พรีวิว: 2014 Tour de France

ในที่สุดสนามแข่งที่ทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยก็จะเริ่มขึ้นวันนี้แล้วครับ แล้วเส้นทางเป็นยังไง? รางวัลมีอะไรบ้าง เงินรางวัลผู้ชนะเขาได้เท่าไร สเตจไหนไม่ควรถ่ายทอดสดเวลาไหน? มาดูกันดีกว่า

เส้นทาง

carte

Tour de France ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 101 และจะแข่งกันทั้งหมด 21 สเตจ รวมระยะทาง 3,663.5 กิโลเมตร และ 3 สเตจแรกจะแข่งกันอยู่ในประเทศอังกฤษ ลักษณะสเตจแบ่งได้ประมาณนี้

  • 9 สเตจทางราบ (สปรินต์)
  • 6 สเตจภูเขาสูงชัน (5 จบด้วยเส้นชัยบนยอดเขา)
  • 5 โรงลิงสเตจ (เนินสลับทางราบ)
  • 1 สเตจ Individual Time Trial (54 กิโลเมตร)
ภาพรวมเส้นทางทั้ง 21 สเตจ
ภาพรวมเส้นทางทั้ง 21 สเตจ

นั่นหมายความว่าตูร์ปีนี้มีระยะทาง Time Trial น้อยที่สุดในรอบ 50 ปีเลยก็ว่าได้ ทำให้เส้นทางค่อนข้างเหมาะกับนักไต่เขาอย่างแท้จริง สเตจภูเขานั้นเรียกได้ว่าไม่สูงชันโหดหินเหมือนใน Giro d’Italia แต่ก็ถือว่ายากไม่ใช่เล่น นอกจากสเตจภูเขาแล้ว ตูร์ปีนี้ยังมีความท้าทายอีกหลายประการไม่ว่าจะเป็นสเตจโรลลิงที่คละไปด้วยเนินชันมากมายจนคล้ายจะเป็นสเตจจากสนามคลาสสิคเช่นสเตจ 2 แถมยังมีสเตจบนถนนหินที่หยิบยืมเส้นทางมาจาก Paris-Roubaix กว่า 40 กิโลเมตร ในสเตจที่ 5

สัปดาห์แรกไฮไลท์จะอยู่ในสเตจที่ 8 ซึ่งเป็นเส้นชัยบนยอดเขา ตัวเต็งน่าจะเริ่มทำเวลาทิ้งห่างกันในสเตจนี้ครับ ส่วนสัปดาห์ที่สองก็เต็มไปด้วยเส้นทางแบบโรลลิงเหมาะกับเบรคอเวย์และทีมที่อยากจะเก็บแชมป์สเตจแบบเซอร์ไพรส์ สเตจ 14 เป็นอีกครั้งที่จะเจอเส้นชัยบนยอดเขา แล้วเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายก็จะเป็นสเตจเขาสูงชันในเทือกเขาแอลป์และพิรานีสทั้งหมด เสร็จแล้วนักปั่นต้องเจอสเตจ 20 Individual Time Trial 54 กิโลเมตรซึ่งน่าจะเป็นวันตัดสินและเป็นโอกาสสุดท้ายของตัวเต็ง GC ที่จะได้แก้ตัวหากเสียเวลาให้คู่แข่งเยอะในสัปดาห์ก่อน

DT จะพรีวิวเส้นทางแบบเรียงสเตจในทุกๆ วันพร้อมผลการแข่งขันครับ

เสื้อผู้นำใน Tour de France

ในการแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์จะมีรางวัลหลักๆ ให้ผู้ชนะ 4 ประเภท ผู้นำในแต่ละประเภทก็จะได้สวมเสื้อเจอร์ซีย์พิเศษเพื่อบ่งบอกสถานะผู้นำในหมวดหมู่นั้นๆ

1. Yellow Jersey

เสื้อเหลืองที่เราคุ้นเคยเป็นรางวัลที่สำคัญที่สุดในรายการให้สำหรับคนที่ทำเวลาปั่นได้น้อยที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือคนที่ปั่นได้เร็วที่สุดในการแข่งขันนั่นเองโดยจะนับจากเวลาของทุกสเตจรวมกัน คนที่ใช้เวลาน้อยที่สุดก็จะได้เสื้อตัวนี้ไปสมใส่ในแต่ละวัน ผู้ที่สวมใส่เสื้อเหลืองเราจะเรียกว่า “ผู้นำเวลารวม” (รวมเวลาจากทุกสเตจ) ภาษาอังกฤษเรียก Leader of the General Classification

hint: ทำไมต้องเป็นสีเหลือง? สีเสื้อผู้นำในการแข่งขันจะมาจากสีของบริษัทสปอนเซอร์ต่างๆ ความเป็นมาของเสื้อเหลืองในตูร์นั้นมาจากสปอนเซอร์รายแรกของรายการ นสพ. L’Auto ซึ่งเป็น นสพ. ที่ใช้กระดาษสีเหลือง ปัจจุบันสปอนเซอร์เสื้อเหลืองคือธนาคาร LCL จากฝรั่งเศส มีสีหลักของบริษัทเป็นสีเหลืองเช่นกัน

2. Green Jersey (Point Jersey)

เสื้อเขียวเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้นำหมวดคะแนนรวม หรือคนที่ทำคะแนนรวมกันได้มากที่สุดจากทุกสเตจรวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นสปรินเตอร์ เพราะคะแนนในแต่ละสเตจนั้นจะให้กันที่จุดสปรินต์กลางสเตจและที่เส้นชัย โดยจะให้คะแนนในสเตจทางราบมากกว่าสเตจภูเขา เราเลยเรียกรางวัลนี้ว่าเสื้อจ้าวความเร็วนั่นเอง (แต่จริงๆ แล้วคือเสื้อผู้นำคะแนนรวม) สปอนเซอร์เสื้อเขียวคือบริษัท PMU จากฝรั่งเศส คะแนนแต่ละสเตจแบ่งตามค่าสัมประสิทธิ์ (Coefficient) ของแต่ละสเตจ 4 ระดับตามความชัน

  • สเตจทางราบ (coefficient 1) ให้ 45,35,30,26,22,20,18,16,14,12,10,8,6,4,2 แต้มสำหรับ 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย
  • สเตจโรลลิง (ราบสลับเนิน) (coefficient 2/3) ให้ 30,25,22,19,17,15,13,11,9, 7,6,5,4,3,2 แต้มสำหรับ 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย
  • สเตจภูเขาสูงชัน (coefficient 4/5) ให้ 20,17,15,13,11,10,9,8,7, 6,5,4,3,2,1 แต้มสำหรับ 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย
  • สเตจ Individual Time Trial ให้ 20,17,15,13,11,10,9,8,7,6, 5,4,3,2,1 แต้มสำหรับ 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย
  • จุดสปรินต์กลางสเตจให้ 20,17,15,13,11,10,9,8,7,6,5,4,3,2,1 แต้มสำหรับ 15 คนแรก

ค่าสัมประสิทธิ์ของแต่ละสเตจดูได้จากตารางข้างล่างนี้

coefficients2014

3. Polkadot Jersey (King of the Mountain)

เสื้อลายจุดมอบให้นักปั่นที่ทำคะแนนหมวดภูเขารวมกันได้เยอะที่สุด คะแนนหมวดภูเขาจะมอบให้ที่ยอดเขาในแต่ละสเตจ จำนวนคะแนนมากน้อยแบ่งตามระดับความยากของภูเขา ยิ่งยากมาก สูงชันมากก็ได้คะแนนมาก สปอนเซอร์เสื้อจ้าวภูเขาคือคาร์ฟูร์ ซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่จากฝรั่งเศส

  • ภูเขาที่ชันที่สุด (Hors Categorie) ให้ 25,20,16,14,12,10,8,6,4,2 แต้มสำหรับ 10 คนแรก
  • Category 1 ให้ 10,8,6,4,2,1 แต้มตามลำดับ
  • Category 2 ให้ 5,3,2,1 แต้มตามลำดับ
  • Category 3 ให้ 2,1 แต้มตามลำดับ
  • Category 1 ให้ 1 แต้ม (คนเดียว)
  • ในสเตจที่เส้นชัยจบบนยอดเขา (สเตจ 13,13,14,17,18) จะให้คะแนนบนเขาลูกสุดท้ายเพิ่มเป็นสองเท่า

4. เสื้อขาว (White Jersey)

เสื้อขาวมอบให้กับนักปั่นที่อายุต่ำกว่า 25 ปีที่ทำเวลารวมได้น้อยที่สุด (นับเวลาเหมือนเสื้อเหลือง) สปอนเซอร์คือบริษัทรถยนต์ Skoda

เงินรางวัล

  • ผู้ชนะสเตจในแต่ละวันจะได้รับ 8,000 ยูโร อันดับสอง 4,000 ยูโร และลดลงเรื่อยๆ จนถึงอันดับ 20 ซึ่งจะได้รับ 200 ยูโร
  • แชมป์รายการจะได้เงินรางวัล 450,000 ยูโร หรือราวๆ 19 ล้านบาท อันดับสอง 200,000 ยูโร และอันดับสาม 100,000 ยูโร จากนั้นจะลดหลั่นลงมาตามนี้ อันดับ 4-25 €70,000, €50,000, €23,000, €11,500, €7,600, €4,500, €3,800, €3,000, €2,700, €2,500, €2,100, €2,000, €1,500, €1,300, €1,200, €1,000, €950, €900, €850, €750, €700 € 650
  • อันดับ 26-30 ได้คนละ €600
  • อันดับ 31-40 ได้คนละ €550
  • อันดับ 41-50 ได้คนละ €500
  • อันดับ 51-90 ได้คนละ €450
  • ส่วนคนอื่นๆ ที่แข่งจนจบจะได้คนละ €400
  • โดยปกติแล้วทีมจะนำเงินรางวัลทั้งหมดมารวมกันแล้วหารเฉลี่ยทีเดียวแบ่งให้ทั้งนักปั่นและสตาฟหลังการแข่ง

kittel won people choice classic

นอกจากนี้ยังมีเงินรางวัลอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่น

  • คนที่สวมเสื้อเหลืองจะได้เงินรางวัลวันละ €300 ยูโร ใส่หลายวันก็ได้เงินหลายวัน
  • €25,000 สำหรับแชมป์จ้าวความเร็วและจ้าวภูเขา (เสื้อเขียว/ เสื้อลายจุด)
  • €20,000 สำหรับแชมป์ Young Rider (เสื้อขาว)
  • €2,000 สำหรับนักปั่นที่บู๊ได้ถูกใจกรรมการ (Most comabtive rider) ในแต่ละวัน วันสุดท้ายจะได้เยอะเป็นพิเศษที่ €20,000
  • €2,800 สำหรับทีมที่ทำเวลารวมได้ดีที่สุดในแต่ละวัน (นับจากเวลารวมของนักปั่นที่ทำเวลาได้ดีที่สุด 3 คนแรกของทีม) ทีมที่ทำเวลารวมนำได้จนถึงวันสุดท้ายก็จะชนะหมวด Team Classification และได้เงินรางวัล €50,000
  • ทุกๆ ทีมจะได้รับเงินจำนวน €51,243 สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการแข่งขัน
  • รวมแล้วเงินรางวัลในรายการทั้งหมดคิดเป็น €3,412,546 หรือราวๆ 150 ล้านบาท

 

ทีมที่เข้าแข่งขัน

ลงแข่งทั้งหมด 22 ทีม รวมนักปั่น 219 คน แบ่งออกเป็นทีมดิวิชัน 1 (Pro Tour) 18 ทีม, ทีมรับเชิญคละดิวิชัน 2 และ 3 อีก 4 ทีม

Screen Shot 2557-07-05 at 7.17.01 AM

 

สเตจที่ไม่ควรพลาด

Stage 1 — เสาร์ 5 กค. วันแรกของการแข่งขันและเป็นวันที่สปรินเตอร์น่าจะได้เสื้อเหลืองไปครองซึ่งเป็นรางวัลที่สปรินเตอร์ทุกคนหมายปอง นานๆ ทีจะได้มีโอกาสใส่ครับ

Stage 2 — อาทิตย์ 6 กค: สเตจที่ยากเกือบที่สุดในการแข่ง ถึงจะไม่มีภูเขาสูงชันมากแต่ว่ามีเนินที่ชันร่วม 9 เนินตลอดเส้นทาง

Stage 5 — พุธ 9 กค: เส้นทางแบบ Paris-Roubaix!

Stage 8 — อาทิตย์ 13 กค: สเตจสำหรับเบรคอเวย์ที่หลายๆ ทีมมีโอกาสชนะไม่แพ้กัน

Stage 10 — จันทร์ 14 กค: เส้นชัยบนยอดเขาครั้งแรกของการแข่งขัน ตัวเต็ง GC ทิ้งห่างกันแน่นอน

Stage 13 — ศุกร์ 18 กค: อีกหนึ่งเส้นชัยบนยอดเขา

Stage 14 — เสาร์ 19 กค: เส้นชัยบนยอดเขา!

Stage 16 — อังคาร์ 22 กค: สเตจที่ยาวที่สุดในการแข่ง

Stage 17 — พุธ 23 กค: สเตจที่สั้นที่สุด แต่เขาสูงชันเพียบ!

Stage 18 — พฤหัส 24 กค: สเตจภูเขาสเตจสุดท้ายของรายการ

Stage 20 — เสาร์ 26 กค: Time Trial 54 กิโลเมตร วันตัดสินผู้ชนะ!

Stage 21 — อาทิตย์ 27 กค: สปรินต์ที่ฌองเซลิเซ!

วันเวลาถ่ายทอดสด

เช็คตารางถ่ายทอดสดและผลผู้ชนะในแต่ละวันได้ที่ www.duckingtiger.com/live

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *