ตั้งแต่ที่มาร์ก คาเวนดิชสปรินต์เฉือนเอาชนะแมธธิว กอสในศึกชิงแชมป์โลกจักรยานถนนปี 2011 กลางกรุงโคเปนฮาเกนด้วยสกินสูท จักรยานแอโร และหมวกที่ปิดรูระบายอากาศด้วยพลาสติกใส ก็เกิดคำถามขึ้นว่าเรื่องการลดแรงต้านลมหรืออากาศพลศาสตร์บนจักรยานถนนนั้นมันมีผลต่อการแพ้ชนะจริงๆ หรือเปล่า? ผ่านมา 3 ปีเต็มอุปกรณ์แอโรไดนามิกในแวดวงจักรยานถนนก็บูมกันเป็นพลุแตก ผู้ผลิตจักรยานต่างเร่งออกแบบเฟรมที่ลู่ลมที่สุด ผู้ผลิตหมวกก็เริ่มเทรนด์ด้วยการปิดรูหมวกรุ่นที่มีขายอยู่ บางเจ้าทุนหนาก็ลงทุนดีไซน์หมวกแอโรออกมาเป็นพิเศษ
เมื่อสองปีก่อน เราเห็นโปรใส่หมวกแอโรเพื่อแค่ป้องกันฝนและลมหนาวในช่วงสนามคลาสสิคแล้วเปลี่ยนมาใช้หมวกธรรมดาในช่วงฤดูร้อน ราวกับว่าพวกเขาไม่เชื่อว่าหมวกแอโรมีผลต่อการแพ้ชนะและดูออกจะรำคาญเพราะการระบายอากาศนั้นด้อยกว่าหมวกธรรมดา แต่ในปีนี้โปรทีมแทบทุกทีมต่างใช้หมวกแอโรกันในตูร์ เดอ ฟรองซ์ที่อากาศค่อนข้างร้อนแทบทุกสเตจราวกับมีการเปลี่ยนทัศนะคติครั้งใหญ่ในวงการแข่งขันระดับสูงสุด หรือเป็นเพราะแรงกดดันของนักปั่นอาชีพมีสูงจนไม่อยากจะเสียเวลาแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว หรือวัตต์เดียวให้กับคู่แข่ง? วันนี้เรามาดูรีวิวหนึ่งในหมวกแอโรที่กำลังมาแรงในตอนนี้ Specialized S-Works Evade ครับ
1. แกะกล่อง
ความตั้งใจของ Specialized ในการออกแบบหมวก Evade คืออยากให้หมวกที่ใช้ในการแข่งขันเสือหมอบลู่ลมได้ไม่แพ้หมวก Time Trial ซึ่ง Specialized อ้างว่าหมวก Evade นั้นเร็วกว่าหมวก TT2 ที่เป็นหมวก Time Trial เฉพาะทาง (รุ่นเก่า) และเมื่อเทียบกับหมวกกันน๊อคแบบธรรมดานั้นอย่างหมวก Prevail แล้ว Evade จะทำเวลาได้ดีกว่าถึง 46 วินาที ที่ระยะทาง 40 กิโลเมตร
แต่ใช้จริงแล้วเป็นยังไง? DT จะรีวิวการใช้งานส่วนตัวของผมเอง และอ้างอิงผลการทดสอบในเวโลโดรมปิดจาก Road Bike Action Magazine และในอุโมงค์ลมของ Tour Magazine ครับ
หมวกใบนี้เป็นของที่ผมซื้อมาใช้เอง ก่อนจะรีวิวก็ได้ทดสอบมาเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนเศษ ผ่านการใช้งานแทบทุกสภาพอากาศและภูมิประเทศ ตั้งแต่ปีนเขาสูงชันอย่างเขาใหญ่ เขาเขียว ปั่นทางราบปะทะลมสวน ลมข้าง ปั่นกลางสายฝน ปั่นไกล 200 กิโลเมตร และแข่งขันความเร็วสูงช่วงกลางวันที่อากาศร้อนที่สุดในประเทศไทย
2. ฟิต-ความสบาย: 9/10
ทำได้ดีมาก ใส่สบายกว่าหมวก Lazer Genesis ที่ผมใช้อยู่ หมวกใช้ลูกบิดด้านหลังในการปรับความกระชับ ซึ่งเมื่อได้ระยะแล้วเราแทบไม่รู้สึกว่าใส่หมวกอยู่ ถ้าศีรษะใครสูงหรือสั้นกว่าปกติ ก็สามารถปรับระยะตัวสไลเดอร์ตัวรัดศรีษะได้ด้วย น้ำหนักอยู่ที่ 275–280 กรัมโดยประมาณ ซึ่งไม่เบา แต่ก็ถือว่าไม่หนัก หมวกกระจายน้ำหนักได้ดี ไม่รู้สึกเสียสมดุลถึงตัวโครงหมวกจะมีขนาดยาวกว่าหมวกทั่วๆ ไป
3. หน้าตา 8/10
เรื่องหน้าตาหมวกแอโรนั้น ไม่ชอบก็เกลียดกันไปเลย ใบนี้ก็เช่นกัน บางคนอาจจะชอบ บางคนอาจจะไม่ชอบ แต่ผมคิดว่าออกแบบมาได้สวยลงตัวดี มองจากด้านหน้า โปรไฟล์หมวกถือว่ากระชับลู่ลมดีทีเดียว ดูจากด้านข้างอาจจะยาวประหลาดตาเล็กน้อย มุมที่หล่อที่สุดคือเยื้องข้าง-หลัง (ถ้าอยากออกกล้องหล่อก็ลองถ่ายรูปมุมนี้ดู ☺)
แต่ก็ใช่ว่าจะดีไปหมด หมวกมีความยาวพอสมควร เวลาเข้าที่แคบๆ อย่างห้องน้ำตามร้านคาเฟ่ หรือในห้องพัก จะก้มหรือเงยต้องมีชนแทบทุกครั้ง ก็ต้องปรับตัวกันไปครับ
เรื่องงานสีทำได้ดี ตอนแรกก็กลัวว่าจะเป็นรอยเยอะ เพราะเป็นสีดำด้าน ผมก็ไม่ใช่คนใช้ของระวังอะไรอยู่แล้ว แต่ผ่านไปสองเดือนก็ไม่มีรอยอะไรให้เห็น
4. ระบายความร้อน 7/10
บอกเลยว่าหมวก Evade ระบายอากาศได้แย่กว่าหมวกทั่วๆ ไปพอสมควรครับ สังเกตได้จากเหงื่อที่อมชุ่มอยู่ท้ายทอยทุกครั้งที่ออกปั่น ผิดกับหมวก Lazer Genesis ที่แทบไม่มีเม็ดเหงื่อหลงเหลือในหมวกหลังปั่นเสร็จ อธิบายได้ไม่ยาก เพราะโดยปกติแล้วความร้อนนั้นจะลอยขึ้นที่สูง หมวก Evade ไม่มีรูระบายอากาศด้านบนเลย มีแต่รูให้ลมเข้าสองรู แน่นอนว่าเมื่อกาศร้อนระบายออกด้านบนไม่ได้ มันก็ไปกองกันอยู่ข้างหลังศีรษะ
พูดง่ายๆ มันระบายอากาศได้แค่ 2 มิติ คือรับลมเข้าด้านหน้ากับด้านบน แล้วดันลมออกด้านหลัง กระแสลมเย็นจะไหลผ่านศีรษะเราในทิศทางเดียว ส่วนหมวกธรรมดานั้นจะระบายได้ 3 มิติ คือเข้าข้างหน้า ออกข้างหลัง และออกด้านบนด้วย
ใส่แรกๆ รู้สึกว่ารำคาญ เพราะบ้านเราก็อากาศร้อนแย่อยู่แล้ว แต่พอใส่ไปนานๆ มันก็ชินครับ เคยใช้แข่งในงานวัดใจวิเศษชัยชาญที่ต้องปั่น AV40 เพื่อให้เข้าเส้นชัย 80 กิโลเมตรในเวลา 2 ชั่วโมง เป็นวันที่อากาศร้อนเกือบที่สุดในประเทศไทย แต่ก็รอดผ่านไปได้ไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาเท่าไร หมวก Evade จะร้อนมากเมื่อเราปั่นช้าๆ เพราะลมระบายได้ทางเดียว อยากให้มันไล่อากาศร้อนบนหัวก็ต้องปั่นเร็วให้อากาศเย็นเข้าไป เมื่อทำความเร็วได้สัก 30 กว่าๆ ก็ค่อนข้างสบายแล้ว
ส่วนการใช้ขึ้นเขาที่ทำความเร็วได้ไม่มาก และร่างกายเราจะขับเหงื่อมากกว่าการปั่นทางราบนั้น อย่างที่ตอนไปใช้ขึ้นเขาใหญ่ เขาเขียว ก็ถือว่าไม่แย่มาก แต่ก็ร้อนกว่าหมวกแบบมีรูระบายอากาศเยอะๆ อย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดีผลวิจัยพบว่าความร้อนบนศีรษะไม่มีผลต่อความสามารถในการปั่นทั้งเรื่องกำลังวัตต์และความเร็ว เพราะฉะนั้น ใช้แข่งจริงก็คงไม่มีผลจนเกินไป ที่แน่ๆ จังหวะลงเขานี่รู้สึกได้ว่าลู่ลมทีเดียวครับ ยิ่งตอนก้มกดคางติดแฮนด์แล้วความเร็วขึ้นสูงดีกว่าที่เคยทำได้
5. Is Aero Everything?
มาเข้าประเด็นหลักกันดีกว่า หมวกแอโร นี่มันทำให้เราปั่นเร็วขึ้น ออกแรงน้อยลงจริงหรือ? ทางทฤษฏีแล้วก็จริงทุกประการแน่นอนเพราะหน้าตัดส่วนที่ปะทะลม (surface area) ของหมวกแอโรนั้นเล็กกว่าหมวกธรรมดามาก ไม่เช่นนั้นนักแข่ง Time Trial คงไม่ใช้หมวกทรงเอเลี่ยนกัน แต่ปัญในทางปฏิบัติคือ หมวกเสือหมอบใช้งานต่างจากหมวก TT มาก การแข่ง TT นักปั่นสามารถล๊อกท่าปั่นให้ลู่ลมที่สุด ศีรษะขนานเป็นแนวราบเดียวกับลำตัว ลู่ไปกับจักรยาน หน้าตัดยิ่งเล็ก ก็ยิ่งเร็ว ยิ่งขยับตัวน้อยก็ยิ่งลู่ลมมากขึ้นเท่านั้น
แต่การปั่นเสือหมอบนั้น นักปั่นจะขยับหัวบ่อยกว่ามาก ทั้งเพื่อหันดูคู่แข่ง ดูเพื่อน ดูการจราจร จนทำให้หมวกแอโรยาวๆ นั้นอาจจะเป็นภาระขวางลม หนักเมื่อยคอด้วยซ้ำไป ยิ่งเมื่อปั่นในกลุ่มหลายๆ คนที่กระแสลมแปรผันตลอดเวลาแล้ว ประโยชน์ของหมวกแอโรก็น้อยลงไปตามตัว
ว่าทฤษฏีจบไปแล้วมาดูทางปฏิบัติกันครับ ขอยกผลทดสอบที่ผมคิดว่าเป็นกลางที่สุดจากสองนิตยสารดัง
Road Bike Action Magazine Aero Test
ผลทดสอบแรกเป็นของนิตยสาร RBA ฉบับเดือนเมษยน 2014 เขาทดสอบหมวกแอโรเทียบกับหมวกธรรมดา ไม่ได้ทดสอบในอุโมงก์ลมแต่ทดสอบในเวลาโดรมปิดด้วยระบบ Alphamantis Track Aero System ซึ่งโดยหลักการเขาทำออกมาเพื่อลบจุดด้อยในการทดสอบความแอโรของนักปั่นและอุปกรณ์ในอุโมงค์ลม
ปัญหาหลักของอุโมงค์ลมคือมันเหมือนการทดสอบในแลปที่แทบไม่จำลองพลวัตรการปั่นจริงๆ เลย การเอนตัวเข้าโค้ง การขยับศรีษะและร่างกายระหว่างแข่งขันล้วนมีผลต่อแรงต้านลมทั้งสิ้น ระบบ Alphamantis จะให้นักปั่นฟิตติ้งกับรถก่อนแล้วทดสอบปั่นในเวโลโดรมปิดด้วยกำลังวัตต์ที่เท่าๆ กันทุกครั้งเพื่อหาความได้เปรียบของอุปกรณ์หรือท่าปั่นแบบต่างๆ ซึ่งทำให้ได้ค่าที่ใช้ได้ในชีวิตจริงมากกว่าการทดสอบในอุโมงค์ลม
ผลการทดสอบระหว่างหมวกแอโร หมวก TT และหมวกธรรมดาเป็นตามนี้ครับ (หมวกแอโร: LG Course, Spe Evade, Air Attack/ หมวก TT: Giro Selector, Advantage, Poc Tempor/ หมวกธรรมดา: Specialized Prevail, Bell Gage, Giro Aeon)
สังเกตว่าหมวกแอโรจะมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ (CdA) ต่ำกว่าหมวกธรรมดาประมาณ 0.006–0.010 ซึ่งแปลงเป็นค่าวัตต์ก็อยู่ที่ 6–11 Watts ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว หมวก Evade และ Air Attack ได้ค่า CdA ไม่ต่างกันเป็นนัยสำคัญ
Tour Magazine Test
ดูการทดสอบแบบชีวิตจริง ปั่นจริงกันไปแล้ว ก็ลองดูแบบแลปบ้างครับ ของทางนิตยสาร Tour Tour (อ้างอิงจากฉบับเดือนสิงหาคม 2014) เป็นการทดสอบในอุโมงค์ลม ใช้หุ่นจำลองบนเสือหมอบและท่าปั่นจับดรอปเหมือนคนปกติ องศาลม (yaw angle) +/- 20 องศา ความเร็วลม 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่าที่วัดคือค่าแรงต้านลมเฉลี่ยคิดเป็นหน่วยกำลังวัตต์ ตัวแปรทุกอย่างเหมือนกันหมดยกเว้นหมวก ใช้วัตต์น้อยกว่าก็ประหยัดแรงได้มากกว่า ขอบเขตของความผิดพลาด (margin of error) อยู่ที่ +/- 0.8 วัตต์
ผลการทดสอบคือหมวก Evade ลู่ลมดีเป็นอันดับ 3 รองจาก Kask Infinity และ Casco Speed Time สรุปง่ายๆ คือหมวก Evade ประหยัดแรงได้ประมาณ 5 วัตต์ เทียบกับหมวก Prevail (261 vs 266 วัตต์)
6. สรุป
ผลทดลองทางวิทยาศาสตร์ทั้งแบบในห้องแลป (Tour) และชีวิตจริง (RBA) ก็เห็นได้ชัดว่าหมวกแอโรมีผลต่อความเร็วครับ ช่วยเซฟกำลังได้ราวๆ 5–10 วัตต์โดยเฉลี่ย ซึ่งเมื่อแปลเป็นความเร็วแล้วก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่ Specialized อ้าง คือประมาณ 30–40 วินาทีในการปั่นเดี่ยวระยะทาง 40 กิโลเมตร
ด้านการใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็นความสบายในการสวมใส่ รูปลักษณ์ การระบายความร้อนก็ทำได้ค่อนข้างดี
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่หมวกราคาสูง (8,xxx) ผมคิดว่ามันเป็นก็ยังเป็นหมวกที่ค่อนข้างเฉพาะทาง จะมีประโยชน์เต็มที่ก็ต่อเมื่อคุณตั้งใจจะใช้แข่งขันจริงๆ จังๆ หรืออยากทำลายสถิติเวลาตัวเองบ่อยๆ เหมาะกับนักแข่งมากกว่าเอามาใช้ปั่นเล่นๆ ชิลล์ๆ โดยเฉพาะเมื่อมันร้อนกว่าหมวกธรรมดาและจะระบายอากาศได้ดีก็ต่อเมื่อคุณปั่นที่ความเร็วสูง
อย่าลืมว่าหมวกกันน๊อคเป็นของที่ใช้แล้วทิ้ง ถ้าล้มแล้วหมวกร้าวหรือแตกไม่ควรใช้ต่อ ถ้าใช้ปั่นชิลล์ๆ แล้วล้มจนหมวกพังเข้าก็ำไม่คุ้ม ซ้ำยังเกะกะเพราะหมวกค่อนข้างยาวกว่าหมวกทั่วๆ ไป
คนที่ปั่นทั้งรถ Time Trial และเสือหมอบน่าจะชอบเป็นพิเศษเพราะหมวกใบเดียวใช้ปั่นได้ทั้งสองแบบเลย อาจจะไม่เร็วเท่าหมวก TT เพียวๆ แต่ก็ถือว่าไม่แย่และระบายความร้อนได้ดีกว่า
ว่ากันตรงๆ แล้วถ้าอยากจะลดแรงต้านลม คิดกันต่อบาทหมวกกันน๊อคนั้นคุ้มและถูกเกือบที่สุดเมื่อเทียบกับอุปกรณ์อื่นๆ เซฟแรงได้มากกว่าเฟรมและล้อเสียอีก (ลองดูชาร์ทประกอบ) หมวก S-Works Evade ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีครับ โดยส่วนตัวผมคิดว่าถ้าเรามองภาพการใช้อุปกรณ์แอโรแบบแยกส่วนมันจะไม่ค่อยเห็นผล เช่นถ้าใส่ล้ออลูมินัมขอบต่ำ เฟรมทรง traditional กับหมวกแอโร ก็อาจจะไม่รู้สึกได้มาก แรงที่เซฟอาจจะไม่เยอะ แต่ถ้าคุณลองเอาอุปกรณ์แอโรมาใช้งานร่วมกัน มองเรื่องการลดแรงต้านลมเป็นองค์รวม ใช้เฟรม ล้อ ถุงคลุมรองเท้า เสื้อผ้าเข้ารูป และหมวกแอโร จัดท่าปั่นให้ดี จะเห็นค่อนข้างชัดว่าที่แรงเท่าเดิมความเร็วจะเพิ่มขึ้น หรือที่แรงเท่าเดิมจะเหนื่อยน้อยลง
ทั้งนี้จะรู้ได้จริงๆ ว่าหมวกใบไหนเร็วกกว่ากันเป็นเรื่องยาก ผลทดสอบจาก RBA เขาบอกชัดเจนว่า นักปั่นที่เข้าทดสอบแต่ละคนนั้นเห็นผลของหมวกต่างกัน บางคนใส่ Giro Air Attack แล้วแอโรกว่า Evade บางคนก็ตรงข้าม เพราะนักปั่นมีสรีระและท่วงท่าการปั่นไม่เหมือนกัน หมวกบางรุ่นก็อาจจะเข้ากับท่าปั่นของเขาดีกว่า ลดแรงปะทะได้มากกว่า แต่จะรู้ได้จริงเราก็ต้องไปเทสต์ในระบบของเขาซึ่งคงไม่ถูกและไม่ง่ายครับ
8/10
ข้อดี
- หล่อ
- ประสิทธิภาพสมคำโฆษณา ลดแรงต้านลมได้จริง
- เหมาะกับนักแข่ง นักปั่นทำเวลามากกว่าปั่นชิลล์ๆ
- ใส่สบาย น้ำหนักไม่มาก
ข้อเสีย
- แพง
- หมวกยาว เทอะทะ เทียบกับหมวกแอโรรุ่นใหม่ที่สั้นกว่าอย่าง Kask
- ร้อน ต้องปั่นเร็วถึงจะระบายเหงื่อได้ดี
- ไม่มีถุงใส่หมวกมาให้ (Lazer ที่ถูกกว่าเกือบเท่ามีแถม)