ริกโอเบอร์โต้ อูราน – ดาวหางแห่งโคลอมเบีย

Rigoberto Uran นักปั่นชาวโคลอมเบียจากทีม Sky พึ่งจะคว้าผลงานอันดับสองในรายการ Giro d’Italia ไปหยกๆ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับยอดนักไต่เขาวัย 26 ปีคนนี้กันครับ

ปัจจุบัน Rigoberto Uran เป็นนักปั่นสังกัดทีม Sky และถนัดการไต่เขาเป็นพิเศษ มีผลงานระดับแชมป์เยาวชนโคลอมเบียในประเภท Time Trial และ Road Race เทิร์นโปรตั้งแต่อายุ 16 ปีและติดท๊อป 10รายการใหญ่ๆ อย่าง Tour de Romandie, tour de Suisse, Liege-Bastonge-Liege แชมป์ Young Rider จาก Giro d’Italia ปี 2012, และล่าสุดแชมป์เสตจ 2 และเสตจ 10 รวมถึงอันดับสองในรายการ Giro d’Italia ปี 2013 ((ข้อมูลจาก Wikipedia))

//บทความนี้แปลจาก “Choosing to forego revenge, and looking to the future instead. An interview with Rigoberto Uran, ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ Cycling Inquisition และได้รับอนุญาติให้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยผู้ประพันธ์ คุณ Klaus

 

เมือง Urrao, จังหวัด Antioquia, ประเทศโคลอมเบีย ปี 2001

เมื่อคราวที่ Rigoberto Uran (ริกโอเบอร์โต้ อูราน) อายุได้ 14 ปี, พ่อของเขาถูกยิงเสียชีวิตกลางเมืองอูราว ผู้เห็ตเหตุการณ์ต่างกล่าวว่าเป็นกลุ่มทหารที่เริ่มยิงก่อน แต่เมื่อดูอุณหภูมิการเมืองโคลอมเบียในสมัยนั้น “มันอาจจะเป็นใครก็ได้ ด้วยเหตุผลอะไรก็ได้” “คนบริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตไปนับไม่ถ้วน” อูรานกล่าว

สามเดือนก่อนหน้านี้ อูรานเข้าแข่งขันจักรยานเป็นครั้งแรกในชีวิตตามคำแนะนำของบิดา สองพ่อลูกฝึกซ้อมปั่นจักรยานด้วยเสื้อผ้าธรรมดาๆ ราคาถูกเพราะเสื้อผ้าสำหรับปั่นจักรยานนั้นมีราคาแพงมากเกินกว่าที่ครอบครัวของเขาจะซื้อได้

เมืองอูราวตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ขอจังหวัด Antioquia (แอนทิโอเควีย) ซึ่งเป็นเขตุที่ขึ้นชื่อเรื่องความรุนแรงและสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มแบ่งแยกทางการเมืองสองฝ่าย เราเรียกยุคสมัยนี้ว่า “La Violecencia”

“The area most associated with “La Violencia” in Antioqua is the southwest, specifically Urrao. Its experience has been the benchmark by which regional violence between 1946 and 1953 has historically been measured.”

ความรุนแรงในเขตุอูราวสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงปี 2001 ซึ่งเป็นปีที่อูรานอายุได้ 14 ปีพอดี แต่เด็กหนุ่มคนนี้ก็ต้องขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่วัยเยาว์ด้วยที่พ่อบังเกิดเกล้าตกเป็นเหยื่อของสงครามกลางเมือง อูรานต้องดูแลครอบครัวที่ยากจน มีแม่และน้องสาว อูรานสานต่ออาชีพขายล๊อตเตอรี่ที่บิดาของเขาเคยทำ ต้องออกทำงานเดินเร่ขายล๊อตเตอรี่ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า เข้าเรียนตอนกลางวัน ซ้อมจักรยานตอนเย็น กว่าจะได้กลับเข้าบ้านก็หลังเที่ยงคืน

แต่ต่างจากเด็กหนุ่มโคลอมเบียส่วนใหญ่ที่ออกล้างแค้นให้บิดามารดาหรือสมาชิกครอบครัวต้องเสียชีวิตให้กับพิษสงคราม อูรานกลับเดินหน้า พยายามเลี้ยงดูและเป็นเสาหลักให้กับครอบครัว ซึ่งอูรานเองนั้นเป็นตัวอย่างที่สะท้อนแนวคิดของชาวโคลอมเบียในช่วงเวลานั้นได้ดี… ทุกคนต่างเหนื่อยหน่ายต่อการศูนย์เสียและการล้างแค้น พวกเขาต้องการที่จะก้าวข้ามยุคมืดนี้ไปให้ได้ และในที่สุดพวกเขาก็ตระหนักว่าการล้างแค้นนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย

การล้างแค้นของชาวโคลอมเบียโดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดแอนทิโอเควียนั้นฝังลึกอยู่ในจิตใจของพวกเขาจนมีคำพิเศษที่ใช้นิยามการล้างแค้นว่า “culebra” คิวเลบรา หมายถึง​​ “การใช้หนี้” หนี้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเงินทอง แต่กลับเป็นหนี้ที่ต้องชดใช้ด้วย “ร่างกาย” คำว่าคิวเลบรานั้นแปลตรงๆ ว่า “งู”​ นั่นก็เพราะว่าการล้างแค้นในสมัยก่อนนั้นซับซ้อนและใช้เวลายาวนาน ซึ่งอาจจะทำให้ “งู” ของแต่ละคนต้องเกี่ยวพันจนพรากชีวิตกันไปเป็นทอดๆ เป็นการล้างแค้นที่ไม่มีวันจบสิ้น เป็นเสมือนวงจรอุบาทว์ที่กัดกินชีวิตผู้คนท้องถิ่นจนกลายเป็นรอยแค้นฝังลึกยากที่จะลืมเลือน

อูรานและเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันต่างมองข้ามการล้างแค้นเพื่อที่จะยุติวิถีความรุนแรง เขามีเป้าหมายอื่นในชีวิต…

 

วันเวลาที่เปลี่ยนไป

เมื่ออายุได้สิบหกปี อูรานบอกกับหัวหน้าทีม Orgullo Paisa ทีมที่เขาสังกัดอยู่ในตอนนั้นว่าเขาอยากจะขอหยุดพักการซ้อมปั่นจักรยานเพราะไม่มีเวลา ต้องคอยหาเลี้ยงดูครอบครัว ทางออกมีสองทาง หนึ่งคือเทิร์นโปรตอนอายุ 16 เดี๋ยวนั้นเลย หรือต้องขายล๊อตเตอรี่ไปตลอดชีวิตและเลิกปั่นจักรยานถาวร

แต่กฏการเทิร์นโปรนั้นกำหนดว่านักปั่นต้องมีอายุสิบแปดปีขึ้นไป ทำให้ทีม Paisa ค่อนข้างหนักใจ ในที่สุดอูรานให้มารดราช่วยเซ็นต์สัญญาแทนเขา ซึ่งทำให้เขาพลิกชีวิตมาเป็นโปรนักปั่นอย่างเต็มตัวด้วยวัยเพียงสิบหกปี สามปีให้หลัง อูรานได้เข้าแข่งจักรยานถนนในอิตาลีสังกัดทีม Tenax และแข่งให้กับทีมจักรยานในสนามยุโรปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ชีวิตโปรนักปั่นของอูรานดีขึ้นตามอายุของเขา เช่นเดียวกับสถานการณ์ในโคลอมเบีย ความรุนแรงและสงครามกลางเมืองค่อยๆ จางหายไป ทางด้านสงครามกำลังรบจากรัฐบาลและทหารก็พลิกสถานการณ์มาเอาชนะกองกำลังแบ่งแยกและกองโจรได้ ตั้งแต่นั้นมา โคลอมเบียก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่โหดร้ายเหมือนอย่างในปี 2001 ที่พ่อของอูรานต้องเสียชีวิตให้กระสุนนิรนาม และดียิ่งกว่าในปี 1987 เมื่อ Licho Herrara นักปั่นชาวโคลอมเบียพิชิตแชมป์รายการ Vuelta a Espana จนกลายเป็นฮีโร่ประจำชาติ อาจจะเป็นความบังเอิญ แต่อูรานก็เกิดในปี 1987 เช่นกัน…

 

อนาคต

ด้วยความหวังดีและการที่ไม่อยากเห็นเด็กๆ ต้องประสบชะตากรรมเดียวกับเขา อูรานออกเงินส่วนตัวสนับสนุนชมรมจักรยานที่ช่วยให้เขาได้กลายเป็นโปรนักปั่นตั้งแต่ยังเด็ก อูรานกลับมาปั่นกับเด็กๆ ที่นี่ทุกครั้งที่เขากลับมาเยี่ยมบ้านในเมืองอูราว และช่วยฝึกซ้อมนักปั่นเยาวชน ให้ความรู้การปั่นที่เขาซึมซับจากสังเวียนสนามแข่งยุโรป อูรานเชื่อมั่นว่าความรู้และเทคนิคต่างๆ ที่ใช้ในการแข่งขันจักรยานจะเป็นประตูที่สร้างโอกาสให้เด็กๆ ที่มีชีวิตยากจนไม่ต่างจากเขาในอดีต

 

บทสัมภาษณ์

ชีวิตวัยเด็กของคุณในเมืองอูราวเป็นยังไงบ้าง?

ในมุมมองของผม มันก็เหมือนชีวิตเด็กวัยรุ่นทั่วไป ผมไปโรงเรียน ผมเล่นกีฬาหลายประเภท แต่ไม่เคยแข่งจักรยาน แม่ผมเป็นแม่บ้าน พ่อขายล๊อตเตอรี่

 

ทำไมคุณถึงหันมาสนใจการแข่งขันจักรยาน?

เพราะว่าผมได้ออกไปปั่นจักรยานกับพ่อ ทุกๆ วันอาทิตย์เราจะออกทริปไกลๆ ซึ่งผมชอบและสนุกกับมันมาก นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ผมหันมาสนใจการแข่งขันอย่างจริงจัง

 

สนามแรกของคุณเป็นไงบ้าง?

อยู่ๆ วันหนึ่งพ่อก็ให้ผมไปเป็นสมาชิกชมรมจักรยานในเมืองอูราว ผมก็ไปสมัคร แปดวันก่อนการแข่งขันจับเวลา (Time Trial) โค้ชผมบอกแค่ว่า “เข้าเส้นชัยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” ผมจำจนขึ้นใจ และวันนั้นผมก็ชนะ…

1869608

ขอโทษที่ผมอาจจะต้องถามคำถามที่ละเอียดอ่อน… แต่อยากทราบว่าการเสียชีวิตของคุณพ่อมีผลอย่างไรกับอาชีพนักปั่นของคุณบ้าง?

ในสมัยนั้นเราอยู่กับสงคราม พ่อผมก็เป็นหนึ่งในเหยื่อสงคราม ตอนที่เขาเสียชีวิตผมก็ปั่นให้ในสโมสรท้องถิ่นแล้ว ผมก็เลยพยายามปั่นต่อไป ผมทำงานขายล๊อตเตอรี่แทนพ่อ และก็ต้องไปเรียนหนังสือด้วย ซึ่งมันยากมากในช่วงแรกๆ แต่หลังจากนั้นผมก็เริ่มชิน เวลามันก็ผ่านไป… ผมคิดว่าผมเป็นคนที่โชคดีมากและความมุ่งมั่นฝึกซ้อมปั่นของผมช่วยให้ผมได้เข้าแข่งในสนามยุโรปเร็วกว่าที่คาดไว้

 

คุณเซ็นต์สัญญาเทิร์นโปรตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่กฏเขากำหนดว่านักกีฬาต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ก่อน คุณทำได้ไง?

ในสมัยนั้นผมปั่นให้กับทีม Orgullo Paisa ซึ่งผมคว้าชัยชนะให้ทีมมากมายหลายรายการ เช่นเดียวกับทีมชาติที่ผมมีผลงานทั้งจักรยานถนนและจักรยานลู่ อาจจะเป็นเพราะผลงานของผมที่ทำให้ทีม Tenax จากยุโรปสนใจ ผมไม่ลังเลย ผมเริ่มแข่งให้ทีม Tenax

 

 

คุณคิดว่าการแข่งขันจักรยานเปลี่ยนชีวิตคุณอย่างไร และคุณคิดว่ามันจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กๆ ในโคลอมเบียได้ไหม? คุณมองว่าการแข่งขันจักรยานเป็นทางออกให้ชีวิตที่ยากเย็นแร้นแค้นในสมัยนั้นหรือเปล่า?

ผมไม่เคยคิดว่ามันเป็นทางหนี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเปลี่ยนชีวิตผม ตอนนั้นชีวิตมันลำบาก ผมต้องเรียนรู้ที่จะเลี้ยงดูคนรอบข้างและตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก ชีวิตของนักกีฬาไม่เหมือนชีวิตคนทั่วไปครับ

-1

 

คุณรู้จักสโมสรจักรยานในอูราวได้ยังไง ? แล้วคุณอยากให้อนาคตสโมสรเป็นอย่างไร?

ผมเกิดและโตมากับที่นั่น เขาช่วยเหลือผมในช่วงเวลาที่ผมต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เพราะงั้นผมเลยมองว่าการที่ผมกลับมาช่วยสโมสรในตอนนี้ทั้งเรื่องการเงินและการฝึกซ้อมเป็นการช่วยเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวที่ยากจน ผมเห็นว่าเด็กๆ ตั้งใจมากและอยากจะเก่งจนเป็นโปรได้สักวัน

 

สโมสรนี้อยู่กันยังไง?

สโมสรของเราเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกซ้อมและเข้าแข่งขัน และให้เขาได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ ในชีวิตนอกเหนือจากการแข่งด้วย เราให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วย และถ้าเด็กคนไหนเกรดตกเกินเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้ก็จะไม่พาไปแข่งครับ! สโมสรเรามีเด็กประมาณห้าสิบคน แต่เราก็ยังขาดแคลนทุนทรัพย์​ที่จะใช้ซื้ออุปกรณ์จักรยาน อะไหล่ต่างๆ และเสื้อผ้าที่ใช้แข่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีคนช่วยบริจาคและสนับสนุนเรามากขึ้น

 

คุณคิดว่าในอนาคต คนจากชาติที่ร่ำรวยกว่าอย่างสหรัฐอเมริกาจะช่วยบริจาคเงินทุนช่วยเหลือสโมสรบ้างหรือเปล่า?

แน่นอน ผมพยายามโปรโมตสโมสรของเรา อยากให้ทุกคนรับรู้ถึงความสามารถและความตั้งใจของเด็กๆ เด็กส่วนใหญ่มากจากครอบครัวที่ยากจนและในที่สุดอาจจะไม่สามารถเข้าแข่งในระดับโปรได้ แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องดีที่เขาได้มาออกกำลังกาย ทำสิ่งที่ดีให้กับชีวิต ไม่จมปลักอยู่กับเรื่องแย่ๆ

 

โคลอมเบียนั้นค่อนข้างต่างจากยุโรปพอสมควรในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม ผมได้ยินมาว่านักปั่นโปรชาวโคลอมเบียปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในยุโรปไม่ได้ (Culture Shock) ผมสงสัยว่าคุณปรับตัวอย่างไร แล้วคุณก็ย้ายถิ่นมาแข่งทียุโรปตั้งแต่ยังเด็กเสียด้วย

มันก็ยากมากครับ แต่ว่าถ้าคุณเกิดมาในสภาพแวดล้อมแย่ๆ อย่างที่ผมอยู่ และมีแรงกระตุ้นที่อยากจะทำอะไรให้สำเร็จสักอย่าง คุณก็ปรับตัวได้เอง ปีแรกที่ผมมายุโรปผมแทบทำอะไรไม่ถูก ทุกสิ่งทุกอย่างมันต่างกันไปหมด ผมรู้สึกเดียวดาย อยู่ห่างไกลบ้านและครอบครัว ผมพอจะเข้าใจว่าทำไมโปรหลายๆ คนจะทนอยู่ไม่ได้ มันยากครับ

 

ทีม Caisse d’Epargne ที่คุณเคยอยู่กับทีม Sky ต่างกันยังไงบ้าง?

ทั้งสองทีมเป็นทีมที่ดีมากๆ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ว่าที่นี่ ที่ Sky เราทำงานกันคนละแบบ เราวางเป้าหมายการแข่งขันชัดเจน และทัศนคติต่อการแข่งของทีม Sky นั้นต่างจากทีมอื่นๆ โดยสิ้นเชิง

 

ตอนนี้คุณสังกัดทีมจากอังกฤษ คุณเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมหรือเปล่า?

ก็เรียนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อย ค่อยๆ เรียนรู้จากการอยู่ในทีม

 

คุณเคยติดอันดับห้าใน Liege-Bastonge-Liege, ซึ่งไม่ใช่ผลงานขี้หมูขี้หมาเลย เป็นผลงานที่ดีที่สุของชาวโคลอมเบียในสนามคลาสสิค ((ปี 2011)) คุณอยากจะลงแข่งสนาม Ardennes มากขึ้นในอนาคตหรือเปล่า?

ผมชอบสนามแข่งวันเดียว แต่ว่าการที่จะปั่นให้ดีในศึกแกรนด์ทัวร์ที่แข่งกันสามอาทิตย์มันก็ยากไปอีกแบบครับ ผมพยายามฝึกซ้อมการแข่งแกรนด์ทัวร์มากกว่า

 

ทำไมคุณถึงชอบฝึกซ้อมที่โคลอมเบียมากกว่าในยุโรป?

ที่โคลอมเบียอากาศค่อนข้างดีตลอดปี อุณหภูมิแค่ประมาณ 25 องศาเซลเซียส แถมบริเวณที่ฝึกซ้อมผมก็อยู่สูงกว่า 2,300 เมตร มีเขาให้ฝึกซ้อมเยอะ ถนนก็ดี

 

แนะนำสถานที่ปั่นเจ๋งๆ ให้คนที่สนใจไปซ้อมปั่นในโคลอมเบีย?

สำหรับผมที่ๆ ดีที่สุดคงเป็น West Medellin ถนนดีมาก โรงแรมก็ดี ติดสนามบินเดินทางสะดวก และผู้คนก็เป็นมิตร

 

ในยุคปี 80s นักปั่นอย่าง Fabio Parra, Oliverio Rincon และ Luis Herrera มักจะพูดถึงว่าพวกเขาเป็นตัวแทนชาวโคลอมเบียเสมอๆ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะว่าประเทศอื่นๆ มองโคลอมเบียในเชิงลบเพราะปัญหาสงครามและยาเสพย์ติด ซึ่งนักปั่นประเทศอื่นๆ ไม่ค่อยจะแสดงตัวแบบนี้ คุณคิดถึงเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า?

ถึงผมจะปั่นให้กับทีมสัญาชาติอังกฤษ แต่ผมก็เป็นตัวแทนนักกีฬาโคลอมเบียตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะตอนที่ผมใส่เสื้อทีมชาติลงแข่ง

039102182980e71c2f7dfab87b6f4e58o

ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติผู้คนที่มองต่อโคลอมเบียได้ คุณอยากจะให้เขาได้รับรู้ถึงด้านไหนบ้าง?

หลายๆ คนมักจะคิดว่าตัวเองรู้จักโคลอมเบียดีพอ คิดว่าเราอยู่อย่างไร้อารยะ แต่ถ้าเขาได้เข้ามาเที่ยวมาเยี่ยมชมจะเห็นว่าจริงๆ แล้วมันไม่เหมือนที่คิด ชาวโคลอมเบียอััธยาศัยดีและเป็นมิตร เรื่องแย่ๆ ในอดีตก็จางหายไปมากแล้ว ผมมีเพื่อนชาวอิตาเลียนที่เคยมาเที่ยวบ้านผมสองครั้ง ครั้งแรกเขากลัวจนหัวหดไม่กล้ามา แต่พอเขามาถึงเขาก็ไม่กลัวอีกเลยแล้วก็อยากจะกลับมาอีก ผมเชื่อว่าถ้าคุณได้มาเที่ยวสักครั้งมันจะลบทัศนคติแย่ๆ ออกจนหมด

 

ถ้าในหนึ่งปีข้างหน้าเราได้คุยกันอีกครั้ง คุณหวังว่าอะไรจะเปลี่ยนไปบ้าง

ในด้านการแข่งขัน ผมอยากทำผลงานใน Tour de France ให้ดียิ่งขึ้นอีก แล้วก็อยากให้มีคนสนับสนุนสโมสรจักรยานในอูราวให้มากกว่านี้ครับ

 

หมายเหตุ

  1. บทสัมภาษณ์นี้โพสต์ครั้งแรกในเว็บ Cycling Inquisition ช่วงฤดูร้อนปี 2011 และตีพิมพ์ในนิตยสาร Road Magazine ไม่กี่เดือนถัดมา

  2. ถ้าสนใจสโมสรจักรยานเมืองอูราวที่ อูรานสนับสนุนอยู่ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

  3. ติดตามอูรานผ่านทวิตเตอร์ได้ที่ ลิงก์นี้ 

  4. ถ้าสงสัยว่าเมืองอูราวเขาอยู่กันยังไง ลองดูวิดีโอข้างล่างนี้ได้ครับ มีไฮไลท์สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ หรือจะดูภาพถ่ายสวยๆ จากเมืองได้ที่ Flickr 

http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=d7Sq_6wVc7o

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *