รีวิว: Shimano Dura-Ace C35 Carbon Clincher

ในบรรดาผู้ผลิตล้อจักรยานเสือหมอบ Shimano อาจจะไม่ใช่แบรนด์ที่มีกระแสสักเท่าไร จะด้วยหน้าตาที่อาจจะไม่หวือหวาและตัว Shimano เองก็ไม่ได้ทำการตลาดอะไรมากมาย แต่ถ้าใครเคยใช้จะรู้ว่าล้อ Shimano นั้นประสิทธิภาพดีไม่แพ้คู่แข่งเลยครับ ทั้งเรื่องความทนทาน ความนุ่มนวล ความแข็งสติฟของล้อ และดุมที่ลื่นไหลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะรุ่นสูงๆ ตั้งแต่ Ultegra ขึ้นไปจนถึง Dura-Ace

เมื่อวานนี้ DT แอบยืมล้อ Shimano Dura-Ace C35 Carbon Clincher ของเพื่อนมาลอง เห็นในเพจ DT มีคนสนใจเยอะ เลยจับมารีวิวสั้นๆ กันดีกว่า

IMG_5298

Shimano Dura-Ace 9000 C35 Carbon Clincher

ล้อขอบสูงของ Shimano ในไลน์ Dura-Ace ผลิตมานานหลายปีหลายรุ่นแล้ว และรุ่นล่าสุดคือตระกูล Dura-Ace 9000 ที่เปิดตัวในปี 2013 ซึ่งมีหลายความสูงให้เลือกครับ ตั้งแต่ C24, C35, C50, C75 (ความขอบล้อตามตัวเลข) มีให้เลือกทั้งแบบยางงัด Clincher และยางฮาฟ Tubular แต่จะไม่เหมือนยี่ห้ออื่นตรงที่เวอร์ชันยางงัด Clincher นั้นขอบล้อจะเป็นอลูมินัมผสมกับคาร์บอนลามิเนต (ส่วนลามิเนตที่เชื่อมกับวงล้ออลูใช้แผ่นคาร์บอนแบบ UD 24 ชั้น) ในขณะที่เวอร์ชันยาง Tubular จะเป็นล้อฟูลคาร์บอน

เหตุผลที่ Shimano ไม่ทำล้อคาร์บอนขอบงัดแบบ full carbon เพราะเขายังยึดในหลักการความทนทานของอุปกรณ์ ล้อคาร์บอนขอบงัดมีจุดอ่อนเวลาเราใช้เบรคเยอะๆ โดยเฉพาะเวลาลงเขาซึ่งอาจจะทำให้ขอบล้อบวมจนชำรุดเสียหายจากความร้อนสะสมได้

 

The Spec

  • น้ำหนักล้อหน้า 662g / ล้อหลัง 826g รวม 1,499g (ไม่ร่วมแกนปลดและ rim tape)
  • ซี่ล้อหน้า  16 ซี่ ล้อหลัง 21 ซี่
  • ดุมใช้ลูกปืนพวงแบบ angular contact bearings
  • มากับถุงล้อ, rim tape, แกนปลด, spacer เฟืองสำหรับ 10/11 speed), ประแจตั้งล้อ, value extender / stabiliser

 

การออกแบบ

Shimano และ Campagnolo ยังเป็นผู้ผลิตสองรายใหญ่ที่ไม่ใช้ลูกปืนล้อแบบตลับ (seal bearing) แต่ยังคงเชื่อมันกับลูกปืนแบบ cup and cone ในล้อ Shimano รุ่นใหม่ๆ กับล้อ Campagnolo ตั้งแต่รุ่น Zonda ขึ้นไปจะใช้ลูกปืนพวง ทั้งหมด ซึ่งจุดเด่นคือผิวสัมผัสลูกปืนกับถ้วยลูกปืนน้อยกว่า seal bearing แถมใช้ซีลน้อยกว่า seal bearing ต่อลูกปืนหนึ่งชุด ดุมเลยลื่นครับ ส่วนที่ว่าจะลื่นมากกว่าหรือน้อยกว่า seal bearing มั้ย อันนี้อยู่ที่การจูนและประเภท+ปริมาณจารบีที่ใช้แล้วหละครับ

จุดเด่นอีกอย่างของการใช้ลูกปืน angular contact bearings คือโดยตัวดีไซน์ของลูกปืนทำให้มันสามารถวางตำแหน่งลูกปืนไว้ได้ใกล้ขอบปีกดุมเลย ทำให้รับแรงแนวเฉียงได้ดี ดุมกว้างๆ แบบนี้ทำให้ตั้งซี่ล้อด้วย tension สูงๆ ได้ ก็จะได้ล้อที่ขี่สบายไปในตัวด้วย นอกจากนี้ระยะห่างระหว่างปีกดุม Dura-Ace รุ่นใหม่กว้างมากๆ ทำให้ถ่ายแรงได้ดีมากทั้งในแนวข้าง (torsional) และแนวดิ่ง (lateral)

inside-bearings
ซ้ายมือคือตัวอย่างดุมที่ใช้ลูกปืนแบบ Annular Contact (แบบที่ใช้ใน Sealed bearing ทั่วไป) เทียบกับทางขวาเป็นภาพตำแหน่งลูกปืนแบบ Angular Contact ซึ่งจะเห็นว่ามีผิวสัมผัสถ้วยลูกปืนน้อยกว่า

ล้อ Dura-Ace ทุกรุ่นในซีรีย์ 9000 ขึ้นไปตั้งจี๋ง่ายกว่ารุ่นก่อนๆ เปลี่ยนแรงบีบของตัวแกนปลดไปลงที่แกนกลางของดุม ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าถึงจะขันแกนปลดแน่นมันจะไปบีบลูกปืนด้วยทำให้ถึงตั้งจี๋มาพอดีๆ ลื่นๆ แล้วหากขันแกนปลดไม่พอดีล้อมันก็จะฝืดกว่าที่ควร

ท้ายสุด Shimano ออกแบบให้น้ำหนักล้อส่วนมากกระจุกอยู่บริเวณดุม ขอบมีน้ำหนักเบาเพื่อไม่ให้เสียอัตราเร่งมากเกินไปถึงแม้ขอบล้อจะเป็นอลูมินัม

* * *

 

การใช้งาน

จากการออกแบบของล้อที่เราอธิบายไปข้างบนนี้ มันมีผลยังไงกับการปั่นจริง? ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่ Shimano อ้าง ล้อ Dura-Ace จะเป็นล้อที่ดุมไหลลื่นและถ่ายแรงกดปั่น (power transfer) ของเราได้ดีมากในทุกรูปแบบการปั่นไม่ว่าจะเป็นการกระชากสปรินต์ กระทืบขึ้นเขา การปั่นพุ่งออกจากโค้ง ล้อควรจะกระจายแรงสะเทือนได้ดี นั่นคือไม่แข็งกระด้างจนชามือ แต่ก็ไม่เสียแรงกดด้วย แล้วมันใช้งานได้ดีอย่างที่เราคิดมั้ย?

Dura-Ace C35 test ride-2-2

สั้นๆ เลยคือดีหมดทุกอย่างตามที่ว่ามาครับ และนี่คงเป็นสาเหตุที่คนชอบใช้ล้ออลูมินัมของ Shimano และ Campagnolo มากกว่าเจ้าอื่นๆ ดีไซน์การออกแบบไม่ได้เว่อร์วังอลังการ แต่เป็นเทคโนโลยีที่ tested and tried ใช้งานได้ดีจริงทุกรูปแบบ ดูแลรักษาง่ายและคงทนแข็งแรง

ล้อ C35 ตัวนี้ผมยืมเพื่อนมาลองแลกกันปั่น ยังไม่ได้เทสต์เป็นเวลานานๆ เหมือนอุปกรณ์อื่นๆ เสียดายว่าไม่ได้ใช้กับยางปกติที่ใช้อยู่ (Specialized S-Works Turbo Cotton) แต่ก็แต่ก็จับความรู้สึกได้ไม่ยาก เราทดลองกันเมื่อเช้านี้ที่บุรีรัมย์ ไปขึ้นเขากระโดงกันสั้นๆ และขี่วนรอบบายพาสอำเภอเมือง ยกกดกระชากสปรินต์เป็นชุดๆ แช่ความเร็ว ขี่กันหลายรูปแบบ (นัดกันขี่เล่นๆ แต่เพื่อนนี่ยิงกันยับ…) ขอสรุปตามนี้ครับ

Dura-Ace C35 test ride-3

ขึ้นเขา / สปรินต์: ล้อไล่รอบขึ้นไว คงเพราะนำ้หนักเบากว่าล้อ Zonda ที่ผมใช้อยู่และที่ขอบมันสติฟมาก กดกระชากตามเท้ามาแบบวูบๆ กระแทกตามเพื่อนไม่เสียเปรียบ ถ้าเป็นรุ่น full carbon (ยางฮาฟ) คงกดสะใจกว่านี้ แต่นี่ก็ดีมากแล้วสำหรับล้ออลู ฟีลนุ่มนวลกว่า Shamal/ Eurus นิดหน่อยแต่ผมว่าเร่งได้ดีไม่แพ้กัน

ทางราบ: ไหลดีแช่ได้เรื่อยๆ ความเร็ว 37-43kph ยังไม่ต้องเติมมาก (จริงๆ Zonda ก็ไหลเกินราคานะถึงจะขอบไม่สูงมาก) ถ้าเร็วกว่านี้ก็แรงใครแรงมันครับ ถึงโปรไฟล์จะไม่ใช้ล้อขอบอ้วนแบบรุ่น tubular แต่ก็สู้ลมดีทีเดียว

ลงเขา: บอกไม่ได้เยอะ เพราะเขากระโดงมันสั้นนิดเดียวไม่ถึง 2 กิโลเมตร และไม่ได้ชันอะไรมากมาย แต่กดพุ่งออกโค้งได้ดี

ความสบาย: ยางและแรงดันยางมีผลกับความสบายในการปั่นมากครับ แต่ถึงจะไม่ได้ลองกับตัวเองแต่สังเกตชัดว่าล้อ C35 กระจายแรงสะเทือนได้ดี ไม่สะเทือนสะท้านครับ

IMG_5414
ทางแบบนี้ล้อ C35 ก็ยังกระจายแรงสะเทือนได้ดี

สรุป

ฟีลโดยรวม C35 เป็นล้อที่ให้ความรู้สึกหรูหรา นิ่มสบาย ไม่ดุดันกระด้างกระเดื่อง แต่จังหวะอัดแรงกดก็ไม่รู้สึกตื้อ เร่งออกตัวไวติดเท้า น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ดีมากสำหรับล้ออลูที่สูง 35mm มากับดุมคุณภาพระดับหัวแถว ลื่นอย่างรู้สึกได้และดูแลรักษาง่าย ดุมดีแค่ไหนก็ มาร์ค คาเวนดิชสมัยที่อยู่กับทีม HTC-Highroad ใช้ล้อ Zipp แต่ขอใช้ดุม Dura-Ace เป็นการส่วนตัว

ความสูงล้ออยู่ในระดับที่ใช้งานไม่ยาก ล้อขอบสูงกลางๆ แบบนี้ปั่นสบายกว่าขอบสูง 50-60mm เยอะครับ ไม่ต้องออกแรงเร่งมาก และไม่ตื้อที่ความเร็วต่ำๆ แน่นอนว่าถ้าต้องลากแช่กันยาวๆ ด้วยความเร็วสูงมันก็อาจจะเสียเปรียบบ้าง ด้วยความสูงกลางๆ 35mm กับขอบอลูมินัมแบบนี้ C35 น่าจะตอบโจทย์คนที่อยากมีล้อคู่เดียวแต่ใช้ได้ทุกสภาพสนามครับ ลงเขาไม่ต้องกลัวขอบพัง ขี่ทางถนนไม่ดีไม่ต้องกลัวขอบแตก และพลังเบรคดีตามประสาขอบอลู

ว่ากันจริงๆ เป็นล้อที่แทบไม่มีข้อให้ติ จะมีก็แค่เรื่องหน้าตาที่อาจจะดูธรรมดาออกแนวสวยคลาสสิค (ส่วนที่เป็นคาร์บอนลามิเนตสวยดีอยู่ครับ) และราคาที่กระโดดไปกว่าล้ออลูตัวท็อปค่ายอื่นๆ พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Campagnolo Shamal และ Fulcrum Racing Zero ทั้งสองรุ่นถึงเป็นเวอร์ชันขอบเบรคดำอย่าง Mille และ Night ก็ยังถูกกว่า C35 แต่ประสิทธิภาพไม่หลุดกันมาก

ราคาตั้ง Dura-Ace C35 ไม่ร่วมส่วนลดร้านค้าอยู่ที่ 57,000 บาท…ซึ่งราคาขนาดนี้หลายคนอาจจะมองล้อฟูลคาร์บอนเลยดีกว่าครับ

*  *  *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *