ดูแข่งจักรยานยังไงให้สนุก – ตอนที่ 1: จักรยานไม่ใช่การวิ่งมาราธอน

แกรนด์ทัวร์รายการแรกของปีใกล้เข้ามาทุกที นับเป็นโอกาสดีที่ DT จะเขียนไกด์บุ๊กให้กับผู้ติดตามกีฬาหน้าใหม่ที่อาจจะยังไม่เข้าใจพลวัตรของการแข่งขันเท่าใดนัก ก็หวังว่าซีรียส์บทความนี้จะช่วยให้ผู้ที่สนใจอยากดูการแข่งขันจักรยานอาชีพได้เข้าใกล้และ “อิน” กับมันได้มากขึ้น

บทความนี้จะแบ่งออกเป็นสี่ตอน เพื่อแนะนำกีฬานี้อย่างช้า ๆ ให้เข้าใจง่ายกับผู้อ่านทุกระดับครับ


ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่าจักรยานเสือหมอบอาชีพเป็นกีฬาที่ดูยาก เข้าใจยาก มีศึกหลายด้าน มีทีมแข่งกันทีละหลายสิบทีม มีชัยชนะหลายรูปแบบ แข่งกันทีละ 4-7 ชั่วโมง บางทีเหมือนนั่งมองสีแห้ง ดูเป็นชั่วโมงก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่เหมือนกีฬาที่แข่งขันในสเตเดี้ยม มีสองทีมประชันกัน มีวิธีนับแต้มชัดเจน มีเหตุการณ์ดึงความสนใจของผู้ชมตลอดเวลา

แต่ถ้าเราเข้าใจถึงพลวัตรของเกมจักรยานถนนแล้ว มันจะสนุกขึ้นเรื่อยๆ เพราะเริ่มจับทางและอ่านเกมออกครับ โดยในตอนที่ 1 นี้ เราจะปูพื้นฐานความรู้ 5 ข้อ เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของการแข่งขันจักรยานก่อน

* * *

1. ทำไมนักปั่นต้องขี่กันเป็นกลุ่ม?

สิ่งแรกที่น่าจะชัดเจนอยู่แล้ว แต่ต้องพูดซ้ำคือ “จักรยานไม่เหมือนการวิ่งมาราธอน” ถึงแม้ว่าโดยเนื้อแท้แล้วมันจะเป็นการเดินทางจากจุด A ไปยังจุด B เหมือน ๆ กัน แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของจักรยานถนนคือแรงต้านของลม

ในทางราบ การปั่นตามหลังคันข้างหน้าใช้แรงน้อยกว่าประมาณ 30-40% เพราะการบังลม จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมจักรยานจึงต้องปั่นกันเป็นกลุ่ม ในขณะที่ในทางขึ้นเขา อัตราส่วนการประหยัดแรงนี้จะลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อสิ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อเคลื่อนไปข้างหน้าค่อย ๆ เปลี่ยนจากแรงต้านลมมาเป็นแรงโน้มถ่วง จนเมื่อทางชันมาก ๆ จะปั่นตามคันหน้าไปก็ไม่ช่วยอะไรอีกต่อไป

นั่นหมายความว่า การแข่งขันจักรยานไม่ใช่การวัดพลังของแต่ละคนจาก A → B เหมือนการวิ่งมาราธอน แต่มีเรื่องการประหยัดพลังงานจากการปั่นเป็นกลุ่มอยู่ด้วยเสมอ

 

2. ทำไมต้องมีกลุ่มหลัก ทำไมต้องมีกลุ่มหนี?

องค์ประกอบที่สำคัญของการแข่งขันจักรยาน มี 2 อย่างหลัก ๆ เท่านั้น เรียกว่า เบรคอเวย์ (breakaway) และ เปโลตอง (peloton, ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ลูกบอลลูกเล็ก ๆ สื่อถึงกลุ่มนักจักรยานที่ปั่นชิด ๆ กันเป็นก้อน) ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “กลุ่มหนี” และ “กลุ่มหลัก”

กลุ่มหนี (Breakaway) ในสนามชิงแชมป์โลก

จากข้อที่ 1 จะเห็นว่าเป้าหมายการแข่งจักรยานคือ เดินทางจาก A → B ให้ใช้เวลาน้อยที่สุด ปั่นกลุ่มใหญ่ ๆ ไปตั้งแต่ต้นจนจบ

อย่างไรก็ดี ในการแข่งขัน ผู้ที่เข้าเส้นชัยคนแรกคือผู้ชนะ และไม่ใช่ทุกคนจะสปรินต์หน้าเส้นชัยได้เร็วเท่ากันหมด ดังนั้น นักแข่งที่รู้ว่าตนไม่สามารถหวังผลชัยชนะได้จากการสปรินต์เพียงไม่กี่ร้อยเมตรหน้าเส้น จึงต้องหาวิธีอื่นเพื่อลุ้นชัยชนะ นั่นก็คือการหนีกลุ่มใหญ่ออกมาตั้งแต่เนิ่น ๆ เรียกว่า “กลุ่มหนี” หรือเบรคอเวย์ โดยทั่วไปนักแข่งจะเริ่มหนีกันทันทีที่พ้นเขต neutral start (เขตห้ามหนี) ซึ่งในช่วงนี้นักปั่นก็จะสลับขึ้นหน้า ไปหลังกันเพื่อหาตำแหน่งที่ตนต้องการ จนพ้นเขตห้ามหนีแล้วจึงค่อยแข่งกันจริง ๆ

เมื่อมีผู้หนี ก็ย่อมมีผู้ไล่ ผู้ไล่นี้เรียกว่า “กลุ่มหลัก” ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเสมอ เมื่อกลุ่มหนีออกไปได้จำนวนหนึ่งแล้ว ในกลุ่มหลักย่อมมีคนอยากออกไปด้วย แต่ออกไม่ทันเขา หรือคนที่คิดว่าคนที่หนีไปเก่งมาก ๆ ถ้าปล่อยไปจะต้องชนะแน่ ๆ ก็จะออกไล่ตามจนทัน วนเวียนเป็นวัฏจักรแมวจับหนูอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดสมดุลที่ทุกคนพอใจกับกลุ่มหนีแล้ว คนที่อยากจะหนีได้อยู่ในกลุ่มหนีแล้ว คนที่เก่งเกินไปถูกจับเข้ากลุ่มใหญ่แล้ว กลุ่มหนีก็จะคงที่และค่อย ๆ ทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ ส่วนกลุ่มใหญ่ก็จะผ่อนแรงลงแล้วค่อย ๆ ปั่นไปเรื่อย ๆ

ลักษณะที่กลุ่มหลักอยู่ตามกลุ่มหนีไม่มากนัก

เมื่อเส้นชัยใกล้เข้ามา กลุ่มหลักก็จะเร่งความเร็วขึ้นเพื่อจับกลุ่มหนีที่อยู่ข้างหน้าให้ทัน ชัยชนะก็เกิดขึ้นได้สองกรณีหลัก ๆ คือกลุ่มหนีข้างหน้าหนีพ้น แข่งกันเข้าเส้นจากกลุ่มเล็ก ๆ หรืออีกกรณีคือกลุ่มหลักจับได้ทัน ก็จะแข่งกันสปรินต์เข้าเส้นจากกลุ่มใหญ่ นี่คือพลวัตรของสนามทางราบซึ่งเข้าใจง่ายที่สุด

ในการแข่งขันที่สนามเป็นทางราบ กลุ่มหลักมักจับกลุ่มเล็กได้ทันเกือบ 100% เพราะเรื่องแรงต้านลมที่อธิบายไปในข้อที่ 1 การใช้คนหมู่มากมาเวียนปั่นนำกลุ่มใหญ่คนละเพียงชั่วครู่ ในช่วงไม่กี่สิบกิโลเมตรสุดท้ายของการแข่งขัน ย่อมช่วยกันบังลม ประหยัดแรง และไปได้เร็วกว่ากลุ่มหนีไม่กี่คนที่ช่วยกันปั่นแหวกลมมาแล้วเป็นหลักร้อยกิโลเมตรเสมอ

(พลวัตรการแข่งขันแบบนี้ มักเกิดขึ้นเฉพาะในระดับอาชีพ แต่สำหรับเกมมือสมัครเล่น ส่วนใหญ่ความแข็งแรงต่างกันชัดเจน และจะคัดตัวจนเหลือคนที่แข็งแรงที่สุดไม่กี่คน น้อยครั้งมากที่จะจบด้วยการสปรินต์กลุ่มใหญ่ ๆ)

Eurosport ทำ CG อธิบายพลวัตรของการไล่จับเบรคอเวย์ไว้ดีมาก ลองดูกันครับ

ในขณะที่การแข่งขันที่เป็นทางขึ้นเขา มักเป็นเรื่องของแรงใครแรงมันมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งที่จบบนยอดเขา เรามักเห็นคนที่ถึงเส้นชัยก่อนแค่ 1-3 คน นั่นก็เพราะในทางราบ คนที่อาจจะแรงน้อยกว่าคนอื่น 5% ก็อาศัยการบังลมประหยัดแรงไปได้ถึง 30-40% อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ช่วยชดเชยส่วนต่างและทำให้ถึงเส้นชัยด้วยกันได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน เมื่อถึงสนามขึ้นเขา คนแรงน้อยไม่สามารถอาศัยคนแรงมากบังลมให้ไปจนถึงเส้นชัยได้ ดังนั้นใครแรงมากกว่าก็จะถึงยอดก่อน

พลวัตรของสนามที่เป็นเขาหรือเนินเยอะ ๆ จึงมักจะซับซ้อนกว่าสนามทางราบ มักมีกลุ่มใหญ่ มีกลุ่มหนีที่อยู่หน้าสุด และมีกลุ่มตามที่แยกออกจากกลุ่มใหญ่เพื่อไล่กลุ่มหนีที่อยู่หน้าสุด หรือกลุ่มหนีที่อยู่หน้าสุดมีคนยิงหนีกลุ่มอีกที (เพื่อจะเข้าเส้นคนเดียว)

เวลาถ่ายทอดสดก็จะมีกราฟิกบนจอเพื่อบอกสถานการณ์ว่ากลุ่มหนีนำหน้ากลุ่มตามอยู่เท่าไร กลุ่มตามนำหน้ากลุ่มหลักอยู่อีกเท่าไร ถ้าเป็นรายการแข่งในฝรั่งเศสก็จะเป็นคำว่า tête de la course, poursuivant, และ peloton ตามลำดับ แต่โดยหลักการแล้วก็คือมีกลุ่มหนีกับกลุ่มตามนั่นเอง แค่กระจายตัวออกเป็นกลุ่ม 1 นำกลุ่ม 2, กลุ่ม 2 นำกลุ่ม 3 เป็นทอด ๆ ไปเท่านั้น

 

3. นักปั่นแต่ละประเภทต่างกันยังไง?

ในการแข่งขันระดับสูงสุด นักปั่นแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกันชัดเจน และเราสามารถแบ่งประเภทนักปั่นตัวเก่ง ๆ ได้ 3-4 ประเภท

ถ้าฟุตบอลประกอบด้วยผู้รักษาประตู กองหลัง กองกลาง และกองหน้า จักรยานถนนก็ประกอบด้วยสปรินเตอร์ (sprinter) นักไต่เนินสั้น ๆ (puncheur) นักไต่เขายาว ๆ (climber) และนักปั่นจับเวลา (time trialist)

นักปั่นที่เป็นสปรินเตอร์นั้นสามารถระเบิดพลังมหาศาลได้ในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้พุ่งแซงคู่แข่งได้อย่างรวดเร็ว แต่ระยะทำการสั้นนิดเดียว กลับกันนักปั่นจับเวลา จะมีร่างกายที่เหมาะกับการออกแรงต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่ไม่สามาถระเบิดพลังระยะสั้นได้ดีเท่าสปรินเตอร์

เรื่องสไตล์การปั่นนี้อธิบายได้ด้วยกราฟง่าย ๆ ที่มีชื่อเรียกในภาษาเทคนิคเก๋ ๆ ว่า critical power curve ครับ

กราฟด้านล่างนี้แสดงการออกแรงของนักปั่นทุกคนบนโลกตั้งแต่มือสมัครเล่นไปจนมืออาชีพ

แกนตั้งแสดงถึงพลัง (power, วัตต์) แกนนอนแสดงถึงเวลา (time, นาที) เส้นกราฟแสดงถึงแรงเฉลี่ยที่เราออกได้มากในที่สุดในแต่ละช่วงเวลา เช่น 5 วินาที ออกแรงได้ x หน่วย, 1 นาที ออกแรงได้ 50% ของ x, และ 60 นาที ออกแรงได้ 20% ของ x เป็นต้น

สมมุติว่ามีมืออาชีพสามคนที่เก่งพอ ๆ กัน ฝึกซ้อมมาในระดับสูงสุดทั้งหมด สิ่งที่จะทำให้พวกเขาต่างกันคือ แต่ละคนออกแรงได้ดีกว่าเพื่อนในระยะเวลาที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น สปรินเตอร์ออกแรงได้มากกว่าคนอื่นในระยะทำการ 5-10 วินาที นักไต่เนินออกแรงได้มากกว่าคนอื่นในระยะ 1-2 นาที และนักปั่นจับเวลาออกแรงได้ดีในระยะ 40-60 นาที เป็นต้น

ในการแข่งขันระดับโลก ความแตกต่างพวกนี้มีเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นตัวตัดสินแพ้ชนะที่สำคัญ ทุกคนต้องใช้จุดเด่นของตัวเองให้ถูกที่ถูกเวลาในแต่ละสนาม เช่นสปรินเตอร์ต้องไปให้ถึงหน้าเส้นพร้อมกลุ่มใหญ่ให้ได้ นักไต่เนินต้องอาศัยเนินที่อยู่ใกล้ ๆ เส้นชัยชิงหนีกลุ่มออกไปก่อน และนักปั่นจับเวลาก็ต้องหนีกลุ่มที่ระยะไกลจากเส้นชัยกว่านั้นไปอีก เป็นต้น

 

4. แข่งเป็นทีม แต่ทำไมผู้ชนะมีคนเดียว?

ธรรมชาติของการแข่งขันจักรยานนั้นจะต่างจากกีฬาทีมอื่น ๆ เล็กน้อย นั่นคือผลการแข่งขันและชัยชนะจะตกเป็นของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ทีม เช่นถ้าสมมตินาย A ทำเวลาได้เร็วที่สุดในรายการ Paris-Roubaix เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ในผลชนะ รายชื่อผู้ชนะจะเรียงจากนาย A เป็นคนแรก ไม่ใช่ทีมของนาย A

ต่อให้ A จะย้ายไปอยู่ทีมอื่น ผลงานนั้นก็ถือว่าเป็นของนาย A ถึงตอนนั้นจะแข่งให้ทีมอื่นก็ตาม ชื่อเสียง ความโด่งดัง ค่าตัวก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของปัจเจกล้วนๆ

เช่นนั้นแล้วกีฬานี้เป็นกีฬาที่ยกย่องผลงานของปัจเจกมากกว่าทีม แต่ในมุมกลับ นักปั่นตัวคนเดียวไม่สามารถเอาชนะการแข่งขันได้ด้วยตัวเอง ต้องใช้เพื่อนร่วมทีมช่วยเสมอ

 

5. ทำไมทีมนี้เงียบในสเตจภูเขา? ทำไมทีมนั้นไม่ชนะสเตจทางราบเลย?

ในปัจจุบัน การแข่งขันในระดับสูงสุดแต่ละครั้งมีทีมเข้าร่วมแข่ง 15-24 ทีม แต่ละทีมมีนักปั่น 7-8 คน แต่ละทีมย่อมประกอบด้วยนักปั่นที่เป็น “ไพ่ตาย” ของแต่ละทีม 1-3 คน ที่เหลือเป็นผู้ช่วยซึ่งมีหน้าที่บังลม รับส่งเสบียง ยกจักรยานของตัวเองให้หัวหน้าทีมถ้าจักรยานหัวหน้ามีปัญหา ฯลฯ

จากข้อที่ 3 จะเห็นว่า “ไพ่ตาย” ของแต่ละทีมย่อมไม่เหมือนกัน เช่น ไพ่ตายของทีม A เป็นสปรินเตอร์ ก็จะเห็นทีม A ตั้งใจปั่นในสนามที่เป็นทางราบ แล้วไม่ค่อยมีบทบาทในวันขึ้นเขา หรือถ้าไพ่ตายของทีม B เป็นนักไต่เขา ก็จะเห็นทีม B ช่วยกันไล่จับกลุ่มหนีในสนามขึ้นเขา เพื่อให้นักไต่เขาของตัวเองถึงตีนเขาก่อนใครเพื่อน แล้วทำหน้าที่ของไพ่ตายต่อไป จากนั้นในวันที่เป็นทางราบ ทีม B ก็จะไม่ค่อยมีบทบาท สลับกันไปอย่างนี้เรื่อย ๆ

ดังนั้น จะเห็นว่าแม้ตอนออกสตาร์ทจะเริ่มพร้อมกันเป็นสิบ ๆ ทีม แต่ในวัน ๆ หนึ่งมีทีมที่มีลุ้นชัยชนะแค่ไม่กี่ทีมเท่านั้น ทีมที่คิดว่าตนไม่มีลุ้นก็จะปั่นหลบลมในกลุ่มหลักเพื่อประหยัดพลังงานไว้สำหรับวันอื่น ๆ ต่อไป

แล้วทำไมทีมหนึ่งทีมไม่สามารถมีไพ่ตายหรือตัวเต็งแบบนี้หลายๆ คนได้? นั่นก็เพราะนักปั่นเก่ง ๆ ค่าตัวสูง ทีมก็ต้องคิดว่าจะเน้นจ้างนักปั่นสไตล์ไหน ให้ตอบโจทย์กับเป้าหมายหลักของทีม แต่ด้วยทรัพยากรทีมที่จำกัด และกฎที่แต่ละสนามเลือกนักปั่นลงได้ไม่เกิน 8 คน นั่นหมายความว่าหนึ่งทีมไม่สามารถส่งตัวเต็งสองประเภทลงสนามเดียวกันได้แบบไร้ข้อเสียเปรียบ เพราะว่าจะมีทีมอื่นๆ ที่มีเป้าหมายเดียวชัดเจน เลือกส่งหัวหน้าทีมและลูกน้องที่มุ่งมั่นในเป้าหมายนั้นๆ ไม่ต้องแบ่งทรัพยากรให้โจทย์อื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่นทีมที่ชื่อ Quickstep Floors ซึ่งทุ่มทุนสร้างทีมสปรินเตอร์ หวังเก็บแชมป์ทางราบอย่างเดียว นักปั่นที่เขาเลือกลงแข่งขันก็จะมีแต่สายทางราบเป็นหลัก ไม่เน้นหวังผลแชมป์สเตจเรซที่จำเป็นต้องใช้นักไต่เขาทั้งระดับหัวหน้าและผู้ช่วยหลายคน

กลับกัน บางทีมต้องการความหลากหลาย อยากมีทั้งผลงานทางราบและทางภูเขาในรายการเดียวกัน ก็แปลว่าทีมต้องส่งหัวหน้าทีมทั้งสองประเภท แต่หัวหน้าทั้งสองคนอาจจะต้องแบ่งผู้ช่วยกัน ซึ่งก็ทำให้มีจำนวนผู้ช่วยต่อหัวหน้าน้อยลง เมื่อเทียบกับทีมที่มีเป้าหมายเดียวชัดเจน

เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบางรายการ ทีมที่เราชอบกลับไม่มีผลงานเลย อาจเพราะทีมไม่มีนักปั่นที่ถนัดเส้นทางลักษณะนั้นก็เป็นได้ครับ

ถึงตรงนี้น่าจะพอเข้าใจหลักพื้นฐานของการแข่งขันจักรยานเสือหมอบแล้ว ในตอนต่อไป เราจะมาดูกันว่ารูปแบบการแข่งขันมีอะไรบ้าง สนามวันเดียวจบกับสเตจเรซแตกต่างกันอย่างไร และรางวัลเจ้าภูเขา เจ้าความเร็ว และเวลารวม มันคืออะไรครับ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

1 comment

  1. Peloton: ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “Platoon” หรือหมวดทหาร ในการแข่งจักรยานหมายถึง “กลุ่มหลัก” หรือกลุ่มนักปั่นที่ใหญ่ที่สุดระหว่างการแข่งขัน
    ที่มา https://www.duckingtiger.com/road-racing-vocabulary/

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *