เปิดตัว: Shimano Ultegra R8000 และ R8050 Di2

ในที่สุด Shimano ก็เปิดตัวกรุ๊ปเซ็ต Ultegra เจเนอเรชันใหม่ในชื่อ Ultegra R8000 และ R8050 Di2 ซึ่งปรับปรุงหลายด้านจากกรุ๊ป R6800 ที่วางจำหน่ายมาร่วม 4 ปีเต็มครับ นอกจากจะได้รับดีไซน์มาจาก Shimani Dura-Ace R9100 ที่เปิดตัวไปช่วงปลายปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นขาจานรูปแบบใหม่, ฟังก์ชันเกียร์ไฟฟ้าใหม่ และดิสก์เบรคไฮดรอลิคในระดับ Ultegra เอง มาดูกันว่าอัปเดตล่าสุดจาก Shimano มีอะไรใหม่บ้าง

 

Groupset Highlight

Cervelo R Series-4

ก่อนจะลงรายละเอียดแบบเจาะลึกในแต่ละส่วน ลองมาดูภาพรวมของกรุ๊ปเซ็ตใหม่กันก่อนครับ

  • ดีไซน์ปรับปรุงตาม Dura-Ace 9100 – Ultegra R8000 ใช้ขาจานแบบไม่สมมาตร 4 แฉก, ใช้ตีนผีแบบ Shadow ที่รองรับเฟืองหลังสูงสุดถึง 34T, ระบบ Di2 รองรับ Synchro Shifting หรือเกียร์ออโต้, ล้อซีรีย์ Ultegra มีดุมที่เบากว่าเดิม และออปชันขอบล้อแบบคาร์บอนลามิเนต, บันไดน้ำหนักเบาลง และ stack height เตี้ยลง
  • น้ำหนักทั้งกรุ๊ป (รวมบันไดและริมเบรค) ของ R8000 อยู่ที่ 4,071 กรัม เบากว่า R6800 ราวๆ 84.5 กรัม แต่ยังหนักกว่า Dura-Ace 9150 ราว 505 กรัม
  • ถ้านับไม่นับล้อ น้ำหนักทั้งกรุ๊ปจะเบากว่ารุ่นก่อนเพียง 9 กรัม
  • “เป้าหมายของเราคืออยากให้นักปั่นจำนวนมากเข้าถึงเทคโนโลยีกรุ๊ปเซ็ตขั้นสูง และใช้งานได้กับการปั่นจักรยานถนนหลากหลายรูปแบบมากขึ้น” – Shimano กล่าว
  • กรุ๊ป Ultegra R8000 คือกรุ๊ป Mechanical ที่มากับริมเบรค
  • กรุ๊ป Ultegra R8050 คือกรุ๊ป Di2 (เกียร์ไฟฟ้า) ที่มากับริมเบรค
  • กรุ๊ป Ultegra R8020 คือกรุ๊ป Mechanical ที่มากับดิสก์เบรค
  • ท้ายสุด กรุ๊ป Ultegra R8070 คือกรุ๊ป Di2 (เกียร์ไฟฟ้า) ที่มากับดิสก์เบรค
  • กรุ๊ป Mechanical เริ่มวางจำหน่ายเดือนมิถุนายนนี้ และกรุ๊ป Di2 วางจำหน่ายเดือนสิงหาคม

 

มือเกียร์และดิสก์เบรค: กระชับขึ้น, เปลี่ยนเกียร์ง่ายขึ้น, ดิสก์เบรคไฮดรอลิค Ultegra

Shimano-Ultegra-R8000-brakes-3-1024x683

จุดเด่นที่สุดของกรุ๊ป Ultegra R8000 คงไม่พ้นเรื่องของดิสก์เบรคที่ Shimano ทำออกมาเป็นซีรีย์ Ultegra โดยเฉพาะ เช่นเดียวกับ Dura-Ace R9100 ซึ่งแต่ก่อนผู้ใช้กรุ๊ปเซ็ต Shimano แล้วอยากใช้ดิสก์เบรค ต้องใช้ชุดดิสก์ (มือเกียร์และชุดเบรค) แบบ Non-Series ในรุ่น R685 และ R785 คราวนี้ผู้ใช้สามารถซื้อชุดดิสก์ที่มากับซีรีย์ Ultegra / Dura-Ace ได้เอง และมีดีไซน์ที่ดีกว่า Non-series ด้วย

มือเกียร์ดิสก์เบรค (ST-R8070 สำหรับมือเกียร์ Di2 และ ST-R8020 สำหรับมือเกียร์ Mechanical) มากับดีไซน์ใหม่ที่รูปทรงกระชับกว่าเดิม ตัวฮู้ดมีขนาดเล็กลง ใหญ่กว่ามือเกียร์ริมเบรคธรรมดาเล็กน้อย แต่ไม่ใหญ่เทอะทะเหมือนมือเกียร์ Non-Series อีกต่อไป และมีระยะ reach ที่สั้นลงอีกด้วย อย่างไรก็ดี ขนาดมือเกียร์ดิสก์เบรค Ultegra ใหม่ยังไม่เล็กเท่ามือเกียร์ดิสก์เบรคของ Dura-Ace ครับ

สำหรับ paddle ที่ใช้กดเปลี่ยนเกียร์ก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ใช้นิ้วกดเปลี่ยนเกียร์ได้ง่ายขึ้น มือเกียร์ Di2 ให้ฟีดแบคในการเปลี่ยนเกียร์ที่แน่นและดังขึ้น เพื่อลดอาการเปลี่ยนเกียร์โดยไม่รู้ตัวจากที่หลายๆ คนเจอ โดยเฉพาะเวลาใส่ถุงมือเต็มนิ้ว และฮู้ดยางก็มีพื้นผิวแบบใหม่ให้เกาะอุ้งมือได้ดีขึ้นครับ

Shimano-Ultegra-R8000-mechanical-levers-1

ผู้ใช้สามารถปรับระยะรีชได้มากขึ้น และทีเด็ดสุดคือ ในมือเกียร์ Ultegra Di2 ตอนนี้มีปุ่ม “ลับ” อยู่ด้านบนสุดของมือเกียร์เหมือนของ Dura-Ace ซึ่งผู้ใช้สามารถโปรแกรมให้ใช้ควบคุมตีนผี ไฟจักรยาน หรือ accessories อื่นๆ

ส่วนมือเกียร์ mechanical นั้นมีระยะ lever throw สั้นกว่าเดิม 24% นั่นคือระยะการกดเปลี่ยนเกียร์สั้นกระชับกว่าเดิมนั่นเอง

Shimano-Ultegra-R8000-Di2-levers-1

ส่วนเบรคคาลิปเปอร์สำหรับดิสก์เบรค รองรับมาตรฐานการยึดแบบ Flat Mount ตัวคาลิปเปอร์ทำจาก forged aluminum และมากับผ้าเบรคแบบมีร่องบากเพื่อช่วยระบายความร้อน

ใบโรเตอร์ใหม่ RT800 ก็ออกแบบให้ระบายความร้อนได้ดีเช่นกัน ตัวใบดิสก์ทำจากแผ่นสเตนเลสสองชิ้นสอดแทรกตรงกลางด้วยอลูมิเนียมที่ส่งถ่ายความร้อนได้ดีกว่า รูปทรงใบดิสก์ใช้แบบเดียวกับ Dura-Ace และขอบเบรคจะมนกลม มีสองขนาดคือ 140 และ 160mm

 

ริมเบรค: ขนาดกระชับ แข็งแรงขึ้น

Shimano-Ultegra-R8000-brakes-1

ริมเบรคก็ได้รับการอัปเกรดเช่นกันครับ ใช้ดีไซน์เดียวกับ Dura-Ace ยังทำจาก forged aluminum มีรูปร่างกระทัดรัดกว่าเดิม สำหรับเวอร์ชัน dual pivot Shimano เสริมชิ้นเหล็กระหว่างจุดหมุนเบรคเพื่อเพิ่มแรงเบรค แน่นอนว่าเวอร์ชัน Direct Mount ก็ใช้ดีไซน์แบบ Dura-Ace ครับ ทั้งสองแบบรองรับยางหน้ากว้างสูงสุด 28mm

Shimano-Ultegra-R8000-brakes-2

 

ตีนผีและสับจานหน้า: ปรับปรุงทั้งเวอร์ชัน Mechanical และ Di2

Shimano-Ultegra-R8000-mechanical-derailleurs-1-1024x683

ดีไซน์ตีนผีและสับจานใหม่ทั้งเวอร์ชัน Mehanical และ Di2 ก็มาอยู่ในกรุ๊ป Ultegra ใหม่ด้วยเช่นกันครับ ตีนผีใช้ดีไซน์แบบ Shadow ที่ทำให้รูปทรงมีขนาดเล็กและตำแหน่งการติดตั้งซ่อนเข้ามาอยู่ใต้เชนสเตย์มากขึ้นเพื่อลดการกระแทกจากอุบัติเหตุ และขาตีนผีก็ยาวกว่าปกติเพื่อรองรับเฟือง 30t โดยไม่ต้องใช้ตีนผีแบบขายาว

18304

ตัวตีนผีใช้วิธียึดมาตรฐานใหม่ Direct Mount ซึ่งทำให้ตำแหน่งของตีนผีอยู่ห่างไปจากตัวเฟรมเล็กน้อย Shimano อ้างว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเปลี่ยนเกียร์และทำให้โซ่ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพในทุกเฟืองที่เลือกใช้ ตอนนี้ผู้ผลิตจักรยานยังคงใช้ชิ้นอลูมิเนียมในการช่วยยึดตีนผีแบบใหม่อยู่ แต่ในอนาคตคงได้เห็นเฟรมเจเนอเรชันใหม่ๆ มากับ deralieur hanger ที่รองรับตีนผี direct mount เช่นเฟรม BMC SLR01 รุ่นใหม่

สิ่งที่ทำให้ตีนผี Ultrage ใหม่ต่างจาก Dura-Ace คือ Ultegra จะมีตีนผีเวอร์ชันขายาวด้วย เวอร์ชันปกติ (สั้น หรือ SS) รองรับเฟืองใหญ่สุด 30T ในขณะที่ตีนผีขายาว (GS) รองรับเฟืองใหญ่สุด 34T เมื่อจับคู่กับใบจานหน้า 34T แล้วเราก็จะได้อัตราทด 1:1 พร้อมปีนภูเขาโคตรชันเลยทีเดียว

Shimano-Ultegra-R8000-Di2-derailleurs-1

สับจานหน้าได้รับการปรับปรุงแบบเดียวกับ Dura-Ace สำหรับเวอร์ชัน Di2 นั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก นอกจากขนาดบอดี้ที่เล็กกระชับลง แต่เวอร์ชัน mechanical นั้นปรับหลายด้านครับ เปลี่ยนวิธีการเดินสายสับจานใหม่ และมีขนาดเล็กลง ไม่เกะรถที่ใช้ยางใหญ่ๆ แล้ว และตัวสับจานสามารถปรับความตึงสายเกียร์ได้เลย ไม่ต้องใช้ inline adjuster

 

DI2 ใหม่ทำได้มากกว่าเดิม

สำหรับระบบเกียร์ไฟฟ้า Di2 – ชุด Ultegra R8150 ก็ถอดเทคโนโลยีมาจากรุ่นพี่ Dura-Ace เช่นกันครับ จุดเด่นที่สุดคือระบบ Synchro Shift หรือการเปลี่ยนเกียร์แบบออโต้/กึ่งออโต้

ระบบเกียร์ออโต้ Synchronize Shift หยิบยืมเทคโนโลยีมาจากกรุ๊ปเสือภูเขา XTR Di2 ระบบนี้ช่วยให้ผู้ใช้เลือกเกียร์ได้ง่ายขึ้นและลดการตัดสินใจว่าจะใช้เกียร์อะไรระหว่างแข่ง การทำงานของ Synchro Shift มีให้เลือกใช้สองโหมดตามนี้

  • Full Synchronized Shift (ฟูลออโต้): ในโหมดนี้ ผู้ใช้สามารถโปรแกรมให้สับจานหน้าทำงานอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งเฟืองหลังที่เรากำลังใช้งานอยู่ นั่นหมายความว่าผู้ใช้สามารถคุมการทำงานของเกียร์หน้าและหลังได้ด้วยชิฟเตอร์แค่ข้างเดียว แล้วเลือกแค่เกียร์เบาลงหรือเกียร์หนักขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นในขณะที่ใช้จานใหญ่ และเปลี่ยนเฟืองหลังถึงเฟืองที่ 7 (นับจากเล็กสุด) แล้ว จานหน้าจะสับลงจานเล็กอัตโนมัติ พร้อมเฟืองหลังจะขยับลงเฟือง 6 อัตโนมัติ จากนั้นก็ไล่ขึ้นเฟือง 7, 8 จนเฟือง 11 (ใหญ่สุด) ต่อไป ลำดับที่จะให้สับจานหน้าทำงานนี้ตั้งโปรแกรมได้ และถึงจะเปิดโหมด Full Synchro อยู่ แต่ผู้ใช้สามารถปรับเกียร์หน้าได้เองด้วยชิฟเตอร์ซ้าย (ถ้าต้องการ)
  • Semi Synchronized Shift (เซมิออโต้): ในโหมดนี้ ตีนผีจะเปลี่ยนอัตโนมัติเมื่อเราสับจานขึ้นหรือลงเพื่อให้ได้อัตราทดและรอบขาใกล้เคียงเดิม (ฟีเจอร์นี้มีใน Campagnolo EPS V3)
    ระบบซิงโครสามารถเปิดหรือปิดได้ผ่านแอพ E-Tube หรือจะโปรแกรมให้ชิฟเตอร์แต่ละปุ่มทำงานตามที่เราต้องการก็ได้

 

ถ้าผู้ใช้ติดตั้ง Shimano D-Fly Wireless Unit เพิ่มก็จะสามารถปรับตั้งค่าการใช้งานเกียร์ได้อย่างละเอียดผ่านการเชื่อมต่อไร้สายเข้ากับสมาร์ทโฟน เพื่อรันแอพพลิเคชัน Shimano e-Tube ครับ (มีใน iOS และ Android) จะรีโปรแกรมให้ปุ่มไหนทำงานยังไงก็ได้ ไม่ต้องเป็นตามค่ามาตรฐานที่ Shimano ตั้งมา รวมถึงการปรับจูนระบบ SynchoShift ในแบบที่ต้องการด้วย

Shimano-Ultegra-R8000-TT-levers-1-1024x683

นักปั่นสายไตรและสาย Time Trial ก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะมีมือเกียร์และก้ามเบรคใหม่เช่นกัน จุดเปลี่ยนเกียร์ที่ base bar มีปุ่มเปลี่ยนเกียร์ข้างละปุ่มเท่านั้นเพื่อลดน้ำหนักและขนาด

 

ขาจาน: ดีไซน์ใหม่ใหญ่แน่นกว่าเดิม

Shimano-Ultegra-R8000-crankset-1-1024x683

ขาจาน FC-8000 ดึงเอกลักษณ์ของ Dura-Ace 9100 เรื่องขาหนาปึกมาด้วยเต็ม ๆ แล้วเอามาผสมกับสีดำเงาสลับดำด้านของ Ultegra ได้เป็นคอมโพเนนต์ที่โดดเด่นทีเดียว และถึงขาจะหนาขึ้น สติฟขึ้น แต่น้ำหนักไม่ได้เพิ่มตาม เช่นเดียวกับตอน Dura Ace 9000 เปลี่ยนเป็น 9100 ชิมาโน่เคลมน้ำหนักขาจานคอมแพ็คไว้ที่ 674 กรัม (ของเดิม 676 กรัม) อีกทั้งระยะ bolt circle diameter (BCD) ก็ใช้ระยะเดียวกันหมดทั้งคอมแพ็ค เซมิคอมแพ็ค สแตนดาร์ด และไซโคลครอส ทำให้การเปลี่ยนใบจานไปมาทำได้ง่าย ไม่ต้องซื้อใหม่ทั้งชุด ส่วนแกนขาจานยังมีเฉพาะขนาด 24 มม. หมายความว่าเฟรม BB30, PF30, และ BB386EVO ก็ยังต้องพึ่งอแดปเตอร์เหมือนเดิม

 

เฟืองหลัง: ออปชันมากขึ้น, เฟืองเบาสุด 34t ชันแค่ไหนก็ไม่กลัว

Shimano-Ultegra-R8000-cassette-2

เฟืองหลัง Ultegra 8000 มีแบบมาตรฐาน 6 แบบ คือ 11-25t, 12-25t, 11-28t, 14-28t, 11-30t, และ 11-32t พร้อมแบบกว้างพิเศษ 11-34t อีก 1 แบบ (11-13-15-17-19-21-23-25-27-30-34) แต่ความหนาเฟืองเป็นแบบเสือภูเขา ออกแบบมาเพื่อจักรยาน gravel/adventure เป็นพิเศษ แต่ก็สามารถใช้กับล้อเสือหมอบได้โดยใช้อแดปเตอร์ที่ให้มา ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือไม่มีเฟือง 11-23t อีกต่อไป และ 12-28t ยังคงมีเฉพาะใน Dura-Ace เท่านั้น

 

ล้อ: ตามรอย Dura-Ace มีคาร์บอนลามิเนตแล้ว

Shimano-Ultegra-WH-R700-wheels-1-1024x683

สำหรับล้อ Ultegra ใหม่ เปลี่ยนจากล้ออลูมิเนียมเป็นล้อคาร์บอนขอบเบรคอลูมิเนียมเหมือน Dura-Ace แล้ว และถ้าใครติดตามคาตาล็อกชิมาโน่บ่อย ๆ จะเห็นว่ามันดูคล้าย WH-RS81 อยู่ระดับหนึ่ง ล้อใหม่นี้ชื่อ WH-RS700-C30 ซึ่งถึงจะชื่อ C30 แต่กลับมีความสูงล้อหน้า 24 มม. ล้อหลัง 28 มม. (เดิม 24 มม. หน้าและหลัง) ทั้งที่ควันดราม่าเรื่องการพยายามขายล้อขอบ 35 มม.ด้วยชื่อ C40 และล้อขอบ 50 มม.ด้วยชื่อ C60 ยังไม่ทันจางดี #ชิมาโน่นี่น่ากลัวจริง ๆ

Shimano-Ultegra-WH-R770-wheels-1

ขอบล้อด้านในริมเบรคกว้าง 15 มม.เหมือนเดิม ส่วนล้อดิสก์เบรคชื่อ WH-RS770 มีขอบในกว้างขึ้นเป็น 17 มม. นอกจากนี้ยังอัพเกรดดุมล้อใหม่ด้วย เบากว่า WH-6800 เดิมไป 60 กรัม การใช้ดุมที่เบาลงและขอบคาร์บอนทำให้ชุดล้อใหม่เบาลงพอสมควรแม้ว่าขอบล้อจะสูงขึ้น ชิมาโน่อ้างน้ำหนักที่ 1,568 กรัมสำหรับริมเบรค และ 1,639 กรัมสำหรับดิสก์เบรค (WH-6800 (ริมเบรค) น้ำหนัก 1,650 กรัม) และล้อทั้งสองคู่สามารถใช้ยางทิวป์เลสได้

ส่วนล้ออลูมิเนียมแบบเดิม ดูเหมือนจะไปได้ชื่อใหม่คือ WH-RS500 และไม่ได้อยู่ในซีรียส์ Ultegra แล้ว

 

บันได: บางลง เบาลง ตัวเลือกมากขึ้น

Shimano-Ultegra-R8000-pedals-1

บันได Ultegra ตัวใหม่เปลี่ยนไปใช้แผ่นอลูมิเนียมกันสึกแบบเปลี่ยนไม่ได้เช่นเดียวกับตอนเปลี่ยนจาก Dura-Ace 9000 เป็น 9100 และลด stack height ลงเล็กน้อย 0.7 มม. น้ำหนักเบาลง 12 กรัม ทั้งยังมีเวอร์ชั่นที่แกนบันไดยาวกว่าปรกติ 4 มม.ด้วยสำหรับคนที่ Q-factor กว้าง ทำให้การฟิตติ้งสะดวกขึ้น

 

น้ำหนัก, ราคา, วันวางจำหน่าย

น้ำหนัก Ultegra 8000 ทั้งกรุ๊ปเซ็ต รวมบันได ไม่รวมล้อ ประมาณเท่าเดิม (-9 กรัม) โดยอยู่ที่ 2,218 กรัม เมื่อใช้จานหน้า 50/34t กับเฟืองหลัง 11-25t และริมเบรคกับเกียร์เมคานิคัล

Shimano-Ultegra-R8000-vs-6800-weights-and-prices

การส่งมอบสินค้าไปยังตัวแทนจะเริ่มจากเดือนมิถุนายน และคาดว่าจะครบถ้วนในเดือนสิงหาคมนี้

ถ้า Shimano ยังใช้กำหนดการอัปเกรดเดิม เราคงได้เห็นกรุ๊ป 105 ใหม่ในปีหน้าครับ

 

Video Preview (BikeRadar)

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *