Race Note: 7 เรื่องชวนคิดจาก Tour Down Under 2016

ไซมอน เจอรานส์ (Orica-GreenEdge) เป็นแชมป์ Tour Down Under ปีล่าสุด และเป็นแชมป์สมัยที่ 4 ของเขา ถ้าเราดูแต่หัวข้อข่าวก็คงทราบแค่ว่าใครชนะอะไรบ้างแล้วก็จบไป แต่เช่นเดียวกับทุกปีครับ Tour Down Under – รายการระดับดิวิชัน 1 สนามแรกของทุกๆ ปี เป็นรายการที่สนุกเสมอ เส้นทางเร้าใจ ระยะทางแต่ละสเตจไม่ไกลมากทำให้การแข่งขันดุเดือดกว่ารายการอื่นๆ ต้องบอกว่า Tour Down Under (TDU) ปีนี้มีเซอร์ไพรส์เยอะ ทั้งนักปั่นหน้าใหม่และเกมการแข่งขัน เพราะงั้นมาดู 7 เรื่องเก็บตกจาก TDU ที่น่าสนใจ สไตล์บทวิเคราะห์โปรทัวร์คครับ

 

#1 Orica-GreenEdge พ่อทุกสถาบัน

caleb ewan

GreenEdge โดนโจมตีไม่น้อยหลังจากที่ชวดผลงานในสนาม Australian National Road Championship เสียแชมป์ประเทศ​ Time Trial ให้โรฮาน เดนนิส (BMC) และแชมป์เสือหมอบให้แจ็ค บ็อบบริดจ์ (Trek-Segafredo) แต่ทีมกลับมาทวงความเด็ดขาดได้อย่างหมดจดใน TDU เก็บผลงานทั้งเป้าหมายการสปรินต์ของคาเล็บ ยวนที่กวาดไป 2 สเตจ และแชมป์รายการโดย ไซมอน เจอรานส์

เบ็ดเสร็จแล้วทีมเก็บแชมป์ไป 4 จาก 6 สเตจ, ชนะอันดับเวลารวมและชนะรางวัลคะแนนรวมด้วย

นักปั่นทุกคนในทีมทำงานได้สมบูรณ์แบบ ดาริล อิมปีย์และคาเล็บ ยวนแท็คทีมสปรินต์ในทุกสเตจที่เปิดโอกาสให้สปรินต์และปิดจ็อบได้งดงาม ถึงสเตจที่ไม่ได้จบด้วยการสปรินต์ ยวนก็เปลี่ยนหน้าที่มาดูแลเจอรานส์ อิมปีย์ช่วยลีดเอาท์ทั้งยวนและเจอรานส์ในสเตจที่ทั้งคู่ได้แชมป์ ลูกทีมอย่างไมเคิล เฮพเบิร์นและลุค เดอบริดจ์ก็ขึ้นนำขบวนเปโลตองตลอดเวลา คอยปิดระยะเบรคอเวย์และประคองเจอรานส์ให้ไม่เสียเวลาตามหลังผู้ชนะสเตจมากจนเกินไป

ถ้า OGE ปั่นได้อย่างนี้ทุกปีและเส้นทางการแข่งขันไม่เปลี่ยนแปลง มองไม่เห็นเลยว่าจะมีใครมาขโมยแชมป์จากเจอรานส์ได้ในอีกปีสองปีนี้ อย่าลืมว่าทีมนี้เป็นชาวออสซี่เกือบทั้งทีมและพวกเขารู้เส้นทางดีกว่าใครๆ

#2 ทำไมแชมป์สเตจทุกคนเป็นชาวออสซี่?

ข้อนี้น่าจะลิงก์กับข้อแรกครับ เปิดดูรายชื่อผู้ชนะสเตจในแต่ละวัน ทั้ง 6 สเตจผลออกมาคือเป็นชาวออสซี่หมดเลย และกวาดทุกรางวัลในงานยกเว้นจ้าวภูเขาซึ่งตกเป็นของเซอร์จิโอ เอนาว (Sky)

Stage 1: Caleb Ewan / Stage 2: Jay McCarthey / Stage 3+4: Simon Gerrans / Stage 5: Richie Porte / Stage 6: Caleb Ewan

ครั้งสุดท้ายที่ชาวออสซี่กวาดรางวัลเรียบแบบนี้คือปี 2012 ถามว่าทำไมนักปั่นเมืองจิงโจ้ถึงแรงกว่าทีมอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด? ไม่ต้องสงสัยครับ เพราะมกราคมจะเป็นช่วงฤดูร้อนในประเทศออสเตรเลีย นักปั่นแทบทุกคนอยู่ในช่วงท็อปฟอร์มแล้วเพราะต้องเตรียมลงแข่งชิงแชมป์ประเทศตอนต้นปี ผิดกับนักปั่นยุโรปที่ยังไม่เริ่มพีคฟอร์มกันจริงจังเท่าไร เพราะที่ยุโรปยังอากาศหนาวและเพิ่งจะเริ่มกลับมาซ้อมกันหลังจากปิดฤดูกาล ไม่น่าแปลกใจที่ออสซี่จะฟอร์มดีกว่าคนอื่นๆ แถมคู่แข่งระดับตัวท็อปจากยุโรปก็ไม่ค่อยจะมาลงแข่งกันด้วย อังเดร ไกรเปิล (Lotto-Soudal) เป็นคนที่ชนะสเตจในรายการนี้เยอะที่สุด แต่ไม่ลงแข่งมาสองปีแล้ว

สำหรับนักปั่นยุโรปที่มีเป้าหมายรายการที่ใหญ่กว่า TDU เช่นสนาม Spring Classics หลายรายการในเดือนมีนา-เมษา ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฟิตตั้งแต่เดือนมกราคม ยิ่งนักปั่นอย่างคริส ฟรูม (Sky) หรืออัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ (Tinkoff-Saxo) ที่เตรียมชิงแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ อาจจะมองข้ามสนามต้นปีไปเลย

ประธาน UCI ไบรอัน คุกสัน ถึงกับเอ่ยปากว่ามันอาจจะดีกว่าถ้าเราย้าย TDU ไปอยู่ช่วงท้ายเดือนกุมภาพันธ์ อย่างน้อยๆ ก็น่าจะมีนักปั่นชื่อดังสนใจมาลงแข่งมากกว่านี้

 

#3 จับตามองเจย์ แม็คคาร์ธี และไมเคิล วูดส์

ถึงนักปั่นชื่อมากันน้อยแต่ TDU ก็เป็นสนามโชว์ฟอร์มนักปั่นหน้าใหม่ได้เป็นอย่างดี และปีนี้มีสองคนที่ดูจะฟอร์มดีเป็นพิเศษครับ นั่นคือไมเคิล วูดส์ (Cannondale) ที่โชว์ฟอร์มการไต่เขาเทียบเท่ารุ่นพี่หลายๆ คนในสเตจ 3 และโดยเฉพาะสเตจ 5 ที่แลกหมัดกับเซอร์จิโอ เอนาว (Sky) ได้จนเกือบถึงเส้นชัย

woods henao
Woods vs Henao

วูดส์เป็นนักปั่นชาวแคนนาดาและเป็นอดีตนักวิ่ง เพิ่งย้ายมาเข้าทีม Cannondale จากแต่ก่อนแข่งให้กับทีม Optum ในระดับดิวิชัน 3 น่าจะเป็นนักไต่เขาที่ทีมคงให้เวลาพัฒนาและให้อิสระในการแข่งมากขึ้น ต้องดูกันว่าในซีซัน 2016 เขาจะได้โชว์ผลงานที่ไหนอีกหรือเปล่า

jay mac 2

อีกคนที่น่าสนใจคือเจย์ แม็คคาร์ธี (Tinkoff) นักปั่นชาวออสซี่วัย 23 ปีที่ได้แชมป์สเตจและครองเสื้อผู้นำเวลารวมในสเตจ 2 ดูจากผลงานในอดีตแล้วเป็นคนที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เคยได้อันดับ 3 ในสเตจ Giro d’Italia ปี 2014 ได้อันดับ 3 overall ใน Tour of Turkey ปีที่แล้ว สำหรับ TDU ปีนี้เขาได้เป็นแชมป์ Best Young Rider และได้อันดับ 4 overall ซึ่งผลงานขนาดนี้ทีม Tinkoff คงต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่จากที่เจ้าของทีมบอกว่าจะยุบทีมในฤดูกาลหน้า เดาได้ว่าทีมใหญ่ๆ คงวงลิสต์ชื่อแม็คคาธีร์ไว้เตรียมซื้อตัวแน่ๆ

 

#4 คาเล็บ ยวนพร้อมลุยดิวิชัน 1

คาเล็บ ยวนชนะสเตจสปรินต์ทุกสเตจใน TDU ปีนี้ แถมชนะแบบขาดๆ เสียด้วย ถึงแม้จะต้องเจอกับสปรินเตอร์รุ่นพี่อย่างจิอาโคโม่ นิซโซโล่ (Trek-Segafredo) หรือเบ็น สวิฟต์ (Sky)

caleb 3

ปีที่แล้วเขาเอาชนะเดเกนโคลบ์ (Giant) และซากาน (Tinkoff) ในช่วงที่ทั้งคู่ฟอร์มดีสุดใน Vuelta a Espana สเตจ 5 เสียด้วย ปีนี้ OGE จะจับเขาลง Giro d’Italia ทดลองดูว่าเขาจะอึดพอต่อกรกับสนามแกรนด์ทัวร์หรือไม่ คงอีกอย่างน้อย 1-2 ฤดูกาลกว่าที่ทีมจะจับเขาลง Tour de France เพื่อไม่ให้เขาแบกรับภาระและความกดดันมากเกินไป

ระหว่างนี้เราอาจจะได้เห็นเขาลงสนามปะทะสปรินเตอร์ชื่อดังอย่างคาเวนดิช คิทเทล ไกรเปิล บ้างในรายการคลาสสิค ซึ่งก็เป็นจุดที่น่าจับตามองครับ เพราะการสปรินต์ในอุณหภูมิเกือบติดลบ ลมแรง ฝนตกนี่ไม่ง่ายเหมือนฤดูร้อนกับถนนเรียบๆ ในออสเตรเลียแน่ๆ และน่าสนใจว่าถ้าเขาได้เจอกับเฟอร์นันโด กาวิเรีย (Etixx-Quickstep) แบบตัวต่อตัวผลจะออกมาเป็นยังไง

 

#5 เจอรานส์ชนะเพราะแผนดี

ในเส้นทางแข่งที่ภูเขาไม่ได้ยาวและชันมาก ระยะทางสเตจไม่ยาวเท่าสนามอื่นๆ และมี Time Bonus แจกให้ที่เส้นชัยและจุดสปรินต์กลางสเตจ สนามแบบนี้ว่ากันตรงๆ แล้วสร้างมาเพื่อนักปั่นสไตล์ไซมอน เจอรานส์เลยก็ว่าได้ครับ เขารู้ถึงจุดนี้และใช้ประโยชน์จากมันเต็มที่

gerrans

รายการนี้ยากที่นักไต่เขาอย่างริชีย์ พอร์ท (BMC) หรือเซอเจิโอ้ เอนาว (Sky) จะชนะถึงแม้ทั้งคู่จะไต่เขาได้ไวกว่าคนอื่น (พอร์ทชนะ Queen Stage บน Willunga Hill สามปีซ้อน แต่ไม่เคยได้แชมป์เลย ถ้าเป็นรายการอื่นเขาชนะไปแล้ว) นั่นก็เพราะเขามันไม่ยาวพอจะสลัดให้คู่แข่งบางคนหลุดกลุ่มไปด้วย ยิ่งถ้าคู่แข่งเป็นคนที่สปรินต์ได้ดีพอจะชิง Time Bonus ที่จุดสปรินต์กลางสเตจ และที่เส้นชัยด้วยแล้ว นักไต่เขาคงทำได้ดีที่สุดแค่คว้าแชมป์สเตจ

เจอรานส์ เป็นนักปั่นที่ขึ้นเนินได้แรง เร็ว แถมยังมีลูกสปรินต์ที่หวดกับสปรินเตอร์เกรด B ได้สบายๆ เขาสปรินต์เก็บแชมป์สเตจทั้ง สเตจ 3 และ 4 ได้ Time Bonus ไป 20 วินาทีเต็มๆ แถมยังตอด Time Bonus ที่จุดสปรินต์กลางสเตจด้วย ถึงแม้เขาจะโดนพอร์ทและคู่แข่งยิงหนีในสเตจ 5 ระหว่างทางขึ้นเขา แต่เขาก็มี buffer มากพอจะไม่ต้องไล่จี้ให้ทันก็ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเสียเสื้อผู้นำเวลารวม

 

#6 นิซโซโล่น่าจะมีผลงานมากขึ้นในปีนี้

เวลานึกถึงนักปั่นฉายา Forever Second คนที่ได้ที่สองตลอดแต่ไม่ค่อยจะได้แชมป์นี่มีอยู่ไม่กี่คนครับ ปีเตอร์ ซากาน, เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท และจิอาโคโม่ นิซโซโล่ น่าจะเป็นสามคนที่เราพูดถึงมากที่สุด

sprint_5

ใน TDU ก็เช่นกัน นิซโซโล่ยังคงฟอร์มโพเดี้ยมแต่ไม่ชนะอยู่ดี ปีนี้เขาได้ที่ 3 สองครั้ง น่าสนใจว่าสเตจ 4 ที่เขาได้โพเดี้ยม เส้นชัยถึงจะเป็นทางราบแต่มีเนินชันขั้นอยู่ ซึ่งสปรินเตอร์ส่วนใหญ่อย่าง เรนชอว์ ยวน และอดัม บไลท์ ตามเข้าเส้นชัยถึง +6 นาที นิซโซโล่เกาะกลุ่มนำที่เต็มไปด้วยนักไต่เขาและตัวเต็ง GC มาสปรินต์ นั่นแปลว่าเขาอาจจะไม่ใช่สปรินเตอร์สายจรวดทางราบเหมือนยวนหรือคาเวนดิช แต่น่าจะ all round กว่าในสไตล์เดเกนโคลบ์ (Giant-Alpecin) ต้องดูกันว่าปีนี้เขาจะต่อยอดเพิ่มเติมจากการเป็นแชมป์เจ้าความเร็วใน Giro d’Italia 2015 ได้หรือเปล่า DT หวังว่าเขาจะได้แชมป์มากขึ้น เพราะมันจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้สปรินเตอร์ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

#7 พอร์ทเปิดฤดูกาลได้สวย…แต่

ทีมใหม่ อุปกรณ์ใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายต่อนักปั่นที่เพิ่งจะย้ายสังกัด หลายคนใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเริ่มกลับมาทำผลงานได้อีกครั้ง แต่ไม่ใช่ริชีย์ พอร์ท ที่โชว์ฟอร์มดีคว้าแชมป์สเตจที่ยากที่สุดในรายการได้ 3 ปีซ้อน แตก็นั่นหละครับ พอร์ทโชว์ฟอร์มดีเสมอใน TDU แต่ไม่ค่อยจะคงเส้นคงวาเท่าไรในสนามอื่นๆ

ปีนี้พอร์ทบอกว่าจะเป็นฤดูกาลที่สำคัญมากๆ สำหรับเขา เพราะ BMC จะให้โอกาสเขาขึ้นนำทีมใน Tour de France คู่กับทีเจย์ แวนการ์เดอเรน (ถ้าไม่ตีกันตายน่ะนะ 555) แน่นอนว่าการได้เป็นผู้นำทีมคงช่วยเสริมความมั่นใจให้เขามากขึ้นและความรับผิดชอบที่มากขึ้นน่าจะทำให้เขาตั้งใจยิ่งกว่าปีไหนๆ อีก ลองดูว่าถึงกรกฏาคมแล้วเขาจะชนกับอดีตคู่หูอย่างคริส ฟรูมยังไง ผลงานใน TDU คงบอกอะไรไม่ได้มากครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *