พรีวิว: 2015 Omloop Het Nieuwsblad และ Kuurne-Brussel-Kuurne

[dropcap letter=”ใ”]นที่สุดฤดูกาลแข่งสนามคลาสสิคก็จะเริ่มขึ้นแล้วครับ สุดสัปดาห์นี้เรามีสนามคลาสสิคชื่อดังถึงสองรายการ สองอารมณ์ให้เราได้ชมกัน นั่นคือ Omloop Het Niewsblad (OHN) และ Kuuurne-Brussel-Kuurne (KBK) นั่นเอง สนามคลาสสิคสนุกยังไง? น่าชมตรงไหน? วันนี้เรามาดูเส้นทางและนักปั่นตัวเต็งที่น่าสนใจกัน

สนามคลาสสิคคือ?

Classic Bicycle Race ในที่นี้หมายถึงสนามแข่งแบบวันเดียวจบที่มีความเก่าแก่เป็นพิเศษ ซึ่งจะตรงข้ามกับรายการประเภทสเตจเรซที่แข่งกันหลายวัน และผู้ชนะคือคนที่ทำเวลารวมได้น้อยที่สุด (เร็วที่สุด) กลับกัน สนามคลาสสิค ผู้ชนะจะเป็นคนที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก เหตุผลที่เรียกว่าคลาสสิคก็เพราะรายการพวกนี้จัดแข่งมาหลายสิบปี บางรายการร่วมร้อยปีเข้าไปแล้ว อย่างปีนี้ OHN ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 70! ส่วน KBK จะเป็นครั้งที่ 67

ความสนุกของรายการคลาสสิคอยู่ที่เส้นทางที่มีลูกผสมระหว่างถนนลาดยางและถนนหินโบราณ (Cobble Stone เหมือนรูปเปิด) ผสมกับสภาพอากาศช่วงฤดูหนาวที่มักจะมีฝนหรือหิมะตกและอุณหภูมิหนาวเย็น กระแสลมแรง นักปั่นต้องฝ่าอุปสรรคที่ว่ามาทั้งหมด พร้อมๆ กับต่อกรกับทีมคู่แข่ง อ่านไหวชิงพริบ แย่งกันทำเกมส่งเอซเข้าเส้นชัย อารมณ์การแข่งจะพีคกว่าสเตจเรซ เพราะรายการคลาสสิคถือว่าเป็นสนามเกีรยติยศ​ ผู้ชนะสนามจะมีดีกรีน่านับถือกว่าแชมป์สเตจในรายการแข่งหลายวันครับ

Omloop Het Nieuwsblad
สแตนนาร์ด (Sky) และแวนเอเวอร์มาร์ท (BMC) แชมป์รายการและอันดับสองสนาม OHN ปี 2014, เถื่อนดีมั้ย :D

[infobox subtitle=”

Omloop Het Nieuwsblad: ออมลูป-เฮ็ท-นิวส์บลัด
Kuurne-Brussel-Kuurne: เคิร์น-บรัซเซล-เคิร์น” bg=”orange” color=”white” opacity=”off” space=”30″ link=”no link”]ออกเสียงยังไง?[/infobox]


ชมได้ที่ไหน?

Omloop Het Nieuwsblad: 28 กุมภา ตั้งแต่ประมาณ​ 20:30 (คอนเฟิร์มอีกที)
Kuurne-Brussel-Kuurne: 1 มีนา 21:00-22:30
ลิงก์ถ่ายทอดสด → www.duckingtiger.com/live 
DT บรรยายสดทั้งสองรายการ


The History

สนามคลาสสิคส่วนใหญ่แข่งขันกันในประเทศเบลเยี่ยม คนชาตินี้ชอบการแข่งลักษณะนี้ครับ ยิ่งอากาศแย่ ยิ่งหนาว ยิ่งเถื่อนก็ยิ่งสนุก สนาม Omloop ที่แข่งกันมา 69 ครั้งแชมป์ตกเป็นของชาวเบลเยี่ยมถึง 54 ครั้ง ส่วน KBK แข่งกันมา 66 ครั้ง ชาวเบลเยี่ยมเก็บแชมป์ไปถึง 51 ครั้ง นักปั่นคนปัจจุบันที่เป็นแชมป์รายการ KBK เยอะที่สุดคือ ทอม โบเน็น (Etixx-Quickstep) ที่ชนะถึง 3 สมัย

เช่นเดียวกับ Tour de France ผู้จัดสนามแข่ง Omloop เป็นบริษัทหนังสือพิมพ์ จัดงานแข่งจักรยานขึ้นมาเพื่อหวังเพิ่มยอดขาย นสพ. (แปลกดีมั้ย?) แต่มันได้ผลครับ ชื่อสนามแข่งเป็นชื่อเดียวกับ นสพ. แต่ก่อน Omloop Het Nieuwsblad ใช้ชื่อว่า Het Volk แต่ นสพ. Het Volk เจ๊งไป Het Nieuwssblad เลยเข้ามาซื้อสนามแข่งต่อ ซึ่ง นสพ. รายนี้เป็นเจ้าของสนาม Tour of Flanders ชื่อดังอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งสองรายการเป็นสนามที่เอซคลาสสิคนิยมลงแข่งกันเพื่อสร้างฟอร์มพัฒนาไปเก็บแชมป์สนามที่ใหญ่กว่าอย่าง Tour of Flanders และ Paris-Roubaix ถึงจะไม่ชนะ OHN และ KBK ก็ใช่ว่าจะไม่มีลุ้นชนะรายการที่ใหญ่และยากกว่า ผู้ชนะ OHN และ KBK มักจะเป็นนักปั่นเกรด B ที่อยากจะมีผลงานหวังว่าวันหนึ่งจะเป็นผู้ชนะรูเบหรือแฟลนเดอร์สเข้าสักวัน ส่วนตัวโหดอย่างโบเน็น หรือแคนเชอลาราลงแข่งเพื่อวอร์มอัปเสียมากกว่า


The Course

ทั้ง OHN และ KBK มีสไตล์การแข่งที่ต่างกันชัดเจนครับ ลองดูรูปโปรไฟล์เส้นทางการปั่นแล้วจะเข้าใจ

omloop course
Omloop Course
kbk hill
KBK Course
  • สังเกตว่าเส้นทาง Omloop จะมีเนินเล็กเนินน้อย เต็มไปหมด ซึ่งเนินพวกนี้จริงๆ แล้วเป็นเนินเดียวกับที่ใช้แข่งกันใน Tour of Flanders เลย
  • จึงเหมาะอย่างยิ่งที่ตัวเต็งที่หวังแชมป์ Flanders มาลองสนาม และดูเชิงคู่แข่งครับ
  • ผู้ชนะ Omloop ส่วนใหญ่เป็นนักปั่นสายคลาสสิค Hardman จอมอึดเต็มตัว ปีที่แล้ว เอียน แสตนนาร์ด (Sky) กับเกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC) เป็นเอซสองคนสุดท้ายที่สลัดคู่แข่งทีมอื่นได้หมด แล้วมาหยั่งเชิงกันหน้าเส้นชัย ทั้งคู่แข่งกันท่ามกลางสายฝนและอุณหภูมิเกือบติดลบ แวน เอเวอร์มาร์ทให้สัมภาษณ์ตอนแข่งเสร็จว่ามือเขาเย็น ชาจนแทบไม่มีความรู้สึกแล้ว
  • ระยะทาง Omloop ความยาว 200 กิโลเมตร และเนินชันจะมากองกันที่ 60 กิโลเมตรสุดท้าย ให้ทีมได้ลองเชิง อัด ตัดกำลังคู่แข่งกันสนุกสนาน
  • กลับกัน สนาม KBK ไม่ค่อยมีเนินเท่าไร และเนินลูกสุดท้ายอยู่ห่างเส้นชัยพอสมควร แถมเป็นทางลงเนินด้วย ทำให้เอื้อต่อการสปรินต์ และผู้ชนะก็มักจะเป็นสปรินเตอร์ด้วย มาร์ค คาเวนดิช เคยได้แชมป์รายการนี้ในสมัยที่อยู่กับ Sky (2012)

ตัวเต็ง Omloop (Startlist)

1. เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC)
Grand Prix of Wallonie  2014

อันดับสองปีที่แล้ว และกำลังจะเข้าอายุ 30 ปี เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ทคือเอซของทีม BMC สำหรับสนามคลาสสิค ที่เป็นจอมเฉียดเบอร์หนึ่ง หลายต่อหลายครั้งเขาเกือบจะชนะรายการใหญ่ (ปีที่แล้วได้ที่สอง Flanders) แต่ก็มีเหตุให้แพ้ทุกที ฟอร์มและผลงานเขาดีขึ้นทุกปี แต่ยังขาดชัยชนะที่จะเป็น ‘breakthrough’ พาเขาขึ้นแท่นตำนานนักปั่นเหมือนตัวเต็งคลาสสิคคนอื่นๆ

แวนเอเวอร์มาร์ตเป็นคนที่ปั่นได้เร้าใจและเหี้ยมครับ แกไม่ค่อยยอมใคร ไม่กลัวที่จะเบรคอเวย์ และไม่แคร์ถ้าคนอื่นไม่ช่วยลาก ประมาณว่าชัยชนะนี้ของฉัน ฉันจะสู้เอามาเอง เลยเป็นนักปั่นที่ได้ใจคนดูมากๆ และเป็นคนที่ดูสนุก จับตามองเขาให้ดี ปีนี้เขาบอกว่าฟอร์มดีกว่าปีที่แล้วอีก  จุดเด่นของเขาคือลูกสปรินต์ แต่การอ่านเกมอาจจะยังไม่เฉียบคมเหมือนแคนเชอลาราและโบเน็นที่เจนสนามกว่าหลายเท่า

2. เอียน แสตนนาร์ด (Sky)
stannard wins omloop

ทีม Sky ขึ้นชื่อเรื่องสเตจเรซ จนแทบจะการันตีได้เลยว่าลงสนามไหนแล้วจะชนะบ้าง นั่นก็เพราะทีมชอบสนามที่ควบคุมปัจจัยได้ อย่างสเตจเรซ วันนี้แพ้ พรุ่งนี้ยังมีเวลาให้คุมเกม แก้เกม อย่างที่ฟรูมเอาชนะคอนทาดอร์ในสนาม Ruta del Sol แบบพลิกล๊อกกัน 2 วินาทีเมื่อสัปดาห์ก่อน

แต่สนามคลาสสิค ทุกตัวแปรควบคุมไม่ได้เลย ตั้งแต่สภาพอากาศ สภาพถนน (สนามคลาสสิคยางรั่วบ่อย) และการล้มคว่ำของนักปั่นที่มีให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา นักปั่นต้องอาศัยไหวพริบและความแกร่ง (และโชค) ในการเอาชนะ สนามแบบนี้เลยยังไม่เข้าทางทีม Sky สักเท่าไรครับ แต่ปีนี้ทีมมีแผนอยากจะเปลี่ยนโฉม จะเอาชนะทั้งแกรนด์ทัวร์ ทั้งคลาสสิค ซึ่งทีมก็เก็บประสบการณ์มาหลายปีแล้ว แสตนนาร์ดเป็น Omloop คนล่าสุด เขามีเพื่อนหนุนระดับเซอร์แบรดลีย์ วิกกินส์ (ที่อยากจะชนะ Roubaix ปีนี้) มีเบอร์นาร์ด ไอเซิล, คริส ซัททอน และลุค โรว์ แต่ละคนมีประสบการณ์พอสมควร และวิกกินส์อาจจะเป็นไพ่ลับของทีมก็ได้

3. นิกี้ เทิร์ปสตรา (Etixx-QuickStep)
Terpstra

คนนนี้ DT อยากจะเรียกว่า โบเน็น v2 เพราะดูเทิร์ปสตราจะเป็นตัวตายตัวแทนของโบเน็นได้เลย เขาคือแชมป์ Paris-Roubaix คนปัจจุบัน และฟอร์มกำลังร้อนแรงเพราะเพิ่งคว้าแชมป์ Tour of Qatar มาหยกๆ และที่สำคัญ​ Quickstep เป็นทีมที่มีประสบการณ์สนามคลาสสิคมากกว่าทีมไหนๆ ปีที่แล้ว ในช่วงท้ายการแข่งของทุกสนามคลาสสิค Quickstep มีเอซหรือผู้ช่วยทีมอย่างน้อย 2-3 คนคอยชงเกม ในขณะที่ทีมอื่นๆ เหลือตัวเต็งแค่คนเดียว

เทิร์ปสตรามากับขาโหดหลายคน ไม่ว่าจะเป็นทอม โบเน็น, ซเน็ก สไตบาร์, แมทเทโอ เทรนทิน, และสไตน์ แวนเดนเบิร์ก เรียกได้ว่าคนไหนพลาดคนอื่นๆ ก็มีสิทธิลุ้นแชมป์กันทุกคน

4. เซป ฟานมาร์ค (LottoNL-Jumbo)
Ronde van Vlaanderen  2014

คุณอาจจะไม่คุ้นชื่อฟานมาร์ค เพราะเขาไม่ค่อยมีผลงานเท่าไรในช่วงอื่นๆ ของปี แต่ถึงสนามคลาสสิคเมื่อไร นักปั่นคนนี้คือคนที่ทีมอื่นห้ามคลาดสายตา เขาเคยได้แชมป์ Omloop ในปี 2012 และได้อันดับสอง Roubaix ในปี 2013 (แพ้แคนเชอลาราหน้าเส้นชัย) เรื่องทาเลนต์นี่มีไม่แพ้ใครหายห่วงแน่นอน เขาอยู่กลุ่มนำทุกครั้งในสนามคลาสสิค แต่ประสบการณ์อาจจะยังไม่มากพอจะเอาชนะเกมของทีมคู่แข่ง (อายุเพิ่ง 26 ปี) และลูกทีมอาจจะไม่เจนสนามเท่า Quickstep ถึงจะเสียเปรียบทีมอื่นบ้าง แต่ก็เป็นคนที่ประมาทไม่ได้เหมือนกัน

ม้ามืด

นอกจากเอซ 4 คนข้างบนนี้ อย่าลืมอเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (Katusha) ที่ฟอร์มแรงเก็บแชมป์ 3 สเตจในสนามกาตาร์, เอ็ดวาลด์ โบสซัน ฮาเก็น (MTN) ก็น่าสนใจ ทีมอื่นๆ มี อาร์นอด เดอแมร์ (FDJ), นิคิอัส อานท์ (Giant-Alpecin), ซิลเวน ชาวาเนล และไฮน์ริช เฮาส์เลอร์ (IAM)


ตัวเต็ง KBK (Startlist)

  • สนามนี้แทบจะฟันธงได้เลยว่าแชมป์ว่าใครจะได้แชมป์ เพราะตอนนี้คริสทอฟ (Katusha) ดูจะฟอร์มแรงกว่าใครๆ ในบรรดาสปรินเตอร์ครับ
  • Quickstep มีทอม โบเน็น และมาร์ค คาเวนดิช ทั้งคู่เป็นแชมป์เก่า ถ้าต้องดวลกับคริสทอฟนี่อะไรก็เกิดขึนได้ครับ ถ้าเป็นเพียวสปรินต์ 1-1 คาเวนดิชมีภาษีดีกว่าคริสทอฟ แต่ถ้า Katusha ชงเกมดีๆ ก็มีสิทธิสกัดดาวรุ่ง Quickstep ได้เหมือนกัน
  • ทีมอื่นๆ ลองดู ไทเลอร์ ฟาร์รา (MTN), เกร็ก เฮนเดอร์สัน (Lotto-Soudal), คริส ซัททอน (Sky), โยอาน ออฟรีโด (FDJ), และไบรอัน โกกอร์ด (Europcar)
  • รายการนี้ถ่ายทอดช่อง Eurosport ครับ

ใครจะดูถ่ายทอดสดอย่าลืมแวะไปคุยกันและฟังบรรยายสดได้ที่ Duckingtiger.com/live ครับ

♦♦♦

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *