Parlee Cycles – เมื่อจักรยานเป็นยิ่งกว่างานคราฟต์

1. ลุงบ็อบ 

ครั้งแรกที่ผมเจอบ็อบ พาร์ลี ต้องย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่แล้ว มันเป็นเดือนสิงหาคมปี 2014 เราอยู่ในงาน Eurobike – งานแสดงสินค้าจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จัดขึ้นทุกๆ ปีในเมือง Friedrichshafen ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมัน

วันนั้นเป็นวันที่เราเรียกว่า “demo day” หรือวันที่แบรนด์ต่างๆ หอบจักรยานกันมาเป็นคอนเทนเนอร์เพื่อให้คนร่วมงานได้ทดสอบกัน ผมจำได้ดีว่าบูทแรกที่เจอและรีบแวะเข้าไปทันทีคือบูทจักรยาน Parlee Cycles ซึ่งมีลุงแก่ๆ หัวขาวหน้าตาดูใจดียืนเฝ้าบูทอยู่กับเพื่อนอีกคน ดูไปดูมาหน้าตาคุ้นๆ ครับ เหมือนเคนเห็นในนิตยสารที่ไหน…นั่นมันลุงบ็อบ พาร์ลี เจ้าของแบรนด์นี่นา

Parlee เป็นจักรยานที่ผมเคยสนใจมาหลายปีแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักมักจี่จริงๆ จังๆ สักที ส่วนหนึ่งเพราะเป็นแบรนด์ขนาดเล็ก ไม่ทำการตลาดมากนัก แต่พอทราบมาว่าเป็นแบรนด์แบบบูทีคคือ ไม่ได้เน้นผลิตเยอะ แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพและประสิทธิภาพแล้วแทบทุกสำนักบอกมาว่าไม่แพ้ใครแน่นอน เพราะลุงบ็อบที่ผมกำลังจะเดินเข้าไปคุยแกก็ไม่ใช่ตาสีตาสาที่ไหน มีดีกรีเป็นนักออกแบบเรือแข่งมาก่อนและมีความเชี่ยวชาญเรื่องวัสดุที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาแบบ high performance แต่เบนเข็มมาสนใจการผลิตจักรยาน จนกลายเป็นความหลงไหลถึงขนาดที่หันมาวิจัยและพัฒนาเปิดเป็นแบรนด์จักรยานแบบเต็มเวลา

ที่บูทของ Parlee มีจักรยานให้เลือกสามรุ่น เป็น Parlee Altum, Parlee Z-Zero และ Parlee ESX ในงาน demo day แบบนี้แบรนด์ต่างๆ จะบอกให้เราเอาหมวกกันน็อคและบันไดมาเองครับ เพื่อใช้ในการทดสอบ วันนั้นลุงบ็อบเปลี่ยนบันไดให้รถที่ผมขอลองขี่ สังเกตดูหน้าตาท่าทางแล้ว แกดูไม่มีมาดเจ้าของแบรนด์จักรยานเลยด้วยซำ้ บ็อบเป็นคนพูดจาเบาๆ ในสำเนียง Boston Gentleman หน้าตานิ่งๆ ดูครุ่นคิดอะไรตลอดเวลา มือแลหยาบกร้านเหมือนทำงานกับเครื่องมือมากกว่างานออกแบบหน้าคอมพิวเตอร์

2. “Parlee Cycles”

ในบรรดดาแบรนด์จักรยานบูทีคจกาอเมริกา ที่เน้นผลิตจักรยานสั่งตัดทำมือในสไตล์ artisanal เราจะเห็นเทรนด์ใหญ่ๆ สองแบบครับ นั่นคือแบรนด์ที่เด่นจักรยานที่ทำจากโลหะ เช่นโครโมลีหรือไทเทเนียม และแบรนด์ที่ทุ่มทุกอย่างให้คาร์บอนไฟเบอร์ สิ่งที่เราได้จากบูทีคแบรนด์พวกนี้คืือความเนี้ยบของงานที่ทำด้วยมือราวกับเป็นงานศิลป์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งมันจะไม่ใช่จักรยานในสไตล์แข่งขันเหมือนที่เราคุ้นเคย

จักรยาน Parlee มีต้นกำเนิดไม่ค่อยจะเหมือนค่ายอื่น ตรงที่บ็อบ พาร์ลีเคยเป็นนักออกแบบเรือแข่งที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์มาก่อน บ็อบบอกว่าระหว่างที่เขาออกแบบเรือเป็นงานประจำ เขาก็แข่งจักรยานเป็นงานอดิเรกไปด้วย ดูก็รู้ว่าไม่โกหกเพราะแขนแกนมีสีแทนตัดกับผิวขาว ชัดเจนว่าเป็นคนที่ใช้เวลาบนหลังอานมาไม่น้อย

ความเชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งคาร์บอนไฟเบอร์ บวกกับความหลงไหลในจักรยานแข่งขันทำให้บ็อบตัดสินใจออกมาผลิตจักรยานทำมือแบบเต็มตัวในปี 2001 เป้าหมายคือผลิตจักรยานที่คุณภาพดีที่สุดจากคาร์บอนไฟเบอร์

“ผมชอบการสร้างครับ ผมสร้างสิ่งใหญ่ไม่ถนัดหรอก แต่ผมชอบรูปทรงที่ซับซ้อน ก็เลยเป็นที่มาของการออกแบบเรือแข่ง”

“ถ้าย้อนไปสักสี่สิบปีก่อน สมัยนั้นเรือแข่งยังไม่ได้เร็วเหมือนตอนนี้ครับ ไปได้สัก 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็เก่งแล้ว แต่มันก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าบ้าพลังก็ได้ คือพยายามออกแบบเรือให้มันไปได้เร็วที่สุด อยากให้มันเร็วกว่านั้นสักสองเท่า แต่ก็ถูกจำกัดด้วยรูปทรงของเรือและวัสดุ สมัยก่อนเรือมันหนักครับ แต่เมื่อคาร์บอนไฟเบอร์เข้ามา เชื่อไหมว่าเราสามารถผลิตเรือยาว 10 เมตรให้มันเบาขนาดที่ยกด้วยคนไม่กี่คนได้”

Bob Parlee

บ็อบบอกต่อว่าเขาอยู่กับวงการเรือ high performance กว่า 27 ปีและมีผลงานในสนามแข่งเรือระดับโอลิมปิกและศึกชิงถ้วยรายการใหญ่ที่สุดในอเมริกา แต่เมื่อวงการเรือแข่งเริ่มถดถอย เขาก็ให้ความสนใจจักรยานแข่งขันมากขึ้น”

“เอาจริงๆ แล้วจักรยานก็เหมือนเรือครับ รูปทรงทั้งคู่ต้องแหวกความหนาแน่นของมวลสารรอบข้าง เรือต้องไหลผ่านน้ำ ส่วนจักรยานต้องไหลผ่านอากาศ แค่น้ำมัน “หนา” กว่า แต่คอนเซปต์นั้นไม่ต่างกัน​ ตอนนั้นผมชอบรูปทรงจักรยานไทม์ไทรอัล ผมคิดว่าถ้าได้ออกแบบจักรยานคงดี แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มยังไงเพราะสมัยนั้นยังไม่มีใครใช้คาร์บอนไฟเบอร์ผลิตจักรยาน”

“แต่อยู่ในวงการเรือมันก็ช่วยได้เยอะครับ ผมได้รู้จักบริษัทนึงที่เขาผลิตแขนกลเพื่อใช้ติดตั้งกล้องถ่ายรูปสำหรับกระสวยอวกาศ แต่เจ้าของบริษัท – เพื่อนสนิทผม – อยากลองทำอะไรที่คนธรรมดาที่ไม่ใช่นาซ่าและกองทัพซื้อใช้ได้บ้าง เขาเลยให้ผมยืมเวิร์กช็อปที่มี tooling สำหรับทำคาร์บอนไฟเบอร์”

“จักรยานคันแรกของผมเป็นรุ่น Z1 ในปี 1999 ครับ คือตอนนั้นผมโคตรดีใจที่ขี่กลับบ้านแล้วมันไม่หักกลางทาง ผมเปิดเป็นแบรนด์จักรยานแฮนด์เมดเต็มตัวในปี 2001 จะบอกว่าเราเป็น American Bike Builder คนแรกๆ ของวงการก็ได้ครับ ”

Parlee ESX Aero Custom Color

3. The Craft

ในโลกที่ผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่ต่อสู้กันด้วยราคาและการอัปเดตโมเดลสินค้าใหม่แทบทุกปี บ็อบรู้ดีว่าเขาสู้ด้วยปริมาณและขนาดไม่ได้แน่นอน แต่จุดเด่นของแบรนด์​ Parlee ที่เน้นการผลิตแบบแฮนด์เมดและมีออปชันให้ผู้ซื้อสั่งตัดจักรยานในขนาดที่พอดิบพอดีกับสรีระของเขา กลายเป็นจุดแข็งที่ยังมีคนสนใจสั่งซื้อแบบรอคิวข้ามปี

ถึงปัจจุบัน Parlee จะเริ่มหันมาผลิตจักรยานในสเกลที่ใหญ่ขึ้นและมีการจ้างโรงงานผลิตบางรุ่น แต่ก็ยังมีตัวเลือกจักรยานสั่งตัดให้จับจองอยู่ เจ้า Z-Zero Disc ที่ผมได้ลองในงาน Eurobike ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ในไลน์จักรยานสั่งตัด ทุกชิ้นส่วนและทุกขั้นตอนของ Parlee เป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด รวมถึงวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ที่ใช้ด้วย และมันเป็นสิ่งที่ทำให้ Parlee ต่างไปจากผู้ผลิตเจ้าอื่น บูทีคแบรนด์แบบ Parlee จะใช้ท่อคาร์บอนที่ผู้อื่นเป็นคนผลิตให้ (ปัจจุยันนิยมใช้ท่อคาร์บอนของ ENVE) แต่ Parlee มีกระบวนการผลิตท่อคาร์บอนด้วยตัวเองซึ่งทำให้นักออกแบบรีดเอาประสิทธิภาพเมื่อนำมาต่อกันเป็นเฟรมจักรยานได้ละเอียดกว่า

จักรยานคัสต้อมแต่ละคันจะเริ่มจากการวัดตัวหรือติดต่อขอข้อมูลสรีระและสัดส่วนจากลูกค้า จากนั้นก็เริ่มผลิตท่อคาร์บอนเพื่อมาประกอบเป็นเฟรม ได้เฟรมแล้วก็เก็บงาน ทำสี กระบวนการทั้งหมดทำในเวิร์คช็อปของ Parlee เอง

นอกจากจะผลิตเฟรมเองแล้ว Parlee ยังลงทุนกับการวิจัยประสิทธิภาพเฟรมทุกรุ่นทั้งแบบผลิตในโรงงานอย่าง Parlee ESX, Parlee Altum และเฟรมคัสต้อมอย่าง Z-Zero บ็อบบอกว่าเขาใช้ซอฟต์แวร์ CFD และ FEA ในการขึ้นแบบสามมิติในคอมพิวเตอร์ จากนั้นจะสร้างเฟรมตัวอย่างโดยใช้โมเดลไม้ (!!) และวัสดุอื่นๆ เพื่อเช็ครายละเอียดและนำไปทดสอบในอุโมงค์ลม ก่อนจะขึ้นเป็นแบบที่ใช้ผลิตจริง

แน่นอนว่ากระบวนการของ Parlee นั้นใช้เวลาและมีราคาต้นทุนการวิจัยสูง แต่สำหรับบ็อบ มันไม่มีวิธีการอื่นที่จะได้จักรยานประสิทธิภาพดีถ้าไม่ให้เวลากับงานแบบนี้

Parlee TTR Disc In A2 Wind tunnel Testing session –  Moorseville, North Carolina 

4. The Character

ผมเคยได้ยินมาว่าจักรยาน Parlee เป็นรถ “ขี่สบาย” คำนี้ฟังดูเผินๆ เหมือนจะไม่ดีเพราะเราจะนึกถึงจักรยานสไตล์เอนดูรานซ์ที่ซับแรงสะเทือนดีแต่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพเวลาเราอยากจะกระชาก กดสปรินต์หรือทำความเร็ว

แต่มันไม่ใช่อย่างที่ได้ยินเลยครับ Parlee Z-Zero ที่เราได้ทดสอบในงาน Eurobike มีทั้งความนิ่มและความพุ่ง มันอาจจะเป็นจักรยานรูปทรง traditional ที่ไม่ได้มีท่อรูปทรงแอโรแหวกอากาศ แต่ฟีลลิ่งการปั่นนั้นไม่เป็นรองใครแน่นอน

ผมถามทอม โรดี้ ผู้จัดการการตลาดของ Parlee ที่อยู่ในบูทด้วยกันกับบ็อบว่า Parlee นี่มีคาแรคเตอร์ยังไง ทอมตอบแบบไม่ต้องหยุดคิด

“เราไม่เชื่อในจักรยานที่ขี่ไม่สบายครับ จักรยานที่ดีต้องตอบสนองแรงผู้ปั่นได้ดี เข้าโค้งเฉียบคมและมีความนิ่ง (stable) แต่ขณะเดียวกันมันก็ต้องเป็นจักรยานที่คุณปั่นได้ต่อเนื่อง 6-7 ชั่วโมงโดยไม่รู้สึกสะท้านสะเทือนจนเมื่อยไปทั้งตัวด้วย”

ซึ่งก็ดูจะไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง เพราะจักรยาน Parlee ทุกคันที่ผมเคยได้ลองคร่อม มีความนิ่มนวลอยู่ในตัว ตั้งแต่ Parlee Z-Zero เมื่อสามปีก่อน Parlee ESX Aero ที่แอบขโมยเพื่อนขี่ที่มาเลเซีย และ Parlee Altum R – คันหลังสุดเป็นเฟรมแบบ mass production ที่ผลิตในโรงงาน แต่ยังคาแรคเตอร์ Parlee ไว้ครบถ้วน

5. “ไม่อยู่ในโปรทัวร์แล้วจะดังได้ยังไง”

ยอดขายจักรยานเสือหมอบมีความเกี่ยวข้องกับผลงานการแข่งขันของนักกีฬาอาชีพโดยตรง เลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่แบรนด์ใหญ่จะทุ่มเงินปีละหลายสิบถึงร้อยล้านเพื่อสนับสนุนทีมจักรยานอาชีพครับ มันเป็นมาร์เก็ตติ้งที่ดีที่สุดแบรนด์จักรยานจะทำได้ ถ้าเขาอยากลุยตลาดจักรยาน high performance

ในบ้านเราก็ไม่ต่างกัน จักรยานที่ขายดีในไทยส่วนใหญ่มาจากแบรนด์ที่ทีมดังใช้แข่ง

เช่นนั้นแล้วบริษัทเล็กๆ อย่าง Parlee จะทำยังไง? คำถามนี้อดไม่ถามไม่ได้ เพราะก็มีคนที่ไม่สนใจโปรทัวร์อย่างมาร์คัส สตอร์คแห่งแบรนด์ Storck Bicycle ที่มีแฟนๆ จักรยานหลงไหลอยู่ทั่วโลก ไม่ต้องงอนักแข่งอาชีพก็ยังอยู่ได้สบายๆ

บ็อบเล่าให้ฟังในประเด็นนี้ว่า “จริงๆ เราเคยคิดจะสนับสนุนโปรทีมนะครับ ผมจำได้ว่าเป็นไทเลอร์ ฮามิลตัน (อดีตเพื่อนร่วมทีมแลนซ์ อาร์มสตรอง) ที่ตอนนั้นเขาอยู่กับทีม CSC และอยากได้รถเราไปขี่ สิ่งที่ผมทำก็คือ ผมผลิตเฟรมสั่งตัดให้เขา แต่เพนท์มันในลายกราาฟิคของแบรนด์จักรยานที่สปอนเซอร์ทีม (ตอนนั้นคือจักรยาน Look)”

“ผมจำได้เลย ในปี 2002 ที่ไทเลอร์แข่ง Giro d’Italia เขาคว่ำครับ! แต่ก็ขี่ต่อได้จนจบ แล้วคนเริ่มสังเกตว่าจักรยานของเขามันไม่ใช่ Look นี่หว่า หน้าตามันเหมือน Parlee… จากนั้นไม่นาน CSC ก็มาคุยกับผมบอกว่าอยากให้ทำรถให้ทีมทั้งทีม แต่เอาจริงๆ เราทำไม่ได้หรอกครับ เราไม่ใช่บริษัทใหญ่ ตอนนั้นทีมอยากได้จักรยานจากเราเกือบ 200 คันต่อหนึ่งฤดูกาล แต่เราทำได้แค่สามสิบกว่าคันเอง – เพราะงั้น แทนที่จะลงทุนสนับสนุนโปรทีม ผมเอาเงินและเวลากลับมาพัฒนาจักรยานของเราให้ดีขึ้นดีกว่า”​

6. Making it the right way

เวลา 16 ปีก็เปลี่ยนอะไรได้หลายอย่าง จากบริษัทเล็กๆ ที่ผลิตจักรยานได้ปีละไม่กี่สิบคัน ปัจจุบัน และมีรุ่นเดียวให้เลือกซื้อ Parlee มีโมเดลจักรยานในพอร์ทโฟลิโอ้กว่า 5 รุ่นกับ 17 โมเดลย่อย ซึ่งต่างกันไปตามสเป็ค ทั้งเสือหมอบแอโร เสือหมอบ all-rounder จักรยาน Time Trial, จักรยานไซโคลครอส ทุกรุ่นมีโมเดลดิสก์เบรคให้เลือกใช้ และยังครองตำแหน่งแบรนด์จักรยานบูทีคอันด้บต้นของสหรัฐอเมริกา แม้แต่แลนซ์ อาร์มสตรองก็ยังมี Parlee!

เรื่องนี้ผมเห็นมาจากตอนไปดูในฟอรัมจักรยาน Weight-Weenies ซึ่งมีคนไปนั่งแกะรูปที่แลนซ์โพสต์ใน twitter ของเขา จักรยานของแลนซ์ในตอนนั้นเป็น Parlee Z-Zero แบบสั่งตัด ซึ่งเขาไม่ได้ติดต่อ Parlee ไปเอง แต่ผ่านร้านจักรยานที่เขาเป็นหุ้นอยู่ สิ่งที่น่าแปลกใจคือไม่มีโลโก้ Parlee อยู่บนจักรยานคันนั้น

ไม่น่าแปลกใจเพราะปี 2013 ที่แลนซ์โพสต์รูป แลนซ์กำลังมีคดีดังหลังจากโดนองค์กรต่อต้านการโด้ปสหรัฐออกมาแฉเรื่องประวัติฉาวของเขา จนต้องออกสื่อใหญ่ในรายการของโอปราห์เพื่อสารภาพบาป

แต่กระนั้นทอมก็บอกว่า “ถ้าเขามาขอเราสั่งตัดจักรยาน เราก็ทำให้นะ คือจริงๆ เราก็ไม่ได้ชอบที่เขาโด้ป แต่เราก็เป็นแค่ผู้ผลิตจักรยานเล็กๆ ที่ชอบผลิตจักรยานครับ”​

หลังจากลองปั่น Z-Zero เกือบครึ่งชั่วโมงแล้วกลับมาบูทด้วยสีหน้ากรุ่มกริ่ม บ็อบและทอมคงพอรู้ว่าผมคิดอะไร แต่ก่อนจะจากกัน ในทุกการสัมภาษณ์กับเจ้าของแบรนด์​ผมชอบถามว่า “อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณแตกต่างจากจักรยานยี่ห้ออื่น” บางครั้งก็ได้คำตอบที่ดี บางครั้งก็ได้คำตอบแบบ marketing speak แบบท่องไว้ตอบเป็นร้อยๆ ครั้ง – คนตอบจะเลือกตอบแบบไหน มันออกมาจากใจ หรือเป็นแค่แผนการตลาดที่ท่องขึ้นใจไม่ต้องนึก สิ่งนี้จะทำให้เรารู้ว่าแบรนด์แคร์กับงานของเขาแค่ไหนครับ

บ็อบไม่พูดอะไร ปล่อยให้ทอมทำหน้าที่ เขากล่าวประโยคสุดท้าย:

“เวลาเราพูดถึงจักรยานประสิทธิภาพสูงเราใส่ใจแค่พวกความสติฟ น้ำหนัก ความแอโร แต่ผมว่ามันทำให้เรามองข้ามอะไรหลายๆ อย่างนะครับ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ การเก็บงานสี ดีเทล์ที่ทำให้จักรยานแต่ละคันสวยและมีเอกลักษณ์ เราแคร์เรื่องนี้”

“มันคือความต่างระหว่างการ “ได้ทำ” และ “ทำได้” ครับ

* * * * *

ขอบคุณ​ Cycle Boutique ตัวแทนนำเข้า Parlee Cycles ที่สนับสนุนเรื่องราวตอนนี้ครับ

www.parleecycles.com

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *