ในบรรดาสนามแข่งระดับแกรนด์ทัวร์ทั้งสามรายการ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ อาจจะได้ชื่อว่าเป็นสนามที่เก่าแก่และโด่งดังที่สุด ส่วนวูเอลตา เอ เอสปันญา (Vuelta a Espana) ในสเปนก็ขึ้นชื่อว่าเป็นสนามสำหรับนักไต่เขาโดยเฉพาะ แต่สำหรับจิโรดิตาเลีย หรือทัวร์ออฟอิตาลี แกรนด์ทัวร์รายการแรกของปีเป็นสนามที่งดงามที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเส้นทางเลียบเลาะถนนชนบท ผ่านกลางเมืองหลวงโบราณไปจากเหนือจรดใต้ บวกกับวัฒนธรรมการปั่นและความชื่นชอบการแข่งขันจักรยานที่เหนียวแหน่นหาที่ไหนเหมือน ตบท้ายด้วยหุบเขาสูงชันที่ลึกลับและท้าทาย การันตีได้ว่าสามสัปดาห์ต่อจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่พิเศษที่สุดสำหรับแฟนๆ จักรยานแข่งขันอย่างแน่นอน
จิโรดิตาเลียคือ?
ในรุ่งเช้าของวันที่ 13 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1909 นักปั่นผู้กล้า 127 คนรวมตัวกันที่จุดสตาร์ทกลางกรุงมิลานเพื่อที่จะแข่งจักรยานทางไกลเป็นเวลา 8 วันไปจบที่เมืองโบโลญญา สเตจแรกใช้เวลาแข่งขันร่วม 2 วันเต็มและมีนักปั่นที่รอดไปจนถึงสเตจสองเพียงแค่ 49 คนเท่านั้น และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นสนามแข่งจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลีตั้งแต่นั้นมา จัดแข่งขันมาตลอดทุกปีเว้นไว้แค่ช่วงสงครามโลกเท่านั้น ปีนี้ก็จัดเป็นครั้งที่ 97 แล้ว
จิโรกลายเป็นมหากาพย์การแข่งขันจักรยานที่ยิ่งใหญ่แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นเสมือนกำลังหลักที่ช่วยประสานวัฒนธรรมและเป็นที่ยึดมั่นทางใจให้กับชาวอิตาเลียนในช่วงที่ประเทศพึ่งจะรวมกันเป็นหนึ่ง
จิโรดิตาเลียเป็นผลงานการจัดแข่งของหนังสือพิมพ์กีฬาระดับชาติ Gazetta dello Sport ((ปัจจุบันกลายเป็นบริษัท RCS Sport และเป็นผู้นำสื่อด้านกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี)) ในห้วงเวลาที่ผู้คนถวิลหาบุคคลตัวอย่างและฮีโรประจำชาติ ซึ่งคงไม่มีใครจะดีไปกว่าผู้ชนะการแข่งขันจักรยานทางไกลที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรค ระยะทางแสนไกล สภาพอากาศโหดร้าย และการปีนป่ายภูเขาสูงชัน แชมป์เปียนชาวอิตาลีในช่วงยุค 1920s อย่างอัลเฟรโด บินดา (Alfredo Binda) และคอนสตาน จิราเดนโก (Constante Giradengo) กลายเป็นบุคคลผู้ทรงคุณค่าระดับประเทศ ในขณะที่ดรามาการชิงชัยระหว่างจิโน บาทาลี (Gino Bartali) และฟอสโต คอปปิ (Fausto Coppi) ถูกยกย่องให้เป็นเรื่องราวการแข่งขันชิงชัยระหว่างสองนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอิตาลีจนถึงทุกวันนี้
สนามจิโรกลายเป็นลานประลองที่เสกสร้างนักปั่นระดับตำนานนับไม่ถ้วนตั้งแต่ เฟลิเชีย จิมอนดิ (Felice Gimondi), เอดดี เมิร์กซ์ (Eddy Merckx), ฟรานเชสโก โมแซร์ (Francesco Moser), เบอนาร์ด ฮินอลท์ (Bernard Hinault), มิเกล อินดูเรียน (Miguel Indurian), มาริโอ ชิปโปลินี (Mario Cippollini) กับสถิติชัยชนะ 42 สเตจและท้ายที่สุด มาร์โค พานทานี (Marco Pantani) ตำนานนักไต่เขาผู้จากลาที่ตราตรึงอยู่ในใจของแฟนจักรยานทั่วโลก
เส้นทาง
ในปี 2014 นี้ผู้จัดแข่ง RCS Sport ยกสามสเตจแรกไปจัดกันในประเทศไอร์แลนด์ เริ่มต้นด้วยการแข่ง Team Time Trial และตามด้วยสเตจทางราบสำหรับเหล่าสปรินเตอร์ จากนั้นบินข้ามกลับมาสู่อิตาลี เริ่มไต่เขากันจริงจังในสเตจ 8 และ 9ที่น่าจะได้เห็นตัวเต็งแชมป์รายการเริ่มออกลวดลายการไต่เขาในสัปดาห์แรกซึ่งนักไต่เขาที่ปั่น TT ไม่ดีต้องรีบเก็บเวลากันตรงนี้ก่อนจะเจอการปั่นจับเวลา Individual Time Trial ในเมืองบาร์โลโรสเตจ 1
ในปีนี้ RCS Sport จัดจิโรเพื่อยกย่องมาร์โค พานทานี นักไต่เขาระดับพระกาฬที่ฆ่าตัวตายหลังจากที่ถูกกล่าวหาว่าใช้สารกระตุ้นในปี 1997 ในสเตจ 14 และ 15 นักปั่นจะต้องปีนเขาสูงลูกที่พานทานีเคยแสดงฝีเท้าให้คนทั้งโลกได้ประจักษ์ บนยอดเขา Oropa และ Montecampione
สัปดาห์สุดท้ายเป็นการต่อสู้บนยอดเขาล้วนๆ เรียกได้ว่า RCS “จัดเต็ม” ดึงเอาเขาลูกคลาสสิคของจิโรมาประเคนให้นักปั่นได้ปีนกันหนำใจ (หรือเหนื่อยจนทนไม่ไหวกันแน่?) ทั้งพาสโซ กาวิโอ (Passo Gavio), สเตลวิโอ (Stelvio) ตามด้วย Time Trial ขึ้นเขาในสเตจ 19 และปิดฉากวัดผล GC กันในสเตจที่ 20 บนยอด เขาซองโคลาน (Mt. Zoncolan) ที่ช่วงสิบกิโลสุดท้ายมีความชันเฉลี่ย 11.8%!
4 ตัวเต็ง Overall
1. ไนโร คินทานา (Nairo Quintana — Movistar)
ด้วยความที่เส้นทางจิโรในปีนี้เหมาะกับนักไต่เขาเป็นที่สุด ตัวเต็งคนแรกที่จะพลาดไม่ได้เลยคงไม่พ้นไนโร คินทานา นักไต่เขาชาวโคลอมเบียที่อาจจะพูดได้ว่าเป็นนักไต่เขาที่แกร่งที่สุดในโลกตอนนี้ ปีที่แล้วเดบิวต์ในตูร์ เดอ ฟรองซ์ ก็คว้าอันดับสองพร้อมรางวัลจ้าวภูเขาและนักปั่นเยาวชนยอดเยี่ยม ปีนี้ก็คว้าแชมป์รายการใหญ่ใน Tour de San Luis และอันดับสอง Tierreno Adriatico มาแล้ว สัปดาห์สุดท้ายของจิโรที่มีเขาสูงชันเต็มไปหมดน่าจะเหมาะกับคินทานาเป็นอย่างดี ที่สำคัญทีม Movistar ส่ง A Team มาช่วยสนับสนุน มีอิกอร์ แอนตอน (Igor Anton) นักไต่เขาแชมป์สเตจแกรนด์ทัวร์หลายรายการมาเป็นพี่เลี้ยง อันดับโพเดียมไม่น่าจะยากเกินความสามารถของคินทานาครับ
2. โจอาชิม โรดิเกซ (Joaquim Rodriguez — Katusha)
อีกหนึ่งนักไต่เขาสายระเบิดเนินที่ฟอร์มร้อนแรงตลอดทั้งปีด้วยผลงานโพเดียมแกรนด์ทัวร์ทั้งจิโร ตูร์ และวูเอลตาต่อกันสองปีซ้อน พูดได้ว่าเขาคือนักปั่นที่ “แน่นอน” ที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เคยคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้สักครั้งเดียว เป็นคนที่แกร่งในสัปดาห์สุดท้ายของการแข่งขันและไต่อันดับเก็บคู่แข่งขึ้นมาได้เสมอ ทว่าตัวต่อตัวแล้วหน่วยก้านการไต่เขาอาจจะไม่สู้คินทานา โรดิเกซคงใช้ทักษะการพุ่งระเบิดเนินชิงเก็บ Time Bonus สะสมแทนที่จะยิงยาวหนีในสเตจภูเขาทีเดียว จุดอ่อนของโรดิเกซคือการปั่นจับเวลา ต้องดูกันว่าปีนี้เขาจะลบฉายา “จอมเฉียดได้หรือเปล่า?
3. คาเดล เอวานส์ (Cadel Evans — BMC Racing Team)
ตัวเต็งที่ฟอร์มดีที่สุดในขณะนี้ อดีตแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ปี 2011 ปัจจุบันแชมป์ Giro del Trentino คนล่าสุด และเป็นตัวเต็งที่มากประสบการณ์ที่สุดก็ว่าได้ แกร่งทั้งการไต่เขาและ Time Trial แต่ด้วยอายุที่มากกว่าเพื่อน (37 ปี) อัตราเร่งอาจจะไม่สามารถทัดเทียมกับคู่แข่งอย่างคินทานา อย่างไรก็ดีกลยุทธ์และเล่ห์เหลี่ยมของคาเดลไม่เคยเป็นรองใคร และเขาไม่กลัวที่จะออกจู่โจมคู่แข่งในเวลาที่ตัวเต็งคนอื่นๆ ว่ายหน้าหนี ที่สำคัญปีนี้เขามากับอดีตเอซ Euskatel — ซามูเอล แซนเชซ (Samuel Sanchez) นักไต่เขาชาวบาสก์ที่แกร่งไม่แพ้ตัวเต็งคนอื่นๆ น่าจะลบจุดอ่อนของทีม BMC ที่ขาดนักไต่เขาที่จะคอยช่วยเอวานส์บนสเตจภูเขาสูงชันเหมือนปีก่อน
4. ริโกเบอร์โต อูราน (Rigoberto Uran — OPQS)
อันดับสองปีที่แล้วจาก Sky คราวนี้กลับมาในฐานะเอซของทีม Omega Pharma-Quickstep อูรานอาจจะไม่ได้มีผลงานเด่นเหมือนนักปั่นคนอื่นๆ แต่การฝึกซ้อมต่อเนื่องในเขาบ้านเกิดโคลอมเบียและการฝึกซ้อมในอุโมงก์ลมบนรถ Time Trial ก็น่าจะช่วยลบจุดอ่อนของเขาได้เป็นอย่างดี เห็นเงียบๆ ปีที่แล้วเป็นแค่ “ผู้ช่วย” ให้เซอร์วิกกินส์ แต่เมื่อถึงเวลาที่วิกกินส์ต้องถอนตัวเขาก็สามารถขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมได้อย่างไม่มีปัญหา แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่พร้อมจะรับแรงกดดันในสนามใหญ่
ม้ามืด
พ้นจาก 4 คนนี้ที่น่าจะหน่วยก้านดีกว่าคนอื่นแล้วก็ยังมีม้ามืดอีกหลายๆ คนที่พร้อมจะฉวยโอกาสเมื่อขาใหญ่ล้ม จับตามอง โดเมนิโค พอซโซวิโว (Domenico Pozzovivo — AG2R) คู่หูของคาร์ลอส เบทันเคอร์ที่ติด Top 10 ในปีที่แล้ว แชมป์เก่ารายการอย่างอิวาน บาซโซ (Ivan Basso — Cannondale) และ คูเนโก (Damiano Cunego — Lampre) เองก็รู้ทางหนีทีไล่ในสนามนี้เป็นอย่างดีถึงจะอายุมากกว่าคนอื่นก็ตาม
Tinkoff-Saxo ส่งคู่ราฟาล มาจกา (Rafal Majka) และนิโคลาส โรช (Nicolas Roche) ลูกชายแชมป์จิโร สตีเฟน โรชที่เติบโตขึ้นทุกครั้งที่เราได้เห็นเขาลงสนาม
Sky ขาดหัวหน้าทีมหลักทั้งริชี พอร์ท (Richie Porte) และเซอจิโอ เฮนาว (Sergio Henao) ปีนี้เหลือแค่โดเมสติกชาวอิตาเลียนดาริโอ คาทาลโด (Dario Cataldo) ที่พอจะมีลุ้น
Trek ส่งโรเบิรท์ คิเซอร์ลอฟสกี (Robert Kiserlovski) เข้าประกวดพร้อมกับจูเลียน อเรดอนโด (Jilian Arredondo) อีกหนึ่งนักไต่เขาชาวโคลอมเบียที่คว้าแชมป์สองสเตจใน Tour de San Luis เมื่อต้นปี
Europcar มีพิแอร์ โรลองด์ (Pierre Rolland) ที่หันมาลงจิโรแทนตูร์เดอฟรองซ์และน่าจะวาดลวดลายในสเตจภูเขาได้ไม่อายใคร
Belkin ส่งวิลโค เคลเดอร์แมน (Wilco Kelderman) และลอเรน เทนแดม (Lauren Ten Dam)
ส่วนในบรรดาทีมดิวิชันสองอย่างทีม Colombia มีเอซฟาบิโอ ดูอาร์เทร์ (Fabio Duarte) ที่พร้อมจะเก็บสเตจวินเหมือนทุกๆ ปี Androni-Venezuella มีฟรังโค เพลิซอตติ (FrancoPellizotti) และ Bardiani เองก็มีเอดัวราโด ซาร์ดินี (Edoardo Zardini) ที่พึ่งจะคว้าสเตจวินใน Giro del Trentino ต้นเดือนก่อน
สปรินเตอร์
ถึงสปรินเตอร์ชื่อดังอย่างคาเวนดิชและไกรเพิล จะไม่มาลงสนามนี้แต่เราก็มีนักปั่นขาแรงให้ชมกันหลายคนครับ ทั้ง มาร์เซล คิทเทล (Marcel Kittel — Giant-Shimano) ที่คว้าแชมป์สเตจสองไปแล้วและฟอร์มดีกว่าคนอื่นๆ มาก, เอลิอา วิวิอานี (Elia Viviani — Cannondale) อีกคนที่แกร่งขนาดหวดคาเวนดิชไปสองสเตจซ้อนใน Tour of Turkey น่าจะได้อย่างน้อยๆ 1 สเตจ ขณะเดียวกัน Trek ส่งจิอาโคโม นิซโซโล (Giacomo Nizzolo) สปรินเตอร์ที่โตมาจากโปรแกรมจักรยานลู่ เป็นอีกคนที่มีสิทธิลุ้นเสื้อจ้าวความเร็ว
ขาแรงคนอื่นๆ ที่น่าจับตาก็มี เนเซอร์ บูอานี (Nacer Bouhani — FDJ), เบน สวิฟต์ (Ben Swift — Sky), ไมเคล แมธธิวส์ (Michael Matthews — OGE), โรเบอร์โต เฟอร์รารี (Roberto Ferrari — Lampre), เอนริโค บาทากลิน (Enrico Battaglin — Bardiani CSF), อเลซานโดร เพทัคคี (Alessandro Petacchi — OPQS), โมเรโน ฮอฟแลนด์ (Moreno Hofland) และเธโอ บอส (Theo Bos) จาก Belkin ที่พร้อมสวมรอยเมื่อขาแรงพลาด
ทีมที่เข้าแข่งขัน
เงินรางวัล
รายการนี้มีเงินรางวัลรวม 1,370,000 ยูโร ผู้ชนะสเตจจะได้คนละ 11,000 ยูโร ส่วนผู้นำเวลารวมที่ครองเสื้อชมพูได้เงินวันละ 1,000 ยูโร และแชมป์รายการจะได้เงินกลับบ้านไป 200,000 ยูโร
วันเวลาถ่ายทอดสดและบรรยายสดโดย Ducking Tiger
ลิงก์ถ่ายทอดสดและโปรแกรมการแข่งแบบวันต่อวันติดตามได้ที่ www.duckingtiger.com/live อัปเดตทุกวัน ส่วนผลการแข่ง วิดีโอไฮไลท์ และพรีวิวสเตจ DT ก็ลงทุกวันในหน้าโฮมเพจเช่นกันครับ
บางสเตจผมอาจจะมีบรรยายสดผ่านอินเทอร์เน็ต อาจจะไม่ใช่ทุกวันคงเลือกเฉพาะสเตจสนุกๆ และวันที่มีเวลาครับ วันไหนบรรยายจะแจ้งให้ทราบใน Facebook Fanpage และในเว็บนี้อีกที
ทิ้งท้าย
ในหนึ่งปีเรามีโอกาสชมการแข่งขันใหญ่ๆ แบบนี้แค่สามครั้งเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง การแข่งแต่ละวันเปรียบเสมือนดรามาเรื่องยาวที่มีอะไรสนุกๆ และน่าประหลาดใจให้เราชมตลอด จิโรเป็นรายการที่ผมชอบที่สุดในบรรดาแกรนด์ทัวร์เลยก็ว่าได้ อาจจะไม่ใช่สนามที่โด่งดังรวมดาวเหมือนตูร์ เดอ ฟรองซ์ แต่มนตร์ขลังและสเน่ห์ของมันนั้นไม่แพ้สนามไหนๆ แน่นอนครับ!
ขอบคุณมาก ครับ ที่นำเสนอข้อมูลดี ๆ
ชอบมากครับ ได้รู้ข้อมูลดีๆ