หิมะ, ฝนพรำ, อุณหภูมิติดลบ, ถนนที่มืดสนิท, และ Rapha Festive 500

ปั่น 500 กิโลเมตรใน 8 วัน

ทำความรู้จัก Rapha Festive 500 🎄

ในปี 2009 กราอีม เรเบิร์น ดีไซเนอร์ของ Rapha ได้แรงบันดาลใจจากทีม Rapha Condor และอยากลองใช้ชีวิตวิถีโปรดูสักครั้ง เขาจึงตั้งเป้าหมายว่า จะซ้อมปั่นให้ได้ระยะทางเท่าโปรตั้งแต่วันคริสต์มาสอีฟไปจนวันสิ้นปี (24-31 ธ.ค.)

เขาตั้งเป้าปั่นระยะทาง 1,000 กิโลเมตรตามจำนวนวันดังกล่าว ท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บจนจารบีในดุมกลายเป็นน้ำแข็งตามสภาพอากาศของประเทศอังกฤษตอนใต้ เขาออกปั่นตั้งแต่เช้ายันค่ำ ซึ่งก็ไม่ได้นานสักเท่าไรเพราะในฤดูหนาวนั้นกลางวันสั้นนิดเดียว ปั่นอยู่วันแล้ววันเล่า จนสุดท้ายเมื่อเขาทำสำเร็จอย่างทุลักทุเล เขาก็พบความจริงภายหลังว่า ในช่วงนอกฤดูกาลแบบนี้ แม้แต่โปรก็ไม่ได้ขี่เยอะขนาดนั้นหรอก, 500 กิโลเมตรก็เหลือเฟือแล้ว

ปีถัดมา Rapha จึงสานต่อชาเลนจ์นี้จากกราอีมด้วยการชวนใครก็ตามที่สนใจให้มาปั่นจักรยานกันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีที่พูดได้ว่าแรงบันดาลใจในการออกปั่นจักรยานคงต่ำที่สุด จากบรรยากาศของการหยุดงาน เฉลิมฉลอง พบปะครอบครัว ปาร์ตี้จนฟ้าสว่าง การกินดื่มอย่างเพลิดเพลินเพื่อฉลองปีใหม่ ไหนจะอากาศที่หนาวเหน็บ ถนนเปียกจากหิมะที่ละลาย และกลางวันที่แสนสั้นอีก

Rapha ได้ท้าทายเหล่าผู้คลั่งไคล้จักรยานให้สวนกระแสและแบ่งเวลาจากสิ่งสำราญเหล่านั้นมาทำในสิ่งที่คนทั่วไปคงมองว่าเสียสติ โดยตั้งระยะทางไว้ที่ 500 กิโลเมตรเพื่อไม่ให้โหดหินเกินไป (แต่ก็ไม่ง่าย) และเรียกชื่อว่า Rapha Festive 500

“Festive” เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า “ซึ่งเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเทศกาล” สื่อถึงช่วงเวลา 8 วันที่จัดอีเวนต์

ในปีแรกปีนั้น มีผู้เข้าร่วมเพียง 94 คน

นับจากนั้น อีเวนต์ก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ใคร ๆ ก็สามารถเข้าร่วมได้ผ่านทาง Strava Challenge ซึ่งแอปพลิเคชัน Strava จะนับสถิติระยะทางการปั่นในวันดังกล่าวให้เราอัตโนมัติ และผู้เข้าร่วมคอยเช็คดูได้ว่าทำระยะทางได้กี่กิโลเมตรแล้ว

สำหรับสองปีล่าสุดนี้ มีผู้เข้าร่วมหลักแสนคน แต่ผู้ที่ทำสำเร็จอยู่หลักหมื่นเท่านั้น… ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะการแบ่งเวลาในช่วงสิ้นปีที่เต็มไปด้วยงานเลี้ยงและงานพบปะ กับการหาแรงบันดาลใจมากพอจะผลักตัวเองออกจากโซฟาและห้องอุ่น ๆ ไปท้าทายลมหนาวถึง 500 กิโลเมตร ชาเลนจ์นี้จึงเป็นเรื่องลำบากยากยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกีฬานี้ที่ผู้เล่นส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกเหนือส่วนที่อากาศหนาวเหน็บด้วยแล้ว นอกจากชื่อเสียงเรียงนามของแบรนด์ Rapha ซึ่งแข็งแกร่งอยู่เดิม คงเป็นความท้าทายจากทั้งการแบ่งเวลาและการฝ่าอุณหภูมิติดลบนี่กระมังที่ทำให้ Festive 500 เป็นที่โจษจันในหมู่นักปั่นทั่วโลก


เมื่ออากาศเป็นเรื่องใหญ่ ❄️

ตัวผมเอง ได้ยินชาเลนจ์นี้มาสักพักแล้ว แต่ส่วนตัวไม่ได้เป็นแฟนคลับ Rapha ตัวยงอะไร บวกกับรู้สึกเอาเองว่าอากาศเมืองไทยช่วงสิ้นปีมันเย็นสบาย (ถ้าไม่นับเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก) มันไม่เหมือนรูปโปรโมทอีเวนต์ของ Rapha ที่หิมะท่วมจอ แค่มองยังหนาวถึงกระดูก จนกระทั่งปีก่อน (2019) ผมย้ายมาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นเป็นปีแรก เมืองที่ผมอยู่ เมื่อเข้าหน้าหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่แค่ประมาณ 1 องศาเซลเซียส ตอนรุ่งเช้าอุณหภูมิติดลบทุกวัน พยายามจะออกไปปั่นก็ปั่นไม่ได้ เพราะยังแต่งตัวไม่ถูกกับสภาพอากาศ

ผมคิดอย่างมือใหม่ว่าแค่มีแจ็กเก็ตกันหนาวกับเอี๊ยมขายาวก็เพียงพอแล้ว ปรากฏว่ามันไม่พอ การปั่นในสภาพอากาศหนาวขนาดนี้ สิ่งที่ควรทำให้อุ่นยิ่งกว่าลำตัวก็คือ มือ เท้า และหู ต่อให้ลำตัวเหงื่อท่วมแต่มือเท้าเย็นจนแสบจากลมหนาวที่พัดตลอดเวลาก็ปั่นไม่ได้อยู่ดี พ่ายแพ้หมดท่า หน้าหนาวครั้งแรกในญี่ปุ่นของผมแทบไม่ได้ปั่นเลยสักกิโลเมตร ผมเลยตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นปี 2020 ว่า หน้าหนาวครั้งต่อไป เราต้องมีเครื่องแต่งกายที่พร้อมจะปั่นแม้อุณหภูมิจะติดลบก็ตาม และคงไม่มีอะไรจะพิสูจน์ว่าเราพร้อมพิชิตอากาศหนาวไปได้ดีกว่า Rapha Festive 500 อีกแล้ว เราจะรับคำท้า Festive 500 ในสภาพอากาศแบบเดียวกับที่ Rapha ใช้ในรูปโปรโมทอีเวนต์! หิมะท่วมจอ!

จนหน้าหนาววนมาอีกครั้ง ก็คือตอนนี้ คราวนี้ผมมีถุงมือล็อบสเตอร์แล้ว มีถุงเท้าขนแกะอุ่นนุ่มแล้ว มีถุงคลุมด้านนอกรองเท้าแล้ว และมีลองจอนสำหรับใส่ออกกำลังกายโดยเฉพาะแล้ว(ใส่ไว้ด้านในเอี๊ยมขายาวอีกที) ก่อนจะถึงวันเริ่มอีเวนต์ (24 ธันวา) ผมลองหาวันที่พยากรณ์อากาศหนาวที่สุดแล้วลองออกไปปั่นดู เพื่อให้แน่ใจว่าระหว่างอีเวนต์ 8 วัน ไม่ว่าอากาศจะหนาวลงไปอีกแค่ไหน ผมจะยังสามารถปั่นได้ จนเจอว่าวันที่ 20 ธันวา กลางวันหนาวถึง -5 องศา จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะทดสอบขีดจำกัดของอุปกรณ์กันหนาวที่มี…

เมื่อออกไปปั่นดูแล้ว ปรากฏว่า เพียงพอครับ ถ้าเครื่องแต่งกายเราเหมาะสมดีแล้ว ต่อให้ -5 องศาเราก็ยังปั่นได้โดยไม่ทรมานจนเกินไป

เรื่องอากาศหนาวเคลียร์! ☃️

เรื่องต่อไปที่ต้องจัดการคืองานวิจัยในห้องทดลองที่ยังต้องดำเนินต่อไป ที่ญี่ปุ่นนี้ วันทำการวันสุดท้ายคือวันที่ 28 ธันวา ถ้าเริ่มปั่นวันที่ 29 ก็จะมีเวลาสำหรับ Festive 500 แค่ 3 วัน ซึ่งยากเกินไปแน่ ๆ ตรงนี้นับเป็นโชคดีว่า ธรรมชาติของงานวิจัยผมนั้น ทำเมื่อไหร่ก็ได้ แค่ต้องทำ สัปดาห์นั้นผมจึงโยกเอางานวิจัยทั้งหมดไปทำตอน 1 ทุ่มถึง 4 ทุ่ม พอแล็บมันรันจนครบกำหนด 24 ชม., 48 ชม., หรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็จะครบตอนเวลาเดียวกันของวันถัด ๆ ไป ซึ่งช่วงเวลานั้นของทุกวันผมควรจะปั่นเสร็จแล้ว อาบน้ำมาทำแล็บได้แล้ว

เรื่องตารางชีวิตเคลียร์ 📅


เส้นทางปั่นที่ไม่ซ้ำกัน 🛣

เรื่องสุดท้ายที่ผมต้องวางแผนคือเส้นทางปั่น ผมตั้งใจว่าทุก ๆ วันจะใช้เส้นทางไม่ให้ซ้ำกัน และเส้นทางของแต่ละวัน ขาไปกับขากลับจะต้องใช้ถนนคนละเส้นกัน (คือ ไม่ใช่ว่าถึงจุดยูเทิร์นก็วนกลับทางเดิม) ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ตัวเองเห็นทิวทัศน์ใหม่ ๆ ของเมืองเล็กเมืองน้อยในจังหวัดนากาโนะที่ผมอาศัยอยู่และเพื่อไม่ให้เบื่อด้วย

หลังจากนั่งลากเส้นทางใน Strava อยู่วันสองวัน ผมก็ได้เส้นทางที่ไม่ซ้ำกันมาประมาณ 6-7 แบบ เผื่อไว้เลือกเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับเวลา ความเหนื่อยล้า และความโหดของสภาพอากาศในแต่ละวัน สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จังหวัดนากาโนะนี้มีฉายาว่า “หลังคาแห่งญี่ปุ่น” ถึงผมจะพยายามลากรูตให้อยู่แต่ในหุบเขาอย่างไร มันก็ยังมีเนิน 1-3% หรือต้องข้ามช่องเขานิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อไปเมืองข้างเคียงอยู่ดี เอาล่ะ ทำเหมือนอากาศหนาวติดลบกับกลางวันที่สั้นแค่วันละ 9 ชม.จะยังไม่ยากพอ เมื่อคำนวณคร่าว ๆ แล้ว หากเก็บครบ 500 กม. ไม่ว่าอย่างไรระยะไต่ก็ไม่ต่ำกว่า 3,500 เมตรแน่นอน…

เรื่องเส้นทางเคลียร์ ✅


ปั่นจริง

และแล้ววันที่ 24 ก็มาถึง ผมเริ่มออกปั่นตามแผนด้วยความไม่มั่นใจว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ผมไม่เคยปั่นต่อเนื่องด้วยระยะทางและระยะไต่เท่านี้มาก่อน ผมกำลังท้าทายตัวเองด้วยชาเลนจ์ที่ยากที่สุดตั้งแต่เริ่มปั่นจักรยานมา แม้ตอนปั่นจากโตเกียวไปเกียวโตกับเพื่อนก็ยังไม่เท่านี้เพราะลัดขั้นตอนด้วยการนั่งรถไฟไปเริ่มจากตีนภูเขาไฟฟูจิ ทำให้มีแต่ทางลงเขากับทางราบ และส่วนใหญ่อุณหภูมิก็เย็นสบาย ไม่ใช่ติดลบแบบนี้ แถมยังเพื่อนหนึ่งคนให้ผลัดกันบังลมด้วย

ในหัวผม ผมคิดง่าย ๆ ว่าถ้า 8 วัน 500 กม. ก็เฉลี่ยวันละ 62.5 กม. ถ้าพยายามแซงเกณฑ์นี้ให้ได้หน่อย ๆ ในแต่ละวันเราก็จะไม่ต้องกังวล ยกตัวอย่างเช่น วันที่สาม ต้องได้แล้ว 62.5 x 3 = 187.5 กม. ถ้าจบวันที่สาม เราเก็บไปได้แล้ว 195 กม. ก็ถือว่าแซงเกณฑ์อยู่ พอแบ่งเป้าหมายใหญ่เป็นเป้าหมายย่อย ๆ ได้แบบนี้ ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ชนิดต้องปั่นอัด 200 กม.ในวันสุดท้ายให้เหนื่อยใจ

ในช่วงเวลา 8 วันนี้ ผมวางแผนชีวิตรัดกุมกว่าปรกติมาก เพราะงานวิจัยก็ยังต้องทำ ตารางชีวิตต้องเป๊ะเพื่อไม่ให้กระทบงานหลัก และยังเก็บระยะได้ครบ 500 กม.ด้วย ความ “เป๊ะ” ที่ว่านี้หมายถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายประการที่อาจคาดไม่ถึง เช่น

  1. เส้นทางที่ลากไว้ เพราะหลายที่ไม่เคยไปมาก่อน จึงต้องเช็คถนนให้ดีเป็นพิเศษ หน้าหนาวปิดหรือเปล่า เป็นทางพิเศษเก็บค่าบริการที่จักรยานเข้าไม่ได้หรือเปล่า หรือเป็นถนนใหญ่ที่มีแต่รถบรรทุกจนอันตรายหรือเปล่า หากต้องเปลี่ยนเส้นทางกลางคันก็เสียเวลาและอาจทำระยะได้ไม่เท่าที่ตั้งใจไว้
  2. อาหารการกินบนจักรยาน ปั่นวันละหลายชั่วโมงติดกันหลาย ๆ วันแบบนี้ จะปล่อยให้หิวจนหมดจนปั่นต่อไม่ไหวกลางทางไม่ได้ เพราะจะทำให้เก็บระยะไม่ครบตามแผน แถมกว่าพละกำลังจะฟื้นจนหอบสังขารกลับบ้านได้ก็อาจเลยเวลาทำแล็บไปได้ง่าย ๆ สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการปั่นขึ้นอินทนนท์กับพี่นัทคือ พวกซองเจลไม่ค่อยมีประโยชน์กับการปั่นไกล ๆ เท่าไร เพราะมันให้พลังงานแต่ไม่ช่วยให้หายหิว สุดท้ายต้องจอดซื้อของกินเป็นชิ้นเป็นอันอยู่ดี คราวนี้เลยไม่พกเจลเลย แท่งบิสกิต CalorieMate กับข้าวปั้นสารพัดไส้เท่านั้น อาหารการกินหลังปั่นก็สำคัญไม่แพ้กัน กลับถึงบ้านต้องรีบหาแป้งกับโปรตีนเข้าท้องก่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกายสำหรับวันถัดไป สมัยหัดปั่นใหม่ ๆ เวลากลับจากทริปยาว ๆ ผมมักจะเหนื่อยมากและอาบน้ำนอนเลย เช้าวันรุ่งขึ้นแทบไม่มีแรงไปทำอะไร สำหรับการปั่นต่อเนื่องแบบนี้ห้ามเด็ดขาด
  3. ความพร้อมของจักรยาน ข้อนี้อันตรายมากเช่นกันเพราะผมปั่นคนเดียว ไปที่ที่ไม่มีแท็กซี่ให้เรียก ถ้าจักรยานเกิดมีปัญหาอะไรขึ้นมา ต้องโบกรถที่ผ่านไปผ่านมาเพื่อกลับบ้านคงดูไม่จืด ยิ่งช่วงโควิดด้วย คงไม่มีใครอยากรับคนแปลกหน้าขึ้นรถเป็นแน่ ดังนั้นทุก ๆ วันหลังปั่นเสร็จ ผมต้องเผื่อเวลาเช็คจักรยานเสมอ โซ่สกปรกมากมั้ย โซ่ยืดหรือยัง น้ำยากันรั่วในยางมีพอหรือเปล่า ผ้าเบรคจะหมดฝักหรือยัง ฯลฯ เพื่อที่วันต่อไปจะได้ปั่นได้อย่างราบรื่น ข้างในกระเป๋าที่พกออกปั่นก็ต้องเช็คว่าอุปกรณ์ซ่อมอยู่ครบดีหรือเปล่า สปริงของบันได Speedplay ยังอยู่ใช่ไหม ข้อต่อโซ่พกมาแล้วใช่ไหม

เรื่องที่เจอ, และเรื่องที่จาก

ชาเลนจ์ครั้งนี้ ผมรู้สึกว่าใช้ประสบการณ์ทุกอย่างที่สั่งสมมาตั้งแต่เริ่มปั่นเสือหมอบเพื่อพยายามทำมันให้สำเร็จ อุณหภูมิ 0 องศา ใส่กี่ชั้นถึงพอ? ถ้าโซ่ขาดกลางทางซ่อมได้มั้ย? แท่งบิสกิตต้องกินทุกกี่นาทีและกินกี่แท่งถึงจะไม่อิ่มจนจุกแต่ก็พอให้มีแรงปั่นได้เรื่อย ๆ? แล้วเวลาวางแผนเส้นทาง ถนนหน้าตาแบบไหนน่าปั่น แบบไหนไม่น่าปั่น? และอื่น ๆ อีกมากมายที่เคยทำพลาดและได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นมาแล้วตลอดสิบปีที่ผ่านมา

4 วันแรกผมปั่นทุกวัน เก็บไปได้แล้ว 301 กม. ถือว่าแซงเกณฑ์อยู่พอสมควร ร่างกายก็ไม่ได้สะบักสะบอมเหมือนที่เดาไว้ เป็นสัญญาณที่ดี แต่พอเข้าวันที่ 5 มีงานที่แล็บต้องเข้าไปแต่เช้า ไม่เหลือเวลาให้ปั่นตอนยังมีแสงแดดแน่ ๆ จึงคิดว่าพักร่างกายวันที่ 5 เลยก็แล้วกัน พอดูพยากรณ์อากาศวันที่เหลือแล้วพบว่า วันที่ 6 แดดดี อุณหภูมิขึ้นเลขสองหลักแว๊บ ๆ เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวตลอด 8 วัน วันที่ 7 หิมะตกถล่ม และวันที่ 8 หิมะหยุดตกแล้ว มีเมฆนิดหน่อย แต่อุณหภูมิสูงสุดของวันคือ -1 องศา

ประเมินสถานการณ์แล้ว ผมคิดว่าอย่างไรวันที่ 6 ก็ต้องอัดให้ได้มากที่สุด, วันที่ 7 หยุดพักเพราะหิมะตกหนัก, และวันที่ 8 เก็บระยะที่เหลือให้ครบ ผมจึงหยิบรูตที่วางไว้เกือบ ๆ 150 กม. มาไว้วันที่ 6 และรูต 62 กม. ไปไว้วันที่ 8

ดังนั้น วันตัดสินความสำเร็จคือ 150 กม.ของวันที่ 6 เพราะ 62 กม.ของวันที่ 8 ถึงจะหนาวแต่ก็ทดสอบมาก่อนหน้าแล้วว่าปั่นได้แน่ ๆ

วันที่ 6 ผมออกจากบ้านสาย ๆ เหมือนเดิม เตรียมใจไว้แต่แรกแล้วว่าวันนี้ไม่ต่ำกว่า 6 ชม.อย่างแน่นอน และมีสิทธิ์ต้องปั่นหลังพระอาทิตย์ตกไปอีกหลายชั่วโมงด้วย ผมคำนึงถึงเรื่องอาหารตลอดทั้งวัน และจอดแวะซื้อของกินตามร้านสะดวกซื้อเรื่อย ๆ พอถึงจุดยูเทิร์นที่กิโลเมตรที่ 75 ในหัวผมเริ่มซอยระยะที่เหลือเป็นส่วน ๆ เพื่อให้กำลังใจตัวเอง

6 ส่วน 10

7 ส่วน 10

พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าโดยสมบูรณ์ ถนนญี่ปุ่นไม่ได้ติดไฟส่องทางไว้มากเท่าไทย ถนนมืดสนิท มีแค่ไฟหน้าเท่านั้นที่คอยส่องทาง ผมยังต้องข้ามช่องเขาอีก 1 ลูก ระยะไต่ประมาณ 200 เมตร เมื่อขึ้นแล้วก็ต้องลงด้วย

8 ส่วน 10

9 ส่วน 10

พอเหลือ 15 กิโลเมตรสุดท้าย กับถนนที่คุ้นเคยที่จะพากลับบ้านซึ่งเป็นทางราบสบาย ๆ เวลาหนึ่งทุ่มเศษ ๆ ของวันที่ 6 ท่ามกลางแสงไฟสลัว ๆ กับอุณหภูมิใกล้ศูนย์ แม้ระยะสะสมจะประมาณ 430 กม. แต่ ณ จังหวะนั้นผมรู้แล้วว่า Festive 500 ของผมสำเร็จไปแล้ว 99% ถ้าไม่จักรยานพังหรือล้มหัวทิ่มไปเสียก่อน

สุดท้าย ผมกลับถึงบ้านอย่างสบายใจ ปวดขานิดหน่อยแต่ปวดคอมากกว่าจากการเงยหน้ากว่า 6 ชั่วโมง อาบน้ำอุ่น ๆ ให้ชื่นใจ เดินไปดูผลการทดลองที่แล็บนิดหน่อยแล้วกลับมานอนพัก พอวันที่ 8 มาถึง ก็เพียงไปเก็บระยะให้ครบท่ามกลางอากาศหนาวซึ่งปีนี้ไม่ได้เป็นศัตรูของผมอีกต่อไปแล้ว

ในช่วงเวลา 8 วันนี้ ผมได้เห็นทิวทัศน์ที่ไม่เคยเห็น ได้เห็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตามหุบเขาของจังหวัด ได้เห็นพระอาทิตย์ตกไปหลังภูเขา ได้อยู่กับตัวเองโดยไม่มีหน้าจอคอมหรือมือถือส่องหน้ากว่า 30 ชั่วโมง ได้ตกผลึกเรื่องงานและเรื่องชีวิตหลาย ๆ อย่างที่วนเวียนอยู่ในความคิดช่วงนี้ ได้ทำลายขีดจำกัดของตัวเองทั้งทางกายและทางใจ ที่คิดว่าปั่นต่อเนื่องกันหลาย ๆ วันคงไม่ไหว ก็ทำจนได้ ที่คิดว่าอากาศหนาวติดลบปั่นไม่ได้ ก็ทำจนได้

-4 องศา

ผมรู้จักจังหวัดที่ใช้ชีวิตอยู่มากขึ้น ที่ประทับใจเป็นพิเศษคือความต่างของอากาศในเมืองที่อยู่ติดกัน แต่เมืองหนึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่คั่นระหว่างภูเขาสองเทือก กับอีกเมืองหนึ่งซึ่งขนาดเล็กกว่าและถูกขนาบด้วยภูเขาสองข้างใกล้ชิด แม้ห่างกันแค่ 20-30 กม. แต่ปริมาณหิมะและอุณหภูมิในวันเดียวกันต่างกันอย่างน่าตกใจ

เมืองอะซุมิโนะ เป็นที่ราบกว้าง ๆ ระหว่างเทือกเขา แดดดี
เมืองโอมาจิ อยู่ข้าง ๆ อะซุมิโนะ แต่เป็นเมืองในหุบเขาแคบ ๆ ไม่มีแดด มีแต่หิมะ สองรูปนี้ถ่ายห่างกันแค่ 40 นาที

แม้ว่าในปีนี้ Rapha จะไม่แจกป้ายปักเหมือนปีก่อน ๆ ก็ตาม (มีให้แต่ถ้วยรางวัลดิจิตอลใน Strava อย่างเดียว) แต่ระยะเวลา 30 ชั่วโมงที่อุณหภูมิเฉลี่ย 4 องศา, 516 กิโลเมตร, และระยะไต่ 4,463 เมตรใน 6 วันที่ผ่านมานี้ เป็นรางวัลที่เกินพอแล้วของคนบ้าบิ่น

เสน่ห์ของกีฬาเอนดิวรานซ์ก็คือการทำลายขีดจำกัดของตัวเราในอดีตมิใช่หรือ

วันที่ระยะทางระยะไต่อุณหภูมิเฉลี่ยอากาศเวลาปั่นเวลารวม
24 ธ.ค.69 กม.915 ม.6 องศา🌤3:354:07
25 ธ.ค.53 กม.383 ม.1 องศา❄️2:203:04
26 ธ.ค.99 กม.773 ม.3 องศา☁️4:165:23
27 ธ.ค.80 กม.554 ม.5 องศา⛅️3:444:28
29 ธ.ค.148 กม.1,221 ม.7 องศา🌤6:418:23
31 ธ.ค.62 กม.594 ม.-2 องศา☁️2:453:12
รวม516 กม.4,463 ม.4 องศา⛄️23:4131:06

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott