รีวิว: Specialized S-Works Tarmac SL6 Ultralight

1. The Tarmac

Specialized Tarmac ชื่อนี้คงไม่ต้องแนะนำกันให้ยืดยาว ถึงคุณจะไม่ใช่คนที่ปั่นจักรยานมานาน อย่างน้อยก็ต้องผ่านตาเสือหมอบแข่งขันรุ่นเรือธงของค่าย Specialized มาบ้าง อย่างน้อยๆ คงเคยเห็นนักปั่นสุดโปรดคนใดคนหนึ่งใช้แข่งมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์, ปีเตอร์ ซากาน, มาริอานนา วอส, ทอม โบเน็น, ฟิลลิป จิลแบร์ และอีกมากมายนับไม่ถ้วน

Tarmac อายุครบ 15 ปีเต็มพอดีในปี 2018 นี้ และ S-Works Tarmac SL6 ก็เป็นรุ่นล่าสุด หรือเจเนอเรชันที่ 6 แล้ว

สำหรับคนอ่านไม่เกิน 8 บรรทัด: Tarmac SL6 เป็นหนึ่งในเสือหมอบแข่งขันที่ดีที่สุดในตลาดตอนนี้ น้ำหนักเบา ความลู่ลมไม่แพ้เสือหมอบแอโร ไม่สะท้าน การบังคับควบคุมเป็นเลิศ ราคาสูง แต่ไม่เกินพอดี. ข้อเสีย: สีลอกง่าย,น้ำหนักมากเกินที่อ้าง.

ส่วนใครอยากอ่านยาวๆ เราจะมาลงลึกถึงประสิทธิภาพเสือหมอบเรือธงจากค่าย Specialized กันครับ

 

2. มันคือจักรยานอะไร?

ในไลน์อัปเสือหมอบแข่งขันของ Specialized มีจักรยานให้เลือกสามแบบ

1. แอโร: Specialized Venge ViAS
2. All Around (รอบด้าน): Specialized Tarmac SL6
3. Endurance (ขี่สบาย, ทางวิบาก): Specialized Roubaix, Specialized Diverge

จักรยาน All Around ในตลาดส่วนใหญ่จะเด่นเรื่องน้ำหนักที่เบากว่าจักรยานแข่งรูปแบบอื่นๆ ทั้งหมด นั่นคือเน้นประสิทธิภาพการทำความเร็วขึ้นเขา (ยิ่งเบายิ่งดี) รูปทรงท่อจะอ้วน ป้าน เน้นการตอบสนองแรงที่ทันใจแต่ไม่เน้นความลู่ลม

ตรงกันข้าม จักรยานแข่งแอโรมักมีรูปทรงปราดเปรียวเน้นความลู่ลม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำหนักที่มากขึ้น สิ่งที่ได้มาคือการประหยัดแรงเวลาปั่น ยิ่งปั่นเร็วยิ่งเบาแรง

สิ่งที่ Tarmac SL6 ต่างออกไปคือ ถึงจะเป็นจักรยาน All Around ที่น้ำหนักเบามาก 4 แต่ Specialized ก็ทุ่มทุนทำให้รูปทรงของมันลู่ลมที่สุดเท่าที่จะทำได้ โจทย์คือต้องการจักรยานแข่งที่ทำได้ทุกอย่างโดยไม่เสียเปรียบจักรยานเฉพาะทางคันอื่นๆ ส่วนจะทำได้จริงแค่ไหนเดี๋ยวไปว่ากันในรีวิว

 

 

3. เหมาะและไม่เหมาะกับใคร?

ประเด็นหนึ่งที่คนอ่านพูดถึงเยอะเวลาเรารีวิวจักรานไฮเอนด์ระดับเรือธงคือ ราคาและความเหมาะสม ขอทำความเข้าใจกันอีกสักครั้ง จักรยานเรือธง (flagship model) แบบนี้ออกแบบมาให้นักกีฬาระดับโลกใช้แข่งขัน (ก็ไม่ใช่ว่าคนธรรมดาจะใช้ไม่ได้) ผลิตด้วยเทคโนโลยีที่และวัสดุที่ดีที่สุด ผลิตในจำนวนน้อยมาก แน่นอนว่ามันย่อมมีราคาสูงตามอุปสงค์ อุปทาน ยังไม่นับค่าการตลาด ค่า R&D ที่แต่ละแบรนด์ลงทุนไปด้วย

เวลาเราตัดสินเรื่องความคุ้มค่า ก็ขอให้เป็นเรื่องของปัจเจกดีกว่า เราพอใจกับแบรนด์และราคาหรือไม่แต่ละคนก็ต้องตัดสินกันเอง สิ่งที่เราพอจะช่วยแนะนำได้ก็คือ ถ้าประสิทธิภาพ ภาพลักษณ์ มันดีอย่างที่โฆษณา และราคาไม่กระโดดนอกหน้านอกตาเกินไปแบบไร้เหตุผล ก็พอจะพูดได้ว่าเป็นรถที่ “คุ้ม”

 

4. การออกแบบ

DT ได้เขียนถึงเทคโนโลยีการผลิต Tarmac SL6 ไปอย่างละเอียดแล้ว จะขอไม่พูดถึงในรีวิวนี้ครับ > อ่านได้ที่นี่ <

สรุปคร่าวๆ สิ่งที่เปลี่ยนไปใน Tarmac SL6 เทียบกับ SL5:

  • น้ำหนักเฟรมที่เบากว่าประมาณ 100 กรัม
  • ความลู่ลมระดับเดียวกับ Specialized Venge (รุ่นแรก)
  • การซับแรงสะเทือนที่ดีขึ้น
  • รองรับยางหน้ากว้างมากขึ้น (max 30mm)
  • ใช้เบรค Direct Mount

 

 

5.ทำไมผู้หญิงและผู้ชายถึงใช้เฟรมองศาเดียวกัน?

ผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่บางรายแยกประเภทจักรยานของชายและหญิง ถึงจะเป็นรุ่นเดียวกันไซส์เดียวกัน แต่ตัวเฟรมไม่เหมือนกัน องศา ท่านั่งต่างกัน แบรนด์ที่ทำแบบนี้ก็เช่น Canyon

แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายแบรนด์ที่เชื่อว่าการใช้องศาต่างกันไม่ได้ช่วยหรือมีผลต่อประสิทธิภาพการปั่นอย่างเป็นนัยสำคัญ

ที่ผ่านมา Specialized และ Trek ก็เชื่อมั่นว่าต้องแยกองศาเฟรมของหญิงและชายให้ต่างกัน (Tarmac และ Amira เป็นรถแข่งระดับเดียวกัน แต่องศาต่างกัน) แต่ตอนนี้ทั้งคู่กลับลำ เปลี่ยนความคิดเป็นว่าทั้งหญิงและชายขี่จักรยานคันองศาเดียวกันได้ ซึ่งสำหรับ Specialized การกลับตัวครั้งนี้มาจากงานวิจัยใหม่ ที่นำมาใช้กับการออกแบบ Tarmac SL6 ด้วย

Specialized ใช้ข้อมูลการฟิตติ้งจากบริษัท Retul วิจัยท่าปั่นของนักปั่น ร่วม 40,000 ฟิต วิธีการวิจัยคือ เช็คข้อมูล Stack (ระยะตั้ง), Reach (ระยะเอื้อม) โดยไม่ดูเพศ​, และระยะการจับแฮนด์ เพื่อดูว่าหญิงและชายที่ความสูงใกล้เคียงกันปั่นในระยะดังกล่าวต่างกันหรือเปล่า

Specialized พบว่าเพศไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ระยะท่านั่งต่างกัน เช่นนั้นแล้วจึงออกแบบเฟรมแต่ละไซส์มีระยะทับซ้อนกันเล็กน้อยเพื่อให้เหลือระยะปรับช่วงต่างๆ ตามความพอใจของผู้ปั่น

ถึงเฟรมจะมีระยะเดียวกัน แต่เจ้าของรถก็ยังต้องเช็คความกว้างแฮนด์ ความยาวขาจาน และเบาะ ซึ่งในสามจุดนี้ผู้หญิงมักใช้ขนาดต่างกับผู้ชาย

นั่นหมายความว่าต่อไปนี้จะไม่มีเฟรม Specialized Amira จำหน่าย จะมี Tarmac รุ่นเดียวสำหรับทั้งชายและหญิง ถ้าเป็น completed bike, Specialzied จัดสเป็คสำหรับผู้หญิงไว้ให้โดยเฉพาะ เช่นจะใช้แฮนด์แคบกว่า ขาจานสั้นกว่า และเบาะที่เหมาะกับผู้หญิงเป็นต้น ​

 

6. สเป็ค

เฟรม: Specialized S-Works Tarmac SL6 UL 52cm
ชุดขับ: Sram Red eTap WiFli (ตีนผีขายาว)
ล้อ: Roval CLX32
ยาง: Specialized S-Works Turbo Cotton
ขาจาน: Rotor 3D+ / SRM Powermeter
เบาะ: Specialized Romin Evo Pro
เบรค: EE Direct Mount
สายเบรค: Ashima Reaction
เฟือง: Shimano Dura-Ace 11-30
โซ่: Shimano Dura-Ace
บันได: Speedplay Stainless
แฮนด์: Syntace CDR2 Carbon 40mm
สเต็ม: Specialized SL 90mm
กระโหลก: CeramicSpeed
ขากระติก: Arundel Mandible x2
Garmin Mount: Rec Type 13

น้ำหนัก: 6.54kg

คนปั่นสูง 165cm ใช้แฮนด์รีช 80mm และสเต็ม 90mm ความสูงจากแกนกระโหลกถึงยอดเบาะ 68cm

 

 

7. ปั่นเป็นยังไง?

ด้วยที่ Tarmac SL6 คันนี้เป็นรถของผมเอง เลยมีโอกาสได้ปั่นเยอะกว่าคันอื่นๆ ที่ผ่านมาครับ ตั้งแต่ได้รถมาถึงวันนี้ก็ปั่นไปประมาณ 1,500 กิโลเมตร

อันดับแรก รถคันนี้เป็น Completed bike ที่ผมเปลี่ยนอะไหล่นิดหน่อย แต่เป็นตัวท็อปของ SL6 นั่นคือเป็นเฟรมรุ่นเบาพิเศษ Ultralight (เคลือบสีและโคทติ้งบางๆ เบากว่าสีธรรมดาประมาณ 100 กรัม) และให้อะไหล่มาแบบจัดเต็มมาก

ได้เบรค EE หนักแค่คู่ละ 155 กรัม เบากว่า Dura-Ace Direct Mount ร่วม 140 กรัม ล้อที่ติดมาเป็น Roval CLX32 ล้อคาร์บอนยางงัดแต่หนักแค่ 1,280 กรัมต่อคู่ และได้ยางแข่งไฮสปีด Specialized Turbo Cotton ซึ่งเรื่องความลื่นไหลอยู่ระดับหัวแถวของยางแข่งในตลาดตอนนี้

ผมเปลี่ยนขาจาน จากขา S-Works เป็น Rotor 3D+ SRM เพิ่มน้ำหนักมานิดหน่อย สุดท้ายเปลี่ยนแฮนด์เป็น Syntace เพราะแฮนด์ติดรถกว้างไปหน่อย

น้ำหนักรถก่อนเปลี่ยนอะไหล่อยู่ที่ 6.2 กิโลกรัม เปลี่ยนแล้วขึ้นมาเป็น 6.54 กิโล

การตอบสนองแรง

ความเบาระดับนี้บวกกับความสติฟฟ์ห้องกระโหลก = รถที่โคตรพุ่งติดเท้า ที่น่าประทับใจไม่ใช่เรื่องความพุ่ง เพราะปกติ Tarmac มันก็พุ่งดีมาทุกรุ่น แต่เป็นเรื่องทรงท่อต่างๆ ที่เล็กเพรียวลงมาก นั่นคือไม่ใช้ท่อ oversized  แต่ก็ยังทำให้รถสติฟฟ์ได้กว่าเดิม รถทั้งคันดูเล็กลงพราะสัดส่วนมันกระชับกว่าเดิม รวมๆ ผมว่าดูดีกว่ารุ่นก่อน เหมือนจะมีเงาของ S-Works Venge อยู่จางๆ

รูปแบบการตอบสนองแรงจะกึ่งระหว่างรถแอโรและรถ all around คือไม่ได้รอรอบเหมือนเสือหมอบแอโร แต่ก็ไม่ได้พุ่งปรี๊ดประหนึ่งโลกไม่มีแรงโน้มถ่วง ซึ่งพบได้ในเฟรมอย่าง Cervelo R5 หรือ Factor O2

อันนี้เป็นคาแรคเตอร์การตอบสนองแรงเฉยๆ เป็นความรู้สึกส่วนตัวครับ ไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดี

แต่ถ้าต้องการความแฟร์แบบไม่มโน เราก็จัดให้ได้เหมือนกัน ใน Tour Magazine ฉบับที่ 2/2018 เขาทดสอบความสติฟฟ์ ความสบาย และความแอโร เสือหมอบแข่งขันรุ่นล่าสุด 20 คันในห้องแล็บ เห็นจะๆ กันไปเลยว่ากระโหลก ท่อคอ ตะเกียบสติฟฟ์ขนาดไหน ค่าที่ได้ออกมาเป็นตัวเลขที่เทียบกันได้ชัดเจนครับ

เล่มปกนี้ และแอปนี้

แต่!

น่าเสียดายว่าคงเปิดเผยข้อมูลตัวเลขทั้งหมดไม่ได้ เพราะเป็นหนังสือที่ต้องซื้ออ่าน (เล่มละ 100 บาท เดี๋ยวเขาจะมาฟ้องเว็บเราได้)

บอกได้คร่าวๆ ว่าความสติฟฟ์กระโหลกและท่อคอของ Tarmac สูงกว่า Pinarello Dogma F10, Scott Addict, Trek Emonda, Merida Scultura, Canyon Ultimate CF SLX, Giant TCR แต่น้อยกว่า Cervelo R5 5 (แต่มันชนะกันแค่ไม่ถึง 10-15 N/m ซึ่งเอาจริงๆ แล้วรู้สึกได้ยากมากว่าใครพุ่งกว่ากันในรถระดับเรือธงพวกนี้ คือชนะกันระดับขนแมว มีแค่ Trek Emonda ที่ทำได้แย่กว่าเพื่อน)

วิธีการทดสอบของ Tour คือมาตรฐานที่ผู้ผลิตจักรยานทั้งวงการใช้เป็นบรรทัดฐานในการออกแบบและทดสอบรถก่อนวางจำหน่าย ก็คงไม่มีข้อมูลที่แฟร์ได้กว่านี้อีกแล้ว

รวมๆ แล้วคือ​ Tarmac SL6 พุ่งเหลือใช้ เวลาไต่เขาก็ส่งแรงดีทั้งจังหวะนั่งควงบนเบาะ หรือยืนโยกกระชากรถ จังหวะสปรินต์รถพุ่งดุ และมั่นคงที่ความเร็ว 55Kph ขึ้นไปยังรักษาบาลานซ์ดี เฟรมเบาแต่มีความตึ้บอยู่ข้างใน

 

การบังคับควบคุม

คือจุดเด่นที่สุดของ Tarmac SL6 บังคับได้ดั่งใจและสร้างความมั่นใจให้คนปั่นได้ดีครับ โหนเข้าโค้งเร็วๆ สนุกและรู้สึกว่าเอาอยู่ ลองลงเขาใหญ่ฝั่งปากช่องไวๆ ความเร็วแตะ 70 บางช่วงก็ยังนิ่งดี หรือลองปั่นลูปแคบๆ โค้งเยอะๆ ด้วยความเร็วแบบไครทีเรียมก็เข้าโค้งได้ไว จังหวะออกก็มั่นใจครับ

รถแข่งบางคัน ที่ DT เคยรีวิวก็เช่น Bianchi Specialissima จะให้ฟีลหน้าไว (twitchy) คนบังคับรถต้องมั่นใจและทักษะดีนิดนึงถึงจะขี่รถแบบนี้สนุก เพราะเราจะคุมรถได้คมและละเอียด เป็นเสมือนเครื่องมือ precision แต่ถ้าไม่ชินรถก็จะเหวอได้ ส่วน Tarmac ไม่มีปัญหานี้ คิดว่าคนปั่นทุกทักษะก็น่าจะเอาอยู่สบายๆ

ตารางเปรียบเทียบองศาเฟรมระหว่าง New Tarmac SL6 (New), SL5 (MY17) และ Amira

Note: องศา Tarmac SL6 ต่างจาก SL5 นิดหน่อย ในไซส์ 44,49,52,54 ระยะเอื้อม (reach) ของ SL6 จะสั้นกว่า SL5 และระยะตั้ง (stack) จะสูงกว่าเดิม 1-4mm แล้วแต่ไซส์ แต่ไซส์ 56 และ 58 นั้นระยะเท่าเดิมครับ ถ้าปั่น SL5 อยู่แล้วจะอัปเกรดต้องเช็คระยะให้ดี

 

ความลู่ลม

เรื่องนี้คงเทสต์ให้เป็นวิทยาศาสตร์ได้ยากมาก เพราะงั้นไม่พยายามดีกว่า เราเปลี่ยนท่านั่งปั่นแค่นิดเดียววัตต์ก็เปลี่ยนแล้วต่างกันเยอะแล้วครับ

พูดตามความรู้สึก รถยังไม่ให้ฟีล “ไหล” เท่าเสือหมอบแอโรแบบเต็มตัว แต่ดูจากวัตต์ในเส้นทางเดิมที่ซ้อมประจำ กับความเร็วเท่าๆ เดิมก็ไม่ได้กินแรงกว่าเดิมนัก

ทั้งนี้ล้อมีผลเยอะเหมือนกัน ล้อที่ติดรถมาเป็น Roval CLX32 ซึ่งเบามาก เวลาขี่ความเร็วสูงๆ ต้องเติมแรงเยอะเพื่อคงความเร็ว แต่พอเปลี่ยนเป็นล้อขอบ 45-50mm ที่หนักขึ้ สปีดปลายก็กลับมา แช่ความเร็วได้ดีกว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากเทสต์กับล้อขอบสูงสัก 55-60mm เหมือนกันว่าจะไหลดีขนาดไหน

แน่นอนใน Tour Magazine เล่มที่เอ่ยถึงข้างบนนี้ เขาก็เทสต์ความลู่ลมในอุโมงค์ลม ผลคือ Tarmac SL6 ใช้วัตต์น้อยกว่ากว่าเสือหมอบ all around ทุกคันในการทดสอบนี้ประมาณ​ 5-15 วัตต์แล้วแต่รุ่นที่เทียบ แต่ก็ยังช้ากว่าเสือหมอบแอโรอย่าง Canyon Aeroad, Trek Madone, Giant Propel, Dogma F10 และ Specialized Venge Vias ประมาณ​ 10 วัตต์

Tarmac ไม่ได้เทสต์ด้วยแฮนด์แอโรเหมือนเสือหมอบแอโร ซึ่งประหยัดได้อีก 4-5 วัตต์ ถ้าจับมันใส่แฮนด์แอโร ความลู่ลมก็น่าจะเป็นรองหมอบแอโรเต็มตัวนิดเดียวเท่านั้น แต่ได้เฟรมที่เบากว่า ปั่นสบายกว่า

 

8. สิ่งที่ไม่ชอบ

ที่เล่ามานี่ดูจะดีไปหมดทุกอย่างแต่โลกนี้ไม่มีจักรยานที่สมบูรณ์แบบ Tarmac SL6 ก็เช่นกัน

1.) สี Ultralight บอบบางมาก: ล้มหรือขีดข่วนนิดเดียวสีกะเทาะเลย เพราะสีมันบางและเบา ต้องถนอมหน่อย แต่รุ่นที่เป็นสีปกติงานดีทีเดียว ไม่น่ามีปัญหานี้

2.) รถ completed bike ประกอบมาไม่ค่อยดี: โดยเฉพาะล้อ Roval ขี่แรกๆ ตื้อเท้ามาก จนต้องให้ร้านจักรยานใกล้บ้านช่วยเปิดดุมออกมาปรับจูนถึงได้ความลื่นกลับมา เห็นว่าลูกค้าหลายๆ คนก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน การเดินสายเบรคก็ยังไม่เนียน ต้องเอามาปรับต่อ ไม่รู้ว่ารีบประกอบรีบส่งให้ทันออเดอร์ลูกค้าหรือเปล่า แต่รถราคาขนาดนี้ควรจะเป๊ะออกจากกล่องครับ

3.) น้ำหนักเกินจริง: ถึงเราจะไม่ได้รื้อชิ้นส่วนออกเพื่อชั่งน้ำหนักเฟรม แต่จากการสำรวจฟอรัมออนไลน์พบว่า คนที่ซื้อรุ่น Ultralight ซึ่งแพงกว่า SL6​ ธรรมดานั้น น้ำหนักไม่ได้เบาอย่างที่ Specialized อ้าง Spe เคลมว่าน้ำหนักเฟรมรุ่น UL ที่ขนาด 56cm เฉลี่ยอยู่ที่ 733g แต่หลายคนที่ซื้อถ่ายรูปชั่งน้ำหนักออกมาให้ดู ได้เฟรมหนักกว่านั้นประมาณ 50-100 กรัม ถ้ามันจะหนักพอๆ กับรุ่นสีธรรมดาก็ไม่รู้ว่าจะจ่ายแพงกว่าเพื่ออะไร

4.) ราคาสูงกว่า Tarmac SL5

9. สรุป

Tarmac SL6 เป็นเสือหมอบแข่งขันที่ครบเครื่องมากที่สุดคันหนึ่งในตลาดตอนนี้ รวมเอาจุดแข็งของเสือหมอบแอโรกับเสือหมอบ all around มายำไว้ในคันเดียวกันได้อย่างกลมกล่อม พุ่ง นิ่ง ลู่ลม มั่นคง และไม่สะท้าน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในเชิงวิศวกรรม

ในบรรดารถแข่ง All Around ด้วยกันแล้ว ชั่วโมงนี้ยกให้ SL6 เป็นอันดับหนึ่งคู่กับ Cervelo R5 ครับ ถ้ารับข้อเสียได้ 6

ราคา

S-WORKS TARMAC ULTRALIGHT DA DI2 389,000 บาท
S-WORKS TARMAC ULTRALIGHT FRAMESET 155,900 บาท
S-WORKS TARMAC FRAMESET LTD 155,900 บาท
S-WORKS TARMAC FRAMESET 148,900 บาท

ตัวแทนจำหน่าย: Sport Bicycle
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: Specialized Thailand

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!