รีวิว: Shimano Ultegra 6800 Groupset

เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา Shimano Ultegra 6800 11 Speed เป็นหนึ่งในชุดขับจักรยานเสือหมอบที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย ด้วยราคาค่าตัวทั้งเซ็ตที่ไม่แพงเกินเอื้อมและประสิทธิภาพที่ไม่ด้อยไปกว่ากรุ๊ปตัวท๊อปอย่าง Shimano Dura-Ace 9000 คำถามคือ Ultegra รุ่นล่าสุดนี้ใช้งานจริงเป็นอย่างไร และทำได้ดีอย่างยอดขายที่สูงลิบลิ่วหรือเปล่า? Ducking Tiger ทดสอบชุดรุ่นกลางจากค่ายญี่ปุ่นเป็นเวลาสองเดือนเต็มในทุกสภาพถนน วันนี้มีรีวิวตัวเต็มมาฝากกันครับ

***

Shimano Ultegra คือ?

ชุดเกียร์ Ultegra 6800 เป็นชุดเกียร์เสือหมอบรุ่นรองท๊อปของยักษ์ใหญ่ Shimano ที่รับเอาเทคโนโลยีทั้งหมดมาจากกรุ๊ป Dura-Ace 9000 รุ่นแพงสุดไม่ว่าจะเป็นการออกแบบขาจาน 4 แฉก ระบบเกียร์ 11 Speed และเบรคแบบสองจุดหมุน (Dual Pivot) พร้อมสับจานหน้าที่ออกแบบใหม่เกือบทั้งหมด

แต่ด้วยราคาค่าตัวที่ต่ำกว่ารุ่น Dura-Ace เกือบเท่าตัวแน่นอนว่าวัสดุที่ใช้ก็จะลดระดับความพรีเมียมลงมาจาก Dura-Ace เมื่อเทียบน้ำหนักทั้งกรุ๊ปแล้ว Ultegra จะอยู่ที่ 2313 กรัม ในขณะที่ Dura-Ace หนักเพียง 2,016 กรัม

2014-gruppos-and-market-prices

เมื่อเปรียบเทียบกับกรุ๊ปเซ็ตของบริษัทคู่แข่งอย่าง Campagnolo และ SRAM เราจะเห็นว่าทั้งสามแบรนด์วางตำแหน่งสินค้าได้เหลื่อมกันเกือบทุกตัว ทำให้จับแต่ละรุ่นมาชนกันตรงๆ ได้ยาก สเป็ค น้ำหนัก การทำงานก็จะไม่ตรงกันเสียทีเดียว คำถามที่เจอบ่อยคือกรุ๊ปไหนดีที่สุดในระดับราคานี้? เป็นคำถามที่ตอบได้ยากครับ เพราะแต่ละคนมีรสนิยม ความชอบ ความซื่อสัตย์ต่อแต่ละแบรนด์ไม่เหมือนกัน ลองดูระดับของกรุ๊ปเซ็ตแต่ละเจ้าเปรียบเทียบกันในเรื่องของราคาและ “ระดับ” คร่าวๆ ในตารางข้างบนนี้

ในการทดสอบครั้งนี้ กรุ๊ป Ultegra ที่ได้มานั้นติดรถมากับจักรยาน Storck Scenero G2 ซึ่งเป็นรถที่ DT กำลังรีวิวอยู่ โดยปกติแล้วคนที่ซื้อจักรยานแบบคอมพลีทไบค์ในราคาประมาณ​ 50,000 – 70,000 บาทก็น่าจะได้ชุดขับเป็น Ultegra หรือระดับเดียวกันของยี่ห้ออื่น แต่ด้วยที่ผมใช้กรุ๊ป Shimano 105 10 Speed เป็นหลัก การเปรียบเทียบการใช้งานในรีวิวครั้งนี้ก็น่าจะทำให้เห็นความต่างของกรุ๊ปทั้งสองรุ่นได้ชัดเจนครับ ซึ่งน่าจะเหมาะสำหรับคนที่สนใจจะอัปเกรดจากชุดขับติดรถตัวล่างขึ้นไปเป็นรุ่นที่สูงขึ้นด้วย

***

1. มือเกียร์

Shimano Ultegra 6800 review (1 of 1)

มือเกียร์ Ultegra 6800 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจากรุ่นก่อนค่อนข้างเยอะทีเดียว อย่างที่เกริ่นไว้ Ultegra รุ่นนี้รับเทคโนโลยีการเปลี่ยนเกียร์จาก Dura-Ace 9000 มาโดยตรง ซึ่งจุดเด่นก็คือน้ำหนักการเปลี่ยนเกียร์ที่เบาสบายกว่าเดิมครับ ฟีลลิ่งการเปลี่ยนจากเฟือง 24 ไป 28 (เกียร์เบา)​ แทบไม่ต่างจากการสับเกียร์หนักอย่างเฟือง 11 และ 12 ซึ่งชิมาโนเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า ‘Vivid Shifting’ เป็นจุดที่รู้สึกได้ชัดเมื่อเทียบกับเกียร์ Shimano 105 10 speed ที่เวลาเปลี่ยนขึ้นเกียร์เบาใบใหญ่ต้องอาศัยแรงกดค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนเกียร์หนักยังมีปัญหา “วืด” ให้เห็นบ้างครับ นั่นก็คือพอเรากดเปลี่ยนเกียร์ไม่ถูกจังหวะ หรือกดไม่แน่นพอ บางครั้งตัวกลไกจะไม่ตอบสนอง ทำให้เกียร์ไม่สับ นานๆ ทีจะเจอสักหน เป็นปัญหาที่เจอกับเกียร์ Shimano แทบทุกรุ่น แต่ก็ไม่ได้เป็นบ่อยจนรำคาญ

การเปลี่ยนใบจานหน้าทำได้ง่ายและไวกว่าเดิมพอสมควร เพราะระยะกด (lever throw) น้อยลงกว่าเดิมมาก กดดันมือเกียร์ไม่ต้องลึกมากก็เปลี่ยนได้แล้ว เบาแรงไปพอสมควรครับ นักปั่นสาวที่มือเล็กๆ นิ้วไม่ยาวน่าจะชอบระยะกดเปลี่ยนเกียร์ที่ลดลง

ความแม่นยำยังคงเป็นจุดเด่นของเกียร์ Shimano STI โดยเฉพาะ เปลี่ยนเกียร์ได้เร็วทั้งขาขึ้นและขาลง โดยเฉพาะเวลาที่ออกแรงกดอย่างตอนกำลังเร่งเครื่องหรือกำลังไต่เขากดลูกบันไดหนักๆ จุดนี้เด่นกว่ากรุ๊ป 105 10 Speed อย่างชัดเจนครับ (ปกติเราจะแนะนำให้ผ่อนแรงก่อนเปลี่ยนเกียร์สักนิดนึง เพื่อความสมูทและเป็นการถนอมอายุเฟืองและโซ่)

Shimano Ultegra 6800 review (4 of 6)

ฟี้ดแบคการเปลี่ยนเกียร์ที่นิ่มกว่าค่ายอื่นๆ ยังคงอยู่ เรียกได้ว่าเป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของเกียร์ Shimano ครับ คนที่ชอบฟีลการเปลี่ยนเกียร์สมูทนิ่มนวล แทบไม่รู้สึกว่ากดชิฟต์แล้วคงชอบฟีลลิ่งนี้ แต่ใครชอบฟีลเปลี่ยนเกียร์หนักๆ อย่าง Campagnolo และ SRAM อาจจะผิดหวัง

ระบบ Trimming ก็ยังคงใช้งานได้ดี “ทริม” คือการเลื่อนตำแหน่งสับจานหน้าซึ่งทำได้โดยกดคันโยกเปลี่ยนเกียร์ “ครึ่งจังหวะ” (เกียร์จะยังไม่เปลี่ยนแต่สับจานจะเลื่อนเล็กน้อย) ทริมมิ่งมีประโยชย์เวลาที่ใช้จานหน้ากับเฟืองหลังในเกียร์ที่เยื้องกันมาก ซึ่งทริมจะทำให้โซ่ไม่สีกับสับจานครับ แน่นอนว่าในเกียร์ที่เยื้องสุดๆ อย่าง 34-11 ก็ยังมีอาการโซ่สีสับจานให้เห็น

ฮู้ดเกียร์มีขนาดเล็กลง แต่รุ่นที่ลองยังไม่เล็กเท่า Dura-Ace 9070 Di2 รูปทรงแฮนด์เป็นแบบเดียว Dura-Ace  ซึ่ง Shimano อ้างว่าเหมาะกับสรีระมือผู้ใช้มากขึ้น สำหรับผมซึ่งเป็นคนมือค่อนข้างใหญ่ยังคิดว่าฮู้ด Dura-Ace จับสบายกว่า

การปรับระยะมือเกียร์ก็ทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับ Ultegra 6700 ไม่ต้องใช้ rubber shim อีกต่อไป ระยะมือเกียร์ปรับได้ 10mm และปรับเลื่อนตำแหน่งฮู้ดให้สูงหรือต่ำได้ 5mm แค่ยกยางปิดฮู้ดขึ้นก็จะเห็นน็อตที่ใช้ไขปรับระยะ

 

2. ตีนผี

Shimano Ultegra 6800 review (1 of 6)

ตีนผี Ultegra 6800 มีให้เลือกสองรุ่น ตามความยาวของขาตีนผี (mid-cage / short-cage) รุ่น mid cage ขายาวหน่อยจะรองรับเฟือง 32T

เมื่อเทียบกับ Ultegra 6700 Shimano ปรับแรงตึงสปริงตีนผีให้ได้ฟีลลิ่งการเปลี่ยนเกียร์ที่คงที่ทุกระยะ และปรับให้ใช้กับสายเกียร์แบบใหม่ที่โค้ทโพลีเมอร์ ซึ่งในการใช้งานจริงก็น่าจะเปลี่ยนเกียร์ได้สมูทดีกว่าสายเกียร์แบบเก่า ตรงนี้ถ้าจูนเกียร์ดีๆ และดูแลรักษาเปลี่ยนสายเกียร์เก่าออกตามอายุการใช้งาน ผมว่ายังไม่เห็นจุดต่างจาก Ultegra รุ่นก่อน การใช้งานทั่วไปทำได้ดีไม่มีพลาดในทุกสภาพถนน ตั้งแต่การปั่นทางราบความเร็วสูงไปจนขึ้นเขาชันอย่างภูทับเบิก

ตัวโครงตีนผีก็ดูแข็งแรงทนทานใช้ได้ครับ จากประสบการณ์ตีนผี Shimano 105 ที่เคยผ่านการล้มแรงๆ มาเป็นสิบครั้งก็ไม่มีปัญหาอะไร Ultegra ก็น่าจะทนดีไม่ต่างกัน

 

3. สับจานหน้า

Shimano Ultegra 6800 review (2 of 6)

จุดสำคัญที่สุดของสับจานหน้า 6800 เมื่อเทียบกับ 6700 ก็คือตัวโครงที่ยาวกว่าเดิม ซึ่งมีประโยชน์สองประการ 1. เบาแรงในการสับเปลี่ยนใบจาน 2. ดีไซน์นี้ใช้น็อตซัพพอร์ทที่ยึดติดกับเฟรมทำให้ไม่สูญเสียแรงระหว่างการกดเปลี่ยนเกียร์ (สติฟว่าเดิม) ในการใช้งานจริง การเปลี่ยนใบจานหน้าใช้แรงน้อยกว่าเดิมและไวขึ้นกว่า 105 10 Speed ซึ่งมีประโยชน์เวลาที่อยากจะเปลี่ยนเกียร์ตอนจับดรอป (ปกติใช้แรงเยอะในท่านี้) แต่ก็ยังไม่ไวและเบามือเท่า Dura-Ace 9000 ครับ

 

4. เบรค

Shimano Ultegra 6800 review (5 of 6)

ก่อนจะบรรยายเรื่องการใช้งาน บอกได้ตอนนี้เลยว่าเบรค Ultegra 6800 คืออัปเกรดที่เห็นผลชัดที่สุดเทียบกับเบรคจาก 105  เบรครุ่นใหม่ใช้ระบบ Dual Pivot สองจุดหมุน จุดหมุนทางด้านซ้ายและขวายึดติดกับฐานที่ใช้ยึดเข้ากับเฟรมอีกที ถ้าใครใช้เฟรมที่รองรับเบรค Direct Mount อย่าง Trek Madone ก็มีตัวเลือกนี้ให้ซื้อด้วยเหมือนกัน

ผ้าเบรค Ultegra ใช้ส่วนผสมใหม่ซึ่ง Shimano อ้างว่าเบรคได้หนึบกว่าเดิม สายเบรคเคลือบโพลิเมอร์เหมือนสายเกียร์และเพิ่มแรงเบรคได้ 10%

เวลาใช้งานจริง เบรค Ultegra หยุดรถได้เร็วและดีกว่าเบรค 105 แบบเห็นได้ชัดครับ และได้ฟีลลิ่งการเลียเบรคเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็ยังไม่ดีเท่าเบรค Dura-Ace และ EE (ประสิทธิภาพตามราคาล่ะนะ)

เบรคอาจจะเป็นอะไรที่หลายๆ คนไม่ค่อยให้ความสำคัญในการอัปเกรด แต่ส่วนตัวผมคิดว่ามันช่วยเรื่องการปั่นได้ดีมาก โดยเฉพาะในการลงเขา เทียบกันกับเบรค 105 ตอนลงเขาเขียวหรือเขาใหญ่ จังหวะเบรคจะมีแค่ “เปิด” กับ “ปิด”​ คือแทบไม่สามารถเลียเบรคได้และแรงหยุดรถก็ไม่ดีมาก ถ้าต้องการชะลอในจังหวะลงเขาต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเบรคกันจนเมื่อยมือ

เบรค Ultegra 6800 ตัวนี้ผมลองใช้ลงเขาภูทับเบิก ซึ่งก็จัดว่าชันมากทีเดียวกับระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตรที่ความชันเฉลี่ย 9% มีโค้งพับต่อกันนับสิบ ฟีลลิงการเลียเบรคและแรงเบรคที่เพิ่มขึ้นช่วยเบาแรงได้เยอะครับ จังหวะแรกๆ อาจจะชะลอความเร็วได้นิดหน่อย แต่จะไป snap หยุดหนักๆ ที่จังหวะปลาย ซึ่งเหมาะกับการลดความเร็วหนักๆ ก่อนเข้าโค้งหักศอกได้ดี

โดยรวมแล้วพอใจมากกับเบรค Ultegra เมื่อเทียบกับราคา แน่นอนว่าไม่ใช่เบรคที่เบาที่สุด ออกไปทางหนักด้วยซ้ำ แต่น้ำหนักของมันก็ช่วยให้มีแรงเบรคที่เหนือกว่าเบรคแต่งเบาราคาไม่แพง

 

5. เฟือง

Shimano Ultegra 6800 review (6 of 6)

เฟือง Ultegra มีให้เลือก 5 ขนาด: 11-23T, 11-25T, 12-25T, 11-28T และ 11-32T แน่นอนว่าคุณต้องใช้ล้อที่รองรับเฟือง 11 Speed ด้วยครับ ถ้าซื้อล้อในสมัยนี้ก็น่าจะรองรับหมดแล้วทุกรุ่นทุกยี่ห้อ

แล้วเกียร์ 11 Speed เป็นยังไงเทียบกับ 10 Speed? การใช้งานทั่วไปก็ไม่ถือว่าต่างกันมาก แต่สำหรับคนที่ปั่นจริงจังหน่อยอาจจะชอบระยะเกียร์ที่แบ่งได้ถี่มากขึ้น (สำหรับเฟืองทุกขนาด ใบเฟืองที่เพิ่มมาก็คือเฟือง 18T ที่แทรกอยู่ระหว่าง 17T กับ 19T) ทำให้เลือกรอบขาเข้ากับแรงและความเร็วได้เพิ่มอีกขั้นนึง จะเห็นประโยชน์ชัดตอนขึ้นเขาและปั่นลักษณะ Time Trial

ข้อเสียเพียงอย่างเดียวคงเป็นน้ำหนักที่ออกจะมากกว่าเฟือง SRAM ครับ แต่ก็ตามประสาเฟือง Shimano ที่ไม่ค่อยเน้นลดน้ำหนัก ทำให้ระยะยาวอาจจะทนทานกว่า

 

6. ขาและใบจาน (Crankset)

Shimano Ultegra 6800 review (1 of 1)-2

ขาจาน Shimano รุ่นใหม่ที่มากับ Dura-Ace 9000, Ultegra 6800, และล่าสุด 105 5800 เป็นขาจานดีไซน์ 4 แฉก ซึ่งเปลี่ยนไปจากดีไซน์เก่าโดยสิ้นเชิง ประโยชน์ของมันก็คือคุณสามารถเปลี่ยนใบจานได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนชุดขาจานทั้งชุดเหมือนแต่ก่อนแล้ว

ใบจานมีให้เลือกในขนาด 50/34 (compact), 53-39 (standard), 52-36 (semi-compact) และ 46/36 ใบทั้ง 4 รุ่นมีระยะห่างน็อตยึดเท่ากันทั้งหมดในขนาด 110 bcd

หลักการของ Shimano ที่ทำขา 4 แฉกก็คือ เขาเชื่อว่าในการปั่น 1 รอบขา เราออกแรงไม่เท่ากันในแต่ละจุด เพราะฉะนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีขา 5 แฉกเหมือนดีไซน์สมัยก่อน ลดลงเหลือ 4 แฉกแล้วจูนขนาดแฉกขาแทน ในจุดที่ต้องรับแรงกดลูกบันไดก็จะมีขนาดแฉกขาใหญ่และแน่นกว่าตำแหน่งที่เราออกแรงดึงบันได ทำให้ลดน้ำหนักใบจานลงได้ระดับหนึ่งแต่ยังรักษาความสติฟเท่าเดิม

ขาจานมีให้เลือกสี่ความยาว 165, 170, 172.5, และ 175mm แต่ในบ้านเราคงหาขนาด 165 และ 175 ยากสักหน่อยครับ

ตอนที่ DT ทดลองใช้งาน ไม่ได้ใช้จานนี้กับ Storck (คันนี้ติดพาวเวอร์มิเตอร์ Rotor Power LT อยู่) แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่าเป็นชุดจานที่สติฟดีครับ ขาจานทำจากอลูมินัมแกนกลวงซึ่งดูทนทาน แข็งแรง ไม่ค่อยเป็นรอยเหมือนชุดจาน Shimano 105 10 Speed และน้ำหนักก็ถือว่าใช้ได้ เบากว่าขา Ultegra 6700 ประมาณ 26 กรัม เว็บไซต์ fairwheelbike ทดสอบขาจานหลายรุ่นเทียบกันในห้องแล็บก็พบว่าขา Ultegra นั้นสติฟยิ่งกว่าขา Dura-Ace เสียอีก

 

7. โซ่

Shimano Ultegra 6800 review (1 of 1)-3

โซ่ Ultegra เคลือบสาร Sil-Tec เหมือนโซ่ Dura-Ace 9000 ซึ่ง Shimano อ้างว่าช่วยลดแรงเสียดทานทำให้การสับเปลี่ยนเกียร์ลื่นไหลกว่าเดิม DT ได้ลองทดสอบเทียบ “ความลื่น”​ ระหว่างโซ่ที่เคลือบกับไม่เคลือบ Sil-Tec ในบูท Shimano ที่งาน Eurobike ก็เห็นชัดว่ามันลื่นต่างกันจริงครับ แต่คำถามคือสารที่เคลือบนั้นจะติดทนนานเท่าไร อันนี้คงตอบได้ยาก แต่ถ้าคุณปั่นเยอะ ก็คงเปลี่ยนโซ่ตามอายุการใช้งานอยู่แล้ว ผมปั่นมาราว 1500 กิโลเมตรบนโซ่ Ultegra ก็ยังลื่นดีครับ

***

เทียบประสิทธิภาพต่อราคา Shimano Ultegra 6800 เป็นชุดเกียร์จักรกลที่คุ้มค่าที่สุดในตลาดตอนนี้ ด้วยค่าตัวที่ถูกกว่าคู่แข่ง SRAM และ Campagnolo กับการทำงานที่เทียบเท่าหรือดีกว่าในบางจุด (จะแพ้ SRAM ก็เรื่องน้ำหนักเท่านั้น) ยิ่งถ้าเทียบกับ Shimano Dura-Ace 9000 ที่แพงกว่าเกือบเท่าตัว แต่ประสิทธิภาพไม่หลุดกันมากก็จัดว่าเป็นกรุ๊ปที่น่าสนใจหากคุณคิดจะอัปเกรดชุดเกียร์ครับ โดยเฉพาะถ้าย้ายมาจาก Shimano 10 Speed จะเห็นความต่างในการใช้งานชัดเจน

ถ้าไม่ได้ติดใจเรื่องน้ำหนัก (Dura-Ace ทั้งชุด เบากว่า 350 กรัม จุดหมุนและลูกปืนต่างๆ ใช้ของเกรดดีกว่าและทนกว่า) Ultegra 6800 ก็เป็นชุดที่สมดุลเมื่อเทียบปัจจัยหลักทั้งเรื่อง น้ำหนัก ประสิทธิภาพ ความทนทานและราคา

9.5/10

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *