รีวิว: Shimano 105 R7000 กรุ๊ปเซ็ตเสือหมอบที่คุ้มที่สุดชั่วโมงนี้?

เชื่อไหมครับว่ากรุ๊ปเซ็ต Shimano 105 นี่วางจำหน่ายมานานถึง 32 ปีแล้ว (เริ่มขายครั้งแรกในปี 2529!) และจัดว่าเป็นชุดขับเคลื่อนที่ขายดีที่สุดชุดหนึ่งของ Shimano เพราะราคาเป็นมิตร ประสิทธิภาพดีพอเพียงจะใช้แข่งขันได้อย่างไม่ต้องกลัวเสียเปรียบ และใช้เทคโนโลยีของกรุ๊ปเซ็ตรุ่นท็อปอย่าง Dura-Ace เกือบทั้งหมด ต่างกันก็แค่วัสดุที่ 105 จะหนักกว่า และรายละเอียดเล็กๆ น้อยอย่างคุณภาพลูกปืนและสายเบรคสายเกียร์

ปีนี้ Shimano เปิดตัวกรุ๊ปเซ็ต 105 รุ่นที่ 7 แล้วในชื่อ Shimano 105 R7000 วันนี้ DT จะมาเจาะลึกลงรายละเอียดกันครับ 


มีอะไรใหม่ใน Shimano 105 R7000? 

1. Finishing แบบใหม่ทั้งพื้นผิวและสีบนตัวกรุ๊ปเซ็ตที่เป็นสีดำด้านตัดดำเงา รูปทรงชิ้นส่วนก็ปรับให้เล็กกระชับลงในดีไซน์เดียวกับ Shimano Ultegra และ Dura-Ace 

2. ตัวเลือกเฟืองและจานมากขึ้น จานหน้ามีให้เลือก 3 ขนาด 53/39, 52/36, และ 50/34 ส่วนเฟืองหลังมี 12-25, 11-25, 11-28, 11-30, 11-32 และ 11-34 จากที่แต่ก่อนเฟืองไซส์ 34 จะมีแค่ใน Ultegra ทำให้คนที่อยากได้เกียร์เบาๆ เวลาไปขึ้นเขาชันๆ ซื้อเฟืองใหญ่ได้ในราคาไม่สูงนัก (ถ้าจับคู่กับจานหน้า 50-34 ก็จะได้อัตราทด 1:1 เลยทีเดียว) 

3. Shimano ปรับตำแหน่งจานหน้าใบเล็กใหม่ช่วยลดปัญหาโซ่เยื้องมากๆ เช่นเวลาใช้เกียร์หน้าในตำแหน่งใบจานเล็กคู่กับเกียร์หลังในตำแหน่งเฟืองเล็กที่สุด ซึ่งมักทำให้โซ่ตกหรือเปลี่ยนเกียร์ขัดข้อง โซ่สีสับจาน (จริงๆ ก็ไม่ควรใช้เกียร์ในตำแหน่งนี้่ครับ) แต่การเปลี่ยนตรงนี้ทำให้เราใช้สับจานหน้ารุ่นเก่าคู่กับ 105 R7000 ไม่ได้ครับ 

4. มือเกียร์ปรับดีไซน์ใหม่ให้เข้ากับรูปมือมากขึ้นเหมือนกันใน Shimano Ultegra R8000  ขนาดฮู้ดเล็กกระชับลง 

5. สับจานหน้าปรับขนาดให้เล็กกระชับลง ช่วยให้ไม่ติดล้อหลังเวลาใช้ยางขนาดใหญ่ และปรับตัวตั้งความตึงสายเกียร์ไว้ในสับจานเลย ไม่ต้องใช้ barrel adjuster เหมือนรุ่นก่อน พร้อมปรับให้เปลี่ยนน้ำหนักเวลาสับจานให้เบามือขึ้น 

6. ตีนผีใช้ดีไซน์เดียวกับ Ultegra และ Dura-Ace ขนาดเล็กกระชับลง มีให้เลือกทั้งรุ่นขาสั้นและขายาว (สำหรับใช้กับเฟือง 11-34t) ตัวสับจานใช้ดีไซน์ Shadow เหมือนชุดเกียร์เสือภูเขาของ Shimano เลื่อนตำแหน่งตีนผีมาซ่อนอยู่ใต้เฟืองหลัง ลดโอกาสกระแทกกระเทือนเวลาล้มหรือจอดพิง

7. เบรคมีให้เลือกทั้งแบบ center mount, direct mount, และไฮดรอลิกดิสก์เบรก

8. ชิฟเตอร์มีเวอร์ชันสำหรับคน “มือเล็ก” ให้เลือกด้วย แต่จะมีเฉพาะรุ่นไฮดรอลิกดิสก์เบรกครับ ความยาวก้ามเบรกจะสั้นกว่าปกติ และระยะเอื้อม (reach) ของตัวฮู้ดจะอยู่ใกล้แฮนด์มากกว่าเดิม เหมาะกับคนมือเล็กและสาวๆ ที่จับชิฟเตอร์ไซส์ปกติไม่ถนัด


น้ำหนัก

แน่นอนว่า 105 ไม่ใช่กรุ๊ปเซ็ตที่เบาที่สุดในบรรดาชุดขับของ Shimano ครับ น้ำหนักชุดขับเบากว่า 105 R5800 รุ่นเก่าประมาณ​ 30 กรัม แต่ถ้าเทียบกับ Ultegra ที่ราคาสูงกว่าแล้ว 105 R7000 หนักกว่าแค่ประมาณ​ 220 กรัมเท่านั้น (เทียบกันในรุ่นริมเบรก) ลองดูตารางน้ำหนักชั่งจริงข้างล่างนี้เทียบกรุ๊ปเซ็ตทั้ง 3 รุ่น 

Dura-Ace
R9000
Ultegra
R800
105
R7000
เบรกหน้า149g181g188g
เบรกหลัง145g179g186g
ชิฟเตอร์366g419g479g
ตีนผี160g197g226g
สับจานหน้า65g90g90g
ชุดจานหน้า (50-34t)634g690g750g
กระโหลก66g76g76g
เฟืองหลัง173g239g277g
โซ่241g241g261g
รวม1,999g2,312g2,553g

ถึงน้ำหนัก 105 จะมากกว่ารุ่นพี่แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นข้อเสียเสมอไปครับ ด้วยวัสดุที่แข็งแรงคงทนกว่า Dura-Ace (เหล็กล้วนๆ) ชิ้นส่วนที่เราต้องการให้ส่งถ่ายพลังได้เต็มที่ไม่บิดไม่ย้วยอย่างขาจานก็จะสติฟฟ์กว่ารุ่นพี่ด้วย นอกจากนี้ชิ้นส่วนที่สึกหรอและต้องเปลี่ยนหลังการใช้งานระยะหนึ่งอย่างโซ่และเฟืองก็ทนทานกว่าครับ


การติดตั้ง

การติดตั้งกรุ๊ปเซ็ต 105 ก็ไม่ได้ต่างจากรุ่นก่อนๆ นัก โดยเฉพาะถ้าเคยติดตั้งกรุ๊ปรุ่นใหม่ๆ ของ Shimano มาแล้วก็แทบจะเหมือกนันหมดครับ สิ่งที่ 105 R7000 ต่างจาก 105 R5800 ก็เช่นจุดร้อยสายสับจานหน้า มุมร้อยสายเกียร์จะไม่ได้หันตามทิศทางที่สายโผล่จากเฟรมแล้ว แต่จะหันเข้าทิศของตัวสับจานโดยตรง เพราะงั้นถึงการเดินสายภายในเฟรมจะไม่ดีมากนักก็ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการเปลี่ยนเกียร์ครับ 

เมื่อเดินสายเข้าไปในตัวสับจานแล้ว เราต้องพันสายลูปไปด้านหลังรอบนึง ตรงนี้ช่วยให้เก็บร้อยปลายสายได้เรียบร้อยกว่าเดิม ส่วนการจูนเกียร์อื่นๆ ก็ใช้ตัวตั้ง high low เหมือนเดิม สะดวกกว่าเดิมตรงที่ตัวตั้งความตึงสายใช้น็อตตั้งในตัวสับจานได้โดยตรงเลย 


ทดลองใช้

 ผมได้ลองใช้กรุ๊ป 105 หลายครั้ง เพราะมันมักมากับรถทดสอบหลายๆ คันครับโดยเฉพาะรถที่ออกใหม่ในปีนี้ ในด้านการเปลี่ยนเกียร์

สิ่งที่ดีกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดคือเบามือกว่าเดิม ระยะโยกมือเกียร์สั้นลงโดยเฉพาะการเปลี่ยนจานหน้าครับ ถ้าจูนดีๆ ก็อาจจะได้ฟีลใกล้เคียง Ultegra แต่ยังไม่ถึงขั้นความสมูทและคมของ Dura-Ace

ฟีดแบคการเปลี่ยนเกียร์ยังหนักแน่นดีเหมือนเดิม รวมๆ แล้วดีเหลือใช้ครับ

สิ่งที่ทำให้ 105 ยังเปลี่ยนเกียร์หรือห้ามล้อได้ไม่กริบ กริ๊บ กริ๊บ เหมือน Dura-Ace คือสายเกียร์ที่ใช้เกรดต่ำกว่า แต่ทนทานกว่าครับ

  • โค้ทติ้ง Optislick จะมีแรงเสียดทานกมากกว่าโพลีเมอร์นิดหน่อย แต่ Shimano เคลมว่าลื่นกว่าสายเกียร์/เบรคทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

สายเกียร์และเบรก 105 รุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีการเคลือบสายที่เรียกว่า “Optislick” ใช้ในกรุ๊ป 105, Tiagra, ST-RS505, Deore และ XT ส่วนสายเคลือบโพลีเมอร์ที่แรงเสียดทานน้อยกว่า นุ่มมือกว่า ใช้ในกรุ๊ปเกรดสูงกว่าอย่าง Ultegra, Dura-Ace และ XTR แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าสายโพลีเมอร์ Shimano เสื่อมไวและไม่ค่อยทนครับ 

อย่างที่บอกไปข้างต้น ขาจาน 105 R7000 ใช้กับกรุ๊ปรุ่นก่อนหน้าไม่ได้ เพราะตำแหน่งจานหน้าใบเล็กที่ไม่เหมือนเดิม (จริงๆ ก็น่าจะใช้ได้แต่อาจจะเปลี่ยนเกียร์ไม่เนียนครับ)


เบรก

เบรก Shimano 105 R7000 มีให้เลือกสามแบบ ริมเบรกแบบ center mount (เบรกธรรมดา) ริมเบรกแบบ direct mount (สำหรับเสือหมอบแอโรหรือเสือหมอบ all round บางรุ่น) และไฮดรอลิกดิสก์เบรก 

ริมเบรกเป็นแบบ dual pivot ใช้กับยางกว้างได้ 28c ทั้งแบบ center mount และ direct mount ผ้าเบรคที่มากับกรุ๊ป 105 ใช้รุ่นเดียวกับกับ Ultegra และ Dura-Ace เป๊ะๆ ทำให้ประสิทธิภาพการหยุดรถไม่ได้ต่างกันมาก จะต่างก็แค่ฟีลลิงการเบรก เพราะสายเกียร์ 105 นั้นไม่ได้เคลือบโพลีเมอร์เหมือนใน Utlegra/ Dura-Ace ครับ 

ฟีลลิงการเบรกดีกว่ารุ่นก่อนพอประมาณ พลังการหยุดเหลือเฟือ ฟีลลิงการเลียเบรกดีขึ้นนิดหน่อย (ถ้าลองเทียบกับ Shimano 10 Speed รุ่นก่อนนู้นต้องบอกว่าต่างอย่างเห็นได้ชัดครับ เบรกเก่าๆ หน่อยฟีลลิงมันจะมีแค่เปิดกับปิด 1 กับ 0 เลียเบรกได้ไม่ละเอียดเท่าไร)  

ชิฟเตอร์ 105 เวอร์ชันไฮดรอลิกดิสก์เบกร 

ส่วนไฮดรอลิกดิสก์เบรกนั้นออกแบบใหม่หมดเลย ขนาดเล็กลงกว่าเดิม (ก่อนหน้านี้ Shimano ขายดิสก์เบรก 105 โดยใช้ชิฟเตอร์ ST-RS505 ซึ่งเป็นรุ่นต่ำกว่า Tiagra เสียอีก ตัวฮู้ดมีขนาดใหญ่เทอะทะ) ดีไซน์ใหม่ตัวฮู้ดขนาดเล็กลง แต่ยังไม่เล็กเท่าชิฟเตอร์ดิสก์ของ Dura-Ace ครับ 

ใบดิสก์และผ้าเบรกใช้รุ่นเดียวกับ Ultegra และเบรกได้ดีไม่แพ้กัน ฟีลลิงการเบรกไฮดรอลิกก็แน่นอนว่าดีและหนึบกว่าริมเบรกอยู่แล้ว พลังการเบรกไม่ได้ต่างกันมาก แต่ข้อดีคือเลียเบรกได้ละเอียดกว่าเยอะ และไม่ต้องกังวลเวลาใช้ล้อคาร์บอนปั่นลงเขาที่อาจจะกลัวกำเบรกแช่จนขอบล้อเสีย

ข้อดีอีกอย่างคือดิสก์เบรกหยุดรถได้ไวกว่าริมเบรกเวลาฝนตก ถ้าใครชอบลุยๆ ไม่ได้เน้นความสวยงาม น้ำหนักเบา กรุ๊ป 105 ดิสก์จะเหมาะมาก  


สรุป – กรุ๊ปเซ็ตที่คุ้มค่าที่สุดตอนนี้ 

สัปดาห์ก่อนตัวแทนจำหน่าย Shimano ในไทยปรับลดราคากรุ๊ป (ริมเบรก) Shimano 105 R7000 จาก 16,400 บาทเหลือ 14,200 บาท (ราคาของฮะฮง) ทำให้มันเป็นกรุ๊ปเซ็ตเสือหมอบที่ประสิทธิภาพต่อราคาดีที่สุดตอนนี้ เทียบกับคู่แข่งอย่าง Campagnolo Centaur  และ SRAM Rival 22 ที่ขายกันประมาณ​ 16,000 บาท ก็เป็นตัวเลือกที่คิดไม่ยากเลย 

จุดเด่น SRAM Rival คือเบากว่าประมาณ 90 กรัม แต่ประสิทธิภาพโดยรวม 105 รุ่นใหม่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดครับ ส่วน Campag จะหาซื้อยากหน่อยแต่น้ำหนักใกล้เคียงกับ 105 ครับ 

Finish งานดูมีแพงกว่า 105 รุ่นก่อนๆ 

สิ่งที่หลายคนสนใจคือถ้าเทียบกับ Ultegra R8000 แล้วต่างกันมากหรือเปล่า? ตอบสั้นๆ คือไม่ต่างอย่างเป็นนัยสำคัญ น้ำหนัก 105 ก็เกินกว่า Ultegra แค่ร้อยกว่ากรัมนิดๆ สิ่งเดียวที่ 105 เทียบไม่ได้คือ ไม่มีชุดขับไฟฟ้า Di2 ให้เลือก

ความเห็นส่วนตัวของผมคือถ้าไม่สนใจเรื่องน้ำหนักมากนัก เน้นทนทาน สมบุกสมบัน ใช้ 105 ก็เพียงพอแล้ว ถ้ามาจาก 105 10 speed หรือ 105 R5800 จะกระโดดไป Ultegra R8000 ก็ไม่ต่างกับ 105 R7000 มากนักครับ ถ้าอยากเล่น Ultegra แนะนำไปลอง Ultegra Di2 เลยดีกว่า และคงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม Shimano ถึงไม่ทำ 105 Di2 ออกจำหน่าย 

การรื้อออกแบบชุด 105 ใหม่ของ Shimano รอบนี้ทำให้พูดได้เต็มปากว่า 105 ไม่ใช่ชุดขับรุ่นเริ่มต้นหรือรุ่นกลาง mid range ที่หลายคนมองข้ามแล้ว ถึงจะยังไม่สมบูรณ์แบบเท่ารุ่นที่สูงกว่าในเรื่องน้ำหนัก ความนุ่มมือและความเนี้ยบชิ้นงาน  

แต่ถ้าเราไม่ได้ต้องการความสมบูรณ์แบบขนาดนั้น ซึ่งผมเชื่อว่าสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่จำเป็น  ชุดขับอย่าง Ultegra/ Dura-Ace มันเป็น luxury มากกว่าครับ Shimano 105 R7000 ก็น่าจะตอบโจทย์การใช้งานเสือหมอบทุกประเภท รูปลักษณ์ดีขึ้น กระทัดรัด กระชับ (ผมว่าชิฟเตอร์ 105 รุ่นก่อนๆ ใหญ่เทอะทะไปหน่อย)

ที่สำคัญ 105 R7000 มีตัวเลือกการใช้งานที่มากขึ้นทั้งเบรก direct mount และไฮดรอลิกดิสก์เบรก เฟืองก็มีให้เลือกหลายขนาด เฟือง 34 นี่เพียงพอจะขึ้นภูเขาชันได้ทุกลูกแน่ๆ ถ้าใช้คู่กับตีนผีขายาวก็ไม่จำเป็นต้องต่อ roadlink และยังเปลี่ยนเกียร์ได้เนียนๆ ครับ 

ถ้าคุณมาจาก Sora, Tiagra, 105 10 Speed อัปมา 105 R7000 คุ้มแน่นอน แต่คนที่ใช้ 105 R5800 อยู่แล้วอาจจะไม่เห็นความต่างขนาดนั้น เลือกไป Ultegra R8000 หรือ  Ultegra Di2 น่าสนใจกว่าครับ 

ขอบคุณบริษัทฮะฮงพาณิชย์ (Hah Hong) ที่ส่งชุด 105 R7000 ให้เราทดสอบครับ



By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *