เจาะลึกความเป็นสปรินเตอร์

นักกีฬาเสือหมอบมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นสปรินเตอร์ขาแรง, นักไต่เขาตัวเบาหวิว, เครื่องจักร Time Trial คอลัมน์นี้เราจะมามาดูเบื้องหน้าเบื้องหลังของนักกีฬาแต่ละประเภทกันครับ – วันนี้เราจะประเดิมด้วย  “Sprinter”

 

สปรินเตอร์คือ?

ในการแข่งขันจักรยานเสือหมอบนั้น นักกีฬาแต่ละคนมีความสามารถทางกายภาพไม่เท่ากัน แต่ละทีมจึงต้องเลือกใช้นักกีฬาให้เหมาะสมกับลักษณะเด่นของแต่ละคน บางคนสามารถระเบิดพลังปั่น พุ่งออกไปได้เร็วมากในระยะเวลาสั้นๆ อย่าง Andre Griepel หรือ Mark Cavendish ก็เหมาะที่จะเป็นสปรินเตอร์ คว้าชัยชนะให้ทีมหน้าเส้นชัย ในขณะเดียวกันนักปั่นที่สามารถรักษารอบปปั่นความเร็วสูง (แต่ไม่สูงมากแบบตอนสปรินต์) เป็นระยะเวลานานๆ ได้ก็ไม่เหมาะที่จะแข่งสปรินต์ เพราะจะไม่มีแรงระเบิด พุ่ง (explosiveness) เหมือนนักกีฬาที่ถนัดการสปรินต์จริงๆ  นักปั่นลักษณะนี้ก็จะเหมาะกับการแข่งแบบเอาชนะเวลา (Time Trial) เสียมากกว่า

นักปั่นแบบสปรินเตอร์จะมีอัตราส่วนกล้ามเนื้อแบบ fast-twitch มากกว่าคนอื่นทำให้มีอัตราเร่งที่ดีกว่า สปรินเตอร์ส่วนใหญ่จะไม่สามารถรักษาระดับพลังปั่นสูงๆ เป็นระยะเวลานานๆ ได้ และโดยมากมักจะมีขนาดตัวและน้ำหนักมากกว่านักปั่นประเภทอื่นๆ เช่นนักไต่เขา เพราะต้องสร้างกล้ามเนื้อขาให้มีพลังระเบิดพุ่งเข้าเส้นชัย สปรินเตอร์ จึงเป็นนักไต่เขาที่ไม่ค่อยจะดี ทุกๆ ปีในการแข่ง Grand Tour ใหญ่ๆ อย่าง Tour De France สปรินเตอร์หลายๆ คนมักจะรวมตัวกันอยู่ท้ายขบวนนักแข่ง เซฟพลังไว้แข่งกันหน้าเส้นชัยทีเดียว สปรินเตอร์จึงเหมาะกับเสตจที่เป็นทางเรียบ

 

ดาวขาแรง

สปรินเตอร์ชื่อดังมีมากมายในอดีตเช่น Mario Cippolini, Erik Zabel, Freddy Maertens, Alessandro Petacchi, Tom Boonen
ส่วนขาแรงรุ่นใหม่ที่เห็นชนะบ่อยๆ ก็จะมี  Peter Sagan (3 stage wins, TDF 2012) , Andre Griepel (3 stage wins, TDF 2012), John Degenkolb (5 stage wins Vuelta 2021), และ Mark Cavendish (23 stage wins, TDF)

Sprinter

 

รางวัลของสปรินเตอร์

การแข่งขันจักรยานเสือหมอบมีความซับซ้อนกว่ากีฬาอื่นๆ ตรงที่มีการแข่งขันย่อยภายในการแข่งขันใหญ่ ในสนามใหญ่ๆ อย่าง Tour De France, Giro d’ Italia, Vuelta a’ Espana จะมีรางวัลหลายประเภท เช่น

1. ผู้ทำเวลารวมได้ดีที่สุด (General Classification) ซึ่งก็คือผู้ชนะรายการแข่งขัน เช่น Bradley Wiggins ผู้ชนะ Tour De France ปี 2012 (เสื้อเหลืองใน Tour, เสื้อชมพูใน Giro, เสื้อแดงใน Vuelta)

2. ผู้ทำคะแนนรวมได้ดีที่สุด (Point Classification) เป็นรางวัลสำหรับสปรินเตอร์ คะแนนในการแข่งขันจะคำนวนจากผู้ที่เข้าเส้นชัยระหว่างเสตจ (Intermediate Sprint) และตอนจบเสตจ ผู้ที่เข้าคนแรกจะได้คะแนนสูงสุด (เสื้อเขียวใน Tour และ Vuelta, เสื้อแดงใน Giro)

3. จ้าวภูเขา (Mountain Classification) เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ทำคะแนนรวมบนจุดนับคะแนนตามยอดเขาในแต่ละเสตจได้เยอะที่สุด (เสื้อลายจุด polka dot ในทุก grand tour)

 

กลยุทธ์การแข่งสปรินต์

นักแข่งสปรินต์ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูงมากในทีม เมื่อทีมแข่งปั่นจนใกล้เข้าเส้นชัย ความเร็วในการปั่นกลุ่ม Peloton จะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยทีมที่มีสปรินเตอร์ตัวเก่งจะขึ้นมาปั่นทำความเร็วให้ทีมอื่นๆ หมดแรงตามไม่ทัน ถ้ามีตัวเต็งจากหลายทีม ทีมเหล่านี้ก็จะเวียนกันขึ้นมาปั่นทำความเร็ว การปั่นความเร็วสูงเป็นขบวนนั้นอันตราย ยิ่งในการแข่งใหญ่ๆ กลุ่ม Peloton อาจจะมีนักแข่งกว่าร้อยคน ถนนก็ไม่ได้กว้างใหญ่มาก โอกาสที่จะชนล้มจนบาดเจ็บนั้นมีให้เห็นทุสนาม

ดังนั้นหากทีมไหนมี ace สปรินเตอร์ ทางทีมก็ต้องใช้ลูกทีมคนอื่นคอยขี่ป้องกันไม่ให้ทีมอื่นเข้ามาชน ace ของตัวเอง และตลอดการแข่งขัน สปรินเตอร์ควรจะอยู่ตำแหน่งท้ายๆ ของขบวนทีมเพื่อให้ลูกทีมช่วยบังลม เวลามีคนมาบังลมให้เราจะประหยัดแรงไปได้กว่า 50% ไม่เชื่อลองไปขี่ตามมอเตอร์ไซค์ดู :D

วัดชัยชนะแค่ช่วงล้อ

เมื่อใกล้เข้าเส้นชัยทีมที่มี ace สปรินเตอร์ก็จะปั่นแถวตอนเรียงเดี่ยวหรือที่เรียกว่า “lead out train” โดยให้ลูกทีมปั่นขึ้นนำด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่เขาจะทำได้ พอหมดแรงแล้วก็จะฉีกตัวออก ให้ลูกทีมคนถัดไปขึ้นมาทำความเร็วอีกจนถึงลูกทีมคนสุดท้ายที่ช่วยยัง ace สปรินเตอร์ กลยุทธ์แบบนี้จะช่วยเพิ่มความเร็วให้ทีมอื่นตามไม่ทันและเป็นการบังลมให้ ace สปรินเตอร์จนถึงวินาทีสุดท้ายและช่วยป้องกันหัวหน้าทีมไม่ให้ชนกับคนอื่น เมื่อลูกทีมหมดแล้ว ก็ถึงคราว ace สปรินเตอร์ ระเบิดพลังเฮือกสุดท้ายมาวัดกันกับสปรินเตอร์คนอื่น ซึ่งจังหวะนี่คือเวลาที่สนุกที่สุดในการชมการแข่งเสือหมอบ ผู้ชมก็ได้ลุ้นกันใจหายใจคว่ำครับ ความเร็วสุดท้ายนั้นขึ้นไปถึงเกือบ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว

ทั้งนี้ใช่ว่าขบวน lead out จะใช้ได้ผลเสมอไป หลายครั้งทีมไม่สามารถตั้งขบวนช่วย ace sprinter ได้ อาจจะเพราะว่าลูกทีมหมดแรง เกาะกลุ่มกันไม่ได้ หรือเกิดอุบัตเหตระหว่างทาง หรือทีมต้องแบ่งคนไปช่วย GC contender  (ผู้ทำเวลารวม)  เพื่อเอาชนะรางวัล General classification – เป็นรางวัลที่ใหญ่กว่าและสร้างชื่อเสียงให้ทีมและนักแข่งได้มากกว่ารางวัล Point classification  ถ้าทีมมีทั้ง GC contender และ sprinter ก็อาจจะต้องแบ่งลูกทีมไปช่วยหัวหน้าทั้งสองคน ซึ่งอาจจะทำให้ lead out train ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก  ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือ Mark Cavendish  ในสมัยที่เขาอยู่กับทีม HTC-Highroad ซึ่งเป็นทีมที่หวังเอาชนะ point classification อย่างเดียวไม่มี GC contender เลย ทีม HTC จึงสามารถสนับสนุนช่วย Cavendish คนเดียว จนทำให้เขากวาดชัยชนะได้กว่ายี่สิบครั้ง และได้ครองเสื้อเขียว Point classification ในการแข่ง Tour De Franceตลอดระยะเวลา 4 ปี แต่เมื้อย้ายมาอยู่ Team Sky เมื่อปี 2011 เขาไม่สามารถเอาชนะสปรินเตอร์คนอื่นได้อย่างเดิมเพราะว่าทีมแบ่งคนไปช่วย Bradley Wiggins และก็เสียแชมป์ Point classification ให้ Peter Sagan จาก Liquigas-Cannondale ไป

ในวิดีโอนี้เป็นการแข่งเสตจสุดท้ายในรายการ Tour De France ปี 2012 เราจะเห็นว่า Team Sky ได้ขี่นำขบวนมาจนถึงโค้งสุดท้าย มี Bradley Wiggins ในเสื้อเหลืองเร่งเครื่องนำ Edwald Boassan Hagen เพื่อนร่วมทีมที่ช่วยบังลมและลาก Mark Cavendish จนทั้งสองคนหมดแรงและฉีกออกไป เหลือ Cavendish แข่งกับสปรินเตอร์คนอื่นจนเอาชนะได้ในที่สุด

 

จักรยานของสปรินเตอร์

ในการปั่นจักรยาน สิ่งที่เป็นอุปสรรคฉุดให้เราปั่นได้ไม่เร็วที่สุดก็คือ “ลมต้าน”​ ดังนั้น สปรินเตอร์ นักปั่นที่ต้องทำความเร็วให้สูงที่สุดจึงต้องหาทางหลีกเลี่ยงแรงต้านลมทุกวิธี ยิ่งปั่นเร็วแรงต้านก็ยิ่งมากใช่ไหมครับ ก็ต้องใช้แรงเพิ่มขึ้นเพื่อเอาชนะลม ในระดับบุคคล ก็ต้องอาศัยเพื่อนร่วมทีมช่วยบังลม แต่เมื่อเหลือตัวคนเดียวแล้ว เขาจะหลบอย่างไร? ก็ต้องพึ่งอุปกรณ์ครับ

1. Aero Road bike – เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้ผลิตจักรยานเริ่มหันมาผลิตจักรยานแบบลู่ลม หรือ Aero road bike เปลี่ยนการสร้างท่อจักรยานแบบกลมๆ ใหญ่ๆ ให้เป็นรูปร่างที่มีความแอโร่มากกว่า เช่นรูปหยดน้ำ (Tear Drop) ในรถ Cervelo S2/S3/S5 , Specialized Venge เป็นต้น รถ Aero มีจุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างคือมักจะเป็นรถที่มีความกระด้าง (stiffness) สูง อัดแรงแล้วไม่ย้วย สปรินเตอร์ระดับโลกหลายๆ คนสามารถกดโยกรถเวลาพุ่งเข้าเส้นจนรถคาร์บอนย้วย ทำให้เสียแรงส่ง รถที่ดีจึงต้องมี stiffness สูง จะได้ไม่เสียแรง

2. Deep Section wheels – ล้อขอบสูงอย่าง Zipp 404, Campagnolo Bora ช่วยให้นักปั่นรักษาความเร็วเป็นระยะทางไกลได้ดีโดยไม่ต้องเติมแรงมากนัก ช่วยประหยัดพลังงานในการปั่น เก็บไว้ใช้ตอนแข่งเข้าเส้นชัย

3. Helmet cover – หรือยางคลุมหมวก หมวกจักรยานจะมีรูระบายอากาศเยอะมาก เพื่อไม่ให้นักปั่นร้อนจนเกินไป แต่ว่ามันก็ทำให้ลมไหลไม่ดีเท่าที่ควร ปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นหมวก road bike ที่ปิดรูระบายอากาศเพื่อเพิ่มความไหลของลม อย่าง Kask Vertigo Tri และ Giro Air Attack ครับ หลายๆ ทีมก็ใช้ยางมาคลุมรูหมวกเลย

อุปกรณ์หลายๆ อย่างที่นักกีฬาใช้อาจจะดูเหมือนมันไม่ได้ช่วยลดแรงต้านลมเท่าไรเลย แต่อย่าลืมว่าถึงมันจะช่วยประหยัดเวลาให้เราเพียงเสี้ยววินาทีเดียวก็สามารถตัดสินแพ้ชนะได้เลยนะครับ สปรินเตอร์หลายๆ คนนั้นเข้าเส้นชัยห่างกันแค่เสี้ยววินาที อะไรที่ช่วยให้ชนะได้ก็ถือว่าดีทั้งหมด

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

7 comments

    1. แก้แล้วครับ ขอบคุณที่ท้วงนะครับ ทำคนเดียวบางทีก็ลายตาครับ

      1. ^^ ช่วยๆ กันครับ
        จริงๆ จะใช้ GT Contender ก็ได้ แต่คงใช้ได้เฉพาะบริบทที่หมายถึงตัวเต็งรายการ Grand Tour อย่างเดียว ถ้าตัวเต็งเวลารวมในทุกรายการสเตจเรซ ก็ต้องใช้ GC Contender กันต่อไป

  1. ผมซื้อ เสือภูเขา Trek 4300 ยังไม่ได้แต่งอะไร หากต้องการให้สปรินทร์ได้เร็วๆ อุปกรณ์สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยน
    คืออะไร ไม่ค่อยมีความรู้ด้านอุปกรณ์ครับ

    1. ไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ครับ ความเร็วอยู่ที่การฝึกซ้อมและแรงของเรามากกว่าครับ ซ้อมเยอะๆ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *