สามปีติดต่อกันแล้วที่ Etixx-Quickstep (EQS) ครองอันดับทีมที่มียอดชัยชนะเยอะที่สุดในฤดูกาลด้วยผลงานแชมป์ 54 รายการ ((อันดับสองทีม Sky 44 รายการ, อันดับสาม Katusha 40 รายการ และอันดับสุดท้าย Lottonl-Jumbo 6 รายการ))
ถึงปริมาณแชมป์จะมากกว่าใคร แต่ในชัยชนะกลับไม่มีสนามใหญ่ๆ อย่าง Paris-Roubaix หรือ Tour of Flanders เหมือนในฤดูกาลที่ผ่านๆ มา ซ้ำดาวดังของทีมอย่าง มาร์ค คาเวนดิชก็เก็บแชมป์สเตจในตูร์ได้แค่ 1 ครั้ง เช่นนั้นแล้วฤดูกาล 2015 สำหรับทีม EQS จะเรียกว่าประสบความสำเร็จได้หรือเปล่า? มาดูกันครับ
2015 Etixx-Quickstep
อันดับ UCI WorldTour: 4/17
ยอดชัยชนะ: 54
VIP: คาเวนดิช (14 ชัยชนะ), มาร์ติน/ เทิร์ปสตร้า (5 ชัยชนะ), โบเน็น/ เทรนทิน (4 ชัยชนะ), สตีบาร์ (3 ชัยชนะ)
ความคาดหวัง
ถ้าไม่นับที่คาเวนดิชล้มคว่ำตั้งแต่สเตจ 1 ในตูร์ 2014, EQS เริ่มฤดูกาล 2015 ด้วยความคาดหวังเต็มเปี่ยมเพราะปีก่อนหน้า นิกี้ เทิร์ปสตร้าได้แชมป์ Paris-Roubaix, โทนี่ มาร์ตินกวาดแชมป์สเตจ Time Trial หลายรายการ (เหมือนเคย) และมิฮาล เควียทคอฟสกี้ปิดฤดูกาลด้วยการคว้าเสื้อสีรุ้งในสนามชิงแชมป์โลก
เริ่มฤดูกาล 2015 ความคาดหวังของทีมหลักๆ มีสามอย่าง
Sprint: พาคาเวนดิชกลับมารุ่งเรื่องใน Tour de France ให้ได้อีกครั้งด้วยการกวาดแชมป์สเตจทางราบด้วยการสปรินต์
Classics: ทีมมีเอซคลาสสิคอยู่หลายคนไม่ว่าจะเป็น ทอม โบเน็น, นิกี้ เทิร์ปสตร้า และชเน็ค สตีบาร์ อย่างน้อยๆ ต้องมีแชมป์คลาสสิคสัก 2–3 รายการ เควียทคอฟสกี้เองก็น่าจะติดโพเดี้ยมสนาม Ardennes Classics
Time Trial: โทนี่ มาร์ตินยังคงเป็นมือหนึ่งในการปั่นจับเวลาแทบทุกสนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแบรดลีย์ วิกกินส์ (Wiggins) ได้ลดบทบาทตัวเองไปอยู่ทีมดิวิชัน 3 แล้ว
ไฮไลท์ Tour of Flanders 2015 เมื่อเทิร์ปสตร้าพ่ายให้กับคริสทอฟในการดวลแบบ 1v1
ชีวิตจริง
Sprint: ไม่ใช่ฤดูกาลที่ดีที่สุดของคาเวนดิชเมื่อเขาถูกขาแรงโคลอมเบีย เฟอร์นันโด กาวิเรียวัยกระเตาะทุบตั้งแต่สนามแรกของปี (Tour de San Luis) ถึงสองครั้งซ้อน (และบอสทีม Quickstep ก็จับเจ้าหนูกาวิเรียเข้าทีมในอีกไม่กี่เดือนถัดมา…) เข้าสู่ Tour de France คาเวนดิชก็ไม่เด็ดขาดเหมือนปีก่อนๆ และน่าจะช้ำใจยิ่งกว่าเมื่อเขาพ่ายให้อังเดร ไกรเปิล (Lotto-Soudal) อดีตเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่งที่เขาแทบไม่เคยพ่ายให้เลยมาตลอดหลายปี
Classics: พังตั้งแต่เริ่ม ถ้าใครยังจำได้ ความพ่ายแพ้ของทีม EQS ในสนาม Omloop Het Nieuwsblad น่าจะจัดอยู่ในทำเนียบ“The worst f*cked up of the generation” ที่เอซ EQS สามคนเบรคอเวย์ไปกับเอียน สแตนนาร์ด (Sky) ในช่วง 10 กิโลเมตรสุดท้าย ถึง EQS จะรุมแบบ 3:1 แต่กลับโดนสแตนนาร์ดพลิกเกม สลัด EQS จนร่วงทั้งสองคนแล้วสปรินต์เอาชนะเทิร์ปสตร้าที่หน้าเส้นชัยแบบนิ่มๆ
ถึงจะเสียหน้าตั้งแต่เริ่มฤดูกาล แต่ EQS ก็พอจะแก้มือได้บ้างในสนามถัดๆ มาครับ ได้แชมป์ Kuurne-Brussels-Kuurne, ที่ 4 ใน Dwars door Vlaanderen, ที่ 6 ใน Scheledeprijs, ที่ 2 ใน E3 Harelbeke, Ghent Wevelgem, Roubaix และ Tour of Flanders น่าเสียดายว่าเอซระดับพระกาฬอย่างโบเน็นไม่สามารถลงแข่งได้สักรายการเพราะล้มไหปลาร้าหักใน Paris-Nice

จบ Cobbled Classics ไป ผลงาน EQS ดีขึ้นเรื่อยๆ ใน Ardennes Classics เควียทคอฟสกี้เก็บแชมป์ Amstel Gold, และดาวรุ่งคนใหม่อย่างจูเลียน อลาฟิลลิปขึ้นโพเดี้ยมทั้ง Fleche Wallonne และ Liege-Bastonge-Liege แถมเกือบจะชนะ Tour of California (พ่ายให้ซากานแค่ 3 วินาที!)
ผลงานในแกรนด์ทัวร์ก็จัดว่าไม่เลว แต่ก็น้อยกว่ามาตรฐานปกติ ทีมเก็บแชมป์ Tour de France มา 3 สเตจพร้อมเสื้อเหลืองโดยโทนี่ มาร์ติน และ 1 สเตจที่ Giro d’Italia
คาเวนดิชเองถึงจะไม่ได้แชมป์ในแกรนด์ทัวร์แต่ก็ยังเก็บชัยชนะรายการรองได้หลายรายการ รวมแล้วปีนี้เขาก็ยังเป็นคนที่เก็บชัยชนะให้ทีมเยอะที่สุดถึง 14 ครั้ง
ท้ายสุดทีมทำผลงานได้อันดับ 4 ใน UCI Team Ranking ถึงจะชนะเยอะกว่าใคร แต่เพราะชัยชนะส่วนใหญ่ไม่ใช่สนามใหญ่ทำให้คะแนนสะสมไม่เยอะเท่าคู่แข่ง
Best Moments
เสื้อเหลืองใน Tour de France: การเบรคอเวย์เดี่ยวของโทนี่ มาร์ตินในสเตจถนนหิน Tour de France เป็นหนึ่งในโมเมนท์ที่เด็ดที่สุดในปีก็ว่าได้ มาร์ตินเบรคอเวย์หนีกลุ่มเปโลตองคนเดียวในช่วงสุดท้ายของสเตจจนเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกพร้อมคว้าเสื้อเหลืองผู้นำเวลารวมที่เขาไม่สามารถคว้ามาได้ในสเตจ 1 ที่เป็นการแข่ง Time Trial ในสเตจ 6 ที่มาร์ตินล้มจนไหปลาร้าหัก สตีบาร์หนีเดี่ยวเก็บแชมป์สเตจครั้งที่สองให้ทีม ต่อด้วยชัยชนะของคาเวนดิชในสเตจ 7

อลาฟิลลิปมาแรง: เด็กใหม่วัยแรงของทีมที่โตขึ้นแบบก้าวกระโดดในสนาม Ardennes Classics และดูท่าจะมีฟอร์มปั่นสเตจเรซระยะสั้นด้วย ออกมาพิมพ์เดียวกับเควียทคอฟสกี้ และน่าจะเป็นแบ็คที่ดีให้กับมิฮาลในฤดูกาลถัดๆ ไป
Worst Moments
Omloop nightmare: คงไม่มีสถานการณ์ไหนที่จะนิยามคำว่าเสียหน้าได้ดีกว่าที่ทีมพ่ายให้สแตนนาร์ดใน Omloop ที่เราพูดถึงไปแล้วข้างบนนี้ ดูวิดีโอไฮไลท์กันอีกรอบ
อูรานหายไปไหน?: ไม่ว่าแพททริค เลอฟีเวียร์ (ผู้จัดการทีม) จะปั่นหัวสื่อให้เชื่อว่า EQS นั้นมีหวังผลงานแกรนด์ทัวร์ยังไงก็ตาม ทีมนี้ก็ยังไม่ใช่ทีมที่จะขึ้นโพเดี้ยมแกรนด์ทัวร์เร็วๆ นี้ ปีนี้อูราน เอซนักไต่เขาชาวโคลอมเบียก็เงียบไปเลย (จากปีก่อนที่ได้อันดับสองใน Giro d’Italia)
ใครไปใครมา?
ย้ายเข้า: แดน มาร์ติน, มาร์เซล คิทเทล, แมกซ์ ริชเซ่, บ็อบ ยุงเกลว์, ดาวิเด้ มาติเนลลี่, ลอเรนส์ เดอ พลูส์, เฟอร์นันโด กาวิเรีย
ย้ายออก: มาร์ค คาเวนดิช, มาร์ค เรนชอว์, มิคาล โกลาส, มิฮาล เควียทคอฟสกี้, ริกโอเบอร์โต้ อูราน
2016 จะเป็นยังไง?
ว่ากันตามตรง การย้ายเข้า-ออกของ EQS ปีนี้นี่ยังกับให้คนเขียนบทละครหลังข่าวมาวางพล็อตเรื่อง แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทีมเหมือนกันครับ เพราะเสียเอซคนสำคัญไปสองคน (เควียทคอฟสกี้และคาเวนดิช) แต่กระนั้นก็ได้ตัวแทนมาคืนทั้งสองตำแหน่ง (คิทเทล — สปรินต์) + (แดน มาร์ติน — GC) ส่วนกาวิเรียนั้นเร็วจริงแต่คงต้องปั้นฟอร์มกันอีกหน่อย ถ้าคิทเทลไม่ป่วยในฤดูกาลนี้ก็น่าดูว่าตัวเขาเองจะจูนเข้ากับหัวลากของทีม EQS ยังไง เพราะใช้แต่หัวลาก Giant มาทั้งชีวิต จะมีแผ่วลงสักหนึ่งฤดูกาลเหมือนตอนคาเวนดิชย้ายมา EQS แรกๆ หรือเปล่า?

ส่วนแดน มาร์ตินนี่ไม่รู้ว่าจะหวังยังไงดี เพราะถึงจะแรงจริงในการขึ้นเขา แต่ก็ยังดูขาดๆ เกินๆ อยู่ ณอน เคลลี่เคยบอก DT ว่าแดน มาร์ตินน่ะ เก่ง แต่ขี้เกียจซ้อม (เป็นชาวไอริชทั้งคู่ และฌอนก็คอยดูแดนอยู่ห่างๆ) ไม่รู้ว่าย้ายมาทีมที่วินัยสูงขึ้นอย่าง EQS แล้วจะช่วยเขาได้หรือเปล่า
ที่แน่ๆ มาร์ตินและอลาฟิลลิปคงมาปิดตำแหน่งเควียทคอฟสกี้ในสนาม Ardennes Classics
ส่วน Cobbled Classics ทีมก็คงใช้แผนเดิม ใช้จำนวนเอซเข้าข่มทีมอื่น (สตีบาร์, โบเน็น, เทิร์ปสตร้า, แวนเดนเบิร์ก) ก็หวังว่าแผนจะเวิร์กและโบเน็นจะกลับมาจัดหนักได้อีกครั้ง
โดยรวมแล้วถึงจะเปลี่ยนหน้าเอซเข้า-ออกกันหลายคนแต่ก็ยังเป็นหนึ่งในทีมที่แกร่งที่สุดในเปโลตองอยู่ดี EQS เป็นทีมที่เชียร์สนุก เพราะมีเอซเก่งๆ รวมกันเยอะมากและแต่ละคนก็เชี่ยวชาญคนละอย่างด้วย มีนักปั่นที่พร้อมคว้าชัยชนะตั้งแต่ต้นยันท้ายปี ขาดแค่อย่างเดียวก็แค่เอซ GC ในแกรนด์ทัวร์เท่านั้น แต่ผมว่า EQS ก็ยังคงเลือกเก็บชัยชนะห้าสิบสนามมากกว่าแค่แชมป์แกรนด์ทัวร์รายการเดียวอยู่ดีครับ
รวมชัยชนะ Etixx-Quickstep ฤดูกาล 2015
ภาพเปิด: นิกี้ เทิร์ปสตร้า vs อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ, Tour of Flanders 2015 (Cor Vos)