ปั่นจักรยานก็ลดภาษีได้นะ

เวลาจั่วหัวกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่งว่า “ลดหย่อนภาษีได้” เป็นแรงจูงใจที่ดีที่สุดให้คนหันมาสนใจครับ โดยเฉพาะกับกิจกรรมแบบที่ชวนเฉยๆ คงไม่มีใครคิดจะทำ แต่หากคนจำนวนมากมาร่วมแล้วก็จะเกิดผลดีมหาศาล

หนึ่งในกิจกรรมที่ว่านั้นก็คือการปั่นจักรยานไปทำงาน กลางปีนี้ ทาง British Cycling หรือสมาคมจักรยานแห่งสหราชอาณาจักรได้เปิดแคมเปญรณรงค์ให้รัฐออกกฏหมายลดหย่อยภาษีให้ทุกคนที่ปั่นจักรยานไปทำงาน เป็นจำนวนเงิน 250 ปอนด์ต่อปี หรือประมาณ 11,000 บาท

ฟังดูอาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่เยอะมากเท่าไร แต่ก็ไม่น้อยทีเดียว ใกล้เคียงกับยอดช้อปช่วยชาติ

แผนที่ทาง BC เสนอคือผู้อยากได้สิทธิลดหย่อนภาษี ต้องปั่นจักรยานไปทำงานอย่างน้อย 10 เดือนต่อปี และต้องใช้แอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟนบันทึกการปั่นเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าปั่นจริงจึงจะขอลดหย่อนภาษีได้

ผลการศึกษาของบริษัทวิจัยอิสระ ตีพิมพ์โดย British Cycling อ้างว่าหากบริษัทใหญ่ๆ รณรงค์ให้พนักงานหันมาปั่นจักรยานแทนการใช้ยานพาหนะอื่นๆ ทางบริษัทก็ขอสามารถขอภาษีคืนโดยการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ทำงานสำหรับลูกจ้างที่ใช้จักรยาน เช่นที่จอดจักรยานและห้องอาบน้ำได้เต็มจำนวนที่ลงทุน แต่ไม่เกิน 100,000 ปอนด์ หรือประมาณ 4.4 ล้านบาทต่อปี!

แคมเปญนี้ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วจากกลุ่มบริษัทใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Tesco, GSK, Santander และ Coca-Cola และเรียกร้องให้รัฐบาลตอบรับยอมออกเป็นกฏหมายโดยเร็ว

รายงานการวิจัยลงรายละเอียดว่า ถ้าสามารถทำให้แคมเปญนี้เป็นกฏหมายได้จริง รัฐบาลอาจจะต้องใช้เงินประมาณปีละ 120 ล้านปอนด์เพื่อสนับสนุน​ แต่จำนวนเงินนี้จะลดลงทุกๆ ปี

ทาง BC มั่นใจว่าเงินที่ใช้ลงทุนสนับสนุนการเดินทางด้วยพลังงานทางเลือกนั้นจะประหยัดกว่าการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์

ในที่สุดแล้วงบประมาณที่ต้องจ่ายเพื่อสนับสนุนกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานของประชาชนทั่วไปจะตกแค่หัวละ 40 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น คิดเป็น 0.3% ของงบประมาณขนส่งประเทศทั้งหมด

ไม่ใช่แค่ประหยัดงบด้านพลังงานและการขนส่ง หากพนักงานส่วนใหญ่เลือกเดินทางด้วยจักรยานก็แน่นอนว่าสุขภาพร่างกายจะแข็งแรงขึ้นด้วย คริส บอร์ดแมน อดีตนักปั่นชื่อดังของอังกฤษที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านนโยยายของ British Cycling เชื่อว่ารัฐบาลจะได้กำไรในระยะยาวจากการลงทุนสนับสนุนการใช้จักรยานให้มากขึ้น ถนนจะโล่งขึ้น เหลืองบไปสนับสนุนการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น และช่วยลดมลภาวะได้อย่างมหาศาล แถมยังช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมจักรยานภายในประเทศอีกด้วย

แน่นอนว่าแคมเปญนี้ยังอยู่ในช่วงล็อบบี้ คงต้องดูกันต่อไปว่าทางรัฐบาลอังกฤษจะกล้ารับนโยบายนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของกฏหมายหรือไม่ เพราะหากทำได้จริงอังกฤษจะเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีนโนยบายดึงดูดผู้คนให้มาใช้จักรยานได้เป็นรูปธรรมที่สุดและทุกคนได้ประโยชน์ทันทีครับ และมันอาจจะกลายเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลในชาติอื่นๆ หันมาสนใจลงมือทำตามด้วย

Side Note: ถึงแคมเปญนี้จะยังไม่เป็นกฏหมาย แต่ที่อังกฤษเขามีนโยบายปั่นช่วนชาติมาตั้งแต่ปี 1999 (18 ปีที่แล้ว) ครับ นโยบายนี้เรียกว่า Cycle to Work Scheme ทำงานตามนี้

  1.  บริษัทเอกชนที่สนใจ ต้องสมัครเข้าร่วมโครงการก่อน
  2. ลูกจ้างเลือกจักรยานที่ต้องการ เป็นวงเงินไม่เกิน 1,000 ปอนด์ ประมาณ 45,000 บาทต่อปี วงเงินนี้จะรวมอุปกรณ์ปั่นและชุดปั่นด้วยก็ได้
  3. บริษัทจ่ายให้ลูกจ้างแบบ upfront
  4. ลูกจ้างผ่อนเช่าจักรยานคันนั้นต่อจากบริษัท โดยจะเอายอดทั้งหมดหาร 12 นั่นคือผ่อนเป็นเดือนๆ ไป จะใช้เงินเดือนก่อนหักภาษีและประกันสังคมในการผ่อน เพราะฉะนั้นแล้วลูกจ้างจ่ายภาษีทั้งปีน้อยลง!
  5. สิ้นปี ลูกจ้างจะคืนรถ หรือซื้อต่อจากบริษัทก็ได้ ส่วนใหญ่ลูกจ้างจะซื้อ แต่บริษัทไม่คิดตังก์ส่วนต่างที่เหลือ สรุปแล้วลูกจ้างส่วนมากได้จักรยานใหม่ในราคาถูกกว่าราคาขาย 20-30% และจ่ายภาษีน้อยลง บริษัทก็ได้พนักงานสุขภาพดีด้วย win win กันหมด!

 

ใครสนใจโครงการนี้อ่านเพิ่มเติมต่อได้ที่

British Cycling: Give tax breaks to people who take up cycling to work

Cyclescheme.co.uk: How it works

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *