รีวิว: 7 วันกับ Chapter 2 RERE เสือหมอบแอโรจากอดีตผู้ออกแบบ NeilPryde

ในเวลาไม่ถึงปีเดียวจักรยานยี่ห้อ Chapter 2 ของไมค์ ไพรด์​ อดีตนักออกแบบจักรยานจากบริษัท NeilPryde ก็เปิดตัวจักรยานเสือหมอบรุ่นที่สองออกมาแล้วในชื่อ Chapter 2 RERE

คนที่ติดตาม Ducking Tiger เป็นประจำของพอเห็นเสือหมอบคันนี้มาบ้างแล้ว เพราะเราเคยเขียนถึงในวันเปิดตัว และตอนที่ไมค์ ไพรด์บินมาเปิดตัวที่ไทยด้วยครับ ส่วนคนที่ยังไม่คุ้นกับแบรนด์นี้ Chapter 2 เป็นแบรนด์จักรยานน้องใหม่ที่ก่อตั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา เป็นแบรนด์เล็กๆ จากนิวซีแลนด์ที่เน้นผลิตเสือหมอบไฮเอนด์​และเน้นขายตรงสู่ผู้บริโภค ราคาค่าตัวจึงประหยัดกว่าเฟรมคู่แข่งตัวท็อปนิดหน่อย เอกลักษณ์ของ Chapter 2 คือเน้นขายจักรยานที่เป็นเฟรมเซ็ตอย่างเดียว โดยมีแนวคิดที่ว่าเจ้าของจักรยานควรใช้เวลาละเมียดละไมประกอบรถขึ้นมาเพื่อให้ได้จักรยานที่ถูกใจตัวเองที่สุด ไมค์เคยเล่าให้เราฟังว่าลูกค้าบางคนของเขาต้องซื้อเฟรมมาเก็บไว้เป็นปีเพราะศรีภรรยาไม่ยอมให้เอางบมาแต่งรถ ก็ต้องเก็บหอมรอบริบอยู่นานจนกว่าจะได้อะไหล่ประกอบเป็นคัน พูดไปก็ฟังดูคุ้นๆ อยู่ไม่น้อย 555 นอกจากนี้ไมค์ยังเป็นคนออกแบบจักรยานเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่วาดรูปเฟรมขึ้นมา ทำโปรโตไทป์ แล้วไปขึ้นโมลด์ในโรงงานในจีน/ไต้หวัน ผิดกับแบรนด์เล็กแนว startup ที่นิยมซื้อแบบสำเร็จจากโรงงานผู้ผลิต ตัวแบรนด์​ Chapter 2 เองไมค์พยายามสร้างให้มีกลิ่นอายความเป็นนิวซีแลนด์ ด้วยการใช้ลวดลายกราฟฟิคที่ได้แรงบันดาลใจจากงานศิลป์ของชนเผ่าเมารี แม้แต่ชื่อเฟรมจักรยานเขาก็ต้องตามภาษาเมารี ก็ช่วยให้แบรนด์ดูมีความต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาดไม่น้อยครับ
…..
ปีที่แล้ว DT รีวิวเสือหมอบ Chapter 2 TERE ไปซึ่งเป็นรถแนวว all round ออกแบบให้ดูมีความคลาสสิคเหมือนเสือหมอบแข่งขันสมัยก่อน ท่อนอนแบนราบ (โสล้ปนิดหน่อย) แต่ปรับใช้องค์ประกอบการออกแบบร่วมสมัย เช่นใช้ท่อทรงแอโรไดนามิกแทรกเข้ามา แต่ก็ไม่ใช่เสือหมอบแอโรเต็มตัว จนเดือนที่ผ่านมานี้เราได้ทดสอบ Chapter 2 RERE เสือหมอบแอโรแบบ full package คันแรกจากแบรนด์นี้ จะเป็นยังไงก็ลองมาดูกันครับ  

ลู่ลมด้วย และต้องสวยด้วย

DT เคยสัมภาษณ์เบื้องหลังการออกแบบเฟรมนี้แบบเต็มๆ จากไมค์ ไพรด์ไว้แล้ว ซึ่งเขาอธิบายไว้ละเอียดทีเดียวครับ ตอบประเด็นตั้งแต่เรื่องการบาลานซ์ความสวยงามของเฟรมกับประสิทธิภาพเชิงอากาศพลศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องการวางตำแหน่งเบรค ลองไปอ่านกันได้ที่นี่ สรุปสั้นๆ ตรงนี้ก็คือ ไมค์ตั้งใจทำให้ RERE เป็นเสือหมอบแบบสุดโต่ง สุดทรีน รูปทรงแอโรต้องมาเต็ม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นแอโรที่ “ดูดี” จากที่เขาเคยอ่านคำวิจารณ์ของกผู้ใช้ว่าเสือหมอบแอโรส่วนใหญ่ดูไม่สวย ไม่เหมือนจักรยาน ก็ไม่อยากให้ RERE เป็นแบบนั้น และแน่นอนว่าต้องลู่ลมอย่างพิสูจน์ได้ ไมค์ทดสอบความลู่ลมของเฟรมในอุโมงค์ลมของมหาวิทยาลัย Auckland ในนิวซีแลนด์ เทียบกับ Chapter 2 TERE ผลที่ได้ก็คือเสือหมอบคันใหม่ที่ลู่ลมกว่าในทุกองศาลมตกกระทบ จากกราฟข้างบนนี้ RERE เซฟแรงคนปั่นกว่า TERE ประมาณ 10 วัตต์ที่ความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยเซ็ตอัปที่เหมือนกันทั้งหมด ยกเว้นแฮนด์แอโร Chapter 2 MANA ที่ใช้ใน RERE ซึ่งน่าเสียดายว่าไม่ได้อยู่ในเสือหมอบคันทดสอบของเราครับ แฮนด์ MANA ที่ว่านี้เป็นแฮนด์คาร์บอนอินทิเกรทที่รวมเอาสเต็มไว้ด้วย ตัวแฮนด์ใช้ขนาดซางปกติ เพราะงั้นจะเอาไปใส่กับรถอื่นก็ได้ หรือจะใช้แฮนด์ธรรมดาไม่อินทิเกรตเหมือนในรถทดสอบเราก็ได้เช่นกัน  

ต่างจาก Chapter 2 TERE ยังไงบ้าง?

Chapter 2 RERE มีให้เลือก 2 สี คือดำด้านตัดกลอส หรือขาวมุก และอาจจะมีสีพิเศษแบบ limited edition ในอนาคต (ที่ผ่านมามีสี Giro d’Italia ที่ทำออกมาแค่ 15 คันแต่หมดไปแล้ว)​ เฟรมมีให้เลือก 5 ไซส์ตามตารางข้างล่างนี้ ในด้านฟิต RERE จะซิ่งกว่า TERE นิดหน่อยครับระยะตั้ง (stack) จะเตี้ยกว่า TERE 5-6 มิลลิเมตรในทุกไซส์ ส่วนระยะเอื้อม (reach) จะยาวกว่าประมาณ 2mm ที่ฟิตต่างกันก็เพราะเป็นรถที่ออกแบบมาให้ใช้งานกันคนละสไตล์ ซึ่ง RERE จะเน้นประสิทธิภาพการทำความเร็วมากกว่าตามสไตล์เสือหมอบแอโร ดูสัดส่วนอื่นๆ ก็บ่งบอกบอกชัดเจนว่าเป็นรถซิ่ง ระยะเชนสเตย์สั้นๆ ที่ 405mm เท่ากันทุกไซส์ช่วยให้รถขยับได้กระฉับกระเฉง และเช่นเดียวกับ TERE Chapter 2 ทำตะเกียบสองไซส์ เฟรมไซส์ XS และ S ใช้ตะเกียบที่มีระยะ fork rake 53mm ส่วน M-XL ใช้ตะเกียบ fork rake 43mm เพื่อให้ได้ระยะ trail ที่เหมาะสม หลักอานกลับด้านได้หากต้องการระยะเบาะเอื้อมมาข้างหน้าสำหรับเซ็ตรถแข่งไตรกีฬา RERE ใช้กะโหลก BB86 เฟรมเดินสายภายใน รองรับทั้งชุดขับไฟฟ้าและ mechanical และมีเวอร์ชันดิสก์เบรกให้เลือกด้วย ถ้าไม่ใช้ดิสก์เบรก เวอร์ชันริมเบรกใช้เบรกแบบ direct mount น้ำหนักเฟรมเคลมที่ 998 กรัม (ไซส์ M) +/-3% จากที่เคยชั่งตัวในร้านก็อยู่ที่พันกรัมนิดๆ ไม่หลุดจากที่เคลมไปมากนัก แต่ไม่ใช่เฟรมที่เน้นเบาแน่นอนครับ  

ปั่นเป็นยังไง?

คันนี้เรามีเวลาทดสอบประมาณหนึ่งอาทิตย์ ไม่เยอะเท่าไร แต่ก็พอจับคาแรคเตอร์ได้ครับ ขอสรุปเป็นข้อๆ ตามนี้
  1. หน้าตามีเอกลักษณ์ ดูผ่านๆ ทีแรกนึกถึง Cervelo S5 ปี 2014 แต่ พอดูใกล้ๆ แล้วก็ไม่ได้เหมือนเสียทีเดียวครับ มีจุดต่างอยู่ไม่น้อย คือเห็นหน้าแล้วไม่ผิดตัวแน่นอนว่าคันนี้ Chapter 2
  2. RERE ปั่นเหมือนหมอบแอโรเจนใหม่ นั่นคือตัดความสะท้านแบบบ้าดีเดือดออกไปแล้ว ไม่แข็งทื่อตื้อไปหมด เสือหมอบแอโรหลายๆ คัน “ขี่สนุก” เวลาเราปั่นหนักๆ ที่ความเร็วสูงๆ แต่ RERE นี่ไม่ต้องเค้นไปขนาดนั้นครับ ไม่ใช่เฟรมที่ “สบาย” แต่ก็ไม่สะท้านมากนัก ยังมีฟีดแบคคมๆ จากถนนให้รู้สึกได้ว่านี่คือรถที่ขี่เอาความเร็วเป็นหลัก ตัวเฟรมรองรับยางกว้าง 28mm (ริมเบรก) แนะนำว่าให้ใช้ยางอย่างน้อยสัก 25mm จับคู่กับล้อที่ความกว้างภายในสัก 17mm ขึ้นไปจะได้ฟีลรถแข่งที่กลมกล่อมครับ
  3. จังหวะเร่ง ตอบสนองดีใช้ได้ ให้ความเฟิร์มแน่นและมั่นคงครับ แต่ยังไม่สุดเหมือนรถ สไตล์ all round ในโปรทัวร์หลายๆ คัน เช่นพวก Canyon Ultimate, Specialized Tarmac, Bianchi Specialissima ไม่พุ่งเท่า TERE แต่ก็ไม่หน่วงเหมือนเสือหมอบแอโรเจนที่แล้ว ฟีลลิงรวมๆ คือเป็นรถที่อยากให้เรากระทุ้ง กระแทกบ่อยๆ สปีดต้นอาจจะไม่ดีมากเหมือนรถไต่เขา แต่พอออกตัวแล้วทำให้เราอยากขี่เร็วๆ ต่อ มันสนุกตรงนี้
  4. ด้านการบังคับควบคุม คันนี้ให้ฟีลกลางๆ ครับ ไม่ช้าไม่เร็ว นิ่งดี คุมไลน์ดี คล้ายๆ TERE ถ้าชอบรถแนวหวือหวาพาเสียว RERE ไม่ตอบโจทย์
  5. สู้ลมเป็นยังไง? เราไม่มีอุโมงค์ลมให้ทดสอบ ครั้นจะเทสต์เอาความเป็นวิทยาศาสตร์ในพื้นที่เปิดก็แทบเป็นไปไม่ได้ ต่อให้จะใช้ปัจจัยเปรียบเทียบเหมือนกันขนาดไหนก็ตาม (เคยลองหลายทีแล้ว margin of error มันทับส่วนต่างระหว่างรถหมดครับ ไม่เวิร์ก) เพราะงั้นว่ากันด้วยฟีลลิงล้วนๆ คือไหลดีกว่า TERE แบบรู้สึกได้ ไหลกว่ารถสไตล์ all round อย่าง Lapiere Xelius ที่เราเคยรีวิว โดยเฉพาะที่ความเร็วเกิน 35kph ขึ้นไป รถไม่ตื้อลมครับ ไม่ต้องเติมเยอะเหมือน TERE ถ้าขี่ท่าก้มๆ ลู่ลมได้นี่จะสนุกมาก
  6. ขึ้นเขาเป็นยังไง? ด้วยที่มีเวลาจำกัดผมทดสอบในเมืองง่ายๆ ด้วยการปั่นขึ้นลานจอดรถสิบชั้นแบบต่อๆ กัน จริงว่ามันไม่เหมือนการไต่ขึ้นเขายาวๆ แต่ก็พอจับความรู้สึกการถ่ายส่งแรงเวลาเจอทางสโล้ปได้ไม่ยากครับ ตรงนี้ RERE ทำได้ดีกว่าเสือหมอบแอโรหลายๆ คันครับ ความตื้อของรถท่อทรงแอโรยังมีให้รู้สึก แต่ไม่เยอะจนเป็นที่กวนใจ ไม่หน่วงมากนัก ดีเหลือใช้ แต่ถ้าเทียบกับ TERE ตรงนี้ TERE ทำได้ดีกว่าครับ
  7. มีอะไรที่ไม่ชอบ? น้อยครับ ถ้าจะมีก็คือช่วงหน้ารถที่รู้สึกว่ามันยังไม่ “แน่น” เวลากด กระชากสปรินต์ คือจะอธิบายยังไงดี ผมว่าช่วงหลังรถนี่เฟิร์มมาก ดีดดิ้น ตอบสนองแรงกดได้เร้าใจดี แต่อย่างเวลายกสปรินต์กลับรู้สึกว่าช่วงหน้ามันน่าจะเฟิร์มกว่านี้สักหน่อย ไม่ใช่ว้าเฟรมย้วยนะครับ เฟรมสติฟฟ์ดี ไม่โหวง ไม่หว่อง ไม่ได้ทำให้รถบังคับลำลาก เป็นแค่คาแรคเตอร์การตอบสนองแรงของมันน่ะนะ เหมือน Canyon Aeroad CF SLX ที่ผมเคยรีวิว ที่บอกว่าจังหวะเร่งมัน “หน่วงนิดนึง” แต่เวลาเราดูผลทดสอบแล้ว ค่าความสติฟฟ์ของกะโหลกมันนี่เยอะกว่ารถไต่เขาเสียอีก
  8. เราไม่ได้ทดสอบแฮนด์อินทิเกรต Chapter 2 MANA ซึ่งน่าเสียดายเพราะมันออกแบบมาให้ใช้คู่กันครับ จุดน่าสนใจคือแฮนด์ตัวนี้มันมีรีชแค่ 70mm ทำให้เราเซ็ตรถได้สวยเพราะสามารถเลือกสเต็มที่ยาวกว่าปกติได้ ปกติแฮนด์อินทิเกรตมันจะดูไม่สวยถ้าใช้ระยะเสต็มสั้นๆ ครับ
 

สรุป

ถึง Chapter 2 จะเป็นแบรนด์ใหม่ แต่ประสิทธิภาพรถที่ทำออกมาก็สู้กับคู่แข่งได้แบบไม่น่าเกลียด สำหรับคนที่ตามหาเสือหมอบแอโรอยู่ Chapter 2 RERE เป็นทางเลือกที่ดีครับ มีทุกอย่างอย่างที่รถแอโรควรจะมี น้ำหนักไม่แย่เกินไป ได้ฟีลรถแข่งเต็มตัว แต่เป็นรถแข่งที่ขี่สนุกและขี่สบาย มิติรถขีี่ง่าย รูปทรงร่วมสมัยและมีเอกลักษณ์ ฟิตติ้งปรับไซส์ให้เข้ากับตัวได้ไม่ยาก แต่รวมๆ แล้วยังรู้สึกว่าขาดความกลมกล่อมไปนิดนึงก็ตรงช่วง front end ที่บอกไปว่าอยากให้ปึ้กว่านี้ครับ ดูมันขัดกับคาแรคเตอร์รถที่อยากให้เราขี่แบบเดือดๆ ตลอดเวลา! ถ้าชอบแบรนด์นี้และชอบขี่สบาย ขี่ทั้งวัน ขึ้นเขาบ่อย TERE ก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าครับ ขอบคุณ Chapter 2 Bike Thailand ที่ส่งรถมาให้เราทดสอบ ราคาเฟรม Chapter 2 RERE เฟรมริมเบรก: 94,395 บาท เฟรมดิสก์เบรก: 98,696 บาท ข้อมูลเพิ่มเติม: Chapter2Bikes.com, Chapter 2 Bikes Thailand Fanpage  

ดูกันชัดๆ

รูปทรงจะต่างจาก Chapter 2 TERE พอสมควร ด้วยท่อนอนที่สโล้ปมาก แต่ตรงนี้น่าจะดีกับคนเอเชียที่ตัวไม่สูงครับ เพราะชักหลักอานได้เยอะดูสวยดี
ช่วงครึ่งหลังของรถ
ท่อนอนด้านบนเป็นท่อทรงกลม ดูต่างจากเสือหมอบแอโรอื่นๆ ครับ แต่เข้าใจว่าท่อกลมนี่เป็นรูปทรงที่สติฟฟ์มาก และท่อส่วนนี้ไม่มีผลกับการปะทะลมเท่าไร ไม่ต้องรีดแบนก็ได้
นี่จุดเข้าสายเบรกหลัง
ท่อล่างตัดเว้าเล็กน้อยให้รองรับกับโปรไฟล์ล้อหน้า
มีตราประทับ UCI ด้วย ใช้ลงสนาม UCI ได้ครับ
เบรค Direct Mount ช่วยให้ใช้ยางกว้างได้สูงสุด 28mm และที่สำคัญฟีลลิงเบรกดีมากกก
ดูจุด cutout เว้าท่อนั่งชัดๆ
ซีทสเตย์ออกแบบให้โค้งเข้าในเล็กน้อย ไมค์บอกว่าตรงนี้ช่วยให้เฟรมรับแรงสะท้านพื้นถนนได้ดีขึ้นครับ เป็นทริกที่เราเห็นในเสือหมอบแข่งขันหลายๆ คันเหมือนกัน บางรุ่นก็ทำโค้งที่เชนสเตย์
ท่อคอทรงนาฬิกาทรายตามสมัยนิยม
จุดยึดขวดน้ำท่อล่างติดได้สองจุด
รัดหลักอานแบบอินทิเกรตซ่อนไว้ใต้ท่อนอน
ไมค์บอกว่าเสือหมอบคันต่อไป จะเป็นรถไต่เขาเน้นความเบาเป็นพิเศษ และคงได้เห็นช่วงปลายปีนี้ครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!