จริงๆ ริมเบรกมันก็ดีพอนะ

ในเว็บ DT เราได้พูดถึงจักรยานเสือหมอบรุ่นใหม่ๆ ที่มากับดิสก์เบรก และเคยได้ถกเรื่องความจำเป็น หรือไม่จำเป็นของมันไปพอสมควรแล้ว โจทย์หลักที่ล้อดิสก์เบรกต้องการจะแก้ก็คือ ประสิทธิภาพการเบรกล้อคาร์บอนเวลาฝนตก ซึ่งปกติแล้วทำได้ไม่ดีและทำให้ผู้ใช้รู้สึกอันตราย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ริมเบรกบนล้อคาร์บอนน่ากลัวอย่างนั้นจริงหรือเปล่า?  เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปปั่นจักรยานหลายวันในญี่ปุ่นที่จังหวัดนางาโนะซึ่งแน่นอนว่าก็เอาล้อคาร์บอนไปใช้ แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้หวั่นใจนิดหน่อย นั่นคือเรื่องการลงเขาตอนฝนตกหนักๆ จริงว่าล้อคู่นี้ (Roval CLX32) ใช้ลงเขามาหลายที่แล้ว โดยรวมผมว่ามันเบรกได้ดี แต่ก็ยังไม่ถึงกับดีเท่ากับล้อที่มากับขอบเบรกใหม่ๆ ที่มีพื้นผิวสากๆ เท่าไร แต่ก็ยังไม่เคยใช้ลงเขาตอนฝนตกจริงๆ จังๆ

คือในจังหวัดนี้เนี่ย มันเป็นเขตภูเขาทั้งจังหวัดเลย มีพื้นที่ภูเขาเยอะมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ไม่ขึ้นก็ลง ทุกวัน elevation gain (ขึ้นเขา) 1000m+ แต่ขณะเดียวกันก็มี elevation loss (ลงเขา) 800m+ ด้วย

ปัญหามี 5 อย่าง

  1. ฝนตกทั้งวัน ทุกวัน
  2. หมอกหนา มองไม่เห็นทาง
  3. ไม่เคยปั่นทางแถวนี้มาก่อน
  4. ไม่มั่นใจกับประสิทธิภาพขอบเบรกล้อ
  5. รถมันไหล…

ขยายความข้อสุดท้ายนิดนึง คือถ้าเลือกได้ปกติผมจะไม่ปั่นตอนฝนตก ยกเว้นจะปั่นไปแล้วมันตกก็จะปั่นต่อไม่เป็นไร
ด้วยความที่เป็นนักปั่นพื้นที่แห้งแบบนี้ และบ้านอยู่ใกล้ร้านจักรยาน สิ่งที่ผมชอบทำคือ ไปเอาจารบีออกจากล้อและกะโหลกออกให้หมด ใส่น้ำมันบางๆ แทน เพราะมันลื่นสัสสสสสสสสสเลยคร้าบบบบบบ นี่ถ้าไม่กลัวเปลืองค่าเซอร์วิสคงเอาซีลกะโหลกออกแล้วด้วย ข้อเสียคือมันต้องเอาไปเช็คบ่อยหน่อย (ปั่นทั่วไปไม่แนะนำ สิ้นเปลืองและอาจจะต้องเปลี่ยนลูกปืนไวกว่าปกติ)

ทีนี้ครับ ไกด์เราก็จะบอกว่าตอนลงเขาอย่าแซงไกด์ เดี๋ยวเลยแยกแล้วจะหลงกัน พอฟรีขา จะไหลลงเขาตามไกด์ รถมันไหลแซงไกด์ครับ (ไกด์ใช้ Cannondale Synapse carbon + 105 Disc + ยาง Vittoria Zaffiro) รถไกด์หนักกว่ารถผมน่าจะประมาณ 2+ โล ไกด์ก็ตัวใหญ่กว่า หนักกว่า แต่เอาจริงๆ มันไม่มีทางที่จะไม่ไหลแซงรถไกด์ของเราได้เพราะ…

รถเรานี่มาแบบพร้อมแข่ง (ซึ่งก็ไม่เคยไปแข่งที่ไหน 🤪) ยางนอก Vittoria Corsa G2.0 ความประหยัดแรงกว่ายางไกด์น่าจะมี 10-12 วัตต์ ยางใน Vittoria Latex เร็วกว่ายางในทั่วไปคู่ละ 6-7 วัตต์ ลูกปืนลื่นโมมาทุกจุด แอโรไดนามิก เฟรม+ล้อก็เหนือกว่า รวมๆ แล้วน่าจะได้วัตต์ฟรีเหนือรถไกด์ต้องมี 30+ วัตต์ โดยฟิสิกส์แล้วต่อให้ตัวและรถจะเบากว่ายังไง นั่งปั่นท่าเดียวกันก็ยังไหลลงเขาแซงแน่ๆ

ถ้าไหลกว่า แต่อยากจะอยู่ข้างหลังไกด์ ก็ต้องเบรกมากกว่า แล้วไกด์คือมาแบบโคตรพร้อม (เราเนี่ย ไม่พร้อม ใช้ของไม่ถูกงานเท่าไร 555) รถไกด์ดิสก์เบรก ยาง 28mm… ไม่ได้ว่าอยากซิ่งกว่าไกด์… กลัวหลงและล้มเหมือนกัน มันไม่ใช่ที่ๆ จะมาลงเขาสนุกๆ ครับ แต่รถมันไหลและเบรกไม่ค่อยอยู่ ก็เลยบอกไกด์ว่า ถ้าหลุดนำไปก็มาเรียกด้วยนะ จะรอทุกแยก แต่ขอลงก่อน ไม่อยากกำเบรกนานๆ ค้างๆ คืออากาศเย็น+เปียกแบบนี้ล้อคงไม่บวมหรอก แต่ว่าดินบนพื้นมันเยอะ เวลาทรายกรวดมันติดผ้าเบรกแล้วเราจับเบรกบ่อยๆ (ปั่นตามหลังคนอื่น) ก็เสียดายขอบเบรกล้อครับ ถึงโรงแรมก็เลยต้องเช็ดล้างผ้าเบรกกับขอบเบรกทุกวัน จะได้ใช้ได้นานๆ (อันนี้ทำเฉพาะตอนปลอดภัยนะครับ ถนนโล่งๆ มองเห็นทางชัดๆ ช่วงไหนอันตรายก็ขี่ตามหลังไกด์ตลอด)

เอาจริงๆ นี่ก็เพิ่งได้ลองล้อนี้ลงเขาตอนเปียกยาวๆ (มาก) ตอนแรกก็คิดว่าไม่น่าจะหนึบเท่าไร แต่ถ้ากะระยะดีๆ ก็เบรกใช้ได้อยู่ มันจะเริ่มเบรกแย่เวลาดินมาจับผ้าเบรก แต่ถ้าเผื่อระยะนิดนึง กำให้ถูกจังหวะก่อนแตะโค้งก็ไม่ถึงกับน่ากลัวครับ max speed ลงมา 75kph บางจุดที่เป็นทางตรงลงยาว แต่ยังรู้สึกว่าหยุดรถได้ในระยะที่ต้องการ

ระหว่างทริปนี้ก็ได้คิดอยู่ว่า นี่คือสถานการณ์ที่บริษัทจักรยานพยายามบอกว่าดิสก์เบรกดีกว่าแบบครบประเด็น ทางเปียก ล้อคาร์บอนที่เบรกไม่ดีนัก ฝุ่นดินเยอะ แต่ก็ไม่ได้พบว่าล้อคาร์บอนมันกับริมเบรกจะเอาไม่อยู่นะ ขนาดไม่ใช้ล้อคาร์บอนที่มากับขอบเบรกแบบใหม่ ถ้าทักษะดีพอ มีความระมัดระวัง ก็น่าจะลงได้แบบไม่ต้องกังวลมาก ทั้งนี้น้ำหนักตัวคนปั่นก็สำคัญครับ ผมเป็นคนตัวเล็ก จึงไม่ต้องใช้แรงเบรกมากในการหยุดตัวเองและรถ เพื่อนที่น้ำหนักมากกว่าหลายๆ คนรู้สึกอุ่นใจกว่ากับการใช้ดิสก์เบรกลงเขายาวๆ ตอนที่ฝนตกซึ่งก็เหมาะสมแล้ว

….

นอกจากผมที่ไปทริปนี้ก็มีวี นักเขียนของเราอีกคนนึงไปด้วย ซึ่งคนนี้ก็ชอบการลงเขาเป็นชีวิตจิตใจ เราก็แลกเปลี่ยนกันเรื่องนี้พอสมควรว่า คิดยังไงกับดิสก์เบรกกับการใช้งานทางเปียกๆ แบบนี้ ด้วยที่วีเป็นคนที่ตัวเบากว่าผม 10 กิโลกรัม และใช้ล้ออลูมิเนียม ทำให้ไม่สนใจประสิทธิภาพดิสก์เบรกเลย เพราะริมเบรกกับล้ออลูนั้นเหลือเฟือแล้ว วีเขียนบอกไว้ว่า:

“ไม่ได้รู้สึกว่าต้องการแรงเบรกที่มากกว่านี้แล้ว”

“อย่างที่พี่คูนได้โพสต์ไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อนเรื่องริมเบรกคาร์บอนว่า ถ้าใช้เป็นมันก็เอาอยู่ ผมเองก็ชอบลงเขามาก ๆ คิดว่าการลงเขาคือสิ่งที่สนุกที่สุดของการปั่นจักรยานเสือหมอบ เลยไม่คิดใช้ล้อคาร์บอนที่ขอบเบรกคาร์บอนมาตั้งแต่แรก ยิ่งทุกวันนี้ย้ายมาเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ในจังหวัดนากาโนะที่มีแต่ภูเขา ภูเขา ภูเขา ก็สมใจอยากล่ะครับ”

“แล้วช่วงนี้ออกทริปทีไร เจอฝนทุกทริปเลยครับ แล้วทุกทริปก็คือทริปไต่เขาด้วย ต้องลงเขากลางฝน แต่ก็ไม่เคยรู้สึกว่าเบรคไม่อยู่ หรือจะแหกโค้งเลยครับ คือถ้าพื้นแห้งเนี่ย จากท่าลงเขามาตรฐานคือจับดร็อปแล้ว นิ้วชี้นิ้วกลาง สองนิ้วดึงเบรกไม่ได้แรงมาก ล้อก็ skid ทั้งหน้าหลังแล้วครับ ส่วนพื้นเปียกก็ดึงแรงขึ้นกว่านั้นนิดเดียว ก็เอาอยู่อยู่ดีครับ”

ก็เลยไม่เคยรู้สึกว่าอยากได้รถดิสก์เบรกเลยครับ ทั้งการเลียเบรก (modulation) และแรงเบร​ก (power) ของ direct-mount rim brakes กับขอบอลูนี่คือเพียงพอแล้วจริง ๆ ลงเขาต่อเนื่อง 20-30 นาที elevation loss เป็นพัน ๆ เมตร ก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องการอะไรไปมากกว่านี้ครับ

ตอนนี้ใช้ direct-mount ของ Ultegra 6800 แล้วคิดว่าถ้าอนาคตได้เปลี่ยนไปใช้ direct-mount รุ่น DA R9100, Ultegra R8000, หรือ 105 R7000 ที่มันมีแผ่นโลหะเพิ่มความสติฟเบรกให้อีก คงยิ่งดีขึ้นไปอีกครับ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการดิสเครดิตดิสก์เบรกครับ มันมีข้อดีของมันที่เราเคยคุยกันไปหลายครั้งแล้ว แต่เล่ามาเพื่ออยากให้ผู้อ่านของเราคิดตามแล้วเลือกใช้ในสิ่งที่เหมาะสมกับการใช้งานของตน ไม่หลงไปกับการตลาดและคำโฆษณาครับ”

อุปกรณ์หยุดรถที่ใช้ตอนนี้ (วี)
สายเบรกและปลอกสายเบรก: Shimano BC-R680 (สาย polymer รุ่น Ultegra)
ก้ามเบรกหน้า: Shimano BR-6810-F (direct-mount)
ก้ามเบรกหลัง: Shimano BR-6800-R (single-mount)
ผ้าเบรก: SwissStop BXP
ขอบเบรก: Vision KeroniteBlack

วีทิ้งท้ายเรื่องเทคนิคการลงเขาให้ปลอดภัยไว้ด้วย:

  1. ลงเขาให้จับดร็อปจะมั่นใจกว่าและคุมรถได้ง่ายกว่า
  2. เวลาหัดลงเขาใหม่ ๆ ผมมักจะมองแถว ๆ หน้าล้อตัวเอง เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำครับ ต้องฝึกมองไกล ๆ มองให้เห็นว่าถนนหายไปจากสายตาตรงไหน รถจะไปตามตาเรา ตามองที่ไหนรถก็ไปตรงนั้น ถ้าเรามองที่เหวอย่างเดียวก็หล่นแน่นอนครับ ดังนั้นข้อแรก ฝึกมองให้ไกล ให้เห็นถนนลับตาเราไป
  3. จุดที่ถนนลับสายตา มันจะอยู่ตรงนั้นไปสักพักหนึ่ง จนกว่าเราจะลงเขาไปถึงตรงนั้นแล้วมีถนนใหม่เปิดขึ้นมานั้น ให้มองผิวถนนด้วยครับว่ามีหลุม มีบ่อ มีทราย มีตะไคร่อะไรบ้าง แล้วก็ปรับความเร็วตามอุปสรรคเหล่านั้นครับ
  4. สรุปคือ มองให้ไกล แต่ก็อย่าไกลจนลืมสแกนผิวถนนถึงสิ่งที่จะทำให้เราลื่นล้มครับ ฝึกบ่อย ๆ เดี๋ยวก็จะเป็นเอง
  5. พยายามเบรกในโค้งให้น้อยที่สุด ลดความเร็วให้เพียงพอก่อนตั้งแต่ทางตรง พอจะเริ่มเทโค้งคือความเร็วต้องน้อยพอจะเอียงรถได้แล้วครับ ถ้าเบรคแรงในโค้ง มันจะแหก แน่นอนว่าเราก็ไม่ได้ทำได้เพอร์เฟ็คทุกครั้งทุกโค้งครับ ดังนั้น ถ้ายังเร็วไป ตอนเทโค้ง อนุญาตให้เลียเบรกได้แค่เบา ๆ เท่านั้นครับ ห้ามกำนะ เดี๋ยวสไลด์
  6. จังหวะลดความเร็วก่อนเข้าโค้ง ให้ดันก้นไปด้านหลังเบาะครับ เพื่อลดความรู้สึกว่าตัวจะพุ่งข้ามแฮนด์ไป ถ้ายังไม่พอ จะดันจนหลุดเบาะไปเลยก็ได้ครับ
  7. พอเทเข้าโค้ง ให้ยกบันไดข้างที่ใกล้พื้นขึ้นทิศ 12 นาฬิกาเสมอครับ เดี๋ยวมันตีพื้น แล้วเอาขากด/ยันบันไดข้างที่อยู่นอกโค้ง (ข้างที่อยู่ทิศ 6 นาฬิกา) ไว้ครับ มันจะทำให้รู้สึกยึดพื้นได้แน่นหนาดี ส่วนขาที่อยู่ในโค้ง จะแบะเข่าออกเล็กน้อยก็ได้ครับ จะช่วยบาลานซ์รถได้ดี
  8. ไลน์การเข้าโค้ง ให้ตัดหัวโค้งครับ เข้ากว้าง ตัดหัวโค้ง แล้วออกกว้าง การทำแบบนี้จะทำให้รัศมีการตีโค้งเรากว้างที่สุด แน่นอนว่าทั้งหมดทำในเลนตัวเองเท่านั้นนะครับ
  9. ห้ามลงเขาเร็วกว่าที่ตามองเห็นครับ แปลว่า ถ้าโค้งบอด ต้องช้าพอที่จะเปลี่ยนทิศทางได้ทุกเมื่อครับ ลงเร็วได้ต่อเมื่อเห็นพ้นโค้งเท่านั้น
  10. เช่นเดียวกับข้อ 8. คือห้ามใช้เลนรถสวนถ้ามองเห็นไม่พ้นโค้งครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!