เมื่อทิวบ์เลส “ไม่ดีพอ” สำหรับโปร – เปิดตัวล้อ Alpinist และ Rapide ใหม่จาก Roval

 

เมื่อวานนี้ Roval แบรนด์ล้อจักรยานในเครือของ Specialized เปิดตัวล้อคาร์บอนขอบงัด (clincher) ใหม่สองรุ่น เป็นการปรับดีไซน์ใหม่จากซีรีย์ CLX เปลี่ยนรูปทรงขอบล้อ ลดน้ำหนักลงเล็กน้อย และเปลี่ยนดีไซน์ดุมใหม่

จากเดิมล้อ Roval CLX มีให้เลือก 3 ความรุ่นนั่นคือ 32mm, 50mm และ 64mm แต่ในอัปเดตใหม่ลดลงเหลือแค่สองรุ่น – Roval Rapide CLX และ Roval Alpinist CLX

จุดน่าสนใจกลับเป็นแนวคิดของ Roval ที่ประกาศชัดเจนว่าล้อทั้งสองรุ่นนี้ ไม่รองรับการใช้งานยางทิวบ์เลส ตรงข้ามกับแนวทางการออกแบบล้อของแบรนด์คู่แข่งอย่าง ZIPP และ ENVE ที่พยายามผลักดันการใช้ยางทิวบ์เลสในเสือหมอบ

 

Roval Rapide CLX

ขอบล้อ: คาร์บอน สำหรับยาง clincher เท่านั้น
ระบบเบรก: มีเฉพาะดิสก์เบรก
ความกว้างขอบล้อด้านใน: ล้อหน้า/ หลัง 21mm
ความกว้างขอบล้อด้านนอก: ล้อหน้า 35mm/ ล้อหลัง 30.7mm
ความสูงขอบล้อ: ล้อหน้า 51mm / ล้อหลัง 60mm
จำนวนซี่ล้อ: ล้อหน้า 18 ซี่/ ล้อหลัง 24 ซี่
ดุมล้อ: DT Swiss 240 EXP รูปทรงดุมแบบแอโรไดนามิก
น้ำหนัก: ล้อหน้า 649 กรัม / ล้อหลัง 751 กรัม – รวมหนักคู่ละ 1400 กรัม

Roval Rapide CLX จะมาแทนที่ Roval CLX50 และ CLX64 อย่างที่เห็นในสเป็ค คู่นี้ความสูงล้อหน้าและหลังไม่เท่ากัน ล้อหน้าเตี้ยกว่าล้อหลัง 9 mm ซึ่ง Roval เคลมว่าทำให้ได้ชุดล้อที่ทั้งลู่ลมไม่แพ้ล้อ CLX64 (ขอบ 64mm) และนิ่งเวลาเจอกระแสลมข้างไม่แพ้ล้อ CLX32 (ขอบ 32mm) เป็นล้อ all around แบบตัวเดียวจบทุกสนาม

นอกจากความสูงขอบล้อที่ไม่เท่ากันแล้ว ความกว้างขอบล้อภายนอกก็ไม่เท่ากันด้วย ล้อหน้า Rapide CLX กว้างถึง 35mm รูปทรงขอบล้อจะอ้วนกว่าล้อหลังที่กว้าง 30.7mm ล้อหลังจะดูเป็นทรง V-shape มากกว่าล้อหน้า

Roval เคลมว่าดีไซน์ล้อรูปทรงนี้ช่วยลด steering torqueเวลาเจอลมข้างได้ถึง 25% เมื่อเทียบกับล้อ CLX50 และถึงล้อหน้าจะเตี้ยกว่าล้อหลัง แต่ก็ยัง “เร็ว” กว่าล้อขอบสูง 64mm รุ่นอื่นๆ ในตลาด

อีกจุดเด่นคือน้ำหนัก คู่นี้หนัก 1,400 กรัม เบากว่าล้อ Roval CLX50 Disc 15 กรัม และเบากว่า CLX64 Disc 215 กรัม

ดุมล้อยังใช้โครงดุมทรงนาฬิกาทรายแบบเดียวกับ CLX รุ่นก่อน แต่อัปเกรดไส้ในดุมเป็น DT Swiss 240 EXP ซึ่งน้ำหนักเบากว่าเดิมอีกเล็กน้อย

ซี่ล้อเป็นซี่แบนทรงแอโรจาก DT Swiss รุ่น Aerolite ล้อหน้า 18 ซี่ ล้อหลัง 24 ซี่ ถ้าใครใช้ล้อดิสก์มาก่อนจะเห็นว่า Roval ใช้ซี่ล้อน้อยกว่าล้อดิสก์ทั่วๆ ที่มักใช้ หน้า 24 หลัง 24 ซี่

ล้อหน้าฝั่งดิสก์เบรกใช้การขึ้นซี่แบบ 2x ฝั่งตรงข้ามขึ้นแบบ radial ส่วนล้อหลังฝั่ง drive side ขึ้นแบบ 2x และฝั่งตรงข้าม 1x

ล้อรองรับน้ำหนักผู้ใช้สูงสุด 109 กิโลกรัม ประกันตลอดอายุการใช้งาน

ราคา 2,500 USD

 

Roval ALPINIST CLX

แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบการไต่เขา ชอบล้อที่คล่องตัวและน้ำหนักเบาๆ Roval ก็มีล้อให้เลือกอีกหนึ่งคู่นั่นคือ Alpinist CLX ที่มาแทน Roval CLX32 Disc

ล้อ Alpinist ความสูงขอบล้อ 33mm ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง สเป็คอื่นๆ เหมือนกับ Roval Rapide CLX ทั้งหมด แต่น้ำหนักรวมอยู่ที่ 1,248 กรัมเท่านั้น เบากว่า CLX 32 Disc เดิมถึง 100 กรัม

 

“ทิวบ์เลสยังไม่ดีพอ”

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ล้อ Roval รุ่นใหม่นี้จะทำออกมาเฉพาะระบบดิสก์เบรกเท่านั้น และเป็นล้อ clincher อย่างเดียว ไม่มีทั้งรุ่นที่รองรับยางทิวบ์เลสและ tubular

ปี 2019 ที่ผ่านมาเราเห็น Specialized และ Roval พยายามโปรโมทการใช้ยางทิวบ์เลสในการแข่งขันเสือหมอบหลายครั้ง โดยให้ทีม Quickstep ใช้ยาง Specialized RapidAir ลงแข่งในรายการใหญ่ๆ อย่าง Tour of California ที่ฟาบิโอ จาค็อบเซ็นชนะสเตจด้วยยางทิวบ์เลส

แต่หลังจากทดสอบยางทิวบ์เลสในสนามแข่งมาสักพัก Roval ก็กลับลำ และกล่าวว่าประสิทธิภาพของยางทิวบ์เลสและความยุ่งยากในการใช้งาน “ยังไม่ดีพอ”

“ตอนนี้เรายังมองว่า สำหรับการใช้งานประเภท Road Racing แข่งขันจักรยานทางไกลบนถนนสภาพดี การใช้ล้อระบบที่มียางนอกและยางในยังให้ประสิทธิภาพเหนือกว่าระบบทิวบ์เลส”

สำหรับนักแข่งโปรทีมของเราที่มีรถซัพพอร์ทคอยติดตามตลอดการแข่ง พวกเขาจะยังใช้ยาง tubular ต่อไป”

สิ่งที่ Specialized พูดนั้นมีมูลพอสมควร จากการทดสอบ 3rd party หลายๆ สำนัก สำหรับการใช้งานบนถนนสภาพผิวดี (ก็คือการแข่งเสือหมอบส่วนใหญ่) ยางทิวบ์เลสนั้นพัฒนามาไกลจน “เร็ว” (มีค่า rolling resistance ต่ำ) เทียบเท่าหรือเร็วกว่าล้อยางงัดธรรมดาที่ใช้ยางใน แต่ถ้าผู้ใช้เลือกใช้ยางนอกคุณภาพสูงและยางในน้ำหนักเบา เนื้อบางอย่างยางในลาเทกซ์ ระบบยางนอกและยางในก็ยัง “เร็ว” กว่าระบบทิวบ์เลสอยู่เล็กน้อย

ผลทดสอบค่า rolling resistance ในยางจักรยานจากสำนัก  Aerocoach พบว่า ยางงัดธรรมดาๆ ที่ใช้ยางในลาเท็กซ์ยังเร็วกว่ายางทิวบ์เลสอยู่หลายวัตต์

แน่นอนว่าการใช้ยางในลาเทกซ์มีข้อเสียเรื่องที่ต้องเติมลมบ่อยและอาจจะไม่ทนรั่วเท่ายางทิวบ์เลส แต่ก็ให้ฟีลลิงการปั่นที่เหนือกว่า และใช้งานง่ายกว่าทั้งการติดตั้งและการซ่อมบำรุง

อ้างอิง: Rovalcomponents.com, Aerocoach Tire Rolling Resistance test

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!