ABUS จากเยอรมันอายุร่วม 100 ปี ชื่อนี้หลายคนคงคุ้นเคยกันดี ขึ้นชื่อในเรื่องของการผลิตอุปกรณ์เซฟตี้และล็อกให้กับทุกยานพาหนะ ตั้งแต่มอเตอร์ไซด์, เรือ, ATV, สโนว์โมบิล, จักรยาน และอื่นๆ ที่เคลื่อนที่ได้ แต่มุมหนึ่งที่หลายคนไม่รู้คือ ABUS เขาก็หันมาผลิตหมวกจักรยานแข่งขันประสิทธิภาพสูงด้วย~
ในครั้งนี้เรามีโอกาสได้ทดลองหมวกรุ่นใหม่ ABUS AirBreaker เป็นหมวกที่ออกแบบใหม่จากร่วมมือระหว่างวิศวกรของ ABUS กับทีม Movistar ถือได้ว่าเป็นหมวกที่ออกแบบโดยโปรเพื่อโปรโดยเฉพาะ มีจุดเด่นในเรื่องของน้ำหนัก และการระบายอากาศที่ยอดเยี่ยม โดยยังคงความแอโร่ไดนามิกส์ไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เล่นใหญ่
ถึง ABUS จะเข้าวงการเสือหมอบได้ไม่นาน แต่ก็เริ่มด้วยการสนับสนุนทีมจักรยานอาชีพระดับสูงสุดเลย ปี 2017 ABUS เข้าสปอนเซอร์ทีม Movistar ที่ช่วงนี้กลับมามีผลงานโดดเด่นอีกครั้ง โดยในชัยชนะของอเลฮานโดร วาวเวอเด้ในสนามชิงแชมป์โลกปี 2018 นั้นเขาใส่หมวกรุ่นนี้ลงแข่งขัน
และใน Giro 2019 ที่พึ่งผ่านไปไม่นาน ริชาร์ด คาราพาซ แชมป์แกรนด์ทัวร์และลูกทีม Movistar ก็ได้ใช้หมวกรุ่นนี้ในการคว้าแชมป์เช่นกัน
เล่นใหญ่ใจป้ำแบบนี้ แล้วการใช้งานจริงจะเป็นยังไง? ลองมาดูรีวิวกันครับ
ABUS AirBreaker
เริ่มกันที่ตัวกล่อง แม้ ABUS จะเป็นแบรนด์เยอรมัน แต่หมวกใบนี้ระบุชัดเจนว่าผลิตในอิตาลี กล่องมาในสีน้ำเงินเข้ม ตัวกล่องสามารถเปิดด้วยการสไลด์และพลิกด้านเพื่อโชว์ตัวหมวกในกล่องได้ด้วย
ตัวหมวกนั้นถูกปกป้องในกล่องอย่างดีโดยมีฟองน้ำตัดเข้ารูปรองรับแรงกระแทกจากด้านซ้าย ขวา รวมถึงด้านหน้าและด้านบน ภายในแพ็คเกจมีถุงใส่หมวกและคู่มือให้ด้วย
ความพรีเมี่ยมของหมวกส่งออร่าออกมาตั้งแต่แรกสัมผัสด้วยงานสีที่ทำออกมาได้อย่างสวยงาม ไล่เฉดสีฟ้าไปสู่สีดำอันเป็นสีประจำทีม Movistar ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตัวหมวกนั้นเรียบร้อยสวยงาม ไม่มีโฟมส่วนเกินหรือเป็นหลุมแม้แต่จุดเดียว
รูปทรงของหมวกนั้นคล้ายกับรุ่น GameChanger ซึ่งเป็นรุ่นที่แอโร่ที่สุดของ ABUS นำมาเพิ่มช่องระบายอากาศ โดยมีช่องด้านหน้าถึง 12 ช่อง และมีช่องด้านหลังขนาดใหญ่ 3 ช่อง
การดีไซน์นี้จะบังคับอากาศให้ระบายความร้อนที่หัวออกไปได้มากที่สุด ทาง ABUS เคลมว่าหมวก AirBreaker แม้จะมีช่องระบายอากาศที่มากขึ้น แต่ความแอโร่ไดนามิกส์ของหมวกลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยหมวกใบนี้ได้ผ่านการทดสอบด้วยอุโมงค์ลมเพื่อวัดหรือค่าความต้านจากอากาศแล้วและพบว่าไม่ได้ช้าไปกว่าหมวกที่ออกแบบมาเพื่อให้ลู่ลมเป็นพิเศษสักเท่าไร
ด้วยเทคโนโลยีพิเศษของโรงงานผลิตในอิตาลี โดยการยึดเปลือกโพลีคาร์บอเนตด้านนอกของหมวกไว้ให้อยู่กับที่ก่อนที่ฉีดโฟม EPS เข้าไป (แตกต่างจากวิธีการผลิตปกติที่จะทำโฟมด้านในขึ้นมาก่อน ก่อนจะครอบด้วยเปลือกด้านนอกอีกที) ทำให้ลดปริมาณของเนื้อโฟมได้พอสมมควร ผลที่ได้คือน้ำหนักหมวกที่เบาโดยไม่เสียความสามารถในการปกป้องศีรษะ
น้ำหนักชั่งจริงอยู่ที่ 222 กรัมที่ไซส์ Medium
ภายในของหมวกมีฟองน้ำรองรับ ซึ่งฟองน้ำนั้นถูกยึดด้วยหมุดเข้ากับตัวหมวกโดยตรงแทนที่จะใช้วิธีแปะเข้าไปด้วยตีนตุ๊กแกเหมือนกับหมวกหลายๆ ยี่ห้อ ซึ่งการยึดด้วยตีนตุ๊กแกนั้นมีข้อเสียคือเมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ความสามารถในยึดเกาะจะลดลงจนไม่สามารถติดตัวหมวกได้เหมือนเดิม ส่วนการใช้หมุดนั้นสามารถบิด 90 องศาเพื่อแกะฟองน้ำไปซักได้
นอกจากฟองน้ำแล้ว สายรัดก็สามารถถอดออกไปซักได้เช่นกัน ซึ่งสายรัดถูกออกแบบโปรไฟล์มาพิเศษเพื่อให้ลู่ลมมากที่สุด ลดการกระพือของสาย และยังเป็นมิตรกับผิวหน้าอีกด้วย
ในส่วนของการปรับกระชับหมวก ABUS ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Zoom Ace ที่สามารถปรับความกระชับได้ทุกทิศทาง รวมถึงสาวๆ ที่ไว้ผมหางม้าสามารถลอดผมออกทางช่องระหว่างตัวรัดด้านหลังได้
จากการใช้งานจริงสามารถสัมผัสได้ถึงความเบาของหมวกตั้งแต่เริ่มใส่ และที่สำคัญคือสามารถเสียบแว่นไว้ข้างบนได้อย่างแน่นหนา (ส่วนตัวชอบเสียบแว่นไว้กับหมวก อึดอัดใจทุกครั้งถ้าหมวกนั้นเสียบแว่นไม่ได้หรือเสียบแล้วไม่แน่นพอ) โดยทาง ABUS เคลมไว้ว่าได้ออกแบบช่องเสียบแว่นไว้ภายใต้เทคโนโลยีชื่อ AirPort ที่นักปั่นสามารถเสียบแว่นไว้ได้โดยไม่เสียความแอโร่ไดนามิกส์ของหมวก
ครั้งแรกอาจต้องใช้เวลาปรับตัวหมวกและสายรัดให้เข้ากับศีรษะเล็กน้อย แต่เมื่อเข้าที่แล้วก็สามารถหยิบมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อออกปั่นสิ่งแรกที่รู้สึกได้คือกระแสลมที่พัดผ่านเส้นผมจากด้านหน้าออกทางด้านหลัง รู้สึกได้ถึงการลู่ของเส้นผม และจะรู้สึกได้มากขึ้นหากตอนปั่นก้มหน้าลงเล็กน้อยเพื่อเปิดให้ลมเข้าในตัวหมวกได้มากขึ้น
จากประสบการณ์ที่ใส่หมวกแอโร่มาโดยตลอด (Met Manta) มักมีปัญหาหัวร้อนเมื่อปั่นหนักที่ความเร็วต่ำอย่างตอนขึ้นเขา เหงื่อและความร้อนไม่สามารถระบายออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้หัวเปียกเหงื่อเหมือนคนผมมันที่สระผมอาทิตย์ละครั้ง ซึ่งสำหรับหมวกใบนี้สามารถระบายเหงื่อได้อย่างดีเยี่ยมไม่มีปัญหาความร้อนสะสม ซึ่งพอหัวไม่เปียก หมวกก็จะแห้ง เมื่อหมวกแห้งก็จะไม่มีกลิ่นอับหรือเชื้อโรคสะสม
โดยทั่วไปหากใส่หมวกที่มีรูระบายอากาศเยอะ จะพบว่าเส้นผมของเรามักแทงชี้ออกมาจากรูด้านบนของหมวก มองไกลๆ เหมือนยอดหญ้าที่แทงทะลุดินขึ้นมารับแสงแดด และจะอยู่ทรงค้างแบบนั้นแม้ถอดหมวกออกแล้ว แต่สำหรับ AirBreaker นั้นมีแผ่นรังผึ้งปิดช่องด้านบนเอาไว้ ซึ่งนอกจากป้องกันไม่ให้ผมแทงออกมาแล้ว ยังช่วยเพิ่มความแอโร่ไดนามิกส์ให้กับหมวกอีกด้วย
แน่นอนว่าไม่มีหมวกใดที่สมบูรณ์แบบ หมวกใบนี้ยังมีข้อติเช่นกัน ปัญหาที่พบคือการถอดและใส่สายล็อคคางนั้นทำได้ค่อนข้างยาก หากเปลี่ยนเป็นระบบแม่เหล็กจะทำให้การใส่และถอดง่ายขึ้น และตัวหมวกไม่มีระบบ MIPS ที่เป็นเทคโนโลยีที่หมวกไฮเอนของแบรนด์อื่นๆ เลือกใช้
ข้อดี
- หมวกมีน้ำหนักเบา
- ระบายอากาศและเหงื่อได้อย่างยอดเยี่ยมโดยยังคงความแอโร่ไดนามิกส์
- งานสีและคุณภาพการผลิตที่ดูแพง คุณภาพสูง
- แยกถอดฟองน้ำและสายรัดออกมาซักได้
ข้อด้อย
- ตัวล็อคคางถอดและใส่ลำบากเล็กน้อย
- ไม่มีระบบ MIPs เหมือนหมวกแบรนด์อื่นๆ
- ราคาตั้ง 9,900 บาท (ส่วนลดสามารถสอบถามกับตัวแทนจำหน่าย)