Specialized S-Works Tarmac SL6 Ultralight

“จักรยานสีดำอีกแล้วเหรอลูก”

เป็นคำพูดแรกของแม่ เมื่อผมบอกไปว่าจะเปลี่ยนรถแล้วนะ

คิดไปคิดมาก็ขำดีครับ ตั้งแต่ปั่นมานี่ก็ขี่แต่จักรยานสีดำ จนถึงจุดหนึ่งคิดว่าเบื่อแล้วโว้ย เอาไปทำสีดีมั้ย แต่สุดท้ายก็มาจบสีดำเรียบๆ เหมือนเดิม

คันเก่าก็ขายไปแล้ว ไม่มีรถปั่นอยู่พักนึง มีเวลาคิดอยู่นานว่าอีก 2-3 ปีต่อไปจะขี่อะไรดีเนี่ย ด้วยนิสัยไม่ชอบมีจักรยานหลายคัน ก็เลยคิดว่าขอมันคันเดียวที่มันทำได้ทุกอย่างละกันนะ ประกอบกับโดนแชมป์โลกสามสมัย ปีเตอร์ ซากานป้ายยาหนักมาก ก็เลยมาจบที่คันนี้ครับ – Specialized S-Works Tarmac SL6 Ultralight

ปกติผมชอบรถแปลกๆ ไม่ตลาดมากนัก ที่ผ่านมาเลยไม่ได้มองแบรนด์อย่าง Specialized, Trek, Cervelo แต่ถึงจะเป็นรถตลาด แบรนด์กลุ่มนี้ก็มี R&D ที่ดีมาก แม้แต่รถที่ดราม่าหนักมากอย่าง Venge Vias เมื่อได้ลองขี่รีวิวตอนเปิดตัวแล้วก็เป็นรถที่สนุกครบเครื่องครับ ถึงจะหนักไปหน่อยและเซ็ตอะไรมากไม่ได้ก็ตาม การตลาดแบรนด์ Specialized มักจะดูเว่อวังสไตล์อเมริกัน แต่ก็มี innovation ต่อเนื่องมาตลอดในทุกเซกเมนท์ที่ทำออกมาขาย ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่แข่งหลายๆ รายทำไม่ได้

ก็เลยคิดว่าลองดูสักทีละกัน ตัว SL6 ใหม่นี่ออกแบบมาเป็นรถ all round ที่รีดความแอโรด้วย Specialized บอกว่าลู่ลมไม่แพ้ Venge รุ่นแรก ดูสัดส่วนหน้าตาแล้วก็คงเชื่อได้ไม่ยาก รูปทรงเพรียวบาง มีฟีเจอร์แอโรร่วมสมัยครบ ไม่ว่าจะเป็นท่อคอเทเปอร์ที่เล็กกว่าเดิม ตะเกียบโคตรบางคม dropped seat stay ท่อ downtube ทรงแอโร

น้ำหนักเฟรม Ultralight เคลมมาที่ 733g ผมไม่มีโอกาสรื้อเฟรมชั่ง แต่คาดว่าคงไม่หลุดจากที่เคลมเท่าไร ยังไงก็ไม่น่าถึง 800 นะ

วันนี้เลยขอถ่ายรูปเซ็ตแรกออกมาหลังฟิตติ้งครับ หลายๆ อย่างยังไม่เรียบร้อย ลองไปดูรายละเอียดกันทีละรูปครับ

สเป็ค

เฟรมเซ็ต: S-Works Tarmac SL6 Ultralight 52cm
เกียร์: Sram Red eTap + Dura-Ace 11-30
ชุดจาน: Rotor SRM 3D+ 52-36t
Cockpit: S-Works stem 100mm + S-Works Aerofly handlebar 40mm
เบรค: EE Direct Mount + สาย Jagwire
ล้อ: Roval CLX 32
ยาง: Specialized S-Works Turbo Cotton 26mm
บันได: Speedplay Chromoly
ขากระติก: Arundel Mandible Carbon x2

น้ำหนัก: 6.4kg

 

ไซส์และฟิตติ้ง

ผมสูง 165cm แต่เลือกไซส์ 52cm

ฟังดูอาจจะแปลก เพราะไซส์ 52 นี่ท่อนอนยาวตั้ง 531mm และ reach ที่ 380mm ดูน่าจะขี่ยาก? แต่ดูแล้วถ้าเลือกไซส์ 49 คงต้องรองแหวนเยอะ เซ็ตออกมาไม่สวยเท่าไร

พอฟิตจริงคันนี้ก็ออกมาโอเคครับ ไม่เล็กไปไม่ใหญ่ไป อาจจะเพราะชินกับรถที่ท่าปั่น aggressive มากอยู่แล้ว เพราะคัน Canyon ที่เคยขี่นั้นก็เป็นรถที่ geometry ก้มต่ำโหดร้ายกว่านี้อีก เพราะท่อคอสั้นมากกกก

แต่ก็ถือว่าตัดสินใจถูก เพราะฟิตติ้งแล้วขี่ได้พอดีๆ และไม่ต้องรองแหวนใต้สเต็มเยอะครับ เดี๋ยวลองขี่อีกสักพักแล้วถ้าท่าปั่นได้ ก็จะตัดซางให้มันพอดี

 

Cockpit

แฮนด์ S-Works Aerofly 40mm และสเต็ม S-Works 100mm

โดยรวมแล้วยังไม่ลงตัวเท่าไร แฮนด์ Aerofly มีรูปทรงที่แปลกนิดนึง คือที่พักมือบริเวณฮู้ดมันมีระนาบต่ำกว่าตัวแฮนด์​ทำให้มือต้องกดลึกลงไป พอฟิตแล้วพบว่ามันทำให้ไม่มีที่พักมือครับ น้ำหนักจะกดดทับตลอด เดาว่าคงใช้แฮนด์นี้ไม่ได้ ก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้แฮนด์กลมธรรมดาแทน คงต้องลองขี่อีกสักพัก ส่วนสเต็มได้ระยะพอดีๆ

อีกอย่าง การใช้แฮนด์แอโรจะทำให้ฟีลลิงเบรคแย่ลงนิดนึงเพราะสายเกียร์ในแฮนด์มันงอเยอะกว่าในแฮนด์กลม เรื่องการเลียเบรคก็จะไม่ละเอียดนัก

 

ล้อ

S-Works Tarmac Sl6 มากับล้อ Roval CLX32

Roval เป็นแบรนด์ล้อจากฝรั่งเศสที่ Specialized ไปควบกิจการมาครับ แล้วเอามาต่อยอดทำ R&D เอง

Roval CLX 32 ขอบสูง 32mm แต่ขอบด้านในกว้างถึง 21mm เรียกว่าไม่แคร์มาตรฐาน ETRTO เลย ออกแบบมาให้ใช้กับยาง 25-26mm จะได้โปรไฟล์ที่กลมมน เข้ากับขอบล้อพอดี

ล้อหนักแค่ 1,280 กรัม และมากับดุม Roval แต่ใส้ในเป็น DT Swiss + ลูกปืน Ceramic Speed และซี่ล้อ DT Swiss

ด้วยการที่ Specialized มีอุโมงต์ลมของตัวเอง เขาก็อ้างว่าจากเดิมที่ทดสอบล้อในอุโมงค์ลมแค่ปีละ 40 ชั่วโมง ก็เพิ่มขึ้นเป็น 50 วัน และมั่นใจว่าเป็นล้อ 32mm ที่แอโรไม่แพ้ล้อ 50mm

ส่วนใช้จริงจะเป็นอย่างที่ว่ามั้ยก็ยังบอกไม่ได้เหมือนกัน เพราะยังขี่ไม่ถึงห้าสิบโลเลยนะครัช

 

เบรค

น่าเสียดายว่า SRAM ยังไม่ทำเบรค direct mount ก็เลยไม่ได้เบรคที่เข้าเซ็ตกับชุดเกียร์ แต่เบรค EE ก็ดีมากครับ เด่นสุดคือเรื่องน้ำหนัก เพราะคู่นึงหนักแค่ 160 กรัมเท่านั้น เบากว่าเบรค direct mount Shimano Dura-Ace 9100 ซึ่งหนักคู่ละ 320 กรัม!

Specialized ให้มาเป็นเบรค “หน้า” ใช้กับทั้งกับเบรคหน้าและหลัง รองรับยางกว้างสุด 28mm

Completed bike Ultralight นี่ให้ปลอกสายเบรค Jagwire มาด้วย

 

ดีไซน์ท่อนั่ง/ ท่อล่าง

ช่วงท่อนั่งปรับปรุงจาก SL5 สองจุด คือ

  1. ซีทสเตย์เลื่อนต่ำลงมา แบบรถแอโรร่วมสมัย ตรงนี้ช่วยเรื่องแอโรไดนามิก และทำให้รถซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้น เพราะมีระยะให้หลักอานให้ตัวได้มากขึ้นครับ

  2. มีการตัดเว้าท่อนั่งเพื่อให้ล้อชิดเฟรมมากขึ้น ก็เป็นดีไซน์มาตรฐานของเสือหมอบแอโร ที่เสือหมอบ all round หลายๆ คันนำมาใช้ด้วย

ท่อล่างและกระโหลกนั้นเล็ก + เพรียวกว่าเดิมมากๆ ครับ น้ำหนักเฟรมหายไปจากเดิมเยอะทีเดียวเมื่อเทียบกับ SL5

 

Gearing

คันนี้ใช้เฟือง Dura-Ace 11-30t กับตีนผี Sram Red eTap WiFli ขายาว

ส่วนจานหน้าใช้ Rotor 3D+ 165mm ใบ 52-36t

ใช้คู่เกียร์แบบนี้ก็น่าจะไปได้ทุกเส้นทางโดยที่ยังคงรอบขาที่คุ้นเคย (ส่วนตัว) ได้ครับ ถ้าเขาไม่ชันและยาวจริงๆ คงไม่ต้องงัดเฟือง 32 ออกมาใช้

เดี๋ยววันหลังหาเรื่องการทำ R&D เฟรมนี้มาเล่าให้ฟังครับ มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกเยอะเลย

*

ขอบคุณ Specialized Thailand และ Specialized Concept Store Bangkok ที่ช่วยเป็นธุระเรื่องรถให้ครับ
ขอบคุณ Jumm’s Bike Studio ที่ฟิตติ้งให้เป๊ะและแนะนำได้ดีเสมอ
ขอบคุณ​ SRM Center Thailand สำหรับพาวเวอร์มิเตอร์ด้วยครับ

SaveSave

SaveSave

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *