เยี่ยมชมคลังแสงโปรทีม – SKY Service Course

วันนี้เราจะมาชมเบื้องหลังโปรทีมจักรยานกันครับ เมื่อปลายปีที่แล้วทีม Sky ได้เปิดให้สื่อต่างๆ เข้าชมและถ่ายภาพ Service Course หรือศูนย์บัญชาการหลักของทีมที่ใช้ดูแลจักรยานและอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงรถเซอร์วิส เสื้อผ้า ที่นอน อาหารการกินของนักกีฬาครับ ศูนย์บัญชาการนี้ตั้งอยู่ที่เมือง Deinze ประเทศเบลเยี่ยม ทีมโปรในระดับ UCI World Tour หรือดิวิชันสูงสุดของการแข่งจักรยานนั้นมักจะตั้ง Service Course ไว้ใจกลางยุโรปเพื่อความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ไปยังสนามแข่งต่างๆ ที่กระจุกตัวอยู่ในทวีปยุโรปครับ

sky service course
ศูนย์บัญชาการหลักของทีม ในเมือง Deinze ประเทศเบลเยี่ยม – ภาพจาก bikeradar.com

จักรยานและอะไหล่ประจำทีม

Team Sky เป็นหนึ่งในบรรดาทีมที่ทุนหนาที่สุดใน peloton ก็ว่าได้ ด้วยงบประมาณการบริหารทีมปีละ 15-20 ล้านปอนด์หรือราวๆ 100 ล้านบาท ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีพร้อมให้นักกีฬาทั้งหมด เพื่อให้นักกีฬาโฟกัสกับการแข่งเท่านั้น ไม่ต้องสนใจเรื่องจุกจิกเรื่องอื่นๆ อย่างการดูแลอุปกรณ์ ทีนอน อาหารการกิน เป็นต้น แน่นอนว่าทั้งจักรยานที่ใช้ซ้อมและแข่งก็มีสำรองให้อย่างพอเพียง ทีมแจกรถให้สมาชิกทุกคน คนละห้าคัน แบ่งเป็นเสือหมอบที่ใช้แข่งสามคัน เสือหมอบสำหรับซ้อมที่บ้านหนึ่งคัน และรถ Time Trial อีกคนละคัน สำหรับดาราประจำทีมอย่าง Bradly Wiggins ก็อาจจะได้รถที่ทำสี custom paint job ของตัวเองเพิ่มอีกหนึ่งคันครับ ที่ Service Course จึงมีรถอยู่ในสต๊อกอย่างน้อย 150 คันตลอดเวลา ไม่รวมรถที่กำลังใช้แข่งในสนามต่างๆ

จักรยานประจำตัวนักแข่ง แขวนขึ้นแรคอย่างเป็นระเบียบพร้อมส่งลงสนาม - ภาพจาก bikeradar.com
จักรยานประจำตัวนักแข่ง แขวนขึ้นแรคอย่างเป็นระเบียบพร้อมส่งลงสนาม – ภาพจาก bikeradar.com
เฟรมของนักปั่นแต่ละคน -
เฟรมของนักปั่นแต่ละคน – ภาพจาก cyclingtips

การจัดการเป็นเรื่องสำคัญ

ในแต่ละฤดูกาลทีมใหญ่ๆ อย่างทีม Sky จะแบ่งสมาชิกทีมจากทั้งหมด 28-30 คนออกเป็น 3 ทีมย่อยเพื่อส่งไปแข่งยังสนามต่างๆ แต่ละทีมต้องมีทั้งรถเซอร์วิสและสตาฟดูแลอย่างเป็นระบบ แน่นอนว่าปฏิบัติการที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนขนาดนี้ต้องใช้สตาฟเป็นจำนวนมาก ที่ Service Course มีพนักงานประจำถึง 50 คน

นอกจากจะมีจักรยานนับร้อยคันแล้วก็ต้องมีอุปกรณ์เสริมมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นล้อ ชุดขับ เฟืองขนาดต่างๆ ยางหลากหลายประเภท และอะไหล่สำรองอีกหลายรายการ อย่างที่แฟนๆ จักรยานเสือหมอบรู้กันดี สภาพภูมิประเทศแต่ละสนามแข่งมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเขาสูงชัน ทะเลทราย ทางขรุขระ ย่อมใช้อุปกรณ์ต่างกัน และนักแข่งหลายๆ คนก็มีเสป็ครถของตัวเองต่างกันไปอีก ไม่ว่าจะเป็นขนาดแฮนด์ เสต็ม ขาจาน สตาฟบอกว่าในหนึ่งปีการแข่งขันทีมจะใช้โซ่กว่า 600 เส้นและขวดน้ำดื่มกว่า 35,000 ขวดเลยทีเดียว การจัดการให้ทุกอย่างเรียบร้อยไม่ติดขัดพร้อมแข่งตลอดเวลาย่อมต้องใช้การจัดการที่เป็นระบบระเบียบ ผู้จัดการ Service Course, Andy Verall บอกกับสื่อที่เข้าชมสถานที่ว่า อะไหล่ทุกอย่างที่เราใช้ไม่ว่าจะเป็นยางในหรือ powermeter สามารถตามได้ว่าใช้ไปเท่าไร ใช้ที่ไหนอย่างไร มีสถิติเก็บไว้ชัดเจน โปร่งใสทุกอย่าง (เอ โปร่งใสกว่ารัฐบาลประเทศไทยอีกมั้งเนี่ย)

wheels
แรคแขวนล้อ Shimano Dura-Ace คละรุ่น ไม่ว่าจะเป็น C24- C50 – C75 – ภาพจาก pro-elbows.co.uk
rings
อะไหล่จานหน้า – ภาพจาก Pro-elbows.co.uk
parts
แฮนด์ เสต็ม ทั้งอลูและคาร์บอน จาน เฟือง ล้อ จัดไว้อย่างเป็นระเบียบพร้อมใช้ทันที – ภาพจาก Cyclingtips
workshop
Workshop ของช่างประจำทีม อุปกรณ์จัดเรียงไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย ใช้เครื่องมือของ Parktook ซะด้วย
bike build
ช่างกำลังดูแลรถ – ภาพจาก pro-elbows.co.uk
1342455494656-t406wp435yzs-800-75
อะไหล่ที่ต้องใช้ประจำก็จัดแบ่งไว้เป็นล๊อก – ภาพจาก Bikeradar

Andy Verall พาชมทีม Sky  Service Course

เป็นที่รู้กันดีว่าทีม Sky และ British Cycling เป็นผู้คิดค้นทฤษฏี “Marginal gains”

Marginal gains หมายความว่า ข้อได้เปรียบเล็กๆ น้อยๆ เมื่อรวมกันมากเข้ามันก็จะกลายเป็นข้อได้เปรียบมหาศาลที่อาจจะหมายถึงความต่างระหว่างผู้แพ้และผู้ชนะ

เราได้เห็นทฤษฏีนี้ในทางปฏิบัติกันหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นการใช้หมวกที่ไม่มีรูระบายอากาศเพื่อลดการต้านลม ประหยัดพลังในการปั่น แต่ทีม Sky จัดหนักกว่านั้น ทุกครั้งที่ทีมออกแข่ง เขาจะส่งสตาฟไฟจัดที่นอนให้นักแข่งล่วงหน้าในโรงแรมซึ่งจะใช้หมอนและที่นอนของทีมเองทั้งหมดครับ ถ้าใครเคยนอนที่นอนดีๆ ราคาแพงสักหน่อยและเข้ากับสรีระของเราจะรู้ว่ามันช่วยให้เราหลับลึกและพักผ่อนได้เต็มที่กว่าที่นอนธรรมดาๆ มากมาย และนักปั่นก็จะได้ไม่ต้องวิตกกับปัญหาการนอนไม่หลับเพราะไม่คุ้นเตียง หรือหมอนแข็ง นุ่มไม่พอดี การพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดของนักปั่นจักรยานที่บางครั้งอาจจะต้องแข่งต่อกันถึงสามอาทิตย์ และโรงแรมที่พักก็คงมาตรฐานไม่เหมือนกันทั้งหมด การใช้ชุดที่นอนชุดเดียวกันตลอดช่วยแก้ปัญหาตรงนี้่ได้ และก็เป็นข้อได้เปรียบของนักปั่นทีม Sky ครับ ถ้าสนามแข่งไหนหนาวหรือร้อนเกินไป ทีมก็มีทั้งฮีตเตอร์และเครื่องปรับอากาศแบบพกพาให้นักปั่นอีกด้วย เรียกว่าลงทุนกันอย่างไม่มีกั๊ก

ทฤษฏี Marginal gains นี้ทีม Sky ก็เอาไปประยุกต์ใช้ในรถบัสของทีมด้วยครับ เป็นรถสั่งทำพิเศษ มีที่นั่งแค่เก้าที่นั่ง พอดีจำนวนนักแข่งรายการใหญ่อย่าง Tour de France ภายในรถมีเครื่อง Server ที่ใช้จัดการดูแลระบบรถและสมรรถภาพของนักแข่ง พร้อมใช้วิเคราะห์ Power Profile และอัปเดตข่าวสารจากการแข่งสดๆ ทันที เบาะที่นั่งสามารถสั่นได้อีกต่างๆหาก นักปั่นใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนรถบัสประจำทีม เพราะฉะนั้นถ้าได้พักผ่อนบนรถที่บรรยากาศดี นั่งสบายก็ย่อมได้เปรียบทีมอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีทุนมากพอสำหรับความสะดวกสบายแบบนี้ครับ

sky bus
รถบัสสุดหรูประจำทีมสุดไฮเทค
bus
เป็นรถสั่งทำพิเศษจากวอลโว่ – ภาพจาก Cyclingtips.com.au

สรุป

น่าสนใจไม่น้อยนะครับสำหรับเบื้องหลังของโปรทีม ที่ผมเลือกทีม Sky มาลงในครั้งนี้เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่ทีมที่อนุญาติให้สื่อเข้าไปชมเบื้องหลัง ทีม Sky ลงทุนกับนักแข่งมากกว่าทีมอื่นๆ ทั้งหมดในโลกก็ว่าได้ เมื่อนักแข่งไม่ต้องกังวลกับเรื่องจุกจิกทุกอย่าง เขาก็สามารถตั้งใจเอาชนะการแข่งได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผมว่าเป็นแนวคิดที่น่าเอาอย่างทีเดียว หลายๆ ทีมก็เริ่มนำทฤษฏี Marginal gains ไปใช้บ้างแล้ว เห็นได้จากทีม Lotto-Belisol ที่ใช้ทั้งหมวกแอโร่ สกินสูท และ Shoecover ในการตั้งขบวน sprint ให้ Andre Griepel เรียกได้ว่าประหยัดพลังได้แค่ 2-3 watt ก็ถือว่าคุ้ม

แน่นอนว่าทุกทีมก็ไม่ได้มีทุนหนาอย่าง Sky แถมยังชนะการแข่งได้ไม่แพ้ทีมทุนหนาทีมอื่นๆ สุดท้ายแล้วจะชนะหรือแพ้มันก็ขึ้นอยู่กับนักปั่นเอง แต่การมีซัพพอร์ทที่ดีก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งจริงไหมครับ :)

ภาพและเรื่องราวเรียบเรียงจาก www.cyclingtips.com.au, www.bikeradar.com, www.pro-elbows.co.uk

Published
Categorized as Machine

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *