รีวิว: Lezyne Mega XL GPS ไมล์ไซส์กะทัดรัดที่แบตโคตรอึดและราคาเป็นมิตร

หลังจากที่ดูรายละเอียดฟีเจอร์และความสามารถของเจ้าไมล์ Lezyne Mega XL กันแล้วในโพสต์ก่อนหน้านี้ รอบนี้เราจะมารีวิวการใช้งานจริงกันครับ ก่อนจะเริ่มรีวิวอยากบอกเลยว่าจุดเด่นที่สุดของไมล์ตัวนี้คืออายุการใช้งานแบตเตอรีที่อึดพอจะใช้ปั่น Audax 400 จนจบหรือเกือบจบ หรือใช้ซ้อมปั่นทุกวันเป็นอาทิตย์ได้โดยไม่ต้องชาร์ตแบต

อย่างไรก็ดีด้วยความที่ Lezyne ยังทำไมล์จักรยานมาได้ไม่นานก็ยังมีข้อให้ปรับปรุงอยู่บ้างเช่นกัน ลองมาดูรายละเอียดกันเต็มๆ ดีกว่าครับ

ราคา: 6,500 บาท (เฉพาะตัวเครื่อง)

 

ตัวเครื่อง: ดีไซน์กะทัดรัด แข็งแรง

ไมล์ Lezyne Mega XL มีขนาดใหญ่พอสมควร แต่ก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดพวก Garmin Edge 1000 ครับ ตัวเครื่องใช้หน้าจอความละเอียด 240×400 และไม่ใช่จอสัมผัส (เลยทำให้แบตเตอรีอยู่ได้นาน!) ตัวเครื่องใหญ่เพราะจุแบตเตอรีขนาดใหญ่กว่าเพื่อนนั่นเอง

ลองดูเทียบกับขนาดเครื่อง Garmin Edge 810 จะเห็นว่า Garmin มีบอดี้ตัวเครื่องใหญ่กว่าแต่ขนาดหน้าจอเล็กกว่า

 

ติดตั้งกับจักรยาน

เริ่มกันที่การติดตั้งเมาท์ขาไมล์กันก่อนเลย ซึ่งส่วนตัวชอบดีไซน์การออกแบบที่สามารถปรับแต่งระยะต่างๆ ของขาไมล์ได้อย่างอิสระ ติดตั้งได้อย่างเรียบร้อยสวยงาม

แกะกล่องมา Lezyne ให้เมาท์มาแค่แบบเดียว คือแบบยึดไว้บนสเต็ม (เชยเหลือเกินนนน) ถ้าอยากใช้แบบตัวจับยื่นไปหน้าแฮนด์ หรือยึดจากฝาสเต็มแบบที่โชว์ในรูปข้างบนก็ต้องซื้อต่างหากครับ

ตัวที่เราทดสอบที่ทาง Champion Cycle ส่งมาให้ คือตัวยึดเมาท์แบบฝาสเต็มการยึดแบบนี้จะทำให้เมาท์อยู่ระนาบเดียวกับแฮนด์ของเราและได้ลุคที่ดูสะอาด integrated ไปกับรถดีครับ

แต่ด้วยตัวเครื่องค่อนข้างหนา ทำให้การติดตั้งเมาท์แบบเดิมนั้นจะทำให้ตัวไมล์อยู่สูงเกินไป เลยจัดการถอดแยกชิ้นส่วนเพื่อกลับด้านเมาท์นั่นเอง

แท่งโลหะยาวๆ นั้นสามารถพลิกกลับด้านลงมาได้ และสามารถปรับเพิ่มลดระยะยื่นตัวไมล์ออกไปด้านหน้าได้ด้วย

เมื่อกลับด้านแล้วจะทำให้ไมล์ไม่ลอยสูงมากเกินไป

การแสดงผลแนวนอนนั้นทำได้น่าสนใจ รู้สึกมองเห็นข้อมูลได้กว้างมากยิ่งขึ้น รวมถึงการแจ้งเตือนจากมือถือที่ชัดเจนขึ้น แต่การกดปุ่มนั้นด้านข้างนั้นสับสนได้ง่ายจากตำแหน่งของปุ่มที่เปลี่ยนไปอยู่ด้านบนและล่างของตัวเครื่องแทน

ตัวเลขใหญ่กระหึ่มสะใจ มองเห็นได้โดยไม่ต้องเพ่ง

เวลาเราจะยึดไมล์เข้ากับเมาท์รู้สึกได้ว่าต้องใช้แรงกดล็อคมากกว่า Garmin หรือ Wahoo พอสมควรครับ แต่ก็ทำให้มันยึดได้มั่นคง ไม่สั่นไม่คลอนอุ่นใจได้กว่าแป้น Quarter turn ของ Garmin

ปกติแล้วผมชอบหน้าจอแนวนอนมากกว่าแนวตั้ง เพราะเวลาเปิดแผนที่มันเห็นข้อมูลเยอะกว่า ทำให้ตามรูท GPS ง่ายกว่าครับ อย่างไรก็ดี ฟีลลิง interface หน้าจอการใช้งานรวมๆ แล้วยังไม่เนี้ยบ smooth เหมือน Garmin หรือ Wahoo ที่พัฒนาซอฟต์แวร์มานานกว่าจนเป็นมิตรกับผู้ใช้ส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ว่า Lezyne ใช้ยากอะไรนะครับ พอใช้ไปสักพักก็จะถนัดมือละ

 

การตั้งค่าและแสดงผลข้อมูล

ไมล์ Mega XL สามารถแสดงผลข้อมูลได้ 5 หน้า แต่ละหน้าสามารถซอยแบ่งช่องข้อมูลได้มากสุด 10 ช่อง (แต่จะใช้มากเท่าไรก็แล้วแต่เราจะตั้งครับ) นั่นหมายความว่าเราสามารถดูข้อมูลได้สูงสุดถึง 50 ช่องจากทั้งหมด 5 หน้า! (แต่คงไม่มีใครใช้เยอะขนาดนั้น 555)

เราสามารถตั้งค่าหน้าจอช่องต่างๆ ผ่านตัวเครื่องได้เลย หรือจะสะดวกกว่านั้นก็ให้ต่อเข้ากับสมาร์ทโฟน ซึ่งเราจะใช้แอปของ Lezyne เซ็ตหน้าจอได้ครับ ซึ่งก็จะเป็นแบบนี้

เราเลือกจำนวนตารางได้ว่าแต่ละหน้าอยากให้มันแสดงผลข้อมูลกี่ชุด นอกจากตั้งประเภทข้อมูลที่อยากให้แสดงผลแล้วก็สามารถตั้งค่าตัวเครื่องอื่นๆ เช่นวัน เวลา, การนำทาง, ภาษา, ข้อมูลส่วนตัวของคนปั่น และอื่นๆ ผ่านแอปได้ด้วย แทบไม่จำเป็นต้องใช้เมนูในตัวเครื่องไมล์เลย ซึ่งเป็นเรื่องดีครับ เพราะเมนูในเครื่องนี่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ใช้เท่าไร

ตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อเซนเซอร์ทั้ง ANT+ และ Bluetooth เพราะงั้นจะใช้เซนเซอร์ความเร็ว รอบขา หัวใจและพาวเวอร์มิเตอร์จากยี่ห้อไหนก็ได้ที่รองรับการเชื่อมต่อดังกล่าว

เมื่อติดตั้งเรียบร้อยก็ถึงเวลาเอาออกไปลองกัน เริ่มจากการจับคู่กับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น Heartrate สามารถแสดงผลได้อย่างถูกต้อง เริ่มต้นจับสัญญาณ GPS/ GLONLASS ได้ช้าเล็กน้อย แต่หากจับสัญญาณได้แล้วก็สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา

ในเรื่องการใช้งานเพื่อบันทึกข้อมูลการปั่นฝึกซ้อมทั่วๆ ไป นั้นก็ทำได้ปกติดีไม่ต่างจากไมล์ยี่ห้ออื่นๆ ครับ แต่ถ้าจะใช้แค่บันทึกข้อมูลการปั่นง่าบๆ ไม่ต้องการโหมดนำทางจริงๆ แล้วก็ไม่ต้องจ่ายหลายพันเพื่อซื้อไมล์ระดับ Mega XL ก็ได้

 

แผนที่และการนำทาง

Lezyne Mega XL สามารถติดตั้งแผนที่เพิ่มเติมได้เพื่อการนำทางอย่างละเอียด เราติดตั้งแผนที่ได้สองวิธีครับ แบบแรกคือทำผ่านคอมพิวเตอร์ผ่านเว็บไซต์ Lezyne Root ที่เราไปเลือกพื้นที่ที่เราต้องการแผนที่ แล้วโยนไฟล์แผนที่เข้าตัวไมล์ผ่านสาย USB ตรงนี้เหมือนการติดตั้งแผนที่ Garmin ทั่วไป

แบบที่สองคือทำผ่านแอปในสมาร์ทโฟน แต่ส่งไฟล์ผ่าน Bluetooth แทน

หน้าต่างดาวน์โหลดแผนที่ เพื่อส่งแผนที่ไปยังไมล์ ซึ่งหากดาวน์โหลดแผนที่ไปยังตัวไมล์แล้วสามารถเรียกใช้งานแบบ Offline ได้เลย

ปัญหาของการดาวน์โหลดแผนที่และส่งเข้าไมล์ผ่าน Bluetooth คือเรื่องความเร็วครับ ถ้าแผนที่มีขนาดใหญ่ก็ต้องใช้เวลาส่งถ่ายนานหลายนาที เพราะงั้นเพื่อความสะดวกรวดเร็วทำผ่านคอมพ์ดีกว่า ยกเว้นว่าเราต้องการแผนที่ในขณะที่อยู่นอกบ้านไม่มีคอมพ์ใช้จริงๆ ก็ยังพอทำผ่านมือถือได้

นอกจากจะโหลดแผนที่แล้ว ในเว็บ Lezyne GPS Root เราสามารถสร้างรูทที่ต้องการผ่านเว็บได้ด้วย ระบบการสร้างรูทก็ใช้งานไม่ยากเท่าไรครับ เริ่มจากเลือกจุดสตาร์ทที่ต้องการแล้วเลือก waypoint ได้ 25 จุดก่อนจะเลือกปลายทาง

จากนั้นโปรแกรมจะเชื่อมต่อ waypoint ทั้งหมดเข้าด้วยกัน สร้างออกมาเป็นรูทปั่นให้เรา ถ้ารูทไม่ซับซ้อนอะไรมากก็ใช้งานได้ดีครับ แต่บางครั้งก็จะเจอปัญหาโปรแกรมไม่ยอมลิงก์เส้นทาง waypoint ให้เราในบางจุด (จริงๆ ก็เป็นปัญหาที่เจอทั้งใน Garmin, Wahoo RideWithGPS ครับ)

วิดีโอสาธิตการสร้างรูทจาก Lezyne

เมื่อสร้างรูทเสร็จแล้วก็โยนไฟล์เข้าไมล์ผ่าน USB หรือผ่านแอปก็ได้ครับ

หน้าตาแผนที่และการนำทางที่แสดงผลบนไมล์

ในด้านการนำทาง Lezyne ทำงานได้ดีเลยทีเดียว พอเราโหลดแผนที่เข้าเครื่องแล้วก็กด “GO” เพื่อให้มันเริ่มนำทาง ถ้าเราอยู่ใกล้จุดสตาร์ทมันจะถามว่าจะให้นำทางไปจุดสตาร์ทเลยมั้ย เท่าที่ลองใช้ก็พอนำทางได้ดีครับ แต่เพราะผมอยู่ในละแวกที่คุ้นเคยอยู่แล้วเลยไม่ได้ทดสอบฟีเจอร์นี้จริงจัง

พอเริ่มนำทางแล้วเราก็จะใช้หน้าจอแผนที่เป็นหลัก ซึ่งจะโชว์ถนนที่เรากำลังปั่นอยู่ โชว์เส้นทางที่เราปั่นมาแล้ว และลูกศรบอกทิศทางที่หมายที่เรากำลังจะไป เวลาปั่นก็แค่ตามลูกศรครับง่ายดี

ถ้าอยากดูข้อมูลอื่นด้วยก็พลิกไปอีกหน้าจอที่โชว์เวลาปั่น, ความเร็วและช่องข้อมูลที่ใช้นำทางให้เรา ช่วยบอก countdown ระยะทางก่อนถึงโค้งหรือทางเลี้ยวต่อไปเป็นต้น พร้อมลูกศรบอกเส้นทางครับ เช่นตรง เลี้ยว โค้งหักศอก โค้งแบบ switchback เป็นต้น รวมๆ แล้วการนำทางทำได้ละเอียดดีเลย

 

แบตเตอรี: โคตรมหาอึด

Lezyne เคลมอายุการใช้งานแบตเตอรี 48 ชั่วโมงระหว่างที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและเปิดแบคไลท์ เท่าที่เราทดลองดู ปรากฏว่าแบตหมดก่อนครบ 48 ชั่วโมงครับ แต่ก็ใช้งานได้นานเกินไมล์คู่แข่งในราคาเดียวกันไปหลายชั่วโมงมาก ผมลองใช้หลายๆ รูปแบบทั้งเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน เปิดแบคไลท์บ้าง ปิดบ้าง (แล้วแต่สภาพแสง)

เฉลี่ยรวมๆ แล้วแบตอยู่ได้ 28-32 ชั่วโมง (ระหว่างนี้ก็เปิดตั้งค่าตัวเครื่องเป็นเวลานานหลายครั้ง)  จะใช้ได้มากหรือน้อยกว่านี้ก็แล้วแต่รูปแบบการใช้งานของแต่ละคนด้วย ถ้าตั้งใชเปิดโหมดประหยัดแบตก็คิดว่าน่าจะใช้ได้นานกว่านี้ครับ

นั่นคือถ้าคุณปั่นเร็วพอและใช้แบบประหยัดแบตก็อาจจะจบ Audax เกิน 200km โดยไม่ต้องชาร์จ (แต่ก็ควรพกพวก powerbank ไปด้วยอยู่ดี เราชาร์จมันระหว่างใช้งานผ่านสาย Micro USB ครับ) หรือถ้าเป็นการปั่นทั่วไป ไม่ได้ปั่นทุกวัน ก็อาจจะชาร์จแค่ครั้งเดียวต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าแบตอึดกว่าไมล์อื่นๆ ในตลาดมากครับ

 

Lezyne Track + Strava Live Segment

ไมล์รุ่นใหม่ๆ สมัยนี้จะมีฟีเจอร์ติดตามตัวคนปั่น เช่น Garmin ก็มี Beacon ที่คนทางบ้านสามารถเช็คตำแหน่งของเราระหว่างปั่นได้แบบ real time ครับ Lezyne ก็มีฟีเจอร์นี้เช่นกันในชื่อ Lezyne Track

ปกติแล้วเราจะเลือกเปดหรือปิดฟังก์ชันนี้ก็ได้ (ปิดก็ประหยัดแบต) ฟีเจอร์นี้ทำงานผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เวลาเราเลือกใช้ Lezyne Track เราต้องเพิ่ม contact คนที่เราอยากจะแชร์ตำแหน่งไปให้ผ่านอีเมล์ ซึ่งพอเปิดเมล์แล้วก็จะได้ลิงก์เข้าไปดูตำแหน่งเรา ใช้ดูความเคลื่อนไหวได้แบบ real time

ฟีเจอร์นี้ใช้สัญญาณโทรศัพท์ครับเพราะงั้นในที่ๆ อับสัญญาณก็จะใช้งานไม่ได้

ส่วนใครชอบล่า KOM ไมล์ตัวนี้ก็มีรองรับฟีเจอร์ Strava Live Segment ครับ หน้าจอมันจะบอกระยะทางของ Segment นั้น เวลาที่ดีที่สุดของเรา และเวลาที่เราใช้

ท้ายสุดถ้าใครใช้ training peaks เราสามารถโหลด workout หรือแบบฝึกซ้อมมาใช้กับไมล์ตัวนี้ได้ ก็ทำให้การทำเซ็ตหรือทำ interval สะดวกหน่อยครับ ไม่ต้องคอยดูโพยหรือจำว่าต้องปั่นยังไง หนักแค่ไหนเป็นต้น ผมไม่ได้ใช้ฟีเจอร์นี้เพราะไม่ได้ใช้ training peaks

 

อัปโหลดข้อมูลหลังปั่น

แน่นอนว่าสมัยนี้ใครๆ ก็ขี้เกียจจะต่อไมล์เข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่ออัปโหลดข้อมูล ถ้าคุณใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่แล้วเราจะเชื่อมต่อไมล์กับสมาร์ทโฟนแล้วใช้แอปอัปโหลดข้อมูลไปเก็บไว้ในแพลตฟอร์มอย่าง Garmin Connect หรือ Strava อัตโนมัติผ่าน Bluetooth

Lezyne ก็ทำได้เช่นกัน รองรับการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม Strava, TrainingPeaks และ Today’s Plan ครับ ผมทดสอบกับ Strava ก็อัปข้อมูลได้ปกติ แต่บางทีก็รู้สึกว่าอัปช้ามาก โดยเฉพาะเวลาไปปั่นไกลๆ เกือบร้อยกิโลเมตร ช้ากว่า Garmin/ Wahoo อย่างแปลกๆ ครับ ก็หวังว่าเฟิร์มแวร์ใหม่จะแก้ปัญหาความช้าตรงนี้ได้

เหตุผลที่มัน sync ผ่านสมาร์ทโฟนช้ากว่าไมล์ Garmin หรือ Wahoo ก็อาจจะเพราะมันเชื่อมต่อผ่าน BTLE (Bluetooth Low Energy) ซึ่งมันจะกินแบตน้อยกว่า แต่ก็ทำให้การส่งผ่านไฟล์ช้ากว่า Bluetooth ปกติเช่นกัน

ถ้ารำคาญความช้าของมันก็ใช้สาย USB เสียบเข้าคอมพ์จบๆ ไปครับ

 

สรุป: ไมล์ทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลาย

โดยรวมแล้ว Lezyne Mega XL GPS เป็นไมล์ที่ครบเครื่องตัวหนึ่งเลยครับ ฟีเจอร์หลักๆ ที่เราต้องการจากไมล์ราคา 6,500 ก็มีให้ใช้ครบ สะดวก รวดเร็ว ถ้าจะมีข้อเสียก็คือการเชื่อมต่อ BTLE ที่ช้าสักหน่อย และเมนูการควบคุมเครื่องที่ยังไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้เท่าไร (แต่ถ้าตั้งค่าผ่านแอปก็แก้ปัญหาตรงนี้ไป) และหน้าตาตัวเครื่องที่อาจจะไม่ได้ดูสวยหรูนัก

จุดเด่นอย่างที่บอกไปคือแบตเตอรีเหลือเฟือ ถ้าใครให้ความสำคัญกับความอึดแบตก็ไม่ต้องคิดมากเลย Lezyne เป็นเจ้าตลาดเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัย จะมีตัวที่สู้ได้ก็คือ SRM PC8 ที่ DT เพิ่งรีวิวไป แต่ก็อยู่คนละระดับราคาเลยครับ เพราะ PC8 แพงกว่าสามเท่า!

การนำทางก็ทำได้ดี เรียบง่าย สร้างรูทไม่ยากจนเกินไป ตัวเครื่องจุแผนที่ได้พอสมควร

 

ข้อดี

  • หน้าจอใหญ่ เห็นชัดเจน อ่านภาษาไทยได้
  • แบตโคตรทน
  • สามารถเชื่อมต่อกับแอป ทำให้การซิงค์ข้อมูล/ตั้งค่าระหว่างกันทำได้โดยง่าย
  • เมาท์ที่หมุนได้สองทิศทางนั้นใช้งานได้ดี ยากแก่การเผลอทำไมล์หล่นระหว่างปั่น

 

ข้อเสีย

  • ตัวเครื่องค่อนข้างหนา ขอบใหญ่ ทำให้ดูเทอะทะ
  • ในชุดมีเพียงเมาท์ยึด ‘บน’ สเต็ม เมาท์ยึดยื่นออกไปหน้าแฮนด์ต้องซื้อแยกต่างหาก
  • ปุ่มกดแข็งและลึกไปนิด กดยากเวลาใช้งานแบบแนวนอน รวมถึงยางปิดช่อง Micro USB ที่ปิดกลับไปยากไปหน่อย
  • อัปโหลดข้อมูลการปั่นผ่านสมาร์ทโฟนช้า

 

ขอบคุณ Champion Cycle ตัวแทนจำหน่าย Lezyne ที่ส่งเครื่องมาให้เราทดลองใช้อย่างละเอียดครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *