เราไปปั่นงานจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

“หนึ่งงานปั่นที่คุณจะจดจำมันไปตลอดชีวิต 
(One route that you will never forget in your whole life.)” 

คำพูดทิ้งท้ายในงานประชุมสื่องาน Shimanami Kaido ประจำปี 2018

จะมีงานปั่นไหนบ้างที่เราต้องต่อคิวเพื่อให้ได้คิวในการสมัคร? ด้วยปริมาณคนเข้าร่วมกว่า 7 พันคน ชิมานามิไคโด เป็นงานปั่นจักรยานที่ได้รับความนิยมที่สุดในญี่ปุ่นที่ดึงดูดนักปั่นทั้งในและต่างประเทศ กับเส้นทางปั่นข้ามเกาะวิวทะเลสวยๆ บนถนนไฮเวย์

งานนี้มีการโปรโมทค่อนข้างเยอะ ผ่านสื่อหลายช่องทาง ผู้อ่านหลายคนคงเคยเห็นมาบ้างแล้วผ่านทางโฆษณาในโทรทัศน์ หรือบนบิลบอร์ด ในนิตยสารต่างๆ หรือจะผ่านอินฟลูเอนเซอร์หลายๆ คนก็ดี งานนี้ เป็นยังไง มีรายละเอียดยังไง น่าปั่นขนาดไหน ปีนี้ Ducking Tiger มีโอกาสได้ไปร่วมงานเลยหยิบเรื่องราวจากการปั่นงานนี้มาเล่าให้ฟังครับ ในตอนแรกนี้มารู้จักภาพรวมของงานกันอย่างคร่าวๆ ก่อน


Shimanami Kaido (ชิมานามิ ไคโด) คืองานปั่นที่จัดเป็นประจำทุกๆ สองปี เป็นเส้นทางที่พาดผ่านระหว่างเมืองโอโนมิจิ จังหวัดฮิโรชิมะ และเมืองอิมาบาริ จังหวัดเอะฮิเมะ

ทางสายนี้ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของทะเล ภูเขา เกาะ และอุโมงค์ เส้นทางปั่นจักรยานรอบๆ เมืองนี้ติด 1 ใน 7 เส้นทางปั่นจักรยานที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งโดยปกติแล้ว Shimanami Kaido เป็นเส้นทางที่บุคคลทั่วไปสามารถปั่นได้ตลอดทั้งปี มีทางจักรยานรองรับ แต่ที่พิเศษสำหรับงานนี้คือจะเป็นการปิดสะพานทั้งหมดเพื่อให้นักปั่นได้ปั่นกันเต็มที่บนไฮเวย์

สะพานที่ปกติให้เฉพาะรถยนต์วิ่งจะถูกปิดให้นักปั่นเป็นกรณีพิเศษ

จุดประสงค์หลักของงานนี้คือต้องการดึงดูดนักปั่นและนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆ เข้ามาเที่ยวฮิโรชิมะและเอะฮิเมะ โดยงานนี้ไม่มุ่งเน้นที่การแข่งขันทำความเร็ว แต่ต้องการให้นักปั่นทุกคนสนุกและมีความสุขตลอดเส้นทางที่สวยงามแห่งนี้ รวมถึงเป็นโมเดลงานปั่นให้กับท้องถิ่นอื่นๆ ต่อไป

โปสเตอร์โปรโมตงานปั่นประจำปี 2018

โดยงานปั่นนี้มีให้เลือกทั้งหมด 7 รุ่น ได้แก่

  • รุ่น A ระยะ 70 กิโลเมตร เริ่มจากเมืองโอโนมิจิถึงอิมาบาริ จำนวน 1,000 คน
  • รุ่น B ระยะ 110 กิโลเมตร ไปกลับระหว่างเมืองอิมาบาริกับโอมิชิม่า จำนวน 1,500 คน
  • รุ่น C ระยะ 140 กิโลเมตร ไปกลับระหว่างเมืองอิมาบาริกับโอโนมิจิ จำนวน 500 คน
  • รุ่น D ระยะ 70 กิโลเมตร เริ่มจากเมืองอิมาบาริไปโอโนมิจิ จำนวน 1,500 คน
  • รุ่น E ระยะ 110 กิโลเมตร ไปกลับระหว่างเมืองอิมาบาริกับอิคูชิม่า จำนวน 1,000 คน
  • รุ่น F ระยะ 70 กิโลเมตร เริ่มจากเมืองอิมาบาริไปคามิจิม่า จำนวน 500 คน
  • รุ่น G ระยะ 30 กิโลเมตร ไปกลับระหว่างเมืองอิมาบาริกับโอชิม่า จำนวน 1,000 คน
เส้นทางการปั่นและจุดชมวิวที่น่าสนใจ

Day 1: ลงทะเบียน, เดินดูรอบงาน

สำหรับทีมเราได้ลงในรุ่น D ระยะ 70 กิโล ซึ่งแต่ละรุ่นจะถูกแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละ 250 คนเพื่อลดความแออัดระหว่างการปล่อยตัว

เพื่อลดความวุ่นวายในเช้าวันแข่ง นักปั่นทุกคนจำเป็นต้องลงทะเบียนเข้าแข่งขัน รับ BIB และตรวจเช็คสภาพจักรยานก่อนวันแข่ง 1 วัน โดยนอกจากการลงทะเบียนแล้วยังมีอีเวนท์ต่างๆ รวมถึงร้านค้าและร้านอาหารมาเปิดอย่างคับคั่ง แบ่งโซนเป็นสัดส่วนตามความสนใจของผู้เข้าชม และเหมาะสำหรับการพาครอบครัวมาเดินเล่นเป็นอย่างยิ่ง

ทางขึ้นเนินไปยังสถานที่ลงทะเบียน

เมื่อเข้าสู่สถานที่ลงทะเบียนจะพบกับเต็นท์ลงทะเบียนเป็นแนวยาว โดยแต่ละเต็นท์จะแบ่งตามเส้นทางที่ผู้สมัครเลือกไว้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อกั๊กสีส้มเป็นผู้ดำเนินการ (ซึ่งเราทราบมาทีหลังว่า สตาฟส่วนหนึ่งนั้นเป็นอาสาสมัครที่มาช่วยงานด้วยใจ)

เสื้อกั๊กสีส้มเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเหล่าสตาฟ รวมถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหล่าทีมงานจะใช้เป็นสีส้มทั้งหมด

และนี่คือ BIB ที่ได้รับมาจากงาน เลข 4 ตัวแรกหมายถึงเส้นทางที่เราเลือกลง เลขที่ 4 ตัวที่สองคือลำดับการปล่อยตัว และเลขสามตัวท้าย 431 คือเลขประจำตัวนักปั่น

เมื่อลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยเราก็เริ่มเดินดูภายในงานกัน เริ่มกันที่โซนแรก จะเป็นโซนจัดแสดงสินค้าของเหล่าแบรนด์ดัง ที่พาจักรยานและอุปกรณ์ต่างๆ มาโชว์ตัวกันอย่างเต็มที่

จักรยานไฟฟ้าของยักษ์ใหญ่ GIANT
Pinarello Dogma พร้อมชุดขับ Campagnolo Super Record 12 Speed
DE ROSA กับพนักงานที่อธิบายสรรพคุณอย่างตั้งใจ

สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้จากงานนี้คือ จักรยานไฟฟ้าเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ทั้งแบรนด์จักรยานดังเดิมอย่าง GIANT, Pinarello รุ่น Nitro ที่รุกคืบเข้าสู่ตลาด ยังมีแบรนด์น้องใหม่เช่น YAMAHA ที่ลงมาสู้ในตลาดนี้เช่นกัน

นอกเหนือจากการขายจักรยานแล้ว บรรดาอุปกรณ์จิปาถะทุกชิ้น 100 เยนก็ได้รับความนิยมจากผู้ร่วมงานมากเช่นกัน รวมถึงทีมงานร้านจักรยานที่ยกอุปกรณ์เซอร์วิสมาให้บริการกันอย่างเต็มที่

โซนที่สอง จะเป็นโซนเวทีที่มีโปรแกรมยาวตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำทีมจักรยานของแต่ละประเทศ, เส้นทางการปั่น, กฎกติกามารยาท, สอนวิธีการประกอบจักรยาน รวมถึงสอนทำความสะอาดจักรยานด้วยตนเอง เป็นอีกหนึ่งโซนที่ได้รับความสนใจจากนักปั่นเป็นจำนวนมาก

โซนที่สาม โซนของกิน อุดมไปด้วยอาหารญี่ปุ่นหลากหลายรูปแบบ ปรุงสดร้อนๆ ภายในงาน รวมถึงมีกาแฟให้ลิ้มลอง

และโซนสุดท้าย โซนสำหรับเด็กและครอบครัว ซึ่งส่วนตัวผมประทับใจในโซนนี้มากที่สุด เพราะโดยปกติงานลงทะเบียนปั่นจักรยานมักเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ไม่ได้ปั่น แต่ปัญหานี้หมดไปทันทีเมื่อมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ทำระหว่างที่รอลงทะเบียนนั่นเอง

โซนสนามปั่นสำหรับเด็ก มีการวางอุปสรรคให้เด็กปั่นข้ามเช่น สะพาน, ไม้กระดก เป็นต้น
ลูกโป่งยักษ์เด้งดึ๋ง เพื่อนในทีมที่มาด้วยถึงกับทนไม่ไหวต้องขอเข้าไปร่วมแจม เรียกความมึนงงของเหล่าบรรดาเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี

และด้วยความที่สถานที่ลงทะเบียนนั้นตั้งอยู่บนยอดเนินที่ชันในระดับหนึ่ง เป็นโอกาสดีที่ผู้ที่ปั่นจักรยานมาเองจะได้เทสจักรยานไปในตัวทั้งขาขึ้นและขาลง หากรู้สึกได้ว่าจักรยานมีปัญหา สามารถเลี้ยวขวาเข้าเซอร์วิสได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แม้จะเป็นเรื่องที่ดูเล็กน้อยแต่มีก็มีจักรยานเรียงคิวเข้าเซอร์วิสตลอดเวลา แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่นั้นกระตือรือร้นในการให้บริการตามสไตล์ของคนญี่ปุ่น

สำหรับงานปั่นจักรยาน Shimanami Kaido 2018 จำนวนผู้ที่ต้องมาลงทะเบียนก่อนเริ่มปั่นรวมผู้ติดตามอยู่ที่ประมาณ 7,000 คน แต่ไม่มีปัญหาในการจัดการจราจรแม้แต่นิดเดียว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้สมัครเลือกที่จะปั่น, เดิน หรือต่อรถมาลงบริเวณงานเอง ทำให้บริเวณที่จอดรถค่อนข้างจะโล่ง

สภาพที่จอดรถภายในงาน
ไม่ว่าจะเป็นนักปั่นทั่วไปหรือผู้บริหาร ล้วนต้องขึ้นมาลงทะเบียนด้วยตนเอง ไม่มีบริการรับส่งถึงจุดลงทะเบียนด้านบน

หลังจากการลงทะเบียนเสร็จสิ้น ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ ทีมงานเลยตัดสินใจพาออกนอกแพลนไปดูจุดชมพระอาทิตย์ตกของเมืองอิมาบาริ ที่อยู่บนยอดเขาที่ค่อนข้างจะคดเคี้ยวและชัน ซึ่งเส้นทางนี้ก็เป็นที่นิยมสำหรับบรรดานักปั่นขาแรงที่ต้องการท้าทายตัวเอง รวมถึงนักปั่นสูงวัยที่ใช้จักรยานไฟฟ้ามาเป็นตัวช่วย (ภาพคุณป้าปั่นจักรยานไฟฟ้าแซงผ่านไปนี่ทำให้เห็นความสำคัญของจักรยานไฟฟ้ามากๆ) และรางวัลของความสำเร็จนั่นก็คือวิวที่สวยจนลืมไม่ลงนั่นเอง

พระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า และสะพาน Kurushima-Kaikyo อันเป็นไฮไลท์ที่เราจะปั่นผ่านในวันพรุ่งนี้

ตอนที่หนึ่งก็จบลงเท่านี้ครับ วันพฤหัสเรามาต่อกันกับรีวิวเส้นทางปั่นแบบเต็มๆ ครับ


By จุติพงศ์ ภูสุมาศ

ใช้ กับตันทีมปั่นฝัน ใช้ชีวิตควบคู่กับการปั่นตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน สนใจในทุกด้านของเครื่องจักรสองล้อพลังเท้า!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *