Rider to Remember: ขอบคุณแมทธิว เฮย์แมน

“มันถึงเวลาแล้ว”

นี่คือคำโปรยในจดหมายแสดงเจตนาอำลาวงการของแมทธิว เฮย์แมน เมื่อเช้าวันนี้

เขาเป็นนักปั่นออสเตรเลียนที่โชกโชนด้วยประสบการณ์ เฮย์แมนเทิร์นโปรตั้งแต่อายุ 22 ปี ปัจจุบันเขาอายุ 40 ปี นั่นหมายความว่าเขาเป็นนักจักรยานอาชีพมาแล้วถึง 19 ปี

แต่ในช่วงเวลา 19 ปีนั้น เขาชนะการแข่งขันระดับอาชีพเพียงแค่ 8 ครั้งเท่านั้น (ในมุมตรงข้าม เอเลีย วิวิอานี ปีนี้ปีเดียวชนะไป 17 สเตจแล้ว) และมีเพียง 1 ครั้งเท่านั้นที่เป็นสนามระดับ WorldTour ซึ่งก็คือพารี-รูเบซ์ ปี 2016 อันเป็นที่โด่งดังนั่นเอง

ตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปีนี้ หน้าที่ของเฮย์แมนคือเป็นโดเมสติคผู้ปิดทองหลังพระมาโดยตลอด (ถึงเขาถนัดสนามคลาสสิคเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ใช่ในฐานะผู้นำทีม) อย่างที่ผู้อ่านทุกท่านทราบ จักรยานเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม แต่ชนะเป็นบุคคล การที่คนคนหนึ่งขึ้นไปยืนบนโพเดี้ยมได้ก็เพราะความทุ่มเทและเสียสละของเพื่อนร่วมทีมอีกจำนวนมาก

ตั้งแต่เทิร์นโปร เฮย์แมนเปลี่ยนทีมแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือ Rabobank 10 ปี, ย้ายไป Team Sky 4 ปี, และย้ายไป Orica/GreenEDGE/Mitchelton/Scott อีก 5 ปี บ่งบอกถึงทั้งความเสียสละ ความยินดีเมื่อเพื่อนได้ดี และการเป็นที่รักของทุกคนได้อย่างยอดเยี่ยม แม้กระทั่งทอม โบเน็น ที่ได้ที่สองในปีนั้น ก็ยังยินดีกับชัยชนะของเฮย์แมนว่าในฐานะของคนที่เสียสละมาตลอดชีวิต เขาก็ยินดีที่คนชนะเป็นเฮย์แมน

ประโยคที่ผมชอบที่สุดในชัยชนะปีนั้น คือตอนที่ ลูค เดอร์บริดจ์ เพื่อนร่วมทีมเข้ามาแสดงความยินดีกับเฮย์แมนก่อนเขาขึ้นรับก้อนหินอันทรงเกียรติ แล้วเฮย์แมนพูดว่า

“No way. This doesn’t happen. It doesn’t happen. Just on the ergo’s. Ergo sessions.”

(“ไม่มีทาง ไม่จริงน่ะ นี่ไม่ใช่เรื่องจริง ผมจะชนะก็เฉพาะตอนปั่นเทรนเนอร์เท่านั้น ที่มันเป็นสนามจำลองน่ะ”)

เราขอพาผู้อ่านกลับไปย้อนวินาทีประวัติศาสตร์ที่แมทธิว เฮย์แมนชนะพารี-รูเบซ์ ปี 2016 กันอีกครั้งครับ

ด้านล่างนี้คือจดหมายตัวเต็มที่เฮย์แมนเขียน


“มันถึงเวลาแล้วที่ผมต้องตัดสินใจเรื่องยากลำบาก เป็นเรื่องที่ผมคิดไม่ตกมาเป็นเดือน ๆ เหตุผลหลักก็เพราะผมกลัว ผมไม่รู้ว่าชีวิตของผมหลังจากการเป็นนักกีฬาอาชีพจะเป็นอย่างไร

ผมลืมไปนานแล้วว่าชีวิตที่ไม่มีตารางแข่งเป็นอย่างไร การปั่นจักรยานได้กำหนดความหมายให้ผมมานานเหลือเกิน แต่ในขณะเดียวกันครอบครัวของผมก็ต้องการผมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน พวกเขาต้องได้ความสำคัญเป็นลำดับหนึ่งของผมแล้วตอนนี้

ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ปั่นให้กับทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกจำนวนหนึ่ง ทั้งในแง่งบประมาณ และในแง่น้ำใจ ผมได้ปั่นเคียงคู่นักปั่นที่มีพรสวรรค์ที่สุดในโลกบางคน และได้ถูกห้อมล้อมด้วยบรรดาสตาฟที่หลงรักในกีฬานี้อย่างสุดหัวใจ ผมเฝ้ารอการแข่งขันสนามต่อไปและต่อไปมาตลอด 19 ปี ผมได้มีความสุขมามากล้นในรถทีมหลายต่อหลายคัน

ผมต้องขอบคุณคนจำนวนมากเกินจะเอ่ยได้หมด ผมเป็นหนี้บุญคุณพวกเขาชั่วชีวิตจากหลากหลายสิ่งที่เขาได้ช่วยผมตลอดอาชีพนี้ การไล่เรียงทีละชื่อนั้นคงยาวเกินไป อีกทั้งผมคงหลงลืมที่จะเอ่ยบางชื่ออีกด้วย ถึงผู้คนเหล่านั้น คุณรู้ตัวเองดีว่าคุณคือใคร และผมขอบคุณที่ได้ช่วยเหลือผมและที่เราได้หลงใหลกีฬานี้ร่วมกัน ผมขอขอบคุณจากใจจริง

อย่างไรก็ดี มีหนึ่งคน หรือหนึ่งครอบครัว ที่ผมไม่กล่าวถึงไม่ได้ ชายผู้นี้และความใจกว้างของเขาได้พลิกโฉมกีฬาจักรยานในออสเตรเลีย เจอรี่ ไรอัน* และครอบครัวไรอันได้ทำให้การมีทีมสัญชาติออสเตรเลียโลดแล่นอยู่บนเวทีระดับโลกเป็นปรกติวิสัย ให้คนออสเตรเลียได้ภาคภูมิใจกับทีมทีมนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ความโอบอ้อมอารีของเขาได้ปูทางให้ยุวชนทั้งหญิงชายในออสเตรเลียที่มีความใฝ่ฝันอยากปั่นและอยากคว้าชัยในสนามระดับโลกได้ออกตามฝันนั้น ไม่ใช่แค่กับทีมนี้ แต่กับทุก ๆ ทีมในกีฬานี้

ผมไม่เคยวาดฝันไว้เลยว่าจะได้ปั่นให้กับทีมออสเตรเลีย มีคนพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ้างตอนที่ผมเทิร์นโปรใหม่ ๆ แต่ผมไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นทันช่วงผม ผมคงเคยชินกับทัศนะเก่า ๆ มากเกินไป หรือไม่เจอรี่ก็เป็นคนที่ฝันยิ่งใหญ่กว่าใคร ผมขอขอบคุณคุณในฐานะตัวแทนของวงการนักปั่นจักรยานออสเตรเลีย

ผมชนะการแข่งไม่กี่ครั้ง และได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมหลายทีมที่ชนะมากกว่านั้นมาก แต่ผมมั่นใจว่าผู้คนจะจดจำผมในฐานะผู้ชนะการแข่งขันอยู่สนามหนึ่ง และคงไม่มีสนามใดที่ผมอยากชนะมันไปมากกว่านี้อีกแล้ว

ผมหลงรักรูเบซ์ตั้งแต่เริ่มปั่นอาชีพใหม่ ๆ บางครั้งผมรู้สึกว่าถนนหินเหล่านั้นมันกำลังฉีกร่างผมเป็นชิ้น ๆ ผมแข่งจักรยานจากคอมเพียญจ์ไปรูเบซ์ถึงสิบเจ็ดครั้ง และทุก ๆ ครั้งเป็นเวลาที่วิเศษมาก จนในปี 2016 ผมได้ยกก้อนหิน​ (ที่หนักจนผมตกใจ) ขึ้นเหนือศีรษะ นั่นเป็นช่วงเวลาที่ผมภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตนักกีฬา เพราะมันคือส่วนผสมของการพยายาม การเรียนรู้ และการไม่เคยยอมแพ้ “จงปั่นต่อไปข้างหน้า” [DT Note: Always keep riding เป็นประโยคที่เฮย์แมนพูดบ่อยมาก เวลาให้คำแนะนำกับนักปั่นรุ่นใหม่ที่หวังจะชนะสนามนี้ “การแข่งสนามนี้ คนยางรั่วและรถล้มกันตลอดเวลา ดังนั้นถึงคุณหลุดกลุ่มแล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับมาได้อีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จงปั่นต่อไปข้างหน้า”]

การจะเป็นนักกีฬาในระดับนี้ได้ คุณต้องเห็นแก่ตัว ต้องเห็นแก่ตน ต้องผลักดันตัวเอง ต้องหิวกระหาย (ทั้งในความหมายโดยตรงและโดยนัย) และต้องใช้ชีวิตอย่างอ่อนล้าอยู่เกือบตลอดเวลา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ผ่อนคลายลงบ้าง และได้ตอบแทนแฟน ๆ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผม พวกเขาไม่ได้ดูผมแข่งหรอก และพวกเขาก็ไม่แคร์ด้วยว่าผมจะเข้าเส้นเป็นคนที่เท่าไร พวกเขาชื่อฮาร์เปอร์ โนอาห์ และเอโลดี้ นอกจากนี้ คิม ภรรยาของผม ก็คอยช่วยผมอยู่เบื้องหลังเสมอมา การที่ผมเป็นนักปั่นอาชีพได้นานขนาดนี้ก็ต้องยกความดีความชอบให้เธอที่คอยหนุนหลังผมและคอยดูแลเจ้าตัวเล็กที่บ้านอยู่ตลอด สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมได้เรียนรู้จากเธอก็คือ ให้ขออำลางานก่อนที่ปาร์ตี้จะกร่อย

เช่นนั้นแล้ว ผมก็จะขออำลางานปาร์ตี้นี้ ด้วยการลงแข่งครั้งสุดท้ายใน Tour Down Under 2019 ที่จะถึงนี้ครับ”

แมทธิว เฮย์แมน


*เจอรี่ ไรอัน เป็นเศรษฐีชาวออสเตรเลีย ผู้ก่อตั้งและผู้สนับสนุนเงินทุนให้กับทีม Mitchelton-Scott มาตั้งแต่เริ่ม เขาเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ที่อยู่บนเสื้อทีมหรือชื่อทีม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตรถบ้าน Jayco Australia, บริษัทให้เช่ารถบ้าน Let’s Go, เว็บไซต์ซื้อขายจักรยานออนไลน์ BikeExchange, รวมถึงไร่องุ่นและโรงไวน์ Mitchelton เจอรี่เป็นแฟนจักรยานตัวยง แกนั่งรถทีมไปกับโค้ชบ่อย ๆ หรือบางวันก็ไปยืนแจกขวดน้ำและเจลอยู่ข้างถนน ตรง feed zone


By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott