Specialized Aethos: เสือหมอบดิสก์เบรกที่เบาที่สุดในโลก

วันนี้ Specialized เปิดตัวเสือหมอบดิสก์เบรกที่น้ำหนักเบาที่สุดในโลก กับน้ำหนักเฟรมเพียง 588 กรัม หรือแบบคอมพลีทไบค์ที่ 6.1 กิโลกรัมโดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์ที่น้ำหนักเบาเป็นพิเศษแต่อย่างใด

เสือหมอบรุ่นนี้ชื่อว่า Specialized Aethos และเป็นโปรเจ็คที่พัฒนามาพร้อมๆ กับ Specialized Tarmac SL7 แต่เป็นการพัฒนาแบบสวนทางกัน เพราะ Aethos เป็นรถที่โฟกัสเพียงแค่เรื่องการทำน้ำหนักเฟรมให้ได้เบาที่สุด โดยยังคงฟีลลิงการปั่นและการส่งแรงที่ดีเยี่ยม แต่ไม่สนใจเรื่องแอโรไดนามิกเลยแม้แต่น้อย

ฟังดูอาจจะย้อนแย้งไม่น้อย กับบริษัทที่โหมโปรโมทเรื่องแอโรไดนามิกมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา อะไรที่ทำให้ Specialized เลือกกลับมาพัฒนาเสือหมอบทรง “โบราณ”​ แบบนี้?

 

มันไม่ใช่รถแข่ง

สิ่งที่ Specialized เน้นย้ำในการเปิดตัว Aethos คือ “มันไม่ใช่รถแข่ง” เราจะเห็นว่าพัฒนาการเสือหมอบในช่วงสิบปีที่ผ่านมานั้นถูกชี้นำโดยวงการการแข่งขันจักรยานอาชีพ เริ่มจากการเปลี่ยนวัสดุจากอลูมิเนียมมาเป็นคาร์บอนไฟเบอร์

ในช่วงยุคต้นปี 2000s โฟกัสการทำรถแข่งอยู่ที่ น้ำหนัก ความสติฟฟ์ และการซับแรงสะเทือน แต่พอเริ่มมีเรื่องแอโรไดนามิกเข้ามา ผู้ผลิตก็เริ่มออกแบบเสือหมอบแอโร ที่ช่วยประหยัดพลังเวลาปั่นด้วยความเร็วสูง มีการแยกประเภทเสือหมอบ aero และเสือหมอบ all around ฝั่งหนึ่งเน้นความเร็ว อีกฝั่งหนึ่งเน้นการไล่น้ำหนักเบาและขึ้นเขาได้มีประสิทธิภาพ

จนถึงช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เทคโนโลยีการผลิตดีพอที่จะรวมเอาความแอโรมาอยู่ในเสือหมอบ all around จนกลายเป็นเทรนด์การผลิตเสือหมอบแข่งขัน แบบคันเดียวทั้งเบาด้วย และแอโรด้วย และล่าสุดก็คือใช้ระบบเบรกเป็นดิสก์เบรกทั้งหมดด้วย

ความสนใจเรื่องน้ำหนักเฟรมเริ่มลดลงไป เพราะโดยหลักฟิสิกส์แล้ว เฟรมแอโรช่วยประหยัดแรงมากกว่าเฟรมน้ำหนักเบาในการแข่งขันทุกรูปแบบ ยกเว้นแค่การขึ้นเขาที่ชันมากๆ เท่านั้น และเมื่อกฏการแข่งขันจักรยานของสหพันธ์จักรยานนานาชาติล็อกให้จักรยานที่ลงแข่งได้น้ำหนักเบาที่สุดไม่เกิน 6.8 กิโลกรัม ผู้ผลิตเลยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำจักรยานน้ำหนักเบามากๆ อีกต่อไป ถ้ามันแอโร และหนัก 6.8 กิโลได้ ก็ถือว่าเพียงพอ

แนวทางการผลิตรถแข่งสมัยใหม่จึงเน้นเรื่อง integration มากขึ้น เพื่อให้รถมี efficiency สูง ไม่ว่าจะเป็นชุดแฮนด์ คอแฮนด์ หลักอาน ที่ทำออกมาล็อกให้ใช้กับเฟรมของแบรนด์เท่านั้น รถแข่งรุ่นล่าสุดจากแบรนด์ใหญ่ๆ นั้นแทบไม่สามารถใช้อะไหล่ 3rd party ได้เลย

 

ตลาดที่ยังมีคนสนใจอยู่

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราโยนเรื่องแอโรไดนามิกทิ้งไป และกลับมาทำรถที่เบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้ได้ฟีลลิงการขี่ที่ดีที่สุด…เหมือนย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2010 แต่ใช้เทคโนโลยีการผลิตและออกแบบจักรยานของปี 2020?

นั่นคือสิ่งที่ปีเตอร์ เดงค์ หัวหน้าวิศวกรโปรเจ็ค Aethos ตั้งคำถาม

ถ้าไม่คุ้นชื่อปีเตอร์ เดงค์ (Peter Denk) ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะเขาเป็นวิศวกรที่ทำงานเบื้องหลังให้แบรนด์จักรยานใหญ่ๆ มานานครับ แต่ไม่ค่อยจะออกตัว เพราะทำงานในเชิง designer / subcontractor

พอร์ทโฟลิโอของเขาเต็มไปด้วยรถที่เป็น “ตำนาน” ของวงการ ไม่ว่าจะเป็น Scott Addict SL – เฟรมเสือหมอบคาร์บอนคันแรกที่น้ำหนักเฟรม+ตะเกียบต่ำกว่า 1,000 กรัม และ Cannondale SuperSix Evo (original) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่สุดของรถ all around ก่อนที่เทรนด์เสือหมอบแอโรไดนามิกจะเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับการออกแบบรถแข่ง

ล่าสุดเขาปีเตอร์เป็นคนช่วยออกแบบ Specialized Tarmac SL6 และ SL7

ปีเตอร์ เดงค์อธิบายการออกแบบ Specialized Aethos

จากที่เล่ามานี้ก็น่าจะเริ่มเห็นแล้วว่า Specialized Aethos เป็นรถที่ทำออกมาตอบโจทย์คนปั่นกลุ่มไหน ถึงแม้มันจะไม่ใช่กลุ่มใหญ่ แต่ก็ยังมีนักปั่นอีกมากที่

  • ไม่ได้แคร์เรื่องความเร็วและแอโรไดนามิก
  • ชอบรถที่เรียบง่ายใช้อะไหล่ 3rd party แต่งได้ตามชอบ
  • กะโหลกเกลียว (Aethos ใช้กะโหลก BSA)
  • ดูแลง่าย ไม่ซ่อนสาย ไม่ซับซ้อนในการประกอบและใช้งาน
  • น้ำหนักเบา สติฟฟ์ handling ดี

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เสือหมอบแข่งขันสมัยใหม่ไม่ได้ตอบโจทย์สักเท่าไร แน่นอนว่ารถแข่งก็ขี่ดีแต่ก็ไม่ได้มีผู้ผลิตไม่กี่รายที่พยายามทำเฟรมให้เบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอย่างน้อยๆ ต้องมีชิ้นส่วนที่ integrated บ้าง รถที่เข้าข่ายนี้ก็มีไม่กี่รุ่น เช่น Factor O2 VAM และ Canyon Ultimate CF EVO

 

Specialized Aethos

คำว่า Aethos (ออกเสียง “เอย์-ทอส”) แปลว่า “คาแรคเตอร์”

โจทย์แรกที่ Speicalized ต้องการจะทำให้ได้คือ ทำเฟรมให้ได้เบาที่สุด โดยยังคงคาแรคเตอร์การปั่นที่ดีอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วในการทำจักรยาน ไม่มีรูปทรงไหนที่ efficiency ดีไปกว่า “ทรงกลม” ท่อในเฟรม Aethos จึงเป็นทรงกลมเกือบทั้งหมด

นอกจากนี้ลักษณะการดีไซน์อื่นๆ ก็เป็นแบบ “ปกติ” ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจุดเชื่อมซีทสเตย์ที่อยู่ระนาบเดียวกับท่อนอน ซีทเสตย์แบบบางๆ กลมๆ จุดยึดรัดหลักอานแบบภายนอก แฮนด์ และคอแฮนด์แบบแยกชิ้น ท่อนั่งขนาด 27.2mm ที่จะเปลี่ยนใช้หลักอานของอะไรก็ได้

แล้วในรูปทรงที่แสนปกตินี้มีอะไรพิเศษ ถึงทำให้ทำน้ำหนักเฟรมดิสก์เบรกได้เบามาก?

Specialized เคลมว่าสิ่งที่ทำให้ต่างก็คือการคำนวนรูปทรงและการวางเรียงชั้นคาร์บอนในแต่ละส่วนให้ได้โครงสร้างที่แข็งแรงแต่ใช้เนื้อวัสดุน้อยที่สุด โดยใช้คอมพิวเตอร์จำลองกว่า 100,000 รูปแบบจนได้ต้นแบบที่พร้อมผลิตจริง

Aethos FEA frame shape optimization

คุณอาจจะสงสัยว่าแล้วมันต่างกับพวกเสือหมอบสายไล่เบาจากแบรนด์บูทีคยังไง? หรือต่างยังไงกับ Cervelo RCA (เลิกผลิตไปแล้ว), Canyon Ultimate CFR หรือ Factor O2 VAM? สิ่งที่ต่างก็คือน้ำหนักที่เบากว่า แต่ยังได้อัตราส่วนระหว่างน้ำหนักและความสติฟฟ์ (Stiffness to weight ratio) ที่สูงที่สุดในตอนนี้อีกด้วย

ปัญหาของเฟรมเสือหมอบน้ำหนักเบามากๆ ส่วนใหญ่คือความย้วย การต้องใช้วัสดุพิเศษราคาแพง และความทนทานต่ำ เปราะบางง่าย ผลิตได้น้อย และรอรอบผลิตนาน

กะโหลก BSA!

Specialized กำจัดปัญหาพวกนี้ทั้งหมด ความสติฟฟ์เราพูดไปแล้ว เรื่องความทนทาน เฟรม Aethos รองรับน้ำหนักผู้ใช้สูงสุดถึง 125 กิโลกรัม เท่ากับเสือหมอบแข่งขันรุ่นอื่นๆ ของแบรนด์​ ความหนาของตัวเฟรมเทียบเท่า Tarmac SL6 และไม่ได้ใช้วัสดุพิเศษใดๆ ในการผลิต (ใชคาร์บอน FACT 12R เหมือนใน Tarmac SL7)

ที่สำคัญเป็นเฟรมแบบ mass production ด้วย

เฟรม Aethos ในไซซ์ 56 หนัก 585g ตะเกียบหนัก 310 กรัม ถ้าเปรียบเทียบก็คือ เบากว่า Tarmac SL7 และ Cannondale SuperSix EVO (2020) เกือบ 200 กรัม เบากว่า Giant TCR Advanced SL 180 กรัม และเบากว่า Trek Emonda SLR เกือบๆ 100 กรัม

ถามว่าสติฟฟ์ขนาดไหน? Specialized เคลมว่าสติฟฟ์ที่สุดในโลกเทียบกับน้ำหนักเฟรมซึ่งก็เบาที่สุดในรถตระกูลนี้เช่นกัน

กราฟเดียวจบทุกการ debate

Specialized เคลมว่า Aethos สติฟฟ์เท่าๆ กับ Tarmac SL7 ตรงกะโหลกและช่วงท่อคอ แต่สติฟฟ์น้อยกว่าตรงช่วงหางหลังประมาณ​ 20% แต่ได้ซับแรงสะเทือนในช่วงหลังได้ดีกว่า SL7 20% ช่วงหน้ารถก็เคลมว่านิ่มสบายกว่า Tarmac SL7 เช่นกัน และถ้ายังกังวลเรื่องความสบาย Aethos ก็รองรับยางหน้ากว้างถึง 32mm

เฟรม Aethos ใช้ได้กับดิสก์เบรกเท่านั้น และรองรับแค่ชุดเกียร์ไฟฟ้า

ด้าน Geometry ยกมาจาก Tarmac SL7/ Venge ทั้งหมด

Geometry

ส่วนเรื่องสีสันหน้าตา Aethos ก็ออกมาในคอนเซปต์ที่ต่างกับรถแข่งของ Specialized ทุกรุ่น นั่นคือแทบไม่มีโลโก้เลยบนรถ มีแต่ตัว “S” ที่ท่อคอ และอักษร S-Works เล็กๆ ตรงท่อนอน

 

ราคา/ วันวางจำหน่าย

Aethos มีให้เลือกในแบบ completed bike 3 สเป็ค และมีเฟรมเซ็ตแยกขายต่างหาก

รุ่นท็อปสุดราคา 12,500 USD (ประมาณ​ 400,000 บาท) มากับล้อ Roval Alpinist, ยาง Specialized S-Works Turbo Cotton, เบาะ S-Works Power Arc, ชุดขับ Shimano Dura-Ace Di2, สเต็ม S-Works SL, แฮนด์​ S-Works Carbon

Aethos Di2
Aethos AXS

หรือถ้าชอบชุดขับ SRAM ก็มี Aethos SRAM Red AXS ให้เลือกในราคาเท่ากัน ซึ่งทั้งคู่มากับพาวเวอร์มิเตอร์

รุ่น Founder Edition มากับสีพิเศษ Metallic Silver จำกัดแค่ 300 คัน สเป็คเหมือน S-Works Di2 แต่มากับชุดแฮนด์สเต็มชิ้นเดียว Roval Alpinist ในราคา 14,500 USD (ประมาณ ​455,000 บาท)

Aethos Founder Edition

เฟรมเซ็ตมีให้เลือกหลายสี รวมถึงสี ‘jet fuel’ ที่เป็นเฟรมเปลือยพร้อมให้เจ้าของเอาไปทำสีเองได้ (ready to paint) ในราคา 5,200 USD (ประมาณ​ 165,000) บาท

Aethos Jet Fuel Ready to Paint frameset

เริ่มวางจำหน่ายแล้ววันนี้ ดูรายละเอียดทั้งหมดได้ที่

https://www.specialized.com/us/en/aethos

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!