พ้นเทศกาลพักผ่อนยางสงกรานต์แล้ว กลับมาอัปเดตวงการจักรยานอาชีพกันต่อครับ สัปดาห์ที่ผ่านมาเรามีสนามอาร์เดนส์คลาสสิครายการแรกที่จบไปใน Amstel Gold Race และสัปดาห์นี้ก็มีรายการ Tour of the Alpes ที่นักไต่เขาชื่อดังหลายคนลงแข่งขันรวมถึงคริส ฟรูม (Sky) ด้วย ตอนนี้ผ่านไปสองสเตจแล้ว มาดูความเคลื่อนไหวกัน
//
1. ไมเคิล วาลเกรนชนะ Amstel Gold Race
Amstel Gold Race เป็นรายการแข่งที่คนรู้จักไม่มาก แต่จริงๆ แล้วชมสนุก กับเส้นทางที่มีเนินชันต้องปีนร่วมห้าสิบครั้ง ระยะทางร่วม 250 กิโลเมตรและช่วงท้ายของการแข่งขันที่แต่ละทีมโชว์กลยุทธ์กันแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นในสเตจเรซครับ
แชมป์ปีนี้ตกเป็นของไมเคิล วาลเกรน (Astana) ที่หนีไปในช่วงสองกิโลเมตรสุดท้ายและสปรินต์ชนะแชมป์เก่าสองคน โรมัน ครอยซิเกอร์ (Mitchelton-Scott) กับเอนริโค กาสพารอตโต้ (Bahrain-Merida) ปีเตอร์ ซากาน (Bora-Hansgrohe) สปรินต์เข้าเป็นคนแรกในกลุ่มไล่ คว้าอันดับสี่ แซงหน้าอเลฮานโดร วาวเวอเด้ (Movistar)
“ดูเหมือนว่าการโจมตีช่วงใกล้เส้นชัยจะเป็นวิธีเดียวที่ผมชนะได้ ผมไม่มีทางชนะวาวเวอเด้ ซากานหรือคนอื่นๆ ในการสปรินต์ ผมสปรินต์พอได้แต่ไม่น่าจะดีพอให้ชนะ เพราะงั้นการโจมตีก่อนถึงเส้นชัย ผมมีโอกาสชนะโดยที่ไม่เสี่ยงอะไรเลย เพราะถึงสปรินต์หน้าเส้นกันผมก็แพ้อยู่ดี ผมเคยได้ที่สองรายการนี้มาแล้ว ผมจะไม่ยอมได้ที่สองอีก”
“ยาค็อบ ฟูลก์แซงช่วยผมไว้เยอะมากในช่วงท้าย ที่เขาคอยช่วยโจมตีตัดแรงคู่แข่งและทำความเร็วนำกลุ่ม ถ้าไม่ได้ทีมช่วยผมไม่ชนะแน่ๆ”
ช่วงท้ายของการแข่งขันเหลือกลุ่มตัวเต็งไม่มากนัก ที่ห้ากิโลเมตรสุดท้ายเหลือเพียงซากาน วาวเวอเด้ ครอยซิเกอร์ วาลเกรน กาสพารอตโต้ เวลเลนส์ ฟูลก์แซงและอลาฟิลลิป วาลเกรนเปิดเกมที่ 4 กิโลเมตรสุดท้ายแต่ไม่สำเร็จ แต่ลองอีกครั้งที่สองกิโลสุดท้าย ถึงครอยซิเกอร์และแกสพารอตโต้ตามมาด้วยแต่เขาก็เร็วกว่าที่หน้าเส้นชัย คว้าแชมป์ไปครอง
วิดีโอไฮไลท์
Comment: วาลเกรนเป็นนักปั่นที่น่าสนใจครับ อายุแค่ 26 ปีแต่เป็นไม่กี่คนที่รักษาฟอร์มในซีซันคลาสสิคได้ยาวมาก เริ่มตั้งแต่ Omloop ที่เขาได้แชมป์ ลากยาวมาถึงเมษาใน Amstel Gold ที่ยังชนะได้อีก นอกจากนี้ยังได้ที่ 4 ใน Tour of Flanders ด้วย ช่วงท้าย Astana ทำงานช่วยกันได้ดีมาก ลองดูวิดีโอไฮไลท์กัน
ผลการแข่งขัน
2. Astana กวาดสองสเตจแรกใน Tour of The Alps
หลังจากความสำเร็จของวาลเกรนใน Amstel Gold, Astana ก็เก็บชัยชนะรัวๆ ต่ออีกสองครั้ง ใน Tour of the Alpes สเตจเรซ
สเตจแรก เพลโล บิลบาว นักปั่นชาวสเปนจากทีม โจมตีกลุ่มบนทางขึ้นเขาลูกสุดท้าย เข้าเส้นชัยหกวินาทีก่อนหน้าเพื่อนร่วมทีม หลุยส์ ลีออน ซานเชซ ทิบอต์ พินอท์ (FDJ) และคริส ฟรูม (Sky) สองตัวเต็งของรายการตามเข้าเส้นชัยหลังแชมป์สเตจ 10 วินาที
ก่อนถึงทางขึ้นเขาสุดท้าย ทีม Sky ทำเพซความเร็วสูงเพื่อระงับการโจมตีจากทีมคู่แข่ง โดยเฉพาะฟรีมที่พยายามฉีกกลุ่มให้ขาดก่อนถึงเส้นชัย แต่บิลบาวไล่ตามทันในจังหวะลงเขาแล้วทิ้งระยะห่างจนคว้าแชมป์สเตจสำเร็จ
สเตจที่สองเมื่อคืนนี้ มิกูเอล โลเปซ อีกหนึ่งนักไต่เขาตัวจี๊ดของ Astana คว้าชัยชนะบนยอดเขา Alpe di Pampeago สปรินต์ชนะทิบอต์ พินอท์ (FDJ) และอีวาน โซซ่า (Androni Giocattoli-Sidermec), คริส ฟรูม (Sky) คว้าอันดับสี่ เข้าเส้นชัยตามหลัง 4 วินาที
ผลการแข่งขัน
การแข่งขัน Tour of the Alps ยังเหลืออีกสามสเตจ เวลาถ่ายทอดสด:
สเตจ 3: 18 เมษา, 18:00-19:30
สเตจ 4: 19 เมษา, 19:00-20:30
สเตจ 5: 20 เมษา, 19:00-20:30
เช็คลิงก์ถ่ายทอดสดที่ duckingtiger.com/live
3. คริส ฟรูม “เราจะจบคดีนี้ให้เร็วที่สุด”
เมื่อถูกสัมภาษณ์ก่อนลงแข่งใน Tour of the Alpes ว่าคดีเรื่องที่เขาถูกตรวจพบยาแก้ภูมิแพ้เกินปริมาณที่กำหนดไปถึงไหนแล้ว ฟรูมตอบว่า:
“อย่างที่บอกไปตอนต้น กระบวนการนี้มันควรจะเป็นเรื่องที่ไม่ออกสู่สาธารณะตามกฏครับ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น ผมจะไม่มาคอยบอกหรอกว่ามันไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ผมว่าคนอื่นก็ไม่ควรจะต้องคอยติดตามขนาดนั้นด้วย”
“เรากำลังจัดการมันให้จบเร็วที่สุด ผมไม่มีช่วงเวลาให้คุณหรอกว่ามันจะเสร็จเมื่อไร เพราะเราทำตามกระบวนการของ UCI”
“ตลอดฤดูกาลนี้ที่ผมไปลงแข่งสนามต่างๆ ในยุโรป ก็ได้รับการสนับสนุนดีจากแฟนๆ มันเกินที่ผมคาดไปมาก ทีม Sky ก็ช่วยสนับสนุนผมทุกอย่าง เราจะทำให้มันจบเร็วที่สุดครับ”
ที่มา: Cyclingweekly
4. Bora ต่อสัญญาสนับสนุนทีมไปจนถึงปี 2021
ถึงอนาคตของหลายๆ ทีมอย่าง BMC จะยังไม่แน่นอน เพราะยังหาสปอนเซอร์ต่อสำหรับปีหน้าไม่ได้ แต่ไม่ใช่ทีมของปีเตอร์ ซากาน เมื่อ Bora ประกาศต่อสัญญาให้ทีมอีกสามปีหลังจากที่ซากานคว้าแชมป์ Paris-Roubaix ประจำปี 2018 ได้สำเร็จ Bora จะสนับสนุนทีมในฐานะ title sponsor จนถึงปี 2021
ที่มา: Bora-Hansgrohe
5. นิบาลี: “ช่วงถนนหินใน Tour de France ปีนี้ยากกว่าปีที่ผ่านมา”
เป็นที่รู้กันดีว่าใน Tour de France ปีนี้ผู้จัดได้เตรียมเส้นทางถนนหินจาก Paris-Roubaix ไว้ให้นักแข่งได้ลุยกันด้วยในสเตจ 9 และตัวเต็งหลายคนก็ได้ไปทดลองเส้นทางเพื่อเตรียมตัวกันแล้ว คนล่าสุดที่ไปลองทางเป็นวินเชนโซ นิบาลี (Bahrain-Merida) ที่ออกมาบอกว่าเส้นทางปีนี้รับรองว่ายากกว่าถนนหินในปี 2014 และ 2015 แน่นอน
“เทียบกับในปี 2014 ผมว่ามีช่วงถนนหินหลายจุดที่อันตรายกว่าเดิม แล้วมันจะยากยิ่งกว่าถ้าฝนตกเพราะมันจะกลายเป็นโคลนตมแล้วก็ลื่นมาก แล้วปีนี้เรามีช่วงถนนหินยาวมากๆ ด้วย มันจะเป็นสเตจสำคัญที่ชี้ชะตาผู้เข้าแข่งขันหลายๆ คน ผมจะกลับมาซ้อมที่นี่อีกครั้งก่อนเริ่มแข่ง”
นิบาลีเป็นนักปั่นตัวเต็งไม่กี่คนในปี 2014 ที่รอดพ้นจากช่วงถนนหิน และทำเวลาได้ดีป้องกันเสื้อเหลืองที่เขาได้ตั้งแต่สเตจสอง เข้าเส้นชัยเป็นอันดับสาม ตามหลังลาร์ส บอม และยาค็อบ ฟูลก์แซง พร้อมทำเวลาห่างคู่แข่งอย่างอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ในสเตจนี้ถึงสองนาที ซึ่งดูแล้วนิบาลีน่าจะจัดการสเตจถนนหินได้ดีกว่าคนอื่นๆ อีกเช่นเดียวกันในปีนี้ครับ
ที่มา: Cyclingnews
6. ซากานปรับการซ้อมยังไงถึงชนะ Paris-Roubaix?
จากสนามที่แชมป์โลกสามสมัยทำผลงานได้ไม่ดีตลอดทุกครั้งที่ลงแข่ง กลายมาเป็นชัยชนะแบบเด็ดขาดในปี 2018 นี้ คำถามคือ ซากานเปลี่ยนแปลงการฝึกซ้อมหรือปรับตัวยังไงให้พิชิตสนามแข่งคลาสสิคที่ท้าทายที่สุดได้?
ปีนี้ซากานโจมตีคู่แข่งที่ 55 กิโลเมตรสุดท้าย และหนีไปจับเบรคอเวย์และแซงทิ้งไปได้สำเร็จ ถึงจะมีกลุ่มหนีที่ตามเขามาด้วยหนึ่งคน (ซิลเวน ดิลลิเย่ – AG2R) แต่เขาก็สปรินต์แซงเอาชนะได้ไม่ยากเย็น
Velonews ไปสัมภาษณ์โค้ชของซากาน – แพทซิ วิลา ซึ่งเขาให้รายละเอียดได้น่าสนใจทีเดียว
“การซ้อมไม่ได้เปลี่ยนมากครับเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เราเปลี่ยนช่วงเวลาที่ร่างกายซากานจะพีค จากปกติที่เราให้เขาลงแข่งสนามคลาสสิคตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ลงรายการอย่าง Omloop หรือ KBK เราให้เขาเริ่มแข่งหลังจากนั้นอีก เพื่อให้มั่นใจว่าเขายังท็อปฟอร์มอยู่ใน Roubaix ซึ่งเป็นสนามสุดท้ายของช่วงรายการคลาสสิคแบบถนนหิน แล้วอาจจะทำให้เขาฟอร์มยังดีใน Amstel Gold หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นด้วย (ซากานได้ที่ 4 ใน Amstel)”
“ทุกๆ ปีใน Roubaix เราสังเกตว่าฟอร์มซากานจะดูไม่เฉียบคมเท่าไร เขาแข่งได้ดีใน Flanders ทุกครั้ง แต่ไม่ค่อยดีใน Roubaix”
“อีกอย่างทีมเวิร์คเรายังไม่ดีที่สุด โดยเฉพาะใน Flanders ที่ซากานขาดผู้ช่วยในหลายๆ จุด แต่ใน Roubaix เราแก้ได้สำเร็จ ทีมเราช่วยงานกันได้สมบูรณ์แบบตลอด 257 กิโลเมตร ทุกคนมีหน้าที่ในทุกกิโลเมตรของการแข่งขัน และมันก็นำมาซึ่งผลงานที่เราคาดหวังไว้ครับ”
ที่มา: Velonews