RYOKOU คือหนังสั้นที่ติดตาม Shane Perkins โปรจักรยานลู่ชื่อดังจากออสเตรเลียที่ได้รับเชิญให้ไปแข่งในศึก Japanese National Keirin Series ที่สยบโปรต่างประเทศมาแล้วนักต่อนัก
RYOKOU: The Journey of Shane Perkins
หนังสั้นเรื่องนี้มองลึกเข้าไปในวงการ Keirin ของชาวญี่ปุ่นซึ่งมีกฏกติกาและความเป็นมาต่างกับ Keirin ที่เราเห็นแข่งกันในโอลิมปิกครับ Keirin National Series นั้นเป็นกีฬาจักรยานลู่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อระดมทุนช่วยรัฐบาลท้องถิ่นในสมัยที่ญี่ปุ่นพึ่งจะแพ้สงครามโลก นักกีฬาต้องเข้าฝึกกับโรงเรียน Keirin ซึ่งฝึกกันโหด เข้ม ต้องกินอยู่ในโรงเรียน ตื่นมาซ้อมแต่เช้าและมีกฏระเบียบที่เข้มงวด ไม่ต่างกับค่ายทหาร แน่นอนว่าเป็นกีฬาที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจและมีการพนันกันอย่างถูกกฏหมายไม่ต่างกับการแทงม้าครับ
ในสนาม Keirin ญี่ปุ่นนั้น ผู้ชนะต้องใช้มากกว่าพละกำลัง ต้องมีไหวพริบและสติสัมปชัญญะดีเลิศ รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามเชิญชวนนักแข่งชื่อดังจากต่างประเทศมากมายทั้งแชมป์โอลิมปิกและนักจักรยานลู่จากชาติต่างๆ ทว่าหลายๆ คนก็ต้องเผชิญความจริงที่ว่า ถึงแม้จะเป็นแชมป์โลกมา ก็ไม่อาจจะเอาชนะนักเรียน Keirin ชาวญี่ปุ่นได้ง่ายๆ เกมการแข่ง Keirin นั้นมีความลุ่มลึกไม่ต่างกับศาสตร์และศิลป์หลายๆ ของญี่ปุ่นที่ทำให้ผู้คนหลงไหลครับ
ในหนังสั้น RYOKOU นี้เราจะได้เห็นชีวิตของ Shane Perkins และการต่อสู้กับทั้งตัวเองและนักปั่นคนอื่นๆ Shane เคยถูกไล่ออกจากทีมชาติออสเตรเลียและแบนไม่ให้เข้าแข่งโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2008 เพราะพฤติกรรมก้าวร้าว ตอนที่ 1 และ 2 จะเป็นการแนะนำแบคเกราด์ Japanese Keirin คร่าวๆ ตอนที่ 3 พูดถึงอดีตอันปวดร้าวของ Shane ที่โดนแบนจากทีมโอลิมปิก ตอนที่ 4 ติดตามชีวิต Shane ในญี่ปุ่น และตอนสุดท้ายเป็นเรื่องของการแข่งขันล้วนๆ วิดีโอแค่ตอนละห้านาที แนะนำให้ดูรวดเดียวหมดครับ เป็นอีกโลกจักรยานที่เราไม่ค่อยได้เห็นบ่อยๆ น่าดูครับ..
ตอนที่ 1: Beginning
ตอนที่ 2: Construction
ตอนที่ 3: Fall
ตอนที่ 4: Solitary
ตอนที่ 5: Overcome
เยี่ยมครับ
สุดยอดครับ ^^
Keirin แบบญี่ปุ่นมีการแข่งแบบกึ่งๆจะเป็นทีม เพราะวิ่งตามไลน์ของแต่ละเขต แต่ละเขตจะมีตำแหน่งที่วิ่งเป็นตัวกัน ตัววาง นั่นเลยเป็นเหตุนึงให้พอมาแข่ง Keirin แบบโอลิมปิคแล้วนักกีฬาต้นตำรับการแข่งถึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ทั้งด้วยชนิดของพื้นลู่ ทั้งวิธีการปั่น และกลับกันนักปั่น Keirin แบบโอลิมปิคก็ไม่ค่อยเวิร์คที่จะมาปั่นในแบบญี่ปุ่นเช่นกัน เพราะไม่คุ้นกับลักษณะของการวิ่งเป็นไลน์