รีวิว Shimanami Kaido 2018 – งานปั่นที่ชีวิตนี้ต้องไปให้ได้สักครั้ง

ชิมานามิไคโดคืองานปั่นจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และเป็นงานที่คนสมัครเยอะที่สุด สัปดาห์นี้เราแนะนำตัวงานอย่างละเอียดไปแล้วใน โพสต์นี้

ในตอนที่สองนี้เราจะพาไปรีวิวเส้นทางการปั่น ถึงบรรยากาศ ความรู้สึก และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้ายันเย็น สำหรับคนที่สนใจอยากจะมาลองดูสักครั้ง จะได้รู้ว่จะเจออะไรบ้างครับ

 

ก่อนจะเริ่มปั่น

จักรยานที่ติดเบอร์แข่งเรียบร้อย รอขนขึ้นรถตู้ไปส่งให้ที่จุดสตาร์ท

ตีสามครึ่งของวันที่ 28 ตุลาคม 2018 วันงาน พวกเราทานอาหารรองท้องที่ซื้อตุนไว้ตั้งแต่เมื่อคืน ตรวจเช็คความพร้อมของจักรยานครั้งสุดท้าย และลงมาเจอกับเพื่อนคนอื่นๆ ตอนตี 4 และด้วยความเร่งรีบในยามเช้ามืดทำให้หลายๆ คนลืมของกันคนละเล็กละน้อย ไม่ว่าจะเป็นถุงเท้า, เสื้อกันหนาว บางคนลืมใส่ชุดปั่นลงมา!

เมื่อทุกคนลงมาพร้อมกันแล้ว ทีมงานได้ทำการขนจักรยานขึ้นรถตู้ไปส่งให้ ณ จุดสตาร์ท แต่ตัวนักปั่นเองจะถูกแยกให้ไปขึ้นรถบัสที่ผู้จัดงานเตรียมไว้ตามจุดต่างๆ ในเมือง และไม่อนุญาตให้นักปั่นขับรถไปยังจุดสตาร์ทด้วยตนเองเพื่อลดความแออัดในบริเวณงานครับ ต้องเข้าแถวรอขึ้นรถอย่างเรียบร้อย ก่อนขึ้นรถจะมีการนับจำนวนผู้โดยสารให้พอดีกับจำนวนที่นั่งบนรถ หากคันแรกเต็มก็จะมีคันที่ต่อไปรอรับได้เลยทันที ไม่ต้องรอนาน

ตี 4:40 เมื่อรถบัสที่นั่งเต็มแล้ว (เพื่อความปลอดภัยจะไม่ให้ยืนโหนในรถ) ก็พร้อมที่จะมุ่งหน้าไปยังจุดสตาร์ท ตลอดทางนั้นเต็มไปด้วยนักปั่นที่เลือกที่จะปั่นไปเอง บ้างก็เป็นชาวเมืองทุกช่วงวัยที่ออกมารอต้อนรับนักปั่นหน้าบ้าน บ้างก็ชี้บอกเส้นทางไปยังจุดสตาร์ทให้กับนักปั่น ซึ่งทุกๆ คนในเมืองล้วนให้ความสำคัญกับงานใหญ่ของเมืองนี้

จุดรับจักรยาน และพื้นที่ประกอบจักรยาน

6 โมงตรง รถบัสก็มาถึงปลายทางที่เป็นเหมือนโกดังอันเต็มไปด้วยกล่องจักรยานจำนวนมหาศาล จักรยานเหล่านี้จะถูกส่งมารอที่จุดสตาร์ทล่วงหน้า นักปั่นที่เดินทางมาถึงสามารถแจ้งหมายเลขฝากจักรยานและรอรับกล่องของตน รวมถึงประกอบจักรยานกัน ณ บริเวณนั้นเลย นับว่าทุกอย่างถูกเตรียมการไว้ให้นักปั่นเดินทางมายังจุดสตาร์ทได้อย่างคล่องตัวที่สุด

ต่างคนต่างช่วยกันประกอบจักรยาน

นักปั่นชาวไทยที่มาจากประเทศร้อนชื้นอย่างผมก็เจอกับอุปสรรคอย่างแรกเลยนั่นคืออากาศที่หนาวราว 18 องศา บวกกับลมที่แรงจนสั่นไปทั้งตัว ยังดีที่ติดเบสเลเยอร์แขนยาวกับเสื้อกันลมไปด้วย ดังนั้นหากใครจะไปช่วงเดียวกันนี้อย่าลืมเตรียมอุปกรณ์กันหนาวไปด้วยนะครับ

ติดเลข BIB ที่หน้าจักรยาน บนหมวก ด้านหลังเสื้อ และที่ถุงฝากของ

ประกอบรถกันเสร็จแล้วก็ได้เวลาไปจุดสตาร์ท ที่จุดสตาร์ททางทีมงานได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับรับฝากของไว้ให้ นักปั่นสามารถนำของส่วนตัวใส่ในถุงหูหิ้วสีขาว ติดเบอร์แข่งขัน และนำไปฝากตามเส้นทางที่ตนลงสมัครไว้ และรอรับได้อีกครั้งเมื่อถึงเส้นชัยตามเส้นทางที่เราเลือกลงสมัครไว้

สตาฟในเสื้อกั๊กสีส้ม ทำหน้าที่รับถุงฝากและคัดแยกถุงตามเส้นทางของนักปั่น

เมื่อฝากของเสร็จเรียบร้อย นักปั่นก็จะไปประจำยังจุดปล่อยตัวของแต่ละรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นจะถูกซอยเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 250 คน ปล่อยตัวห่างกัน 4 ถึง 5 นาทีเพื่อลดความแออัดตอนเริ่มสตาร์ทนั่นเอง ซึ่งจุดปล่อยตัวทุกจุดจะมีห้องน้ำเตรียมไว้ให้เรียบร้อย

ห้องน้ำเคลื่อนที่ที่ทีมงานจัดเตรียมไว้ให้ ด้านหน้าเป็นห้องน้ำชาย และด้านหลังเป็นห้องน้ำหญิง
ป้ายแบ่งกลุ่ม พวกเราได้ลงในรุ่น D 70 กิโล ปล่อยตัวเป็นกลุ่มที่ 4

 

พวกนายขี่ช้าๆ ไม่เป็นเหรอ?

การปล่อยตัวเริ่มต้นขึ้นไล่ไปตั้งแต่รุ่น B, C, D, E และ F (เส้นทาง A และ G นั้นปล่อยตัวจากจุดอื่น) โดยมีท่านประธานเป็นผู้รับหน้าที่ในการปล่อยตัวและโบกมือส่งนักปั่นทุกคนออกจากจุดสตาร์ท โฆษกบนเวทีก็อธิบายเส้นทาง เน้นกับนักปั่นเรื่องความปลอดภัย และให้พึงตระหนักไว้ว่านี่ไม่ใช่งานแข่งที่เน้นการทำเวลา แต่ขอให้ดื่มด่ำกับบรรยากาศสองข้างทางที่ผ่านไปนั่นเอง

ท่านประธานนับสัญญาณถอยหลัง และโบกมือส่งนักปั่นทุกคนออกจากจุดสตาร์ท มีความพิธีการญี่ปุ่นสูงมาก

ถนนไฮเวย์นั้นจะปิดให้ปั่นเฉพาะเลนปกติ ส่วนเลนสวนจะถูกสำรองไว้สำหรับรถฉุกเฉินเท่านั้น

ด้วยความที่มีนักปั่นร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ตอนปล่อยตัวปั่นตามกันไปอย่างเชื่องช้า และความเร็วกลุ่มจะถูกคุมด้วยมาแชลในชุดปั่นสีส้มนั่นเอง

ช่วงแรกความเร็วกลุ่มถูกควบคุมด้วยมาร์แชลเสื้อส้มด้านหน้า

เมื่อโดนคุมความเร็ว ความคันมันก็บังเกิดครับ บรรดาสื่อที่มาด้วยกันกับผม ได้แก่ เคนจากฮ่องกง, เบนจามินจากออสเตรเลีย และอเล็กซ์จากฝรั่งเศสทนไม่ไหว ลืมคำว่างานปั่นเพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศไปเสียสิ้น เหลือไว้เพียงแต่เลือดข้นคนขาแรง กระชากความเร็วยิงออกไปจากกลุ่ม ทิ้งไว้ให้นักปั่นชาวไทยมองตาปริบๆ รำพึงในใจว่าพวกนายเอาจริงหรอ

แต่ด้วยกลัวโดนเพื่อนล้อก็เลยตัดสินใจตามเขาไป….คุ้นๆ มั้ยช็อตนี้ (ฮ่าๆๆ)

บรรยากาศการปั่นสบายๆ ระเหยสิ้นไปแล้ว ณ เวลานี้นักปั่นขาแรงน้อยชาวไทยกำลังพยายามตามเขาที่ 300 วัตต์ ข้ามสะพาน Kurushima-Kaikyo อันโด่งดังที่ความเร็ว 40 kph และกำลังจะหลุดกลุ่มหลังจากที่ปั่นด้วยกันมาได้แค่ไม่กี่สิบโลเท่านั้น

เลี้ยวขึ้นสะพานแรก Kurushima-Kaikyo ยาว 4.1 กิโลเมตร
สะพานยาวมากจนไม่เห็นปลายสุดของอีกด้าน

บนสะพานที่มีการขยายเลนจากหนึ่งไปสองเลน เปิดโอกาสให้ทำความเร็วกันได้เต็มที่ ทำให้ได้หลุดกลุ่มสมดังใจ เพราะหากฝืนตามไปกว่านี้อาจได้ใช้บริการเต็นท์สีส้มสำหรับปฐมพยาบาลผู้เป็นลมเสียก่อน และจะอ้างได้ว่ากลับมาปั่นดื่มด่ำบรรยากาศตามเจตนารมณ์ของผู้จัดนั่นเอง

สะพานที่สอง Hakata-Oshima ยาว 1.1 กิโลเมตร
สะพานที่สาม Omishima ยาว 328 เมตร และทีมงานที่เฝ้าระวังรอยต่อของสะพาน
สะพานที่สี่ TATARA ยาว 1.5 กิโลเมตร

มาตรฐานความปลอดภัยในการปั่นของงานนี้อยู่ในระดับที่สูงมาก ผิวถนนเรียบสนิท ไม่มีเศษหิน ฝุ่น ทราย ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการลื่นล้ม และทุกๆ รอยต่อสะพานเจ้าหน้าที่จะนำเอาแผ่นยางแข็งมาปูปิดร่อง และมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำซ้ายขวาของแต่ละร่องพร้อมรับมือกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิด ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่คุณพ่อคุณแม่เลือกที่จะพาลูกๆ หลานๆ มาปั่นกันเป็นคาราวานครอบครัว

เมื่อปั่นมาถึงจุดเช็คพอยต์แรก นักปั่นต้องแวะเข้าไปทุกคน ไม่สามารถปั่นเลยเช็คพอยต์ไปตรงๆ ได้ครับ  ตรงนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุลงไปได้อีก แน่นอนว่าจุดเช็คพอยต์นั้นเตรียมที่จอดจักรยาน, ห้องน้ำ, อาหารและเครื่องดื่มไว้อย่างสมบูรณ์

ที่จุดเช็คพอยต์ที่สองนี้เองที่เราได้พบกับอเล็กซ์จากฝรั่งเศส คนที่ยอมหลุดเพื่อแวะเข้าห้องน้ำ

เจอผู้ร่วมทางแล้ว!

ข้อตกลงระหว่างสองเราหลังจากนี้คือปั่นกันแบบชิวๆ นะ เน้นถ่ายรูปจะได้มีรูปมารีวิวให้ผู้อ่านเยอะๆ นักปั่นแรงน้อยอย่างเราก็โอเคดีเลย จับมือสร้างพันธมิตรชั่วคราวขึ้น สิ้นประโยคไม่ทันขาดคำอเล็กซ์ยืนยกออกตัวไปด้วยความเร็วสูง…อีกแล้ว

สัญญาหน้าฉากคือการปั่นไปด้วยกัน แต่ความจริงคือการที่อเล็กซ์ลากจนนักปั่นที่เกาะมาด้วยข้างหลังค่อยๆ หลุดหายไปทีละคนสองคน คงเหลือไว้แต่ผมเองที่ก็เริ่มเหนื่อยแล้ว แต่กระนั้นผมก็ได้เตรียมแผนสำรองเพื่อรับมือกับเหตุการณ์นี้ไว้ล่วงหน้า ด้วยการยืนยกไปเทียบข้างพร้อมๆ กับร่ายคาถาดังๆ ว่า

“อเล็กซ์…เดี๋ยวผมถ่ายรูปให้นะ”

“Alex…Say Cheese!”

ได้ผล! ความเร็วลดลงอย่างเห็นได้ชัด คาถานี้ได้ผลกับทุกชาติจริงๆ และทำให้พวกเรายังคงปั่นกันแบบสามัคคีกันได้ต่อไป

 

เส้นทางแบบนี้…

ตลอดเส้นทางนั้นเต็มไปด้วยสะพานน้อยใหญ่ ซึ่งแต่ละสะพานมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน รวมถึงอุโมงค์ที่ตัดผ่านภูเขาเป็นระยะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักปั่นเป็นอย่างมาก รวมถึงเหล่าบรรดากองเชียร์ที่มายืนโบกไม้โบกมือทักทายนักปั่น นับว่าเป็นงานปั่นที่สร้างความสุขให้กับทั้งแขกผู้มาเยือนและเจ้าบ้านที่รอต้อนรับอย่างแท้จริง

ปากทางเข้าอุโมงค์ และเจ้าหน้าที่ถือป้ายเตือนให้เปิดไฟในอุโมงค์ด้วย
แผนชะลอความเร็วยังคงได้ผลเป็นระยะ
สะพานที่ห้า IKUCHI ยาว 790 เมตร

เมื่อปั่นพ้นเขตสะพานที่เชื่อมระหว่างเกาะ นักปั่นจะไหลเข้ามาสู่ตัวเมืองเมืองโอโนมิจิ ซึ่งในเขตตัวเมืองจะมีตำรวจจราจรและทีมงานประจำทุกๆ แยกให้รู้สึกอุ่นใจ แน่นอนว่าชาวญี่ปุ่นออกมาเชียร์นักปั่นหน้าบ้านของพวกเขาอย่างสนุกสนาน

และแล้วเราก็ปั่นมาถึงจุดเช็คพอยต์ที่สอง ขนมและน้ำอุดมสมบูรณ์เช่นเคย ที่จุดเช็คพอยต์นี้เราได้พบกับคุณหวานหวาน ที่มาร่วมงานปั่นระยะ 140 กิโลด้วย

คุณหวาน หวานและทีม THONGLOR BIKE

พ้นจุดเช็คพอยต์ที่สอง เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการปั่นที่เราต้องปั่นข้ามไปยังอีกเกาะหนึ่ง ซึ่งระหว่างทางขึ้นเนินเพื่อข้ามสะพาน สัญญาพันธมิตรชั่วคราวระหว่างผมกับอเล็กซ์ก็ขาดสะบั้นลงเมื่ออเล็กซ์ยืนปั่นตามปกติ แต่จู่ๆ ก็เร่งพุ่งพรวดขึ้นเนินไป ผมก็ได้แต่มองตาปริบๆ แล้วก็ปั่นตามเพซตัวเอง….

สะพานนี้เป็นสะพานที่ออกแบบมาพิเศษ เพื่อให้มีทางลอดสำหรับจักรยานและมอเตอร์ไซด์โดยเฉพาะอยู่ด้านล่างของสะพานเลย

ทางจักรยานใต้สะพาน INNOSHIMA ยาว 1.3 กิโลเมตร

พ้นเขตสะพานลงมาบรรจบกับชายหาด ตามเจตนารมณ์ของการดื่มด่ำธรรมชาติ ผมเลยตัดสินใจหยุดจอดถ่ายรูปในมุมที่ผมมั่นใจว่าพวกขาซิ่งต้องปั่นเลยจุดชมวิวนี้แน่นอน

สะพาน INNOSHIMA ที่เราเพิ่งปั่นลอดมาเมื่อสักครู่

 

ข้ามเกาะไปหามิสโอโนมิจิ

หลังจากถ่ายรูปเสร็จก็เริ่มปั่นต่อจนได้เจอกับขบวนนักปั่นชาวไทยที่ปั่นรุ่น 140 กิโลครับ เลยอาศัยไปด้วยกัน จนมาถึงลานทรายโล่งๆ และได้เจอกับทุกๆ คนที่ต่อคิวรออะไรบางอย่างกันอยู่

ในที่สุดก็ตามมาทันทุกคน…ที่หยุดรอเรือ

จริงๆ แล้วลานดังกล่าวเป็นจุดพักรอขึ้นเรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะ เกาะนี้เป็นเพียงแค่ทางผ่านไปสู่เส้นชัยเท่านั้น นับว่าเป็นการจัดเส้นทางได้น่าตื่นตาตื่นใจ และมีครบทุกรสชาติจริงๆ

เรือมารอรับนักปั่นข้ามเกาะ
จากบนเรือจะเห็นเมืองโอโนมิจิที่ทอดยาวตลอดแนวทะเล

เมื่อข้ามมายังอีกเกาะแล้ว เส้นทางส่วนที่เหลือนั้นออกแบบมาเพื่อต้อนรับนักปั่นเข้าเส้นชัยมากกว่า มีทีมงานรอปรบมือต้อนรับนักปั่น ทั้งมีการแปะมือราวกับเป็นคนดัง เมื่อเลี้ยวซ้ายสุดท้ายเพื่อเข้าเส้นชัย ก็พบกับเหล่าตากล้อง เชียร์หลีดเดอร์ วงโยธวาทิต รอต้อนรับอย่างสนุกสนานโดยนักปั่นไม่จำเป็นต้องแย่งชิงอันดับเพื่อเข้าเส้นชัยกันเลย

มือกลองรอต้อนรับนักปั่นเข้าเส้นชัย
ทีมเชียร์หลีดเดอร์และวงโยธวาทิต
มิสโอโนมิจิ และตุ๊กตามาสคอตประจำเมือง
โปรไฟล์แต่ละคน ธรรมดาที่ไหน
ประกาศนีย์บัตรสำหรับคนที่เข้าร่วม ที่ระบุชื่อเฉพาะคนเลย งานออกแบบสวยมากครับ

ถึงส่วนงานปั่นจะครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่งานของผู้จัดยังไม่จบ ทางผู้จัดได้เตรียมการขนส่งจักรยานกลับให้กับผู้ร่วมงานด้วย โดยหากท่านใดเลือกเช่าจักรยาน สามารถคืนกับทางผู้จัดได้เลย แต่หากนำจักรยานมาเอง สามารถแพ็คจักรยานกลับลงกล่องและฝากส่งกลับไปถึงบ้านได้เช่นกัน

จุดคืนจักรยานเช่า
จุดถอดประกอบจักรยานแพ็คลงกล่อง
ร่ายคาถาวิเศษโดยเบนจามิน ช่างภาพที่ปั่นเร็วจนลืมถ่ายรูป

 

สนุกแบบนี้ทำไมไม่จัดทุกปี!?

งานปั่นจักรยาน Shimanami Kaido 2018 นั้น เป็นงานปั่นผู้จัดคิด และวางแผนอย่างรัดกุมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มรับนักปั่นจากจุดต่างๆ ในเมือง จนส่งทุกคนและจักรยานทุกคันกลับบ้านได้อย่างสมบูรณ์แบบ

เส้นทางโดยรวมตื่นตาตื่นใจ ผสมผสานบรรยากาศทั้งทะเล ภูเขา สะพาน อุโมงค์ เมือง ผู้คนและวัฒนธรรม ได้อย่างลงตัวครับ นักปั่นทุกเพศทุกวัยสามารถร่วมสนุกและมั่นใจในความปลอดภัยได้ตลอดเส้นทาง แม้ว่าอาจขัดใจนักปั่นขาแรงที่ต้องการทำความเร็ว แต่หากตัดตัวแปรเรื่องความเร็วออกไปแล้ว ผมมั่นใจได้ว่าปั่นเร็วหรือช้าก็สนุกได้ไม่แพ้กัน หากมีโอกาสอยากแนะนำให้ทุกท่านได้ไปลองปั่นในเส้นทางนี้สักครั้งในชีวิตครับ

ถ้าจะมานอกช่วงที่เขาจัดก็มาเองไม่ยากเท่าไร เส้นทางเอื้ออำนวยคนปั่นจักรยานอยู่แล้ว จริงว่าในงานนี้เขาปิดถนนไฮเวย์ให้จักรยานปั่น แต่ข้างๆ ถนนก็มีเลนจักรยานต่างหากตลอดทั้งแนวเหมือนกัน มาปั่นได้อย่างปลอดภัยครับ

สำหรับงานปั่นจักรยาน Shimanami Kaido ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2020 ครับ

By จุติพงศ์ ภูสุมาศ

ใช้ กับตันทีมปั่นฝัน ใช้ชีวิตควบคู่กับการปั่นตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน สนใจในทุกด้านของเครื่องจักรสองล้อพลังเท้า!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *