เสือหมอบแข่งกันอย่างไร? Pro Cycling 101

คำถามยอดฮิตในหน้า Facebook DuckingTiger.com คือ การแข่งจักรยานเสือหมอบ มีกี่แบบ โปรนักปั่นมีแบบไหนบ้าง ? และแต่ละทีมวางตัวนักปั่นอย่างไร ? วันนี้ DT มีคำตอบ

ประเภทการแข่งขัน

Untitled-1

สิ่งแรกที่เราควรจะทำความเข้าใจก่อนจะรู้ว่าแต่ละทีมเขาวางตัวนักปั่นยังไงคือลักษณะของสนามแข่งครับ ประเภทสนามแข่งจะเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์และการวางแผนของทีมในแต่ละปีว่าจะจัดวางนักปั่นคนไหนไปแข่งรายการไหนบ้างและต้องจัดทีมอย่างไรให้ชนะทีมอื่น จักรยานเสือหมอบมีการแข่งขันหลายแบบ แต่เราสามารถแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. การแข่งขันแบบหลายวัน (stage races)

แบบนี้จะแข่งกันหลายวันตั้งแต่ 2-3 วันไปจนถึงสามอาทิตย์  รายการเล็กๆ จะแข่งประมาณ 5-7 วันเป็นส่วนใหญ่ เช่น Tour of California, Tour down Under, Tour de Langkawi, Paris-Nice เป็นต้น ส่วนรายการใหญ่ๆ ที่แข่งกันสามอาทิตย์มีแค่ 3 รายการตลอดทั้งปี เรียกว่า Grand Tour มี Giro d’Italia (จิโร หรือ Tour of Italy),  Tour de France (บ้านเราเรียกตูร์) , ท้ายสุด Vuelta a’ Espana (วูเอลต้า หรือ Tour of Spain)  Grand Tour ถือว่าเป็นรายการ stage racese ที่น่าดูที่สุดเพราะเป็นที่รวมดาวนักปั่นระดับโลก มีเงินรางวัลและเกียรติยศสูงสุด มีสภาพภูมิประเทศหลากหลาย และมีรางวัลสำหรับนักปั่นหลายประเภทให้เลือกชิงชัยกัน ไม่ใช่แค่ผู้ชนะเวลารวมอย่างเดียว สนามแข่งใหญ่ๆ จะอยู่ในยุโรปเกือบทั้งหมด แต่ก็มีจัดที่ต่างประเทศบ้างเช่นในโอมาน ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา

2. การแข่งขันแบบวันเดียว (one day races) 

รายการวันเดียวก็จะแข่งกันวันเดียวจบ รายการที่น่าสนใจส่วนใหญ่จะเริ่มช่วงฤดูใบไม้ผลิ (Spring Classic) หรือประมาณปลายเดือนมีนาคม มีรายการใหญ่ๆ 5 รายการที่เรียกว่า “ห้ามพลาด”​ เรียกว่า “Monuments”  เป็นรายการแข่งที่เก่าแก่ซึ่งบางรายการแข่งมาเกือบหนึ่งศรรตวรรษ สนามแข่งรายการวันเดียวมีหลายรูปแบบตั้งแต่ถนนปูอิฐ ไปจนถึงเนินเขาสูงชัน

  • Milan – San Remo (อิตาลี) – แข่งครั้งแรกในปี 1907 เริ่มแข่งช่วงปลายมีนาคมของทุกปี
  • Tour of Flanders (เบลเยียม) – แข่งครั้งแรกในปี 1913 เริ่มแข่งช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี
  • Paris-Roubaix (ฝรั่งเศส) – แข่งครั้งแรกในปี 1896 มักจะเริ่มแข่งหนึ่งอาทิตย์หลัก Tour of Flanders
  • Liege-Bastonge-Liege (เบลเยียม) – รายการแข่งที่เก่าแก่ที่สุด เริ่มในปี 1892 เริ่มแข่งปลายเดือนเมษายนของทุกปี
  • Il Lombardia (อิตาลี) รายการคลาสสิคท้ายสุดของปี แข่งครั้งแรกในปี 1905 และเริ่มแข่งช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปี
Paris - Roubaix 2014

นอกจากนี้จะมีการแข่งแบบวันเดียวที่สำคัญมากอีกรายการ คือรายการชิงแชมป์โลกจักรยานทางเรียบ UCI Road Championship ผู้ชนะจะได้สวมเสื้อแชมป์โลกไปตลอดหนึ่งปี แชมป์คนปัจจุบันคือ Phillipe Gilbert จากทีม BMC ครับ รายการนี้จะต่างจากรายการอื่น คือทีมที่แข่งไม่ใช่ professional Trade team แต่เป็นทีมชาติ ซึ่งสามารถมีนักปั่นได้จากหลาย pro ทีมรวมกันครับ

 

การจัดตำแหน่งนักปั่นในทีม

การจัดตำแหน่งนักปั่นมักจะขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของทีมในแต่ละการแข่งขัน และขึ้นอยู่กับว่าแต่ละทีมมีนักกีฬาที่ถนัดอะไรบ้าง จะไม่ตายตัวเหมือนกีฬาอื่นอย่างฟุตบอล ที่มีกองหน้ากองหลังเป็นรูปแบบ ตัวอย่างเช่นในการแข่ง Tour de France แข่งยาวๆ กันสามอาทิตย์ ทีมอย่าง BMC หรือ Sky หรือ Saxo Bank ที่มีนักแข่งไสตล์ GC (ผู้ชนะเวลารวม) เก่งๆ อยู่ อย่าง Cadel Evans, Teejay Vangaderen, Bradley Wiggins, Christ Froome, Alberto Contador อย่างนี้เขาก็จะพยายามเอาชนะรางวัลเวลารวม (General Classification) โดยจะจัดให้ลูกทีมทั้งหมดขี่ป้องกันหัวหน้าทีม เพื่อไม่ให้ชน ไม่ให้ล้ม บังลมหัวหน้าให้มีแรงเก็บไว้ปีนเขาแข่งกับเอซทีมอื่น รางวัลเวลารวมคือรางวัลเกียรติยศสูงสุดในการแข่งขัน stage race ครับ ในขณะเดียวกัน stage races ก็มักจะรางวัลย่อยให้นักปั่นที่มีความถนัดด้านอื่น เช่นรางวัลคะแนนรวม (Point Classification) สำหรับสปรินเตอร์ หรือรางวัลนักไต่เขา (Mountain Classification) สำหรับคนที่ไต่เขาได้ดีกว่าคนอื่น เรียกว่ามีการแข่งขันย่อยๆ ลงไปอีก ทำให้สามารถติดตามดูผู้นำแต่ละแบบได้สนุกขึ้น

บางทีมไม่มีนักแข่งแบบ GC เก่งๆ แต่มีสปรินเตอร์ เขาก็จะเน้นสร้างทีมสนับสนุนสปรินเตอร์ เก็บชัยชนะหน้าเส้นในแต่ละวัน ยกตัวอย่างเช่นทีม Lotto-Belisol ไม่มีนักปั่น GC เก่งๆ แต่มีสปรินเตอร์เทพอย่าง Andre Griepel เขาก็สร้างขบวนบังลมให้หัวหน้าทีม ปั่นเร็วจนทีมอื่นแซงไม่ได้ เข้าวินไป เป็นต้น

หรือบางทีมมีทั้งนักปั่นแบบ GC และสปรินเตอร์ ทีมก็อาจจะต้องเลือกแบ่งลูกทีมไปช่วยหัวหน้าทั้งสองคน บางทีมอาจจะไม่ช่วยสปรินเตอร์เลย ให้ไปวัดดวงเองหน้าเส้นชัย เพราะไม่อยากเสี่ยงเสียแชมป์คะแนนรวม ตัวอย่างล่าสุดก็เช่น Team Sky ที่เลือกจะสนับสนุน Bradley Wiggins แทนที่จะส่งคนไปตั้งขบวนสปรินเตอร์ให้ Mark Cavendish ส่วนใหญ่แล้วทีมต้องเลือกช่วยคนใดคนหนึ่ง เพราะบุคลากรทีมมีจำกัด บางทีมเขาเน้นมาเอาชนะรางวัลเดียวก็จะได้เปรียบทีมที่พยายามจะชนะหลายๆ รางวัล

บางทีมทุนน้อย ไม่มีเงินจ้างนักแข่ง GC, sprinter หรืออื่นๆ ที่เก่งๆ ก็จะเน้นกลยุทธ์การ break away หรือยิงหนีออกไปกลางเสตจ เพื่อหวังว่ากลุ่มหลัก (peloton) จะตามไม่ทัน ทีมก็จะได้เข้าเส้นคนแรก ได้ชื่อเสียงให้เพื่อนร่วมทีมและสปอนเซอร์ ทีมพวกนี้ไม่หวังชนะเวลารวมหรือคะแนนรวมอยู่แล้ว เช่น FDJ, Europcar, Euskatel

ถ้าเป็นรายการแข่งแบบวันเดียว เช่น Milan-San remo, Tour of Flanders ทีมจะดูว่าในทีมตัวเองมีคนถนัดสนามแบบนี้กี่คน บางรายการมีเขาให้ปีนขึ้นๆ ลง บางรายการขี่ไกลๆ ยาวๆ บนทางขรุขระ แต่ละทีมมักจะมีจุดโฟกัสของตัวเองอยู่แล้ว ยกตัวอย่างทีม Omega Pharma-Quick step ที่เน้นเก็บชัยชนะการแข่งวันเดียวรายการใหญ่ เพราะทีมไม่มีนักแข่ง GC ดีๆ ไปแข่งรายการ Grand tour ยาวๆ ทีมก็จะสนับสนุนหัวหน้าเต็มที่ ไม่ว่าจะส่งคนไปล่อทีมอื่นให้ขี่ตาม จะได้หมดแรง ตามหัวหน้าไม่ทัน หรืออาจจะส่งลูกสมุนไปดักข้างหน้าไว้เลย เวลาหัวหน้าขี่ขึ้นไปนำจะได้มีคนช่วยลากจนเข้าเส้นชัน (breakaway) บางทีลูกน้องก็ไล่ยิงเก็บ breakaway ของทีมอื่น กลยุทธ์มีมากมายขึ้นอยู่กับนักแข่งของทีมอื่น สภาพอากาศ ต่างๆ นาๆ ครับ บางทีแผนที่วางไว้ก็ไม่เวิร์กถ้านักแข่งปั่นไม่ไหว หรือป่วยกระทันหัน หรือยางแตก ตัวแปรมีมากมาย เดากันไมไ่ด้จนกว่าจะเข้าเส้นชัย

ประเภทนักแข่งจักรยาน

เราสามารถจัดประเภทนักแข่งจักรยานเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ประมาณหกลักษณะตามความถนัดครับ นักกีฬาจักรยานเสือหมอบจะมีความถนัดแตกต่างกันตามพันธุกรรมและการฝึกซ้อม เมื่อแข่งจนอยู่ระดับสูงแล้วมักจะรู้ดีว่าตัวเองมีความถนัดด้านไหนเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันก็มีนักปั่นที่ถนัดทุกแบบแต่ไม่เก่งด้านใดด้านนึงโดยเฉพาะ

1. All Rounder –  หมายถึงนักปั่นที่เก่งรอบด้าน โดยมากจะเป็นหัวหน้าทีมในการแข่งขัน stage races จุดแข็งคือปีนเขาเก่ง และปั่น Time Trial ได้ดีมาก ความเชี่ยวชาญสองด้านนี้จำเป็นมากในการคว้าชัยชนะรายการ stage race อย่าง Tour de France ตัวอย่างเช่น Lance Armstrong, Bradley Wiggins, Cadel Evans, Alberto Contador

Evans – Wiggins – Nibali นักปั่น all rounder หัวหน้าทีมในรายการ TDF 2012

2. Time trialist – เป็นนักปั่นที่สามารถปั่นระยะทางไกลพอสมควรโดยใช้ความเร็วค่อนข้างสูง (40-55 km/h) ได้คนเดียวโดยไม่ต้องอาศัยคนอื่นบังลม นักปั่นลักษณะนี้จะมีความต้านทานกรดแลคติคสูงทำให้ออกแรงได้เยอะและนานกว่าคนอื่น Time Trial เป็นประเภทการแข่งย่อยู่ในรายการ stage race ใหญ่ๆ อย่าง Tour de France ที่นักปั่นต้องแข่งกันปั่นเดี่ยวให้ได้เวลาน้อยที่สุดในระยะทางที่กำหนด ตัวอย่างนักปั่น Time Trial ชื่อดังก็เช่น Fabian Cancellara, Tony Martin, Bradley Wiggins และ Contador เป็นต้น

timetrialist

3. Rouleur – เป็นคำภาษาฝรั่งเศส ใช้เรียกนักปั่นได้ดีในภูมิประเทศหลายรูปแบบ ทั้งทางเรียบและทางชัน คล้ายๆ จะเป็นลูกผสม ยกตัวอย่างเช่น Jens Voigt, Louis Leon Sanchez, Edwald Boassan Hagen สามารถยิงหนีทิ้งกลุ่มนำเพื่อหนีเข้าเส้นชัยคนเดียวได้ดี

4. Domestique – เป็นภาษาฝรั่งเศสอีกเช่นกัน ถ้าจะแปลตรงตัวก็คือ “คนใช้”​ หรือลูกทีมฝ่ายสนับสนุน ทีมที่จะชิงชัย Grand Tour รายการใหญ่จำเป็นต้องมีลูกทีมผู้ช่วยเก่งๆ จำนวนหนึ่งเพื่อช่วยขี่ป้องกันไม่ให้หัวหน้าทีมเกิดอุบัติเหตุ หรือคอยวิ่งส่งกระติกน้ำให้เพื่อนร่วมทีม ถ้าหัวหน้าทีมยางรั่วก็ต้องเสียสละเปลี่ยนรถตัวเองหรือล้อให้หัวหน้าทีมขี่ต่อไปได้ Domestique ต้องขี่บังลมให้หัวหน้าทีมในทางเรียบและทางเขาเพื่อให้หัวหน้าทีมประหยัดพลังงานได้เยอะที่สุด จะได้มีแรงทำเวลารวมได้ดีกว่าทีมอื่นๆ Domestique ชื่อดังก็เช่น Michaele Rogers, Richie Porte, George Hincapie เป็นต้น Domestique อาจจะได้เป็นหัวหน้าทีมในสนามเล็กๆ บ้างเป็นบางครั้ง

5. Sprinter – นักปั่นที่สามารถระเบิดพลังเพื่อทำความเร็วสูงสุดได้ในระยะสั้นๆ เหมือนนักวิ่งสปรินต์ หน้าที่ของสปรินเตอร์คือชิงชัยชนะหน้าเส้นชัย เป็นช่วงที่สนุกที่สุดในการดูการแข่งจักรยานก็ว่าได้ เพราะคนดูต้องลุ้นว่าใครจะเข้าเส้นก่อน Sprinter ส่วนมากจะปีนเขาได้ไม่ดีเพราะมีขนาดตัวใหญ่ DuckingTiger ได้พูดถึงเรื่อง Sprinter อย่างละเอียดไว้แล้วในโพสต์ “เจาะลึกความเป็นสปรินเตอร์”​ ครับ Sprinter ชื่อดังตอนนี้ก็คงเป็น Mark Cavendish และ Andre Griepel

Andre Griepel สปรินต์เข้าเส้นแซง Cavendish (หมวกเหลือง) และ Matt Goss (หมวกเขียว)

6. Climber – ไม่ต้องอธิบายกันมาก Climber ก็คือนักไต่เขา มักจะเป็นพวกตัวผอมเพรียวและทำความเร็ว หรือเร่งเครื่องบนภูเขาได้ดีกว่าคนอื่นๆ นักไต่เขาเก่งๆ หลายคนเป็น all rounder คือปั่น Time trial ได้ดีด้วยเช่น Wiggins, Cadel Evans, Alberto Contador แต่ก็มีนักไต่เขาหลายคนที่เก่งแค่การไต่เขาอย่างเดียว อย่าง Andy Schelck และ Pierre Roland เป็นต้น

7. Puncheur – เป็นลูกผสมระหว่าง Rouleur และ Sprinter คือสามารถทำความเร็วสูงในระยะทางสั้นๆ ได้ดีโดยเฉพาะบนเนินชันสั้นๆ ส่วนมากนักปั่นพวกนี้จะค่อนข้างอึด ยิงหนีคู่ต่อสู้ได้หลายต่อหลายครั้งจนคู่ต่อสู้ไม่สามารถตามได้ ถนัดทั้งทางราบระยะไกล และเส้นชัยบนเนินสั้นๆ นักแข่งประเภทนี้ดูสนุกเพราะมีสีสันโจมตีคู่ต่อสู้ได้หลายครั้งในการแข่ง ตัวอย่างเช่น Phillipe Gilbert, Tom Boonen, Peter Sagan, Joaquim Rodriguez

Joaquim Rodriguez ในรายการ Il Lombardia 2012
Published
Categorized as Racing

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

5 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *