช็ค) อดีตแชมป์โลก Cyclocross ออกยิงกลุ่มตามคาด แต่เดเกนโคลบ์ (เยอรมัน) ไล่ปิดระยะ ทั้งคู่หนีได้ราว 100 เมตร แต่เป็นฟิลลิป จิลแบร์ ที่ช่วยทีมเบลเยี่ยมรวบจับคู่แข่ง
The Sagan’s Moment
ถึงเนินลูกรองสุดท้าย 23rd Street, เกร็ก แวนเอเวอร์มาร์ท สานต่องานของจิลแบร์เพื่อนร่วมทีม ระเบิดพลังแซงกลุ่มขึ้นเนินก่อนหน้าตัวเต็งชาติอื่นหวังทำระยะห่าง แต่ไม่ใช่ GVA คนเดียวที่คิดยิงบนเนินลูกนี้ เมื่อปีเตอร์ ซากาน (สโลวาเกีย) เปิดเกมหนีเช่นกันและแซง GVA ไปอย่างรวดเร็ว GVA
ระยะห่างระหว่างซากานและ GVA ไม่ได้มากเกินจะไล่ตามทันในจังหวะขึ้นเนิน แต่ในจังหวะลงเนิน ซากานโชว์ความกล้าบ้าบิ่นในการลงเขาในแบบที่คนอื่นไม่กล้า เขาขึ้นคร่อมท่อนอนทิ้งตัวลงต่ำ มือจับดรอปพร้อมปั่นไปด้วย เปิดระยะห่างร่วม 150 เมตรในเวลาไม่กี่วินาที
ถ้าเปรียบกับซากานที่ลังเลในสเตจ Tour de France หรือ San Remo เมื่อปีก่อนๆ ไม่กล้าหนี แต่พอจะถึงจังหวะสปรินต์ก็ออกตัวช้ากว่าคนอื่น, ซากานเมื่อคืนนี้ดูราวกับเป็นคนละคน จังหวะโจมตีมั่นใจและไม่ลังเล เขาอาจจะเลือกรอสปรินต์ดูเชิงกับคู่แข่งก็ได้ ความแน่วแน่ของเขาตรงข้ามกับกลุ่มไล่ด้านหลัง ระหว่าง GVA และเอ็ดวาลด์ โบซซัน ฮาเก็น (นอร์เวย์) ที่หยั่งเชิงกันแต่ไม่ช่วยกันไล่จับตัวอันตรายด้านหน้า
ซากานมีระยะห่างร่วม 10 วินาทีและปีนขึ้นเนินลูกสุดท้าย Governor Street โดยไม่มีคู่แข่งอยู่ในระยะไล่จับ เขาตรงดิ่งเข้าเส้นชัย กลายเป็นแชมป์โลกจักรยานถนนคนล่าสุด
The Upshot
ด้วยระยะทางกว่า 260 กิโลเมตร ไม่แปลกที่เราต้องรอจังหวะตัดสินนานจนถึง 15 กิโลเมตรสุดท้ายครับ สนามระยะทางไกลแบบนี้มีไม่กี่ทีมที่พร้อมจะทุ่มหนีกลุ่ม ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายทีมที่อยากจะให้เกมจบด้วยการสปรินต์หน้าเส้นชัย เลยกลายเป็นเกมที่เบรคอเวย์หนีไม่รอด จนต้องรอให้ตัวเต็งตัดสินกันที่เนินยุทธศาสตร์
ในพรีวิวสนามชิงแชมป์โลก ผมเขียนไว้ว่าซากานลงสนามนี้ค่อนข้างเสียเปรียบเพราะทีมชาติสโลวาเกียมีลูกทีมแค่ 3 คน จะสู้กับทีมใหญ่อย่างเยอรมัน อิตาลี และสเปนยังไง? แต่ซากานก็อึดพอจะเกาะติดกลุ่มหน้าแล้วใช้จังหวะขึ้นเนินสั้นๆ ชันๆ ที่ตัวเต็งแต่ละทีมต้องช่วยตัวเอง ถึงมีผู้ช่วยเยอะก็ไม่มีประโยชน์ถ้าตัวเองขึ้นเนินไม่ทันคู่แข่ง มันทำให้นึกถึงปีแรกๆ ที่เขาชนะสเตจใน Tour de France ถึงจะเป็นนักปั่นโนเนมจากทีม Liquigas (ซึ่งเล็กและไม่มีผู้ช่วย) เขากลับทำผลงานได้เกินความคาดหมาย
หรือจริงๆ แล้วซากานอาจจะทำผลงานได้ดีกว่าในฐานะ “ม้ามืด” มากกว่า “ตัวเต็ง” ก็เป็นได้ครับ ครั้งไหนที่เขาโชว์ฟอร์มโหดเหมือนในตูร์ปีนี้ เขาตกเป็นเป้าสายตาของคู่แข่ง โดนบังคับให้นำคนเดียว โดนม้ามืดทีมอื่นชิงหนีไปคว้าแชมป์สเตจแทน…
ไม่มีใครสงสัยพละกำลังของซากาน ความเร็ว ความแรง ความอึด เขาไม่เคยเป็นรองใคร จะมีก็แค่ด้านกลยุทธ์และจิตใจที่ยังเป็นรองบ้าง แต่ผลงานแชมป์โลกครั้งนี้โชว์ความเด็ดเดี่ยวของซากานเหมือนปีแรกๆ ที่เขาเริ่มคว้าชัยชนะในสนามใหญ่
[pullquote align=”full” cite=”ปีเตอร์ ซากาน” link=”” color=”” class=”” size=””]มันเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตการปั่นของผม ผมแทบไม่เชื่อตัวเองว่าผมเป็นแชมป์โลกครับ รอบสุดท้ายมันวุ่นวายมาก ทุกคนเหนื่อย ผมเลยลองยิงกลุ่มที่เนินลูกรองสุดท้าย ผมทุ่มทุกอย่างที่มีจนถึงเส้นชัย
ผมรู้ว่าถ้ากลุ่มตามผมทัน ผมหมดแรงสปรินต์แน่ๆ แต่ผมก็รู้ว่าจังหวะที่ผมหนีคือจังหวะที่ดีที่สุด ผมได้ยินหลายคนบอกว่าผมแข่งทางไกลๆ แบบนี้ไม่ได้หรอก แต่ปีหน้าผมจะเป็นเดียวที่ได้สวมเสื้อรุ้งตลอดทั้งปี”[/pullquote]
อันดับสอง เหรียญเงินปีนี้เป็นไมเคิล แมธธิวส์ (ออสเตรเลีย) อีกหนึ่งตัวเต็งที่เราคาดไว้ แต่เมื่อเกมไม่จบด้วยการสปรินต์แมธธิวส์จึงไม่มีโอกาสได้โชว์ฝีเท้า เหรียญทองแดงเป็นรามูนัส นาวอร์ดัสกัส นักปั่นลิธัวเนีย จากทีม Cannondale-Garmin คุณอาจจะจำเขาได้จากผลงานแชมป์สเตจ 19 ในตูร์ปี 2014 ครับ ไม่ใช่สปรินเตอร์แถวหน้า แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักปั่นจอมพลังคนหนึ่งในโปรเปโลตอง
ไล่ดู top 10 ที่เหลือ ก็เป็นตัวเต็งที่เราคาดเดาไว้แทบทั้งหมด คริสทอฟได้ที่ 4 วาวเวอเด้ที่ 5 เจอรรานส์ที่ 6 กาโลแพนที่ 7 ตามด้วยอดีตแชมป์โลกสามคนต่อกัน เควียทคอฟสกี้ที่ 8, คอสต้าที่ 9 และจิลแบร์ที่ 10, ทอม ดูโมลาน (!) ยังแรงดีตามมาเป็นอันดับ 11 และใน Top 20 มีชาวเอเชีย ยูกิยะ อราชิโร่จากญี่ปุ่นที่ทำได้อันดับ 17 ด้วยครับ
จบจากสนามนี้แล้วเรายังเหลือสนามคลาสสิคใหญ่อีกหนึ่งรายการ ในวันที่ 4 ตุลาคมกับ Giro d’Lombardia เป็นอีกรายการที่ไม่ควรพลาดครับ
ผลการแข่งขัน
วิดีโอไฮไลท์ + Full Rerun