โปรเสือหมอบมีค่าตัวเท่าไร? – Pro Cyclist Salary

หนึ่งในเรื่องที่คนรักเสือหมอบอาจจะไม่ค่อยรู้คือค่าตัวนักปั่นจักรยานมืออาชีพครับ วันนี้เรามาดูกันว่าโปรจักรยานเขามีค่าตัวเท่าไรกันบ้าง ตั้งแต่ระดับโปรมือใหม่ไปจนถึงผู้ชนะรายการ Tour de France !

อันดับแรกต้องเข้าใจกันก่อนว่าโปรจักรยานนั้นมี 3 ระดับครับ แบ่งเป็น ​Pro Team, Pro Continental, และ Continental

1. Pro Teams

หมายถึงทีมที่แข่งในระดับดิวิชันสูงสุด (1) UCI World Tour ซึ่งบังคับให้ทีมในระดับนี้ต้องลงแข่งรายการใหญ่ๆ ประจำปีอย่าง Paris-Roubaix, Tour de France, Giro d’ Italia ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ UCI World Tour ก็คือ Premiere League ครับ เป็นลีกสูงสุดของการแข่งเสือหมอบ ทีมที่อยู่ในลีกนี้จะมีทั้งหมด 18 ทีม เช่น Team Sky, Garmin-Sharp, Saxo-Tinkoff, Astana, Cannondale เป็นต้น

ขนาดทีม: 25 คนเป็นอย่างน้อย, สูงสุดมไม่เกิน 30 คน
รายได้ขั้นต่ำ: 38,500 ยูโร (ประมาณ​ 1,500,000 บาท)

2. Pro Continental

อยู่ในดิวิชันรองลงมา (ก็ต้องแข่งในสนามที่เล็กลงมา ยกเว้นจะได้บัตรเชิญจากผู้จัดแข่งในสนาม ​UCI World Tour) ทีมในดิวิชันนี้ก็เช่น EuropCar, Cofidis, Saur-Sojasun, Rusvelo, IAM Cycling, Champion System

ขนาดทีม: 16 คนเป็นอย่างน้อย, สูงสุดไม่เกิน 25 คน
รายได้ขั้นต่ำ: 29,000 ยูโร (ประมาณ​ 1,100,000 บาท)

3. Continental

เป็นดิวิชันล่างสุด ส่วนใหญ่จะเป็นทีมที่เน้นแข่งในประเทศหรือภูมิภาคของตัวเอง เช่นทีม 3M, Bigmat, Rapha Condor-JLT นักกีฬาในทีมระดับนี้มีหลายรูปแบบ เป็นคนธรรมดาทำงานประจำอื่นๆ ก็มี

ขนาดทีม: 8 คนเป็นอย่างน้อย, สูงสุดไม่เกิน 16 คน
รายได้ขั้นต่ำ: ไม่มี ไม่ได้กำหนดไว้

ทั้งเหนื่อยทั้งเปียก
ใครว่าเป็นโปรเสือหมอบสบาย ทั้งเหนื่อยทั้งเปียก

พอจะเข้าใจโครงสร้างหลักของกีฬาเสือหมอบแล้ว ทีนี้มาดูว่านักปั่นส่วนใหญ่เขามีรายได้ต่อปีเท่าไรกันบ้างครับ อันดับแรกข้อพูดถึงนักปั่นในระดับ Pro Teams ดิวิชันสูงสุด รายได้ขั้นต่ำสุดอย่างที่บอกคือประมาณ​ 38,500 ยูโร (1.5 ล้านบาท)

ถ้าเป็นนักปั่นที่เคยชนะเสตจในรายการใหญ่ๆ อย่าง Giro หรือ Tour de France อาจจะต่อราคาค่าตัวได้ประมาณ​ 150,000 ยูโร ประมาณ 6 ล้านบาทต่อปี

ถ้าเคยชนะรายการคลาสสิคอย่าง Amstel Gold, Paris-Roubaix อาจจะต่อรองได้สูงถึง 200,000 ยูโร (10 ล้านบาท)

ถ้าเก่งกว่านั้น ได้อันดับดีในรายการ grand tour และรายการใหญ่อื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ ก็อาจจะเรียกได้ 300,000-600,000 ยูโร (15-30 ล้านบาท)

สำหรับดาราค้ำฟ้าที่เคยชนะรายการ grand tour หรืออยู่อันดับโพเดียมหลายครั้ง หรือชนะเสตจมากๆ อย่าง Cadel Evans, Gilbert, Schelck พวกนี้ค่าตัวอยู่ที่ปีละ 1-2 ล้านยูโร (ห้าสิบถึงร้อยล้านบาท) ส่วนคนที่ชนะ Grand Tour หลายครั้งอย่าง Contador ค่าตัวปีละ 5 ล้านยูโร (200 ล้านบาท)

สำหรับดิวิชันรองลงมาอย่าง ​Pro Contiental จะมีนักปั่นแค่คนหรือสองคนในทีมที่อาจจะรายได้ดีหน่อยแต่ก็ไม่เกิน 150,000 ยูโร คนอื่นๆ ได้ไม่เกินเกณฑ์ขั้นต่ำสักเท่าไร (ล้านกว่าบาท) ซึ่งก็ถือว่าน้อยพอสมควรเทียบกับนักกีฬาอาชีพอื่นๆ

พยายามแทบตาย แต่ก็ไม่ชนะ - Andy Schelck TDF 2011
พยายามแทบตาย แต่ก็ไม่ชนะ – Andy Schelck TDF 2011

 

รายได้อื่นๆ

นอกจากค่าตัวต่อปีแล้ว นักปั่นที่มีชื่อเสียงอาจจะได้เป็นพรีเซนเตอร์ให้สินค้าจักรยานหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็นเฟรม รองเท้า หมวก ซึ่งค่าตอบแทนก็ต่างกันไปขึ้นอยู่กับความดังของนักปั่นและประเภทสินค้า แต่ส่วนใหญ่ก็หลักแสนถึงล้าน (บาท)

นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการชนะการแข่งขัน กีฬาจักรยานแข่งกันเป็นทีม ถ้าทีมไหนชนะรายได้จากการแข่งขันส่วนใหญ่ทีมจะแบ่งถัวเฉลี่ยให้นักปั่นที่เข้าแข่งในรายการนั้นๆ ครับอย่างใน Tour de France ผู้ชนะเสตจในแต่ละวันจะได้รางวัล 8000 ยูโร (สามแสนกว่าบาท) ทีมที่ลูกทีมตัวเองชนะเสตจส่วนใหญ่จะเอาเงินเข้ากองกลางแล้วหารกันทีเดียวหลังแข่งเสร็จครับ

เปรียบเทียบกับกีฬาอื่นๆ

เวลาเราเห็นนักปั่นอย่างคอนทาดอร์ได้เงินปีละ 200 ล้านบาทอาจจะตกใจว่าทำไมเยอะจัง แต่อยากให้เข้าใจว่าการเป็นโปรจักรยานนั้นรายได้จัดว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับโปรกีฬาอื่นๆ โดยเฉลี่ยรวมๆ โปรเสือหมอบในดิวิชันสูงสุดได้ค่าตัวประมาณ 5-7 ล้านบาท ในขณะที่ ค่าตัว “ขั้นต่ำ” ของนักบาส NBA อยู่ที่ 13-15 ล้านบาท ถ้ามีประสบการณ์เยอะอาจจะได้มากถึง 30-50 ล้านบาท มากกว่านักปั่นมากประสบการ์ณเกือบสิบเท่า ท่าจะเทียบกันตาม “ความหนัก”​ ของงานที่ทำแล้ว ค่าตัวโปรเสือหมอบจัดว่า “ถูกมากๆ” ครับ นี่ยังไม่ได้เทียบกับนักฟุตบอลอย่างโรนัลโด้ที่ค่าตัว “อาทิตย์” ละ 5 ล้านกว่าบาท

เป็นกีฬาที่ถ้าไม่รักจริง และหวังจะร่ำรวย ไปทำอาชีพอื่นยังง่ายกว่าเยอะครับ ผมลยชื่นชอบและชื่นชมนักกีฬาโปรเสือหมอบแทบจะทุกคน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่อย่าง Taylor Phinney, Joe Dombrowski, Peter Sagan ที่อาจจะหาเลี้ยงตัวเองได้ในสายอาชีพอื่นๆ และพวกโปรรุ่นเก๋าที่เป็น Domestique ตัวช่วยหัวหน้าทีม ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีหน้าตา ไม่ได้ชนะการแข่งมากมายอะไร รายได้ก็พออยู่พอกิน แต่ก็ปั่นจนอายุ 40 ต้องรักจริงถึงทำได้ครับ น่านับถือ

แถมยังโดนรังควาญทุกวัน...
Contador ค่าตัวสองร้อยล้านบาท…

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

3 comments

  1. นักจักรยานส่วนใหญ่ที่มาเป็นนักกีฬา มีใจรักอยู่แล้ว.. ไม่ใช่จุดมุ่งหวังเพื่อเงินแบบกีฬาชนิดอื่นๆ..ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ..

    1. นับถือโปรเกือบทุกคนครับ หลายคนเป็น Domestique ไม่มีหน้าตา ไม่มีชื่อเสียง รายได้พออยู่พอกิน แต่ก็ก็ปั่นจนปั่นไม่ไหว ไม่รักจริงทำไม่ได้งานแบบนี้…

  2. เห็นด้วยครับ กีฬาจักรยานต้องเริ่มที่ใจก่อนครับ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *