รองเท้าปั่นที่ดีควรจะมีลักษณะเป็นยังไง?
- พื้นรองเท้าต้องแข็งเพื่อส่งแรงได้ดี คือต้องใส่ได้กระชับไม่หลวมหรือแน่นเกินไป และมีระบบการปรับกระชับที่ทำให้ผู้ใส่ใส่สบายได้ตลอด
- ควรจะมีน้ำหนักเบา เพราะอย่าลืมว่าเวลาเราควงเท้าปั่นถึงบันไดจะช่วยส่งแรงยกขาทีละข้าง แต่ทั้งเท้านั้นก็มีน้ำหนักที่เราต้องแบกวนร่วมร้อยรอบต่อนาที
- ระบายอากาศและความร้อนได้ดี ไม่อับชื้นอมเหงื่อระหว่างปั่น
- สุดท้ายถ้าเป็นแนวคิดสมัยก่อน รองเท้าปั่นที่ดีควรจะ “แข็ง” นั่นคือหนังที่หุ้มมันทั้งด้านบน ข้าง และล่างก็ไม่ควรจะให้ตัวได้มากนัก เพราะจะทำให้การส่งแรงเสียเปล่า
ข้อสุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป เพราะผู้ผลิตรองเท้าจักรยานยุคนี้สามารถใช้วัสดุที่นิ่มสบายเหมือนใส่รองเท้าสนีกเกอร์ มีความทนทาน ระบายอากาศได้ดี และลดน้ำหนักตัวรองเท้าได้มากกว่าเดิมเกือบเท่าตัว
Specialized S-Works EXOS ก็เป็นหนึ่งในรองเท้าปั่นเจอเนอเรชันใหม่ ที่ต้องการจะแหวกแนวคิดที่ว่า รองเท้าปั่นที่ดีต้อง “แข็ง” จุดเด่นคือ เขาเคลมว่าเป็นรองเท้าปั่นที่ใช้หัวรัด BOA ที่เบาที่สุดในโลก (ที่วางจำหน่ายในตลาดวงกว้าง ไม่ใช่แบบสั่งทำพิเศษ)
ไซส์ 43 ของผมน้ำหนักรวมกันทั้งสองข้างแบบไม่ติดคลีท หนักแค่ 309 กรัมเท่านั้น โดยมีรุ่นพิเศษ Limited Edition Exos 99 ที่เป็นแบบผูกเชือกที่หนักคู่ละ 200 กรัม ในขณะที่รุ่นปกติหนักกว่าข้างละ 50 กรัม จากปุ่ม BOA ที่ใช้ปรับความกระชับ
ดีไซน์
ฉีกกฏการออกแบบรองเท้าปั่น
นอกจากน้ำหนักเบาแล้ว S-Works EXOS ยังใช้วิธีการผลิตที่ต่างไปจากรองเท้าปั่นส่วนใหญ่ในตลาดด้วย ด้านบนของรองเท้าเป็นการเชื่อมและเย็บวัสดุ 4 แบบที่ต่างกันออกไป ด้านหน้าเท้า (จุดที่เป็นสีขาว) เป็นหนังสังเคราะห์เจาะรูระบายอากาศที่นิ่มและบางมากๆ มากจนคุณคิดว่ามันน่าจะขาดง่าย แต่ก็มีความเหนียวและนิ่มมาก ผิดกับรองเท้าปั่นส่วนใหญ่ที่บริเวณหุ้มหน้าเท้าเราจะต้องแข็งและใหตัวได้น้อย วัสดุตรงนี้ยืดหยุ่นได้ แต่ไม่ย้วยนะครับ คิดว่าใช้งานระยะยาวก็ไม่น่าจะเสียทรง
ตรงแถบสีเทาเข้มนั้นเป็นวัสดุ Dyneema ซึ่งเป็นเส้นใยสังเคราะห์พอลิเอทธิลีนโมเลกุลสูง มีความแข็งแรงต่อน้ำหนักมากที่สุดในโลก บริษัท DSM ผู้ผลิตเคลมว่าไดนีม่ามีความแข็งแกร่งมากกว่าเหล็กถึง 5 เท่าหากเทียบในปริมาณของมวลที่เท่ากัน แต่ก็ยังเบาพอที่จะลอยบนน้ำ (!) DSM ผลิตออกมาครั้งแรกเพื่อให้ NASA นำไปใช้ทำร่มชูชีพ
ด้วยความเบาของมันและความง่ายที่จะใช้ร่วมกับวัสดุสิ่งทอทำให้มีบริษัทมากมายนำ Dyneema ไปใช้ เช่นการทำเชือกหรือเส้นเอ็นที่แข็งแรงมากๆ หรือแม้กระทั่งแบรนด์แฟนชันต่างๆ ก็นำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าที่ได้น้ำหนักเบาแต่ทนทานนั่นเองครับ
ถึงจะบอกว่ามันแข็งแรง แต่จุดที่เป็นไดนีมาในรองเท้า EXOS นี้ก็ขยับให้ตัวได้ ไม่ได้มีความเป็นโคงรองเท้าใดๆ เลย แม้แต่บริเวณ heel cup (ส่วนที่หุ้มตรงส้นเท้า) ที่รองเท้าปั่นแทบทุกรุ่นทุกยี่ห้อต้องทำให้แข็งเป็นพิเศษเพื่อให้มันโอบรัดส้นเท้าเรา และช่วยให้การส่งแรงจังหวะดึงบันไดเป็นไปได้เต็มที่ ก็ไม่มีความแข็งอยู่เลย! เอานิ้วกดเข้าไปได้สบายๆ นี่มันรองเท้าสนีกเกอร์ชัดๆ
ส่วนเดียวที่แข็งของรองเท้าคู่นี้ก็คือพื้นครับ และต้องบอกว่ามันแข็งมากๆ แข็งโคตรๆ อย่างที่รองเท้าปั่นควรจะเป็น เพราะมันทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ 100% นั่นเอง ทั้งนี้ Specialized บอกว่ามันไม่ใช่พื้นที่แข็งที่สุดที่เขาทำ พื้นที่แข็งที่สุดอยู่ในรองเท้า S-Works 7 แต่ผมมีทั้งสองรุ่น ลองใส่เทียบกันแล้วก็ไม่ได้เห็นว่าพื้นของ EXOS จะอ่อนหรือย้วยกว่าแต่อย่างใด Specialized ระบุว่าพื้นคาร์บอนของ EXOS มีดัชนีค่าความสติฟฟ์ที่ 13 (เทียบกับ S-Works 7 ที่ 15)
เพื่อลดน้ำหนักให้ได้มากที่สุด Specialized เซาะพื้นรองเท้าเป็นร่อง (!) แล้วใช้ตาข่ายลวดปิดรูไว้ เพื่อให้ระบายความอับชื้น
ฟิต
นี่รองเท้าปั่นจริงหรือเปล่า?
การันตีได้เลยว่าจังหวะที่คุณสวมรองเท้า EXOS เข้าไปทีแรกมันจะไม่เหมือนความรู้สึกการใส่รองเท้าปั่นไหนๆ เลย เพราะหนังด้านบนที่มันให้ตัวได้แบบนุ่มนิ่มสุดๆ จนบางทีรู้สึกเหมือนแค่ใส่ถุงเท้าอยู่ แต่การที่หนังด้านบนให้ตัวได้เยอะแบบนี้ หมายความว่าคุณควรต้องลองสวมใส่ก่อนจะซื้อ เพราะมันอาจจะให้ฟีลใหญ่เกินไซส์ปกติที่คุณใส่ครับ
ปกติผมใส่ไซส์ 43 และเป็นคนเท้ากว้างนิดหน่อย คู่เก่าที่ใส่คือ S-Works 7 ซึ่งไม่ได้มีไซส์หน้ากว้างพิเศษ เหมือนบางยี่ห้อ แต่ช่วงหน้าเท้ากว้างพอประมาณ ผมใส่ EXOS ไซส์เดียวกัน ก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องลดไซส์ลง การที่ช่วงหน้าเท้ามันยืดได้เยอะน่าจะดีกับคนเท้าหน้ากว้างนะครับ
รองเท้ามีจุดปรับความกระชับแค่จุดเดียว นั่นคือปุ่ม BOA IP1 ที่อยู่บนลิ้นรองเท้า (รองเท้าส่วนใหญ่วางปุ่ม BOA ไว้ด้านข้าง) ใช้ปรับความตึงเส้นเอ็นที่อยู่ด้านหน้าเท้า ไม่ได้มีการร้อยซ่อนวนไปในตัวรองเท้าเหมือนที่หลายๆ ยี่ห้อนิยมทำกัน
คุณอาจจะสงสัยว่ามีจุดรัดแค่อันเดียวมันจะทำให้กระชับได้ทั้งเท้าเหรอ? รองเท้าปั่นส่วนใหญ่มีจุดรัดถึงสามจุด EXOS ปรับความกระชับได้ดีพอสมควร แต่ยังไม่เท่ารองเท้าที่ปรับได้หลายจุดครับ
สำหรับผมคือมันปรับได้แน่นพอ แต่ด้วยที่เท้าซ้ายและขวาผมขนาดไม่เท่ากัน เท้าขวาใหญ่กว่านิดนึง ทำให้เวลาใส่รู้สึกว่ารองเท้าซ้ายมันหลวม การที่หนังด้านบนในส่วนหน้าเท้ามันยืดหยุ่นได้ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่ามันไม่พอดี วิธีแก้ของผมคือหากระดาษแข็งมาใส่ไว้ใต้แผ่นรองอีกที เท่านี้ก็ฟิตกระชับเต็มเท้าครับ แต่เข้าใจได้เลยว่าเพราะมันไม่มีตัวรัดด้านหน้าเป็นพิเศษ เหมือนรองเท้าหลายๆ รุ่นก็อาจจะทำให้หลายๆ คนไม่ชอบฟิตมันเท่าไร
อย่างที่เห็นในรูปข้างบน รองเท้านี้มันไม่มี “โครง” ครับ ส่วนด้านบนของมันอ่อนขนาดที่คุณกดแล้วมันพับลงมาได้ทั้งหมดเลย เวลาใส่มันจะไม่ให้ความรู้สึกที่เหมือนมีโครงรองเท้าซัพพอร์ทเท้าเราอยู่ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีนะ แค่มันต่างไปจากรองเท้าปั่นทั่วๆ ไป
เมื่อหาฟิตที่พอดีได้แล้ว อาจจะต้องลองใส่ปั่นหลายๆ รอบก่อนถึงจะคุ้นชิน พอชินแล้วมันเป็นรองเท้าปั่นที่สบายที่สุดที่ผมเคยใส่ ไม่ได้โม้ มันให้ฟีลอิสระมาก เพราะมันไม่มีโครงแข็งๆ เหมือนรองเท้าปั่นอื่นๆ ที่เคยใส่ ฟีลเหมือนใส่สนีกเกอร์นั่นหละครับ แต่การที่หนังด้านบนมันยืดหยุ่นได้มาก คุณจะต้องระวังเรื่องการควงขาเป็นพิเศษ ตรงนี้จะอธิบายต่อในหัวข้อถัดไป
อีกอย่างคือมันเป็นรองเท้าที่ใส่ง่ายและถอดไวครับ พอวัสดุด้านบนไม่แข็งก็สวมเท้าเข้าไปแล้วหมุน BOA ล็อกได้เลย ไม่ต้องมาจับรองเท้าอะไรมากมาย
ใช้งานเป็นยังไง
ผมใส่รองเท้า EXOS มาตั้งแต่ช่วงต้นปี ปั่นไปหลายพันกิโลเมตรอยู่เหมือนกัน ทั้งแบบปั่นทัวร์ริงอยู่บนจักรยานติดต่อกันหลายๆ วัน ปั่นซ้อมเค้นทำความเร็ว สปรินต์ และเจออากาศน่าจะครบทุกรูปแบบแล้วทั้งหนาว ร้อน และฝน จากที่เอาไปใช้ต่างประเทศหลายครั้ง
จุดแรกอย่างที่บอกไปคือความสบาย ถ้าหาฟิตที่พอดีได้แล้วรองเท้านี้สบายมาก ถึงพื้นจะแข็งแบบรองเท้าแข่งทั่วไป แต่ส่วนบนมันนิ่มสบาย ใส่ปั่นได้ทั้งวัน หลายวันต่อกัน ไม่มีจุดบีบหรือ hot spot เลย ส่วนหนึ่งเพราะการออกแบบ insole (แผ่นรองเท้า) Body Geometry ของ Specialized ช่วยซัพพอร์ทหน้าเท้า อุ้งเท้า ฝ่าเท้าได้แน่นเต็มดี ถ้าคุณชอบฟีลรองเท้า Specialized อยู่แล้ว จุดนี้แทบไม่ต่างจากคู่อื่นๆ ของค่ายนี้ครับ
ด้วยที่หนังสังเคราะห์ด้านบนของรองเท้าและด้านข้างค่อนข้างบาง และมีรู เรื่องการระบายอากาศ ความอับชื้นก็ทำได้ดีมาก ไม่มีปัญหาตรงจุดนี้
เรื่องการส่งแรง จุดนี้เป็นจุดที่ผมกังขาที่สุดในทีแรก เพราะต่อให้พื้นจะแข็งแค่ไหน แต่ถ้าหนังด้านบนให้ตัวได้มาก จังหวะที่เราดึงเท้าขึ้นจะเป็นยังไง? ตอนแรกมันก็จะไม่ชินเท่าไรครับ รู้สึกขาดๆ เกินๆ การที่มันมีจุดรัดแค่จุดเดียวคือทำให้ไม่รู้ว่าต้องรัดแน่นแค่ไหน มันจะมีจุดที่ตึงไปในขณะที่จุดอื่นหลวมไปหรือเปล่า ใส่ครั้งแรกผมรัดค่อนข้างแน่น แต่พอปั่นไปสักพักเริ่มคลายออกนิดนึง หลวมกว่ารองเท้าปั่นปกติที่ใส่ ตรงนี้ไม่รู้จะอธิบายยังไง เหมือนมันออกแบบมาให้เราใส่แน่นระดับหนึ่งแต่ไม่แน่นมาก คงเหมือนเวลาใส่รองเท้าวิ่งที่เรารัดเชือกพอประมาณแต่ไม่ตึงเปรี๊ยะ
วิธีที่ผมใช้วัดว่าออกแรงได้ดีแค่ไหนคือสปรินต์ เวลาวัสดุด้านบนมันไม่แข็ง ตอนสปรินต์ทีแรกก็จะมีเหวอบ้าง เพราะเรากลัวๆ แต่พอชินแล้วก็กดได้เต็มข้อมาก ปกติ max power ที่ผมสปรินต์ได้คือประมาณ 980-1100 วัตต์ แล้วแต่ความฟิต แต่ถ้าขึ้นเลขสี่หลักได้ถือว่ากดได้เต็มที่แล้ว คู่นีก็สปรินต์ได้เลขสี่ตัวสบายๆ ไม่แพ้ S-Works 7 ที่ใส่อยู่
อีกข้อที่ไม่รู้ว่าคิดไปเองมั้ยคือรองเท้ารุ่นนี้สอนให้ควงขาส่งพลังได้ดีขึ้น เพราะอะไร? เพราะว่าการที่วัสดุด้านบนมันนิ่ม คุณไม่สามารถ “อู้” ในจังหวะการควงขาได้ครับ รองเท้าที่พื้นด้านบนมีโครงแข็ง ในจังหวะที่คุณออกแรงดึง คุณอาจจะไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อในจุดที่ควรจะใช้ดึง แต่ดึงมันขึ้นมาทั้งเท้าเลยเพราะยังไงรองเท้ามันก็แข็งส่งแรงแทนเราได้อยู่แล้ว แต่กับ EXOS นี่ไม่ได้ ถ้าคุณควงดึงด้วยเท้าทั้งเท้า ด้านบนมันจะยวบและจะเสียการส่งแรงทันที โดยเฉพาะเวลาสปรินต์นี่จะเห็นได้ชัดมาก ถ้าการควงขาไม่ดี เวลาสปรินต์บนรองเท้านี้จะออกแรงได้ไม่เต็มที่เลย
เพราะงั้นถ้าลองใส่ทีแรกอาจจะต้องปรับ pedal stroke กันนิดหน่อยด้วย แต่ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ
เทียบกับ S-Works 7 เป็นยังไง? ฟิตโดยรวมเหมือน S-Works 7 ทั้งหมด แต่ S-Works 7 ให้ความรู้สึกมั่นคงและใส่ได้เต็มเท้ากว่าเพราะมีจุดรัดมากกว่า แต่ด้วยโครงสร้างด้านบนที่ไม่เหมือนกันเลย EXOS ใส่แล้วเบาสบายเท้ากว่าครับ ตอนแรกก็คิดอยู่ว่าจะกลับไปใส่ S-Works 7 อีกมั้ย แต่พอชินกับความโปร่งโล่งของ EXOS แล้วก็คิดว่าไม่จำเป็นที่จะกลับไปใช้รองเท้าที่มีโครงซัพพอร์ทอีก มันสบายกว่า จุดนี้ผมว่าไม่ชอบก็เกลียดไปเลย เพราะคนที่ไม่ชอบอาจจะรู้สึกไม่มั่นใจเวลาควงขา กด ไส ลาก ดึงบันไดหนักๆ ครับ
สรุป
Specialized S-Works EXOS เป็นรองเท้าที่แหวกเทรนด์การออกแบบรองเท้าปั่น จุดยึดแค่จุดเดียว วัสดุให้ตัวได้เยอะ น้ำหนักโคตรเบา แต่ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพด้านไหนๆ ลดลงเลย และมันเป็นการพิสูจน์ว่าการทำรองเท้าปั่นระดับโปรใช้แข่งขันได้นั้นไม่ได้มีแค่วิธีเดียว ที่ต้องแข็ง ต้องรัดกระชับตลอดเวลา
การหยิบวัสดุใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับการวิจัยสรีระร่างกายนักปั่นก็ทำให้ได้รองเท้าปั่นให้ฟีลเหมือนสนีกเกอร์คู่โปรด (แต่คุณก็ต้องมั่นใจว่ามันเข้ากับรูปเท้าของคุณก่อนนะ)
จุดอ่อนสองข้อสำหรับ S-Works EXOS คือ ราคาที่ขายกันประมาณ 15,000-16,000 บาท แล้วแต่ส่วนลดของแต่ละร้าน ซึ่งก็เทียบเท่ากับรองเท้าปั่นตัวท็อปของค่ายอื่น (แต่ก็ยังมีที่แพงกว่านี้) และสองคือความทนทาน ด้วยวัสดุที่อ่อนนิ่ม ถ้าล้มหนัก ครูดพื้นก็อาจจะเสียหายหรือขาดง่ายได้ง่ายกว่ารองเท้าปั่นทั่วๆ ไปที่ปกติวัสดุจะหนากว่านี้ แต่ถ้าดูแค่การใช้งานทั่วไปแต่ละวัน คู่ที่ผมใช้ก็ยังไม่ได้ขาดหรือฉีกอะไรครับ
โดยรวมแล้วเป็นรองเท้าปั่นที่ดีมากและแพงมาก ผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ จะชอบฟีลลิงรองเท้าปั่นที่เหมือนรองเท้ากีฬานิ่มๆ แบบนี้หรือเปล่า อาจจะใส่แล้วรู้สึกไม่มั่นใจก็ได้ แต่ถ้ามันฟิตพอดีเท้า และปั่นจนชินแล้วคุณอาจจะติดใจก็ได้นะ