รีวิว: Zipp Tangente Speed 700x25c

ยางนอกเป็นสิ่งที่หลายคนเห็นตรงกันว่ามีผลต่อฟีลของจักรยานมากเป็นอันดับหนึ่งในอะไหล่ทุกชิ้น ระหว่างยางแถมที่เป็นยางขอบลวดกับยางพับดี ๆ นั้นขี่แล้วต่างกันจมโดยไม่ต้องอ้างอุโมงค์ลมใด ๆ แถมในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ จะสังเกตเห็นว่ามียางรุ่นท็อป ๆ ออกใหม่แทบจะทุกเดือนสองเดือน เป็นฟิลด์ที่การแข่งขันดุเดือดและการพัฒนารวดเร็วมาก จึงไม่แปลกที่ยางจักรยานแค่บาง ๆ จะแพงกว่ายางรถยนต์เสียอีก

ยางนอกสำหรับเสือหมอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งยางหน้าเป็นสิ่งแรกที่ต้องแหวกลมเวลาเราปั่นจักรยาน และก็มีพื้นที่หน้าตัดไม่กี่ตารางเซนติเมตรของยางหน้าหลังเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่สัมผัสกับพื้นถนน ดังนั้นยางที่ “เร็ว” จึงต้องประกอบด้วยคุณสมบัติสองอย่างคือ 1. ความเสียดทานต่ำ และ 2. ลู่ลม ตามลำดับความสำคัญ

Zipp ก็เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตที่ทำยางระดับท็อปออกมาแข่งขันในชื่อ Tangente* ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2014 โดยมีทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ได้แก่ Speed, Course, และ SLSpeed แต่ละรุ่นที่กล่าวมามีรายละเอียดดังนี้

  1.  Speed เป็นยางงัดสำหรับวันแข่งที่ออกแบบมาเพื่อความเร็วโดยเฉพาะ ให้มีทั้งความเสียดทานที่ต่ำและความลู่ลมที่ดี แม้แต่ดอกยางยังมีไว้เพื่อให้ตัดลมได้ดีกว่าแบบสลิคเรียบ ๆ ยางไม่มีแถบกันหนามมาให้ ใช้โครงยางไนลอนที่มีความหนาแน่น 220 เส้นต่อนิ้ว (TPI) และมีรุ่น 23c กับ 25c ตัวนี้เป็นตัวที่ DT ได้มาเทสต์ในครั้งนี้
  2. Course เป็นยางงัดดีไซน์เดียวกับตัวแรก แต่เหมาะกับการใช้งานทุกวันมากขึ้นเพราะมีแถบกันหนามมาให้ และใช้โครงยาง 120 TPI มีรุ่น 23c และ 25c เช่นกัน
  3. SLSpeed เป็นยางฮาล์ฟระดับท็อปสุดของ Zipp และเป็นไฮไลท์ของไลน์ Tangente ใช้โครงยางฝ้ายผสมลาเทกซ์ 320 TPI และมีแถบกันหนามในตัว มีรุ่น 24c และ 27c

ยางทั้งหมดออกแบบโดย Zipp และผลิตที่โรงงานของ Vittoria ในประเทศไทย

ยาง Zipp Tangente Speed 700x25c เคลมน้ำหนัก 190 กรัมต่อเส้น ชั่งเองได้ 196 กรัมซึ่งถือว่าเบาเมื่อเทียบกับยางรุ่นท็อปยอดนิยมที่มักหนัก 220-230 กรัมแต่มีแถบกันหนาม และถือว่าอยู่ในเรนจ์เดียวกับยางเฉพาะทางที่ไม่มีแถบกันหนามอย่าง Vittoria Rubino Pro Speed G+

สำหรับการทดสอบนี้ผมใช้ล้อขอบต่ำหน้าแคบแบบสายเบา ความกว้างขอบในของล้ออยู่ที่ 15 มม. ตามมาตรฐานล้อขอบต่ำ เมื่อขึ้นยางแล้ววัดหน้ายางได้กว้าง 24.4 มม. (เฉลี่ยหน้าหลัง) ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับฉลากยางที่ 25 มม. (ถ้าใช้กับล้อขอบอ้วนตามสมัยนิยม หน้ายางจะกว้างกว่านี้อีกเล็กน้อย) ผมหนัก 59 กก. และสูบลม 90 ปอนด์ทั้งหน้าและหลัง ใช้ยางทั้งกับทางเรียบ ทางเขา และทางเปียกมาประมาณสองเดือนเศษก่อนจะมาสรุปเป็นรีวิวนี้

ความรู้สึกที่จับได้อย่างแรกเลยคือให้ฟีลของถนนดีมาก บาลานซ์ระหว่างความกระด้างและความทึบได้ลงตัว ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือนุ่มกว่า Continental GP4000S II 25mm ที่ใช้อยู่เดิมเล็กน้อย แต่ก็ไม่ทึบจนแทบไม่รู้สึกถึงผิวถนนเลยแบบ Continental GP 4Season 28mm ที่ผมใช้กับจักรยานเอนดิวรานซ์อีกคัน

ในส่วนแรงเสียดทานการหมุนของยาง หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าความลื่นนั้นไม่รู้สึกแตกต่างจากยางดี ๆ ตัวอื่นที่เคยลองมา เช่น Continental GP4000S II หรือ Michelin Pro4 Service Course และเวลาเข้าโค้งก็ให้ความมั่นใจดี ไม่รู้สึกว่ายางจะไถลง่าย ๆ ไม่ว่าถนนจะแห้งหรือเปียก ตรงนี้นอกจากเนื้อยางที่หนึบแล้วคิดว่าเป็นผลจากหน้ายาง 25 มม. ด้วยอีกส่วนหนึ่งที่ให้ความรู้สึกหนึบเมื่อเทียบกับ 23 มม. อีกทั้งเวลาลงเขาเร็ว ๆ ก็รู้สึกมั่นคง ยึดเกาะถนนได้ดี ตรงจุดนี้ถ้าเคยลงเขาด้วยยางทัวร์ริ่งประเภทเน้นทนหนามกับสึกยากที่เนื้อยางแข็ง ๆ แล้วจะรู้สึกเกร็งมาก ยางจะ “โดด ๆ” อยู่ใต้เราตลอดเวลาเพราะมันให้ตัวเพื่อแนบพื้นถนนได้ไม่ดีเท่า

ถึงแม้ยางจะไม่มีแถบกันหนามมาให้และผมจะยังไม่เจอยางรั่วในช่วงที่เทสต์ แต่การรั่วหรือไม่รั่วของยางนั้นขึ้นกับดวงเป็นสำคัญจึงจะไม่ขอออกความเห็น แต่ปัญหาที่สามารถบอกได้ชัดเจนคือหน้ายางสึกเร็ว ซึ่งก็อาจไม่น่าประหลาดใจนักเพราะน้ำหนักน้อยก็ต้องเนื้อยางน้อยเป็นธรรมดา เมื่อรวมกับค่าตัวแล้วถ้าต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ ก็จะแพงกว่ายางอื่น ๆ เป็นทวีคูณ

ยาง Zipp Tangente ทั้ง 6 เส้น (3 รุ่น x 2 ความกว้าง) เคยถูกทดสอบโดยวิศวกรอิสระชื่อคุณทอม แอนฮัลท์ไปแล้ว (อ่านได้จากที่นี่) คุณทอมพบว่า Tangente Speed 25mm มีสัมประสิทธิ์การเสียดทาน (Crr) ต่ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในระดับเดียวกับ Specialized Turbo Cotton ที่เป็นหนึ่งในยางที่ลื่นที่สุดในโลก (ดูตารางได้ที่นี่) และความแตกต่างของ Crr เพียง 0.0001 นี้อยู่ในระยะ margin of error ของการวัดอย่างแน่นอน

สรุป

ฟีลนุ่ม เกาะหนึบ หมุนลื่น สึกเร็ว ไม่กันหนาม และแพงหน่อย

*คำว่า Tangente อ่านว่า แทน-เจน-เต้ ซึ่งก็คือ tangent ในภาษาอังกฤษนั่นเอง หมายถึงเส้นสัมผัสในวิชาคณิตศาสตร์

ตัวแทนจำหน่าย: Sport Bicycle

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *