สุดสัปดาห์แห่งชัยชนะของ Quickstep

Photo: Tim De Waele / Getty Images

ไม่มีอะไรที่สนุกไปกว่าการได้ดูทีมจักรยานที่เล่นเกมตามแผนได้สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ

จริงว่าในแต่ละครั้งที่นักแข่งชนะการแข่งขัน เรามักเห็นแค่ภาพของผู้ชนะเพียงคนเดียวที่หน้าเส้นชัย ซึ่งมันทำให้เราลืมไปว่าการแข่งขันจักรยานที่แท้จริงแล้วเป็นกีฬาที่ต้องใช้ทีมเวิร์กอย่างมาก แต่ด้วยที่มีผู้ชนะได้แค่คนเดียวก็มักทำให้เรามองข้ามปัจจัยหลักที่ทำให้นักปั่นคนหนึ่งชนะไป

แต่ไม่ใช่กับสองสนามล่าสุด รายการคลาสสิคเปิดฤดูกาล Omloop Het Nieuwsblad และ Kuurne Brussel Kuurne ในเบลเยียมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้

ทั้งสองวันชัยชนะตกเป็นของทีม Deceninck-Quickstep และมันเกิดจากการเดินเกมที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ วันนี้เราจะมารีวิวการแข่งขันและวิเคราะห์ผลงานของทีมผู้ชนะและผู้เล่นคนอื่นๆ กันครับ

 

สตีบาร์ชนะ Omloop Het Nieuwsblad

เริ่มด้วยรายการแรก Omloop Het Nieuwsblad (OHN) ที่แข่งวันเสาร์เย็น รายการที่เป็นหนามบ่งทีม Quickstep มาตลอดสิบสี่ปีเต็ม ที่ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นทีมแห่งรายการคลาสสิค แต่ Quickstep ไม่ชนะรายการนี้มาถึง 14 ปีแล้ว แม้แต่ทอม โบเน็น อดีตเอซของทีมที่ขึ้นชื่อว่าชนะรายการคลาสสิคได้ทุกรายการในปฏิทินก็มีรูโหว่ในใจ เพราะเขายังไม่เคยชนะรายการนี้

แต่ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เมื่อ ชเน็ค สตีบาร์ หนึ่งในตัวเต็งของทีมคว้าชัยชนะในสนาม OHN ได้สำเร็จ อาศัยจังหวะการโจมตีที่กลุ่มเบรคอเวย์เผลอในช่วง 2.5 กิโลเมตรสุดท้าย หนีเดี่ยวเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ เอาชนะทั้งเกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (CCC) อดีตแชมป์สองสมัย และทิม เวลเลนส์ (Lotto-Soudal) ขาดลอย

สตีบาร์หนีมากับกลุ่มเบรคอเวย์ตัวเต็งช่วงก่อนถึงเนินสองลูกสุดท้าย ซึ่งมี แวน เอเวอร์มาร์ท, อเล็กซี ลุตเซงโก้ (Astana), ทิม เวลเลนส์, ทีช เบนูท (Lotto-Soudal), และดีแลน ทุนส์ (Bahrain-Merida)

จากกลุ่มนี้ แวน เอเวอร์มาร์ทประกาศตัวชัดว่าเขาเป็นคนที่ฟอร์มดีที่สุดในกลุ่ม GVA พยายามเร่งกระชากหนีคู่แข่งทุกเนิน และถึงจังหวะที่เขาต้องขึ้นเวียนนำกลุ่มก็มักทิ้งระยะให้คนอื่นต้องคอยไล่ ซ้ำยังเป็นคนที่ไล่ปิดการโจมตีของเวลเลนส์เป็นคนแรกในช่วง 3 กิโลเมตสุดท้าย

แต่ความแกร่งของ GVA อาจจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของเขา GVA รู้ตัวว่าเขาไม่ควรจะต้องเป็นคนไล่ปิดการโจมตีจากคู่แข่งคนอื่นๆ เพราะจากห้าคนสุดท้ายเขาสปรินต์ได้ดีที่สุด มันต้องเป็นคู่แข่งอย่างลุตเซงโก้ สตีบาร์ หรือเวลเลนส์ที่ต้องพยายามเบรคอเวย์ไปก่อน เพราะพวกเขาสปรินต์สู้ GVA ไม่ได้

แต่สตีบาร์อ่านเกมนี้ขาดกว่า GVA ตลอดที่อยู่ในกลุ่มเบรกอเวย์ สตีบาร์ไม่เคยออกตัวชัดว่าฟอร์มดี เขาบลัฟได้ดีกว่า ในจังหวะที่เวลเลนส์โดนรวบ GVA ก็เริ่มแรงตก สตีบาร์อาศัยจังหวะที่ทุกคนเผลอยิงหนีออกไป เมื่อ GVA ตัดสินใจจะไม่ไล่ และลุตเซงโก้ไม่ยอมตาม กับระยะทางที่เหลือแค่ 2.4 กิโลเมตร มันก็สายเกินไปที่กลุ่มหลังจะไล่ทัน และนั่นคือจังหวะที่ทำให้ Quickstep รวบเอาชัยชนะ OHN ได้ในที่สุด

ไม่ใช่แค่สตีบาร์ที่เดินเกมดี ด้านหลังกลุ่มไล่นั้น Quickstep มีทั้งอีฟ แลมพาร์ทและฟิลลิป จิลแบร์ที่คอยคุมความเร็วตีถ่วงกลุ่มไล่ให้ไม่สามารถไล่ทันกลุ่มหน้าได้ จนถึง สตีบาร์จะเข้าเส้นชัยก่อนคนอื่นแล้ว แลมพาร์ทยังสปรินต์ชนะกลุ่มหลัง คว้าอันดับ 7 และจิลแบร์คว้าอันดับ 8 ทำให้ Quickstep ติด Top 10 ถึงสามคน

สตีบาร์กล่าวหลังแข่งว่า “วันนี้ผมรู้สึกฟอร์มดีนะ แต่คุณไม่รู้หรอกว่าเกมมันจะเป็นยังไง เบรกอเวย์กลุ่มเราแข็งแรงมาก แต่ผมรู้ว่าเพื่อนร่วมทีมอยู่ในกลุ่มหลังที่ไล่เราอยู่แล้วผมใช้ประโยชน์จากแผนนั้นได้เต็มที่”

GVA อาจจะอยากรีเพลย์ 3 กิโลเมตรสุดท้ายใหม่อีกรอบ แต่นี่ก็คือจุดเด่นของสนามคลาสสิคที่คุณแก้มือในวันรุ่งขึ้นไม่ได้เหมือนในสเตจเรซ สตีบาร์ไม่ใช่คนที่เร็วที่สุดหรือแกร่งที่สุด แต่จังหวะดีที่สุดใน OHN ปีนี้

ลุตเซงโก้ (Astana) ชัดเจนว่าฟอร์มดีมากเช่นกัน แต่ดูจะยังขาดประสบการณ์การปิดเกมในสนามคลาสสิค ถ้าเทียบ workload กับคู่แข่งคนอื่นแล้วเขาเองก็อาจจะขึ้นนำกลุ่มนานและบ่อยเกินไปนิดนึง

ดีแลน ทุนส์ (Bahrain-Merida) และทิม เวลเลนส์ (Lotto-Soudal) เป็นสองคนที่ผมไม่คิดว่าจะติด Top 10 รายการนี้ เพราะทั้งคู่เองถนัดสนามที่มีเนินชันและภูเขามากกว่าเส้นทาง cobbled classics ทั้งคู่มีผลงานแชมป์สเตจเรซระดับ WorldTour แต่ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนถึงความ all round ของทั้งสองคนที่พร้อมจะ step up ทำผลงานให้ทีมได้ในสนามที่ตัวเองไม่ได้ถนัดนัก

ผลการแข่งขัน

วิดีโอไฮไลท์

 

 

ยุงเกลส์สลายฝันสปรินเตอร์ใน Kuurne-Brussel-Kuurne

สนาม KBK ทีแข่งกันเมื่อคืนก็สนุกเร้าใจไม่แพ้กัน และเกมจบแบบพลิกกระดาน เพราะปกติแล้ว KBK มักจะจบด้วยการสปรินต์ จากที่เนินสุดท้ายอยู่ห่างเส้นชัยถึงห้าสิบกิโลเมตร มีเวลาเหลือเฟือให้กลุ่มเปโลตองไล่จับเบรกอเวย์…

แต่มันไม่จบอย่างนั้นเมื่อหนึ่งในเบรกอเวย์คือบ็อบ ยุงเกลส์ (Deceninck-Quickstep) ผู้ชนะนอกสายตาที่โชว์ความแข็งแกร่งเหนือระดับ ชนะด้วยการเบรกอเวย์คนเดียวยี่สิบกิโลเมตร รอดจากการไล่ของกลุ่มสปรินเตอร์ได้แบบยังมีเวลาเหลือ

จุดเปลี่ยนของเกมวันนี้อยู่ใน composition ของเบรกอเวย์อีกเช่นกัน กลุ่มเบรกสุดท้ายก่อนที่ยุงเกลส์จะหนีเดี่ยวมี ตัวเขาเอง, โอลิเวอร์ เนเซ็น (AG2R), เซบาสเตียน แลงเกเวลด์ (EF), และคู่ Astana เดวิด บาเลรินี และแม็กนัส นีลเซ็น ซึ่งก็เป็นผู้เล่นตัวเต็งของรายการนี้ทุกคน และเหมือนใน OHN นั่นคือกลุ่มเบรกทำงานด้วยกันดีเกินคาด

ขณะเดียวกันกลุ่มไล่ข้างหลังก็ถูกตีถ่วงด้วย Quickstep อีกเช่นกัน พยายามบล็อกตัวไล่จากทีมอื่นๆ เพื่อให้ยุงเกลส์หนีรอด ทั้งอีฟ แลมพาร์ท, ฟลอเรียน เซเนเชล, อิลโย ไคเซอร์และสตีบาร์ เราได้เห็น Mitchelton-Scott และ Sky ที่พยายามดึงกลุ่มหนีกลับมา เพราะ MTS มีแมทเทโอ เทรนตินเป็นตัวปิดเกมที่ฟอร์มกำลังดีเป็นพิเศษ แต่เข้ากลุ่มหนีไม่ทัน ด้วยเหตุผลนี้ทำให้กลุ่มของยุงเกลส์มีเวลานำเปโลตองราวๆ 30 วินาทีเกือบตลอดช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้าย ถึงบางช่วงดูเหมือนเปโลตองจะดึงเข้าแต่ก็ขาดความสามัคคี

ยุงเกลส์เลือกที่จะไม่รอจนใกล้เส้นชัยเหมือนสตีบาร์เพื่อนร่วมทีมในสนาม OHN แต่ เลือกทิ้งกลุ่มหนีที่ 16 กิโลเมตรสุดท้าย เขาให้สัมภาษณ์

“ผมรู้ว่าผมขี่ Time Trial สั้นๆ ไม่เกิน 15 กิโลเมตรได้ดีนะ แต่การจะชนะแบบนี้เป็นวิธีที่ยากที่สุด (แต่ก็สนุกที่สุดเช่นกันครับ) ทีมเรามีแผน และเราทำตามแผนได้สำเร็จ ผมไม่คิดว่าจะชนะนะ เพราะผมเองไม่ได้ลงรายการแบบนี้บ่อยๆ และเป้าหมายของผมเองคือสร้างฟอร์มและเก็บประสบการณ์ ปรับตัวให้เข้ากับเกม Cobbled Classics จากที่ปกติผมแข่งสนามอาร์เดนส์เป็นหลัก”​

ยุงเกลส์หนีไปได้ไม่นานเขาก็มีเวลานำกลุ่มหลังเกินครึ่งนาที ถึงแม้ระยะห่างนั้นจะโดนไล่เข้ามาเหลือไม่กี่สิบวินาทีในช่วงกิโลเมตรสุดท้าย แต่มันก็มากพอจะทำให้เขาเข้าเส้นชัยเป็คนแรก

โอเวน โดลล์ (Sky) คว้าอันดับสองจากการพุ่งหนีกลุ่มเปโลตองในช่วงกิโลเมตรสุดท้าย ไม่เลวสำหรับเด็กใหม่จากทีม Sky นิกี้ เทิร์ปสตร้า (Direct Energie) คว้าอันดับสาม

ผลงานชัยชนะรวบทั้งสองรายการนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทีม Quickstep เรียกได้ว่าปีที่แล้วปิดฤดูกาลคลาสสิคไว้ยังไง (ชนะเกือบทุกรายการ) ก็กลับมาเดินเกมต่อจากปีทีแล้วแบบไร้ข้อกังขา

ผมว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ ปกติแล้ว Quickstep จะเกมไม่แน่นในบางรายการ พอพลาดแล้วจะพลาดยาว แต่ไม่ใช่สำหรับทั้ง OHN และ KBK แสดงว่าตัวนักปั่นเองประสบการณ์เยอะขึ้นมาก และทีมเวิร์กดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก ถ้าทีมยังรักษาฟอร์มแบบนี้ไปได้ ก็มีลุ้นจะเก็บรายการใหญ่ทั้ง Flanders และ Roubaix ในปีเดียวกันได้เหมือนกันนะครับ ซึ่งก็เป็นอะไรที่ทีมทำไม่สำเร็จมานานมากแล้วเช่นกัน

ผลการแข่งขัน 

วิดีโอไฮไลท์

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *