พรีวิว: 2017 Milan-Sanremo

สนามนี้เด็ดยังไง?

Milan-Sanremo เป็นหนึ่งในสนามคลาสสิคที่ขลังที่สุดในรอบปีครับ สนามคลาสสิคแบบวันเดียวจบที่เกียรติยศสูงสุดมี 5 รายการต่อปี เราเรียกสนามพวกนี้ว่า “Monument” หรือเป็นสนามที่เป็นอนุสรณ์สถานของวงการ เรียกได้ว่าใครชนะปุ๊บนี่ชีวิตเปลี่ยนเลยทันที จะถูกทั้งเปโลตองหมายตาอิจฉา และสามารถขึ้นค่าตัวได้ง่ายๆ

รายการระดับ Monument มี Milan-Sanremo, Tour of Flanders, Paris-Roubaix, Liege-Bastogne-Liege และ Il Lombardia

คือสนาม Monument พวกนี้ก็จะมีจุดเด่นต่างกันไปครับ นึกถึงบอสในเกมที่พระเอกต้องเจอ ตัวนึงอาจจะ HP เยอะล้มยาก ตัวนึงอาจจะเลือดน้อยแต่เวทย์แข็งแรง damage สูง

Milan-San Remo (MSR) มีระยะทางไกลที่สุด, Tour of Flanders เป็นสนามที่นักปั่นกดดันที่สุด, Paris-Roubaix นั้นเส้นทางโหดสุด, Lombardia และ Liege นั้นเขาชันเยอะสุด ชัยชนะแต่ละรายการนั้นเปรียบได้กับการคว้าแชมป์แกรนด์ทัวร์หนึ่งสนาม

เลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรายชื่อนักปั่นที่ลงแข่งจึงเต็มไปด้วยดาวดังจากทุกทีมครับ นี่เป็นหนึ่งในรายการที่ดาวดังคับสนามที่สุดในรอบปี และไม่ควรพลาดชมด้วยประการทั้งปวง

 

จุดเด่น

  1. ระยะทาง: MSR เป็นสนามแข่งวันเดียวที่ยาวที่สุดในฤดูกาล กับระยะทาง 291 กิโลเมตร
  2. เป็นรายการที่นักปั่นมีโอกาสชนะได้ไม่แพ้กัน: ไม่ว่าจะเป็นสปรินเตอร์ นักไต่เขา นักปั่นคลาสสิคก็มีลุ้น ถึงแม้สปรินเตอร์จะชนะบ่อยกว่าเพื่อน แต่เบรคอเวย์ ตัวเต็ง GC หรือม้ามืดโนเนมก็สอยแชมป์แบบพลิกความคาดหมายกันมาแล้ว
  3. คาดเดาได้ยาก: เกมจบได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสปรินต์กลุ่ม การเบรคอเวย์หนีตายระยะไกล หรืออาจจะเป็นตัวเต็งกลุ่มเล็กที่รอเชือดกันหน้าเส้นชัย ไหนจะมีเรื่องสภาพอากาศหนาวเย็นที่มักจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลการแข่งขันเสมอ

 

เส้นทางเป็นยังไง

ถึงแม้จะเป็นสนามแข่งที่ท้าทาย แต่เอาจริงๆ เป็นรายการที่สนุกแค่ช่วงสุดท้ายครับ ด้วยระยะทางไกล (มากกก) นักปั่นส่วนใหญ่จึงเลือกรอทำเกมกันช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้ายของการแข่งขันเท่านั้น ลองดูโปรไฟล์เส้นทางก่อน

จะเห็นว่าที่กลางทางมีเนินชันอยู่หนึ่งลูก ชื่อเนิน Turchino ซึ่งเป็นช่องเขาครับ เหมือนจะยาก แต่จริงๆ ไม่ค่อยมีอะไรเกิดขึ้น นักปั่นมักจะเก็บแรงไว้ ครั้นจะเบรคอเวย์ไปก็มีโอกาสโดนจับได้เยอะ เพราะเส้นทางส่วนใหญ่เป็นทางราบ จุดชี้ขาดเกมจะอยู่ที่เนินที่เป็นติ่งเล็กๆ สองลูกสุดท้าย นั่นคือ Cipressa และ Poggio

เนิน Poggio ยาว 3.7 กิโลเมตร ความชันเฉลี่ย 3.7% ฟังดูไม่ยาก แต่หลังจากปั่นกันมา 282 กิโลเมตรแล้ว ก็ไม่ง่ายเหมือนกันครับ ถึงจุดนี้แล้วนักปั่นต้องเริ่มคิด จะยิงหนี? จะรอสปรินต์? หรือเบรคอเวย์จะรอดหรือเปล่า? มีสปรินเตอร์เหลือรอดในกลุ่มมั้ย? ทางลง Poggio ก็มีโค้งแบบ switchback จำนวนมาก เพิ่มความท้าทายเสี่ยงตายสำหรับเบรคอเวย์อีกหนึ่งสเต็ป

ลงเขามาแล้วโอกาสชนะนั้นก็ไม่การันตีครับ ดวงก็มีผลต่อการได้แชมป์ไม่น้อย ปีที่แล้วเฟอร์นันโด กาวิเรีย (Etixx-Quickstep) อยู่ในตำแหน่งที่มีโอกาสชนะเยอะที่สุด เกาะมากับกลุ่มหน้าที่มีปีเตอร์ ซากาน และเฟเบียน แคนเชอลารา แต่ด้วยยังขาดประสบการณ์ทำให้พลาดล้ม ดึงเอาตัวเต็งคนอื่นร่วงไปด้วย กลายเป็นว่าอานอร์ด เดอแมค์ (FDJ) ที่ไม่ใช่สปรินเตอร์เบอร์หนึ่ง สปรินต์ได้แชมป์ไปก็มีได้เช่นกัน

ใครลงแข่งบ้าง

เช็ครายชื่อนักปั่นได้จากลิงก์นี้

 

เกมจะจบแบบไหน?

อย่างที่บอกไป สนามนี้จบได้สามแบบครับ

1. ยิงหนีบนเนิน Poggio

รูปแบบที่หนึ่งนี้เหมาะกับคนที่ไม่ใช่สปรินเตอร์ เช่นตัวเต็ง GC หรือสายคลาสสิคบางคนที่ไม่ได้มีสปีดปลายพอจะสู้กับนักปั่นอย่างคาเวนดิชและกาวิเรีย เนิน Cipressa ก่อนหน้านั้นอยู่ห่างเส้นชัยไปหน่อย โอกาสหนีรอดก็จะยาก แต่ถ้าเครื่องดีการหนีบนเนิน Poggio เป็นเดิมพันที่น่าลุ้นครับ

ใครมีลุ้น? ดูจากฟอร์มฤดูกาลนี้แล้วจับตามองนักปั่นอย่าง

  • มิฮาล เควียทคอฟสกี้ (Sky) ที่เพิ่งได้แชมป์ Strade Bianche ด้วยการหนีเดี่ยว
  • เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC) อีกคนที่น่าจะฟอร์มดีพอจะหนีได้
  • ฟิลลิป จิลแบร์ (Quickstep Floors) อาจจะเป็นแผน B สำหรับทีมในกรณีที่สปรินเตอร์ (กาวิเรีย)​ ไม่ไหว
  • ทิม เวลเลนส์ (Lotto-Soudal) ก็ปรากฏตัวในเบรคอเวย์สำคัญของสนามคลาสสิคแทบทุกรายการในปีนี้
  • ทอม โบเน็น (Quickstep-Floors)
  • ริกโอเบอร์โต้ อูราน (Cannondale-Drapac) ก็ฟอร์มดีทีเดียวใน Tirreno-Adriatico

 

2. เบรคอเวย์กลุ่มเล็ก

ในกรณีที่หนีเดี่ยวไม่รอด การหนีเป็นกลุ่มเล็กๆ อาจจะได้ผลกว่า ยิ่งถ้ามีตัวเต็งสายระเบิดเนินหลายๆ คนออกโจมตีซ้ำๆ พวกสปรินเตอร์ก็จะสะบักสะบอมครับ โดยเฉพาะเมื่อทางลงเนิน Poggio นั้นชันและโค้งเยอะ กลุ่มเปโลตองย่อมตามได้ช้ากว่านักปั่นไม่กี่คนที่สามัคคีกันดี (แล้วรอไปหวดกันหน้าเส้นชัย) เคสนี้มีให้เห็นหลายครั้ง เช่นในปี 2012 ที่ไซมอน เจอร์รานส์ (Orica) หนีไปกับแคนเชอลาราและนิบาลี แล้วก็สปรินต์ชนะทั้งคู่ สำหรับเกมส์แบบนี้ก็จับตามอง

  • ปีเตอร์ ซากาน (Bora-Hansgrohe)
  • แวน เอเวอร์มาร์ต (BMC)
  • แยสเปอร์ สตอยเว็น (Trek-Segafredo)
  • จิลแบร์หรืออลาฟิลลิป (Quickstep-Floors)
  • ดิเอโก้ อูลิซซี่ (UAE Team Emirates)
  • หลุยส์ ลีออน ซานเชส (Astana)
  • ทอม ดูโมลาน์ (Sunweb)

 

3. สปรินต์กลุ่ม

ในกรณีที่เบรคอเวย์หนีไม่รอด เกมก็ต้องจบด้วยการสปรินต์กลุ่ม ซึ่งกรณีนี้จะเป็นสถานการณ์เดียวที่เพียวสปรินเตอร์จะชนะได้ นั่นหมายความว่าลูกทีมต้องจับกลุ่มหนีได้ทันก่อนถึงเส้นชัยครับ อย่างไรก็ดี ถึงจะจับเบรคอเวย์ได้ก็อาจจะไม่ได้ขึ้นสปรินต์กันง่ายๆ เพราะอย่าลืมว่า พวกสปรินเตอร์ต้อง 1.) ตามกลุ่มหนี (ซึ่งต้องมีคนหนีแน่นอน) บนเนินให้ทัน, 2. ลงเขาให้ได้ตำแหน่งหน้ากลุ่ม 3.) หาตำแหน่งเปิดสปรินต์ที่ได้เปรียบที่สุด ทั้งหมดนี้ถูกอัดรวมในระยะเวลาไม่ถึงสิบนาทีสุดท้ายของการแข่งขัน ซึ่งเป็นงานหินไม่เหมือนการสปรินต์ในสเตจเรซที่แต่ละทีมมีลีดเอาท์คอยช่วยวางตำแหน่งตัวเต็งครับ จับตามอง

  • มาร์ค คาเวนดิช (Dimension Data)*
  • อานอร์ด เดอแมค์ (FDJ)*
  • อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (Katusha-Alpecin)*
  • จอห์น เดเกนโคลบ์ (Trek-Segafredo)*
  • คาเล็บ ยวน (Orica-Scott)
  • เฟอร์นันโด กาวิเรีย (Quickstep Floors)
  • ซันนี โคลเบรลลี (Bahrain-Merida)
  • เอเลีย วิวิอานี (Sky)
  • เนเซอร์ บูฮานี (Cofidis)
    ซาช่า โมโดโล่ (UAE Team Emirates)
  • * = แชมป์เก่า

 

ถ่ายทอดสดเวลาไหน?

วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม, 20:00-23:00 ลิงก์ถ่ายทอดสดที่ duckingtiger.com/live

 

ปีที่เด็ดที่สุด: 2012 – ไซมอน เจอร์รานส์

หรือจะเรียกว่าปีที่ controversial ที่สุดก็ได้ เป็นผลงานที่ทำให้เจอร์รานส์โด่งดัง แต่ก็โดนก่นด่าว่าเป็น “สายหมก” ด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปีนั้นวินเชนโซ นิบาลี ยิงกลุ่มที่เนิน Poggio, ตามมาด้วยเฟเบียน แคนเชอลารา – ส่วนเจอร์รานส์นั้นเห็นตัวเต็งหนีไปได้สองคนแล้วเลยรีบเร่งตาม…

แคนเชอลารารู้อยู่เต็มอกว่าไม่สามารถสปรินต์ชนะเจอร์รานส์ได้แน่นอน นิบาลีเองก็ไม่มีลูกสปรินต์แต่ด้วยใจระดับแชมป์ก็หนีไปเสี่ยงดวงกับเขาด้วย แคนเชอลารารับหน้าที่ลากกลุ่มหนีเปโลตองจนไล่ไม่เข้า ถึงหน้าเส้นชัยเจอร์รานส์เร่งออกจากสลิปสตรีมของแคนเชอลารา สปรินต์สวนแซงขึ้นเก็บแชมป์ จนเป็นที่กล่าวขานกันในชื่อแทคติค “ตีหัวหน้าเส้น” นั่นเอง

 

ปีที่เด็ดที่สุด: 2008 – เฟเบียน แคนเชอลารา

จากประวัติศาสตร์ 107 ปีของสนาม MSR ชัยชนะของแคนเชอลาราในปี 2008 เรียกได้ว่าเป็น “ลายเซ็นต์” Signature Move ของเขาเลยก็ว่าได้ที่สะท้อนถึงความแกร่งและเด็ดเดี่ยวครับ ในปีนี้แคนเชอลารายิงบนเนิน Poggio แล้วหนีเดี่ยวทิ้งเปโลตองร่วมสองร้อยชีวิตที่ไล่ยังไงก็ไล่ไม่เข้า คว้าแชมป์ไปแบบหล่อๆ

 

ปีที่เด็ดที่สุด: 1992 – ฌอน เคลลี่

โมเรโน อาร์เจนติน นักปั่นชาวอิตาเลียนระดับตำนานที่เป็นเจ้าของแชมป์คลาสสิคหลายรายการ กำลังหนีกลุ่มเปโลตองในช่วงเขาลูกสุดท้าย (Poggio) ของรายการ

ตามมาด้านหลังเป็นฌอน เคลลี่ มหาแชมป์คลาสสิคเช่นกัน อาร์เจนตินขึ้นถึงยอดเนินเป็นคนแรก เปโลตองไล่มาติดๆ เคลลี่ยิงสวนกลุ่มเปโลตองแล้วอาศัยทักษะการลงเขาไล่กวดอาร์เจนติน ซึ่งลงมาจับทันที่ตีนเขาพอดี จังหวะนี้เรียกว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับอาร์เจนติน เพราะเคลลี่เป็นสปรินเตอร์ที่แรงกว่าเยอะ และอาร์เจนตินเองก็เสียพลังเยอะจากการเบรอคเวย์ออกมานานแล้ว ด้านหลังเปโลตองก็ไล่มายังกะกลุ่มหมาล่าเนื้อ ระยะห่างไม่เกินสิบวินาที

เคลลี่เป็นนักปั่นที่อายุมากที่สุดในเปโลตองขณะนั้นและกำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการเป็นนักปั่นอาชีพแล้ว เขารู้เกมเป็นอย่างดี ขึ้นประกบล้ออาร์เจนติน แต่ไม่ออกแซง อาร์เจนตินก็รู้ว่าถ้าเขายังนำเคลลี่ เขาจะบังลมให้เคลลี่สปรินต์แบบสบายๆ แต่เขาจะผ่อนก็ไม่ได้ เพราะเปโลตองกำลังจะไล่ทัน สุดท้ายไม่มีทางเลือก ที่สามร้อยเมตรสุดท้าย อาร์เจนตินต้องลองเปิดสปรินต์ เบียดไลน์เคลลี่หวังว่าเขาจะเสียจังหวะ แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเคลลี่ เขายกกระชากแค่จังหวะเดียวก็ทิ้งอาร์เจนตินขาด เปโลตองด้านหลังก็เร่งสปรินต์กันเต็มที่ จนเกี่ยวกันล้มเทกระจาด #เอพิคมากๆ

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *