Intro
นานๆ ที Ducking Tiger จะได้รีวิวยางจักรยาน จำได้ว่าเมื่อสามสี่เดือนก่อนเคยรีวิวยำรวม Continental GP4000s, Vittoria Corsa G+, และ Specialized S-Works Turbo Cotton ไปแล้ว ซึ่งทั้งสามเป็นยางแข่ง high performance ทั้งหมด วันนี้ก็มีอีกเส้นที่ได้มาทดสอบ ซึ่งก็คือ Michelin ครับ ค่ายนี้ก็มียางแข่งตัวท็อปเหมือนกันถึงแม้เราจะไม่ค่อยได้เห็นในวงนักปั่นอาชีพก็ตาม
ยาง Michelin Pro4 เป็นซีรียส์ยางเสือหมอบรุ่นท็อปของ Michelin ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 รุ่นย่อยตามวัตถุประสงค์การใช้งานคือ
2. Michelin Pro4 Grip Service Course สำหรับซ้อมเช่นกัน แต่น้ำหนักเบาลงเล็กน้อย และเพิ่มความสามารถการยึดเกาะบนถนนเปียก ๆ มีแถบกันหนามตรงกลางและตรงไหล่ยางทั้งสองข้าง ไม่มีที่แก้มยาง ความละเอียดเส้นใย 110 TPI x3
3. Michelin Pro4 Service Course ยางอเนกประสงค์สำหรับทุกการใช้งาน ซ้อมก็ได้ แข่งก็ได้ มีแถบกันหนามเฉพาะตรงกลาง ไม่มีที่แก้มยางและไหล่ยาง ความละเอียดเส้นใย 110 TPI x3 เช่นกัน
4. Michelin Pro4 Comp Service Course ยางสำหรับแข่งขัน มีแถบกันหนามเฉพาะตรงกลางมากขึ้น แต่เพิ่มความละเอียดเส้นใยเป็น 150 TPI x3 ทำให้น้ำหนักลดลง 10% เหลือ 180 กรัมเมื่อเทียบกับ Service Course (200 กรัม) และลดความต้านทานการหมุนลง 7%
5. Michelin Pro4 Comp Limited Service Course ยางสำหรับแข่งไทม์ไทรอัลหรือแข่งถนนที่ผิวทางดีมากพอ เพราะมันคือยาง Pro4 Comp ที่ตัดแถบกันหนามออกครับ ทำให้น้ำหนักเบาลงเหลือ 165 กรัม และความต้านทานการหมุนลดลงอีก ตัวนี้คือยางที่เราได้มาทดสอบในวันนี้
6. Michelin Pro4 Tubular ยางฮาล์ฟสำหรับล้อฮาล์ฟ
ยาง Michelin Pro4 Comp Limited Service Course (ชื่อยาวไปนะ…) เมื่อขึ้นยางกับล้อขอบต่ำที่กว้าง 15 มม. แล้วยางกว้าง 22.9 มม. (หน้า) และ 23.0 มม. (หลัง) ตรงตามคุณสมบัติที่เขียนไว้ที่แก้มยาง
ยางมีน้ำหนัก 172.6 กรัมเท่ากันเป๊ะทั้งสองเส้น ถึงจะมากกว่าที่อ้างไว้ที่ 165 กรัมก็ยังถือว่าเบามากอยู่ดี เบาระดับเดียวกับยางไทม์ไทรอัลอย่าง Continental Supersonic เราวัดความหนายางตรงกลางได้ 2.3 มม. ซึ่งถือว่าบางเมื่อเทียบกับ 2.9 มม.ของ Continental Grand Prix 4000S II หรือแม้แต่ Pro4 Service Course ของ Michelin เอง (2.9 มม. เท่ากัน) แต่ก็ไม่ถึงกับกระดาษทิชชู่เท่ากับ Continental Grand Prix TT ที่หนาแค่ 1.9 มม. (…)
เมื่อรวมคุณสมบัติที่น้ำหนักเบาหวิว หน้ายางบางๆ และการไม่มีแถบกันหนามใด ๆ แล้วก็ยิ่งชัดเจนว่ายางเส้นนี้คือยางสำหรับอีเวนต์พิเศษครับ ถ้าคุณลงแข่งไทม์ไทรอัลแล้วยางรั่วก็คงเสียดาย แต่ถ้าคุณพลาดตำแหน่งหรือเวลาที่ตั้งใจไว้ไปไม่กี่วินาทีเพราะแถบกันหนามในยางก็คงน่าเสียดายยิ่งกว่า ถ้าไม่ใช่อันดับที่ดีที่สุดที่ขาจะไปได้แล้ว จะเป็นอันดับเท่าไรก็คงไม่สำคัญ ยางรถฟอร์มูล่าวันใช้แค่จบสนามครั้งเดียวอย่างไร ผมมองว่ายางเส้นนี้ก็เหมือนกันครับ
ขอบพับของยางเส้นนี้อ่อนนุ่มพอสมควร ผมสามารถขึ้นยางได้โดยไม่ต้องใช้ไม้งัดยางตอนท้าย ในขณะที่ยาง Continental ที่เคยใช้มา ไม่ว่าจะ GP 4000S II, GP 4-Season, หรือ Hometrainer แม้จะเป็นขอบพับ แต่ล้วนต้องงัดจนไม้งอจวนเจียนจะหักทุกเส้นไป ตรงนี้ถือว่าเป็นข้อดีอย่างมากถ้าคุณต้องเปลี่ยนยางระหว่างออกทริป ลดความเครียดได้เยอะ
สำหรับการทดสอบของ DT ในครั้งนี้ ใช้ยาง Pro4 Comp Limited SC กับยางใน Michelin A1 AirComp Latex (75 กรัม) และล้อ Shimano Dura-Ace 9000 C24 CL ทั้งหน้าและหลัง
ด้วยยางเส้นนี้ทำมาเพื่อถนนสวย ๆ กรวดน้อย ๆ และไม่มีเศษขวดเบียร์จากเมื่อคืนก่อน ผมเลยใช้สกายเลนกับเวโลโดรมหัวหมากเป็นสถานที่ลองปั่นและพบว่ามันเร็วจริงดังคำโฆษณา ถ้าความรู้สึกตัวลอย ๆ ขาเบา ๆ ตอนเปลี่ยนจากใช้ยางขอบลวดติดรถมาใช้ขอบพับรุ่นท็อปมันเป็นก้าวใหญ่มาก กดบันไดสามรอบรู้สึกได้เลย อันนี้มันเหนือกว่ายางอเนกประสงค์รุ่นท็อปอย่าง Michelin Pro4 Service Course หรือ Continental GP4000S II ไปก้าวเล็ก ๆ อีกนิดนึงที่ถึงจะเล็กน้อยแต่ก็ยังรู้สึกได้ สมกับความเพียวริสต์ที่มันตัดทุกอย่างออกเพื่อความเร็วจริง ๆ
ระหว่างที่ผมกำลังปั่นไปคิดเรื่องยางนี้ไปอยู่นั้น เมฆฝนที่ตั้งเค้ามาตลอดทั้งบ่ายก็เริ่มกลายเป็นพายุฝน… คือไม่ใช่แค่ฝนตกเฉย ๆ นะครับ แต่เป็นพายุฝนมืดฟ้ามัวดินชนิดล้อขอบต่ำยังสะบัดไปมาเลย แต่ด้วยสภาพอากาศที่ครึ้ม ๆ มาทั้งวัน ผมเลยเตรียมเสื้อกันฝนกับหมวกแก๊ปกันฝนมาในกระเป๋าหลังเรียบร้อย ปั่นต่อครับ ไม่สนใจ Ride like a Flandrian.
จริงอยู่ว่าเราไม่มีทางรู้ว่ายางเส้นหนึ่งเกาะถนนดีแค่ไหนถ้าเราไม่เอียงรถไปเรื่อย ๆ จนไถลล้ม แต่ในทางเดียวกับที่เราสามารถบอกได้ว่าหน้าผาอยู่ตรงไหนแม้หลับตาอยู่โดยการซอยเท้าถี่ ๆ จนปลายนิ้วเริ่มหลุดขอบ ผมลองเข้าโค้งที่เกือบจะหักศอกของสกายเลนท่ามกลางสายฝนนั่นโดยแค่ฟรีขาและไม่เบรคดูก็พบว่ายังทรงตัวได้ ถึงจะหวาดเสียวแต่ก็ไม่ไถล
ในด้านฟีลลิ่งของยางคิดว่านุ่มเท่ากับ Michelin Pro4 Service Course ที่เคยใช้มา และไม่กระด้างเท่า Continental ที่ลมยางเท่ากันบนล้อคู่เดียวกัน เวลาขี่แล้วจะรู้สึกได้ว่ายางค่อนข้างให้ตัวได้ระดับหนึ่งเวลาผิวถนนเริ่มขรุขระ แต่ก็ยังคงความดิบตามสไตล์ยางแข่งขันไว้อย่างชัดเจน
สุดท้ายแล้ว ความสนุกบนทางที่สะอาดเกินความเป็นจริงอย่างสกายเลนและเวโลโดรมก็ต้องสิ้นสุดลงเมื่อผมเริ่มเอายางคู่นี้ไปปั่นซ้อมบนทางหลวงของจริงที่เต็มไปด้วยกรวดหินดินทรายและขวดแก้ว เพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตรบนถนนเหล่านี้ก็เพียงพอจะทำให้ยางรั่วทั้งหน้าและหลังในระยะเวลาห่างกันไม่กี่สิบกิโลเมตร รอยฉีกบนแก้มยางขนาดยาวเกือบ 1 เซนติเมตรใหญ่พอจะทำให้ยางเสียถาวร (เปลี่ยนยางในแล้วก็แตกอยู่ดีเพราะยางปลิ้นออกตรงรอยฉีก) เตือนผมได้ดีว่าใช้ยางผิดวัตถุประสงค์ซะแล้ว
สรุป: ยางเบามาก ยางลื่นมาก แต่ยางแตกง่ายมาก ไว้สำหรับวันแข่งเท่านั้น
หมายเหตุ: DT ได้รับยาง Pro4 Comp Limited (ราคาตั้ง 2,400 บาท/เส้น) มาทดสอบจาก Cycle Boutique ผู้นำเข้า Michelin ความคิดเห็นทั้งหมดในบทความนี้เป็นของ DT เอง ส่วนยางในลาเทกซ์ A1 AirComp Latex เป็นของซื้อใช้ส่วนตัวครับ