รีวิว : Cipollini RB1K The One

ชมงานเปิดตัว Cipollini RB1K The One ไปแล้วก็ถึงเวลาต้องลองปั่นจริงครับ 

อันดับแรกเลยถามว่าจักรยานคันนี้เป็นรถสไตล์ไหน? 

ก็ต้องบอกว่าเป็นจักรยานสไตล์มาริโอ้ ซิโปลลินี…. 

ตอบแบบนี้ไม่ได้กวน ถ้าใครรู้จักรจักรยานแบรนด์นี้มาระดับหนึ่งจะพอรู้ว่ามันเป็นรถที่มีเอกลักษณ์พอสมควรครับ นอกจากรูปทรงที่ดูซิ่ง บึกบึนแล้ว องศารถนั้นก็มีความซิ่งไม่แพ้กัน มันคือจักรยานที่ออกแบบมาให้ปั่นในท่าที่ก้มต่ำในสไตล์แข่งขันเอามากๆ ไม่ได้แคร์เรื่องความสบาย ความยืดหยุ่นของผู้ปั่นเท่าไร 

จะเค้นประสิทธิภาพมันออกมาได้จนสุด เจ้าของรถต้องแข็งแรงระดับหนึ่ง…เหมือนมาริโอ้นั่นเอง 

Cipollini RB1K เป็นเสือหมอบแข่งขันรุ่นเรือธงของแบรนด์นี้มาแต่ไหนแต่ไร เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2010 และมีการปรับปรุงแบบ Minor change มาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้มีอาการออกแบบใหม่ ถึงแม้คู่แข่งจะปล่อยจักรยานใหม่แทบจะสองปีหนเลยก็ตาม ด้วยที่ซิโปลลินีมั่นใจว่าจักรยานของเขานั้นดีพอสำหรับการใช้งานระดับสูงสุดตลอดช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาครับ

ว่ากันตามการตลาดของซิโปลลินี มาริโอ้บอกกับเราว่า RB1K The One เป็น “จักรยานในฝันอันเป็นหนึ่งเดียว (The One)” ของเขา มันถ่ายทอดความต้องการจักรยานที่สมบูรณ์แบบในความคิดของเขาออกมาครับ

สมบูรณ์แบบนี้เป็นยังไง?

หนึ่งคือต้องมีหน้าตางดงาม ควรคู่แก่การถวิลหาประดุษสตรีในชุดเดรสสีแดงที่ทุกคนต้องชายตาตา

สอง ต้องตอบสนองแรงดีให้รับแรงกระทืบระดับช้างศาลของสปรินเตอร์กล้ามหนาที่ประสบความสำเร็จในยุค 90s อย่างมาริโอ้ได

สาม การบังคับควบคุมหรือ Handling ต้องเฉียบคม มีความหนักแน่น สร้างความมั่นใจให้ผู้ปั่นถึงแม้จะต้องเผชิญเส้นทางลงเขาสูงชัน

ผิดกับแบรนด์อื่นๆ ที่มักจะชูเรื่องน้ำหนักและแอโรไดนามิก จะเห็นว่าเรื่องความสบาย ลู่ลม น้ำหนักเบา ไม่ใช่จุดเด่นของ RB1K The One ครับ โดยเฉพาะเมื่อจะต้องเปรียบเทียบกับจักรยานคู่แข่งในระดับราคาเดียวกัน แต่ในสายตาของซิโปลลินี ประเด็นเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะอะไรเดี๋ยวฟังกันต่อครับ (Hint: มีจักรยานกี่ยี่ห้อที่เอาเรื่องความสวยงามเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการออกแบบ?)

มีอะไรใหม่ใน Cipollini RB1K The One

RB1K The One มากับเฟรมที่ออกแบบใหม่โดยยังคงเค้าหน้าตา RB1000 รุ่นก่อน แต่ปรับใช้เนื้อคาร์บอนที่มีส่วนผสมของเส้นใย High Modulus มากขึ้น ซึ่ง Cipollini เลือกใช้คาร์บอนไฟเบอร์ T1000 จาก Torayca ผู้ผลิตคาร์บอนไฟเบอร์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ผลก็คือได้เฟรมที่มีน้ำหนักเบาขึ้นด้วย และสติฟฟ์ขึ้น 20% เทียบกับรุ่นเก่า

Cipollini อ้างว่าเฟรมไม่ทำสีน้ำหนัก 950 กรัมแต่ไม่ระบุไซส์

The One ตัดหลักอานแบบเสากระโดง (integrated seat mast) ออกและเปลี่ยนมาใช้หลักอานแอโรที่สามารถปรับระดับความสูงได้

ช่วงหน้ารถนั้นก็เปลี่ยนเยอะทีเดียวครับ เพราะใช้ตะเกียบรูปทรงใหม่ที่อ้างว่าสติฟขึ้น และช่วงท่อคอนั้นก็สูงขึ้น 15mm เพื่อให้ผู้ใช้ขับขี่ได้ง่ายขึ้นโดยที่ไม่ต้องก้มมากนัก

เฟรมรองรับยางหน้ากว้าง 28mm เปลี่ยนมาใช้เบรค Direct Mount แต่ยังไม่มีเวอร์ชันดิสก์เบรค

แต่อย่าคิดว่ามันจะขี่สบายนั่งหลังตรงเหมือนรถเอนดูรานซ์ เพราะถึงจะยกท่อคอให้สูงขึ้นแล้ว คอมันก็ยังต่ำอยู่ดีเทียบกับรถแข่งแบรนด์อื่นๆ ! ไซส์ XS ที่ผมทดสอบมีระยะ Stack: Reach ที่ 1.305 เท่านั้น ต่ำที่สุดที่เคยขี่มาในชีวิตครับ (500.5/383.5) ถึงจะรองแหวนท่อคอร่วม 2.5cm ก็ยังได้ท่านั่งที่ก้มเหยียด คือท่าที่มาริโอ้ชอบขี่เลยนั่นแหละ 

SaveSave

SaveSave

Naked Matt
Anthracite Shiny
Italian Champion
Ottanio Shiny
Black Shiny

The Options

มีให้เลือกทั้งหมด 7 ไซส์ จาก XXS — XXL และมี 4 สี (Black Shiny, Naked Matt, Anthracite Shiny, Ottanio Shiny และ Italian Champion)

ราคาเฟรมเซ็ตอยู่ที่ 212,000 บาท ตัวแทนรับประกันเฟรมแตกหักร้าว 2 ปี และสามารถลงทะเบียนให้เป็น 10 ปีผ่านเว็บไซต์ Cipollini พร้อมแถมประกันอุบัติเหตุ 1 ปีครับ (เฟรมและตะเกียบเท่านั้น)


The Idea Behind

ด้วยงงงวยว่าทำไมในงานเปิดตัวพี่ไม่พูดถึงเทคโนโลยีเลยอะ (ตอนไปงานเปิดตัว Cervelo R5 จำได้ว่านั่งฟังพรีเซนต์เรื่อง tech อยู่ประมาณ 3 ชั่วโมง) ก็เลยซัก Brand Manager ไปหลายคำถามครับ ว่าออกแบบยังไง มีโจทย์ยังไงในการทำจักรยานคันนี้ ทดสอบในอุโมงค์ลมไหม? 

ใจความสำคัญอยู่ตรงนี้ Brand manager บอกว่า ขั้นแรกเลยคือเราต้องออกแบบ “หน้าตา” ของจักรยานก่อน…

Cipollini ให้ความสำคัญกับหน้าตาจักรยานมาก มันต้องดูสวย ดูน่าค้นหา ต้องต่างจากจักรยานคันอื่นๆ แบบที่ว่าคนเดินผ่านแล้วต้องหันกลับมามอง เหมือนเวลาเราเห็นรถสปอร์ตสวยๆ จอดอยู่หรือวิ่งผ่าน ยังไงก็ต้องหันมองมัน เพราะมันมีความแปลก ความดุดันที่กระตุ้นแรงปราถนาขั้นพื้นฐานของมนุษย์ออกมาได้

จากนั้นค่อยว่ากันเรื่องประสิทธิภาพ แน่นอนจะเป็นที่คู่ควรกับมาริโอ้ มันต้องมีประสิทธิภาพสูง ต้องเร็ว ตอบสนองดี บังคับควบคุมดี เพราะงั้น เมื่อได้รูปร่างที่พอใจแล้วก็จะทำการออกแบบเฟ้นเลือกวัสดุให้ได้จักรยานที่ลงตัว

จะเห็นว่าวิธีคิดนี้จะตรงข้ามกับแบรนด์ high-end อื่นๆ ครับ นั่นคือ Cipollini มองเรื่องหน้าตาก่อน (Form over function) ในขณะที่แบรนด์อื่นจะมองหารูปร่างของจักรยานที่ให้ประสิทธิภาพดีที่สุดก่อน (Function over form) หน้าตาจะเป็นยังไงก็ไม่แน่ใจว่ามันจะสวยไหม ….นั่นหมายความว่า จักรยาน Cipollini จะมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ แต่อยู่ในขอบเขตที่เขายอมรับได้และคิดว่าประสิทธิภาพดีพอจะสู้กับคู่แข่ง เช่นการออกแบบหน้าตาก่อนนั้นแปลว่าไม่สามารถทำให้มันแอโรลู่ลมที่สุด หรือเบาที่สุดได้แน่นอน เพราะเส้นสายที่สวยงามบึกบึนนั้นทำให้น้ำหนักเพิ่มและขวางการไหลของลม

ในเรื่องน้ำหนัก ผมถามต่อว่า รถราคาขนาดนี้ยังหนัก 950 กรัมในขณะที่คู่แข่งคุณไป sub 700 กรัมกันหมดแล้ว แต่เขาก็ตอบมาได้น่าสนใจครับ… “ก็ถ้ารถแข่งยังต้องแข่งด้วยน้ำหนัก 6.8 กิโลกรัมตามกฏ UCI คุณจะทำเฟรมเบาไปเพื่ออะไรล่ะ ถ้ามันเบาเกินคุณก็ต้องถ่วงน้ำหนักอยู่ดีใช่ไหม ทุกคนแข่งด้วยจักรยานที่น้ำหนักเท่ากัน และการที่เฟรมมีมวล มันทำให้การบังคับควบคุมมั่นคงและเชื่อใจได้ เราเชื่อว่าเฟรมของเราลงเขาดีกว่าคนอื่นครับ คุณไม่ต้องกังวลว่าเฟรมมันจะให้ฟีลลอยๆ หวิวๆ แบบที่เฟรมน้ำหนักเบาเป็นกัน”

…ฟังเสร็จก็แปลกใจครับ ว่ามันมีบริษัทที่คิดอย่างนี้ด้วย ครึ่งหนึ่งผมก็ไม่เห็นด้วยนะ คือเทคโนโลยีมันมีไว้ผลักดัน แต่ในมุมของ Cipollini คือนี่มันเป็นรถแข่ง เราออกแบบตามกรอบการแข่งขัน ถ้ากฏมันยังบอกว่ารถต้องหนัก 6.8 กิโลกรัม คุณก็ไปลดน้ำหนักส่วนอื่นสิ ที่จุดหมุนต่างๆ เช่นล้อ ขาจาน อะไหล่อื่นๆ แต่เราจะใช้น้ำหนักเฟรมในการเสริมฟีลลิงการปั่นและการบังคับควบคุม  (มันเป็นเหตุผลว่าทำไมเสือหมอบอย่าง Specialized Tarmac SL5 / จักรยานอิตาเลียนอย่าง Pinarello, Bianchi, Colnago ไม่ยอมทำเฟรมน้ำหนักเบาครับ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่อยากให้รถมีฟีลลิงการขี่ที่ตึ้บ มั่นคงและมั่นใจกว่าเฟรมมวลน้อย)

The Ride

เช้าหลังวันงานพรีเซนต์เราก็เตรียมออกปั่นกันครับ 

จักรยานที่ผมทดสอบเป็น RB1K The One ไซส์ XS ที่มากับของแต่งแบบเต็มชุด กรุ๊ปเซ็ต Campagnolo Super Record, ล้อ Campagnolo Bora Ultra 2, ยาง Vittoria Corsa G+ 25mm กับแฮนด์​และสเต็ม 3T ไม่มีตาชั่งแต่กะคร่าวๆ น่าจะประมาณ 6.8–7.0 กิโลกรัม 

เส้นทางที่เราปั่นเป็นแถวไร่องุ่นใกล้ๆ โรงแรมครับ ลูป 30 กิโลเมตร แต่มีเขายาว 4.5 กิโลเมตรที่ความชันเฉลี่ยเกือบ 5% ได้ระยะ elevation ประมาณ 450 เมตร เรียกได้ว่าถึงระยะจะสั้นแต่ได้ทดสอบรถกันทุกสภาพเส้นทาง ทั้งทางราบ ทางขรุขระ ทางขึ้นและลงเขาด้วย

ด้วยที่ Cipollini มีจักรยานทดสอบไม่มาก เราเลยแบ่งกันมาปั่นเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละไม่กี่คน

ปัญหาคือคุยไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะคนอิตาเลียนใช้ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงเท่าไร กลุ่มคนที่ปั่นส่วนใหญ่เป็นตัวแทนนำเข้าจากประเทศต่างๆ ครับ มีสื่ออยู่แค่สองเจ้าคือ Ducking Tiger และ Bikeradar….เจ๊คนนี้เป็นดีลเลอร์ที่เวนิส บอกปั่นมาทุกรุ่นแล้ว วันนี้อยากลองของใหม่บ้าง…

หนุ่มร่างยาวคนนี้คือ ride leader ผู้นำเส้นทาง แถมยังได้ขี่ The One สีที่ไม่มีจำหน่ายด้วย

ออกจากเมืองได้ไม่นานเราก็เริ่มเห็นที่หมายครับ แนวเขาข้างหน้านั่นหละ

สัมผัสแรกของ RB1K The One คือเป็นรถที่นุ่มกว่าที่คิดครับ ปกติรูปทรงอวบๆ แน่นๆ หนาๆ แบบนี้เวลาเห็นหลุมวิบากนี่เกร็งตัวรอเลย The One ให้ฟีลรถแข่งนั่นคือถ้าทางไม่กระเทือนจนเกินไปก็ขี่ได้เรื่อยๆ นิ่มๆ ครับ เจอหลุมก็ไม่กระด้างกระเดื่องนัก แต่ไม่นุ่มนวลชวนฝัน มีความดิบแบบรถสปอร์ต 
ฟีดแบคถนนไม่คมมาก แต่พอจับความรู้สึกกรวดหินและร่องถนนได้ไม่ยากครับ

ล้อ Bora Ultra เป็นล้อคาร์บอนที่ไม่กระด้างครับ บวกกับยาง Vittoria ที่เป็น cotton casing ก็ช่วยซับแรงสะเทือนได้เยอะ อีกวันที่ได้ลองรถนั้นใช้ล้ออลู Fulcrum Racing Quattro ก็สะท้านขึ้นเยอะครับ

เขาลูกนี้มีเซกเมนท์ชื่อ Pendora-Fumane ยาว 4 กิโลเมตร ชัน 5% มองลงไปข้างล่างเห็นชานเมืองเวโรน่าชัดทีเดียว

ตามประสา group ride ปั่นสักพักกลุ่มเริ่มแตก…เราก็ไถขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายได้เกาะกลุ่มกับสองคนนี้ครับ เป็น Ride Leader ตับอวบกับเจ้าของร้านจักรยานในอเมริกา

จะชวนคุยเรื่องฟีลลิงรถ คนนึงก็พูดอังกฤษไม่ได้ …อีกคนก็หันหน้ามาแบบ กุเหนื่อยจะตายแล้ว..

เชี่ย ดุมาก..

ฟีลลิงการไต่เขาคันนี้…เป็นแนวไล่รอบครับ

ไม่ใช่แนวกระโชกโฮกฮาก คือจริงๆ ดูจากรูปทรงก็พอรู้แล้วว่าจะไต่เขาได้ประมาณนี้ เพราะไม่ได้ออกแบบมารีดประสิทธิภาพ stiffness:weight เหมือนรถสาย weightweenies จะลองอธิบายให้ชัดๆ 

RB1K The One เป็นรถที่พุ่งเท้าแรกและเท้าปลายครับ ถึงรถจะดูอวบ แต่กระชากสองสามตีนแรกได้เร็ว ความเร็วขึ้นไว ซึ่งผลก็คือเป็นรถที่สปรินต์สนุกมากๆ เพราะช่วงล่างแน่นตึ้บ กระทืบเท่าไรมาเท่านั้น รถมั่นคงและให้ความมั่นใจมาก 

แต่พอจะยืนโยกไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จะไม่สนุกเหมือนรถเบาๆ อย่าง Canyon Ultimate / Cervelo R5 / Bianchi Specialissima / Factor O2. รถพวกนั้นจะให้ฟีลเบาๆ ลอยๆ เหมือนไม่ค่อยมีมวล ยืนโยกได้ลอยจากตีนเขายันยอดเขาครับ 

เหมาะกับการนั่งปั่นควงขาขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นแพะภูเขาชอบรถเบาๆ พุ่งแบบเปิดวาร์ป กดแล้วหายสามช่วงตัวคงไม่ถูกใจ

บ่นมายาว ถึงยอดสักที

วิวร้ายกาจมาก
คันนี้งานสีดีครับ เป็นสีดำแบบ Shiny…ดูแพง
เกียร์ Campagnolo Super Record…เริ่มโชว์อายุครับ เปิดตัวมาหลายปีดีดัก Shimano แซงไปหลายขุม เอาจริงๆ ผมว่า Ultegra ยังใช้เพลินกว่า Campy ตัวท็อป (อย่าโกรธกันนะ)
มีการเว้าท่อล่างเพื่อให้การไหลของลมสมูทตามประสารถแนวแอโร

ถ่ายรูปเสร็จก็รอกรุ๊ปหลังตามมา ต้องลงเขาพร้อมกัน… เพราะไม่งั้นหลงทางครับ กลับโรงแรมไม่ถูก 
Ride Leader ไม่ให้ GPS มา ต้องปั่นตามพี่อย่างเดียว

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดใน RB1K The One คือการลงเขาและสปรินต์อย่างไม่ต้องสงสัย 

จำที่ Brand Manager บอกว่าอยากให้รถมีมวล เวลาลงเขาจะได้มั่นคงและมั่นใจมั้ยครับ

เป็นอย่างที่เขาพูดเลย ทางลงเขาวันนี้ค่อนข้างชัน (ไม่ได้ถ่ายรูปมา) แต่รถเอาอยู่ทุกโค้งครับ ช่วงชักสั้น ไม่ต้องโหนมาก เข้าได้คมไว แต่รถนิ่งหน้าไม่ส่ายไม่สั่น และรถให้ฟีลตึ้บ เป็นรถที่กล้าลงเขาในท่านอนบนท่อนอนที่ความเร็วขึ้นไปแตะ 75–80 ครับ รถไต่เขาเบาๆ หลายๆ คันผมไม่กล้าขี่ท่านี้ พวกนั้นก็นิ่งและคมครับ แต่มันจะรู้สึกเบาๆ เท้า ถ้าใจไม่ด้านพออย่างผมอาจจะไม่กล้านอนขี่เท่ารถหนักๆ ล่ะนะ 

จังหวะสปรินต์ก็สนุก ความเร็วเติมขึ้นได้เรื่อยๆ ผมเองก็ไม่ได้มีแรงสปรินต์เยอะอะไร แต่รู้สึกมั่นคงทำให้เรากล้าถ่ายน้ำหนักสะบัดโยกแฮนด์และตัวรถครับ 
ผมว่าตีนแรกรถยังฟีลไม่พุ่งเท่าพวกรถเบาๆ น่ะนะ อาจจะเพราะตัวเองไม่แข็งแรงด้วย แต่ถ้าเป็นคนแข็งแรง กล้ามเยอะ (เหมือนมาริโอ้) คงรู้สึกสะใจเวลาจับคันนี้กดครับ


สรุป

จักรยานคันนี้มันก็คือตัวแทนของความเป็นมาริโอ้ ซิโปลลินีอย่างแท้จริงครับ

จักรยานสำหรับสปรินเตอร์ระดับแชมป์โลก ที่นึกอยากจะชนะสเตจใน Giro d’Italia สัก 5 สเตจก็ทำได้ พอถึงสเตจขึ้นเขาก็ออกจากการแข่งขันไปนอนเล่นนอยู่ริมหาดซะอย่างนั้น ไม่ได้แคร์ว่าต้องปั่นจบ 

ท่าปั่นที่ก้มเหยียด ฟีลลิงการขี่แบบแน่นติดเท้า การลงเขาที่มั่นคงนิ่งสนิท แต่จังหวะขึ้นเขามีหน่วง รูปลักษณ์สวยงามดุดันแบบรถสปอร์ตที่ปั่นไปไหนต้องมีคนหันมามอง ราคาที่คนส่วนใหญ่เอื้อมไม่ถึง งานแฮนด์เมดอินอิตาลี 

บรรยายเท่านี้ก็น่าจะเห็นภาพว่าเหมาะกับใครครับ 

ชัดเจนมากว่า Cipollini ไม่ได้ทำจักรยานมาตอบสนองมหาชน 

มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และกลุ่มเป้าหมายของเขาก็มีสไตล์การปั่นและไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจนเช่นกัน 

ซึ่งบางคนอาจจะไม่ชอบ…แต่ก็ไม่เป็นไร 

เพราะมันไม่ใช่สำหรับทุกคน

แต่มันอาจจะเป็นจักรยานในฝันของใครบางคน

  • Comfort | นุ่มสบาย ●●●○○ สะท้าน
  • Handling | คล่องแคล่ว ●●●●○ อืดอาด
  • Acceleration | ทันใจ ●●●○○ รอรอบ
  • Fit | ก้มมาก ●●●●● ก้มน้อย
  • Price | ไฮเอนด์ ●●●●● จับต้องได้
  • Rating | ★★★★½

ทริปรีวิวที่เวโรนาครั้งนี้สนับสนุนโดย Central Bike Thailand ตัวแทนจำหน่าย Cipollini ประเทศไทย แต่ความเห็นทั้งหมดเป็นของ Ducking Tiger และรีวิวนี้ไม่ใช่ advertorial ครับ


By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *