“เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูอีกบานก็จะเปิดรอรับเราอยู่เสมอ”
คงไม่มีใครเข้าใจวลีข้างต้นดีไปกว่า จิโอวานนี พินาเรลโล นักปั่นชาวอิตาเลียนฝีเท้าดี แต่สำหรับทีม Bottechia ที่เขาสังกัดนั้น มันยังดีไม่พอ
ปี 1951 ในวันสุดท้ายของ Giro d’Italia เวทีการแข่งขันจักรยานระดับแกรนด์ทัวร์ที่เป็นเสมือนความฝันของเด็กหนุ่มนักปั่นชาวอิตาเลียนทุกคน แต่มันกลับเป็นสนามแข่งที่เปลี่ยนชีวิตของจิโอวานนีไปตลอดกาลเมื่อเขาได้รับ “รางวัล” Magilia Nera หรือ “เสื้อดำ” ซึ่งเป็นรางวัลปลอบใจนักปั่นที่ทำเวลาได้แย่ที่สุดในการแข่งขัน ทีม Bottechia ที่เขาสังกัดรู้ดีว่าจะปล่อยให้จิโอวานนีแข่งแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะยังมีนักปั่นเยาวชนที่แกร่งกว่าเขาและค่าตัวถูกกว่า พร้อมจะสร้างผลงานให้ทีม ปีถัดมา Bottechia ยอมจ่ายเงิน 100,000 ลีร่า (ประมาณ 2,000 บาท) ให้จิโอวานนี เพื่อขอให้เขาไม่ลงแข่งจิโร กันที่ไว้ให้พาสควอลิโน ฟอร์นาราที่เพิ่งย้ายมาจากทีม Bianchi
การตัดสินใจของทีมเป็นผล เมื่อฟอร์นาราสร้างผลงานคว้าแชมป์สเตจให้ทีมได้สำเร็จ จิโอวานนีรู้ตัวดีว่าฝืนเดินแข่งต่อไปคงไม่ประสบความสำเร็จ ตลอดระยะเวลา 5 ปีแห่งการค้าแข่งในฐานะนักปั่นอาชีพ เขาทำผลงานได้เพียง 5 ชัยชนะเท่านั้น จิโอวานนีเติบโตมาจากครอบครัวชาวนาเล็กๆ ที่มีปากท้องต้องเลี้ยงถึง 14 ชีวิต (จิโอวานนีเป็นลูกชายคนที่ 8) แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งที่ได้สังกัดกับทีมใหญ่อย่าง Bottechia
ในปีเดียวกันจิโอวานนีตัดสินใจลาออกจากทีม เพื่อเดินตามความฝันการเป็นนักสร้างเฟรมจักรยาน เขาตั้งเวิร์กช๊อบเล็กๆ ในเมืองเทรวิโซบ้านเกิด 62 ปีให้หลัง เขาคงดีใจถ้าได้รู้ว่า Pinarello คือหนึ่งในแบรนด์จักรยานที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
1. Pinarello: The Origin
ไม่ใช่แค่ทักษะการเชื่อมเฟรมที่ทำให้เขาโด่งดัง ทางด้านธุรกิจ จิโอวานนีก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้แบรนด์จักรยานอิตาเลียนเจ้าอื่นๆ เพื่อให้ Pinarello เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เขาเริ่มสปอนเซอร์ทีมจักรยานท้องถิ่น จนผลัก Pinarello ก้าวเข้าสู่วงการจักรยานอาชีพได้สำเร็จในปี 1960 จักรยาน Pinarello คว้าแชมป์แกรนด์ทัวร์ (จิโร) รายการแรกในปี 1975 โดยฝีมือของฟอสโต้ เบอร์โทกลิโอ ชัยชนะในปีนั้นนอกจากจะผลักดันให้ Pinarello ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบผู้ผลิตจักรยานระดับโลกแล้ว มันยังมีอิทธิพลต่อจิตใจชาวอิตาเลียนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเวลากว่า 5 ปีที่ชาวอิตาเลียนไม่เคยได้แชมป์จิโร สนามบ้านเกิดของพวกเขาเลย
จากนั้นมา นักปั่นชื่อดังอีกหลายต่อหลายคนพากันคว้าแชมป์รายการแข่งจักรยานที่มีเกียรติยศสูงสุดตลอดช่วงปี 1980s ไม่ว่าจะเป็นเหรียญทองโอลิมปิก แชมป์ตูร์ วูเอลต้า และจิโร โดยเฉพาะในปี 1988 ที่เพโดร เดลกาโด้คว้าแชมป์ตูร์ให้ Pinarello ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
ถ้า 1980s เป็นยุครุ่งเรือง ปี 1990s คงเปรียบได้กับยุคทองคำสำหรับ Pinarello เมื่อมิกูเอล อินดูเรน นักปั่นชาวสเปนคว้าแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ 5 สมัยติดต่อกัน ถึงแม้คนในวงการจะรู้ว่าจักรยานที่อินดูเรนปั่นนั้นแท้จริงแล้วเป็นจักรยานที่ดาริโอ เพโกเรตติผลิตให้เป็นพิเศษ (เป็นที่รู้กันว่าสมัยนั้น Pegoretti คือมือเชื่อมจักรยานที่นักแข่งไว้ใจที่สุด และได้ทำจักรยานคัสตอมให้โปรหลายต่อหลายคนถึงแม้โปรแต่ละคนจะมีต้นสังกัดและสปอนเซอร์เป็นจักรยานเจ้าอื่นก็ตาม) แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะจักรยานของนักปั่นในทีมทุกคนนั้นมี Pinarello เป็นสปอนเซอร์
2. Moving with Time
สิ่งที่ทำให้ Pinarello แตกต่างจากผู้ผลิตจักรยานรายอื่น ไม่ใช่แค่เฟรมคุณภาพเพียงอย่างเดียว ยุค 1990s คือช่วงเวลาที่การแข่งชิงทำสถิติ Hour Record บูมสูงสุด นักปั่นชื่อดังหลายคนไม่ว่าจะเป็นคริส บอร์ดแมน และกราอีม โอบรีต่างผลัดกันโค่นสถิติเวลาครั้งแล้วครั้งเล่า ด้านเทคโนโลยีจักรยานก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อสหพันธ์จักรยานนานาชาติยังไม่ออกกฏบังคับรูปแบบจักรยานเคร่งเหมือนสมัยนี้ มันเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตได้ทดลองคอนเซปต์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์และการขึ้นรูปเฟรมทรงแอโรไดนามิก
Pinarello เร่งพัฒนาเฟรมลู่ลมคันแรกในนามว่า “Espada” ซึ่งเป็นเฟรมที่อินดูเรนใช้ทำลายสถิติ Hour ของโอบรี ในปี 1994 เขาทำระยะทางมากกว่าโอบรีถึง 327 เมตร คิดเป็นความเร็วเฉลี่ย 53.04 กิโลเมตรต่อชั่วโมง Espada กลายเป็นหนึ่งในเฟรมที่โดดเด่นท่ีสุดในโลกจนถึงทุกวันนี้
3. The Future
จะมีกี่คนที่รู้ว่าทีม Movistar ที่มีนักปั่นชื่อดังอย่างไนโร คินทานานั้นจริงๆ แล้วสานต่อมาจากทีม Banesto ของอินดูเรน ว่ากันง่ายๆ Movistar คือทีมเดียวใน peloton ที่มีรากเก่าแก่ที่สุดถึง 34 ปีเต็มและเป็นทีมที่ปั่น Pinarello มาเกือบตลอดอายุของทีม เข้าสู่ปี 2014 Pinarello ตัดสินใจถอนสปอนเซอร์ทีม Movistar เพื่อทุ่มกำลังซัพพอร์ททีม Sky จากอังกฤษพร้อมต่อสัญญาสปอนเซอร์ไปถึงปี 2017 คาดเดาได้ไม่ยากเมื่อ Sky คว้าแชมป์ตูร์ให้ Pinarello ถึงสองสมัยซ้อน
คนวงในกล่าวว่าเหตุผลที่ทีม Sky เลือก Pinarello แทน “ขาใหญ่” ในวงการอย่าง Trek, Specialized และ Giant นั้นก็เพราะว่า Pinarello สามารถปรับเทคโนโลยีจักรยานให้เข้ากับความต้องการของทีม Sky ได้รวดเร็วกว่าใคร ตามปรัชญา “Marginal Gain” ของทีมที่พยายามหาข้อได้เปรียบในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กอย่างเตียงนอนของนักปั่นไปจนถึงจักรยานแอโรไดนามิกที่ช่วยประหยัดแรงระหว่างแข่งขัน
ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายนำมาสู่จักรยานรุ่นล่าสุดอย่าง Pinarello Dogma F8 และ Pinarello Bolide ที่ทีม Sky ทุ่มเงินจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศพลศาสตร์จาก Jaguar เสริมด้วยฟีดแบ็คของนักปั่นระดับแชมป์ตูร์เดอฟรองซ์ ผสมกับทักษะการออกแบบและพัฒนาเฟรมของ Pinarello จนออกมาเป็นหนึ่งในเฟรมที่ตลาดไฮเอนด์ต้องการที่สุดตอนนี้
ในตลาดจักรยาน Pinarello ยืนอยู่ในตำแหน่งที่น่าสนใจ เพราะจักรยานที่ขายดีที่สุดของแบรนด์กลับไม่ใช่รุ่นเริ่มต้น แต่กลับเป็นเฟรม Dogma รุ่นไฮเอนด์ที่ราคาสูงยิ่งกว่าตัวท๊อปของแบรนด์อื่นๆ บรรณาธิการนิตยสาร Cyclingweekly ไมค์ ฮอว์กินส์ถึงกับบอกว่า “เป็นเรื่องที่น่าอิจฉา ผมเชื่อว่าไม่มีผู้ผลิตจักรยานคนไหนสามารถพูดได้อย่าง Pinarello ว่าสินค้าราคาแพงที่สุดของแบรนด์กลับขายดีที่สุด แม้แต่ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ระดับโลกยังไม่สามารถทำได้อย่าง Pinarello”
ในมุมกลับ Pinarello Dogma ก็เป็นเฟรมจักรยานที่ถูกก๊อปปี้ในตลาดของปลอมเยอะที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน
4. ทิ้งท้าย
เช่นเดียวกับแบรนด์สินค้าระดับไฮเอนด์ Pinarello ไม่ใช่จักรยานสำหรับทุกคน ด้วยกำแพงราคาที่ค่อนข้างสูง แต่สำหรับที่คนที่รักแบรนด์แล้ว ส่วนมากก็ซื้อโดยไม่ต้องเปิดเช็คยอดเงินในสมุดบัญชี
ในมุมของ DT ผมคิดว่า Pinarello เป็นแบรนด์อิตาเลียนไม่กี่เจ้าที่รอดพ้นจากการครอบงำตลาดของแบรนด์จักรยานอเมริกัน ข้อเสียเปรียบของผู้ผลิตจักรยานอิตาเลียนชื่อดังหลายๆ รายที่ล้มหายตายจาก หรือยอดขายทรุดลงไม่เหมือนช่วง 10-20 ปีก่อน ก็เพราะว่าพวกเขาตามเทคโนโลยีการผลิตและวัสดุสมัยใหม่ไม่ทัน ขาดเงินทุนวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
ในยุคที่เราวัดคุณค่าสิ่งของด้วยตัวเลขได้ชัดเจน ผลการทดสอบเฟรมอิตาลีต่างพ่ายให้กับแบรนด์ “ไฮเทค” แทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความแอโร น้ำหนัก ความสติฟ จะมีอยู่ก็แค่ภาพลักษณ์ความเป็นอิตาเลียนกับชื่อเสียงเก่าแก่ที่มีอิทธิพลต่อผู้ซื้อน้อยลงทุกวัน
Pinarello แก้ปัญหาด้วยการร่วมพาร์ทเนอร์กับทีม Sky ซึ่งสิ่งที่เขาได้มาด้วยคือมันสมองความรู้ด้านวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์และอากาศพลศาสตร์ระดับโลกของชาวอังกฤษ จนกลับมายืนหยัดในฐานะผู้นำตลาดจักรยานได้อย่างเต็มภาคภูมิ[/vc_column_text][/vc_column][vc_column width=”1/3″][/vc_column][/vc_row][vc_row][vc_column][vc_column_text]