เปิดตัว: SRAM Red eTap AXS ชุดขับ 12 Speed ใหม่ดีกว่าเดิมยังไงบ้าง?

วันนี้ SRAM เปิดตัวชุดขับเคลื่อนจักรยานเสือหมอบและเสือภูเขาสองรุ่น SRAM Red eTap AXS และ SRAM Eagle AXS  (AXS ออกเสียง “แอคเซส”) ทั้งสองรุ่นเป็นชุดขับเคลื่อนไร้สายและเป็นระบบเกียร์ 12 speed  

คำถามสำหรับคนที่สนใจกับเทคโนโลยีใหม่จากค่าย SRAM รอบนี้คือมันมีอะไรมากกว่าแค่เพิ่มเกียร์มาหนึ่งเกียร์หรือเปล่า? ตอบคร่าวๆ คือเป็นการอัปเดตชุดขับเคลื่อนแบบใหม่หมด ใหม่จนใช้กับรุ่นเก่าไม่ได้สักอย่างเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นความไวในการเปลี่ยนเกียร์, น้ำหนัก, การรวมเอาชุดขับแบบ 1x และ 2x   เข้าไว้ในระบบเดียวกัน, ระบบตีนผีที่ลดโซ่กระพือได้ในตัว, พร้อมแอพพลิเคชชันในการใช้ตั้งจูนเกียร์ผ่านสมาร์ทโฟน 

เป็นการเปิดตัวโปรดักต์รุ่นเรือธงครั้งใหญ่ของ SRAM เพราะงั้นมาดูกันไปทีละส่วนครับ

 

SRAM  AXS

จริงว่าสำหรับการขี่จักรยานถนน road bike ทั่วไปเราไม่ได้ต้องการใช้เกียร์เยอะอะไรมากมาย แต่นิยามของจักรยานเสือหมอบมันไม่ได้มีแค่การขี่ทำความเร็วบนถนนดีๆ อีกแล้ว ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จักรยานแฮนด์ดรอปที่เราเรียกว่าเสือหมอบถูกนำไปใช้กับสภาพถนนและเส้นทางที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งทางวิบาก ทางลูกรัง เป็นการปั่นสไตล์ไฮบริดที่ไม่ได้สุดโต่งวิบากเหมือนเข้าแทรคเสือภูเขา  จนการปั่นสไตล์นี้กลายมาเป็นเสือหมอบพันธ์ใหม่ที่เราเรียกว่า Gravel bike/ Adventure Bike นั่นเองครับ

จักรยาน Gravel Bike นี้บางครั้งก็ต้องการระยะเกียร์มากกว่าที่เกียร์จักรยานเสือหมอบทั่วไปมี แต่ก็ยังไม่ต้องการเกียร์เบามากๆ เหมือนเสือภูเขา ทำให้มีช่องว่างอุปกรณ์ตรงนี้อยู่ 

ก่อนหน้านี้ SRAM มีชุดขับ Force 1X ที่ทำมาตอบโจทย์คนขี่รถ Gravel แต่ก็หมายความว่าทำให้ต้องมีโปรดักต์หลายชุดออกจำหน่าย 

ประเด็นหลักของ SRAM ในการเปิดตัวกรุ๊ปเซ็ตใหม่นี้คือ เขาอยากสตรีมไลน์รวมไลน์อัปชุดขับทั้งหมดเข้าด้วยกันภายใต้แพลตฟอร์มไร้สาย AXS เพียงตัวเดียว อย่างที่บอกไปข้างต้น SRAM เปิดตัวทั้งชุดเสือภูเขา Eagle AXS และเสือหมอบ Red eTap AXS พร้อมกัน โดยออกแบบให้อุปกรณ์ในซีรีย์ AXS ทุกตัวสามารถใช้ด้วยกันได้ทั้งหมด

เช่นถ้าคุณอยากประกอบเสือหมอบที่ทดเกียร์เบามากๆ เพื่อไปขึ้นดอยอินทนนท์ ก็ไม่จำเป็นต้องหาเฟืองเสือภูเขามาโมดิฟายแล้วจูนเกียร์กลับไปกลับมา คุณสามารถเอาเฟืองเสือภูเขากับตีนผี Eagle AXS มาใช้คู่กับชิฟเตอร์ Red AXS ได้โดยไม่ต้องจูนอะไรเลยเป็นต้น 

 

ทำไมต้อง 12 Speed?

การเพิ่มเฟืองขึ้นมา 1 เฟืองมันมีประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าเราดูแค่จำนวนเฟืองอย่างเดียวอาจไม่ได้อะไรมากครับ แต่ SRAM ออกแบบชุดขับ 12 speed ใหม่ทั้งระบบ เวลาเราดูการใช้งานก็ต้องดูทั้งระบบด้วย ดูภาพนี้ประกอบก่อน

จะเห็นว่าจานหน้าของ Red eTap AXS มีให้เลือกสามขนาด: 50-37T, 48-35T, และ 46-33T คู่กับเฟืองอีกสามขนาด 10-26T, 10-28T, และ 10-33T ถ้าเทียบกับไซส์จานหน้าที่เราใช้กันในชุดขับ 11 Speed ตอนนี้ (53-39T, 52-36T และ 50-34T) ขนาดจานหน้าใน Red eTap AXS จะเล็กลงกว่าเดิมทั้งหมด

ใบจานใหม่ใหม่ทั้งสามไซส์มีระยะห่างของใบใหญ่และใบเล็ก 13 ฟันเท่ากัน SRAM เคลมว่าการที่ระยะห่างฟันจานหน้าเท่ากันหมดช่วยให้สับจานหน้าทำงานได้แม่นยำและเร็วขึ้น 

ขณะเดียวกันเฟืองหลังใหม่ก็เพิ่มจำนวนเกียร์ขึ้นหนึ่งเกียร์ เหตุผลที่ SRAM ทำจานหน้าให้มีขนาดเล็กลงในทุกไซส์ ก็เพราะต้องการให้เราเปลี่ยนเกียร์หลังมากกว่าเกียร์หน้า เมื่อใช้คอมโบใหม่ SRAM เคลมว่าการไล่เกียร์แต่ละสเต็ปจะเนียนกว่าชุดขับ 11 Speed โดยที่เกียร์ไม่กระโดด ไล่รอบขาได้สมูทขึ้น

รูปที่สองนี้อธิบายการไล่สเต็ปในเฟือง 12 speed ใหม่ของ SRAM เฟือง 10-26T และ 10-28T เรียงเฟืองหลังแบบเพิ่มทีละฟันทั้งหมด 7 เฟือง เนียนกว่าการไล่เกียร์ในเฟือง 11 speed ระยะแคบอย่าง 11-25T แต่ได้ระยะการใช้งานกว้างกว่า

หรือลองดูตัวอย่างแบบสุดโต่ง สมมติอยากขึ้นเขาชันๆ แล้วต้องใช้เกียร์เบา ในระบบ 11 Speed คุณอาจจะเลือกเฟือง 11-34 ซึ่งจะเห็นว่าเฟืองชุดนี้ไม่มีการไล่เกียร์แบบ 1 สเต็ปเลย เทียบกับเฟือง 10-33T ที่มีระยะการใช้งานกว้างกว่า  (330% vs 309%) แต่ยังสามารถเรียงเฟืองให้เพิ่มทีละสเต็ปได้ถึง 5 เฟือง เวลาเปลี่ยนเกียร์รอบขาก็จะไม่กระโดดมากจนเสียจังหวะนั่นเอง  

เมื่อเข้าใจแนวคิดการทำชุดเกียร์ 12 speed แล้วลองมาดูการปรับปรุงอะไหล่แต่ละส่วนกันครับ 

 

Flattop Chain โซ่ดีไซน์ใหม่

จากรูปข้างบนจะเห็นว่าโซ่ 12 Speed รุ่นใหม่รูปทรงมันไม่สมมาตร ด้านนอกของโซ่ “แบน” กว่าด้านใน SRAM เรียกดีไซน์นี้ว่า Flattop Chain

การปรับหน้าตานี้มีที่มาที่ไป การเพิ่มเฟืองหลังขึ้นมาหนึ่งชิ้นให้เป็น 12 speed หมายความว่าระยะห่างระหว่างเฟืองหลังแต่ละชิ้นต้องแคบลง ขนาดโซ่ก็ต้องแคบลงด้วยเพื่อให้รับกับจำนวนเกียร์หลังที่มากขึ้น มันทำให้เฟือง โซ่ และชุดจานไม่ทนทานเท่าระบบ 10 และ 11 speed 

ดีไซน์โซ่แบบใหม่ช่วยให้ SRAM เพิ่มเนื้อโลหะแทรกเข้าไประหว่างหมุดโซ่ ผลก็คือโซ่ที่มีความทนทานเท่าเดิมถึงตัวโซ่จะแคบกว่าเดิม นอกจากนี้ยังเพิ่มขนาดจุดหมุนระหว่างข้อต่อโซ่ ช่วยให้โซ่ เฟือง และชุดจานมีระยะสัมผัสกันมากขึ้น SRAM อ้างว่าทั้งหมดนี้ช่วยให้อายุการใช้งานยาวนานขึ้น 

แน่นอนว่าโซ่แบบใหม่ที่ระยะต่างๆ ต่างจากโซ่ 11 Speed คุณก็ต้องใช้อุปกรณ์เปลี่ยนโซ่ และตัววัดโซ่รุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน 

 

AXS Platform: ปรับจูนเกียร์ผ่านแอพพลิเคชัน

ชื่อเต็มๆ ของชุดขับตัวใหม่คือ SRAM Red eTap AXS  ตัวย่อ AXS เป็นชื่อแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงอะไหล่และซอฟต์แวร์แบบไร้สายของ SRAM ครับ รวมๆ แล้วก็คือมันเป็นระบบที่ทันสมัยขึ้นกว่า eTap 11 Speed 

ผู้ใช้สามารถเซ็ตการใช้งานเกียร์ได้ตามใจชอบผ่านแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟนทั้งใน Android และ iOS ระบบ AXS ช่วยให้คุณสามารถใช้อุปกรณ์ในแพลตฟอร์มเดียวกันข้ามกันไปมาได้อย่างที่บอกข้างต้น นั่นคือจะใช้อะไหล่ Red ผสมกับ Eagle ผสมกับ Force ก็ได้

ในส่วนของแอพพลิเคชัน เราทำอะไรกับมันได้บ้าง? 

  1. จูนเกียร์อัตโนมัติ เมื่อต้องการเปลี่ยนเฟืองหรือจานหน้า
  2. เลือกโหมดการเปลี่ยนเกียร์ มีให้เลือกสองแบบ แบบแรกเรียกว่า Sequential หรือโหมด “เกียร์ออโต้” โหมดนี้เวลาปั่นเราแค่เลือกว่าอยากได้เกียร์หนักขึ้นหรือเบาลง แล้วระบบจะเลือกเฟืองและจานที่เหมาะสมให้เราเองโดยรักษารอบขาที่เราตั้งไว้ แบบที่สองคือโหมด Compensating โหมดนี้เวลาเราเปลี่ยนจานหน้า ระบบจะเปลี่ยนทดเฟืองหลังให้เราอัตโนมัติเพื่อรักษารอบขาให้เนียนที่สุด (ปกติเวลาเราสับจานหน้าเราต้องเปลี่ยนเฟืองหลังตาม 1-2 เกียร์เพื่อคงรอบขาเท่าเดิม) แน่นอนว่าทั้งสองโหมดนี้มีใน Shimano Di2 มาสักพักใหญ่ๆ แล้วครับ ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่าของคู่แข่ง แต่อย่างน้อยก็มีฟีเจอร์เท่าเทียมกันละ
  3. ตั้งค่าปุ่มในการเปลี่ยนเกียร์ คุณสามารถเลือกได้ว่าอยากให้ปุ่มไหนในชิฟเตอร์ทำหน้าที่อะไร ถ้าอยากโมดิฟายเต็มที่ก็สามารถซื้อตัวรีโมทชิฟเตอร์ Blip มาติดเพิ่มได้ด้วย คล้ายๆ กับ sprint/climbing ชิฟเตอร์ของ Shimano
  4. บอกระยะการใช้งานและอัปเดตเฟิร์มแวร์
  5. เปลี่ยนเกียร์ได้เร็วขึ้น ข้อสุดท้ายสำคัญที่สุดสำหรับคนที่เคยใช้ชุดเกียร์ SRAM Red eTap มาก่อน ชุดเกียร์ eTap 11 speed คุณไม่สามารถตั้งความเร็วในการเปลี่ยนเกียร์ได้เหมือน Shimano Di2 และหลายคนวิจาร์ณว่า eTap เปลี่ยนเกียร์ช้าไปหน่อย สำหรับ Red eTap AXS SRAM เคลมว่าระบบเปลี่ยนเกียร์เร็วขึ้นกว่าเดิม จากการเขียนโค้ดการส่งสัญญาณไร้สายใหม่ที่ทำงานได้ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม อย่างไรก็ดี ระบบในใหม่นี้เราก็ยังตั้งความเร็วการเปลี่ยนเกียร์ไม่ได้เหมือนเดิมครับ

 

Orbit Chain Management: ตีนผีแนวคิดใหม่

จุดที่เด่นที่สุดในชุดขับใหม่ตัวนี้เป็นตีนผี ซึ่งจะเห็นว่าขนาดใหญ่เทอะทะขึ้นไม่น้อยเลย แต่ไม่ได้ใหญ่อย่างไร้เหตุผลครับ จากรูปข้างล่างนี้จะเห็นว่าข้างๆ ลูกรอกตีนผีชิ้นบนมีระบบใหม่ซ่อนอยู่ SRAM เรียกระบบนี้ว่า Orbit Chain Management System แปลเป็นภาษาคนได้ว่า “ตัวช่วยกันโซ่กระพือ”  

ระบบนี้ต่างจากตีนผีที่มี clutch system ทั่วไปตรงที่ กลไกข้างในตัวกันโซ่กระพือใน Red eTap AXS จะเป็นระบบไฮดรอลิคที่ทำงานเวลาจักรยานสั่นสะเทือนรุนแรง เช่นเวลาปั่นผ่านทางขรุขระหรือตกหลุมบ่อ ที่อาจจะทำให้โซ่กระพือหนักๆ ระหว่างนี้ของเหลวด้านในระบบ Orbit ก็จะช่วยซับแรงสะเทือนลดการเคลื่อนไหวของกรงตีนผี ลดปัญหาโซ่ฟาดเชนสเตย์หรือโซ่ตกเวลาที่เราเปลี่ยนเกียร์บนทางวิบาก

SRAM เคลมว่าระบบนี้จะไม่ทำงานเวลาเราเปลี่ยนเกียร์ปกติ นั่นคือไม่ได้กินแบตเพิ่ม และไม่มีผลกระทบต่อฟีลลิงและความเร็วการเปลี่ยนเกียร์

ตีนผีรุ่นใหม่มีขนาดเดียว ไม่ต้องเลือกว่าจะใช้กรงขาสั้นหรือขายาวอีกต่อไป ด้วยระยะเกียร์ใหม่ที่กว้างกว่า 11 speed เราไม่จำเป็นต้องใช้ตีนผีขายาวกับเฟืองขนาดใหญ่แล้ว

เฟืองขนาดใหญ่สุดที่ใช้ได้กับตีนผีรุ่นนี้คือ 33T ซึ่งถ้าใช้กับจานหน้า 46-33T ก็ได้ระยะเกียร์เบาสุดในอัตราส่วน 1:1 เช่นนั้นแล้วต่อจะปั่นขึ้นเขาชันแค่ไหนก็น่าจะใช้เกียร์ระยะนี้ขึ้นได้สบายๆ แต่ถ้าอยากใช้ในเส้นทางที่สุดโต่งกว่านั้น ก็สามารถเอาตีนผีและเฟืองเสือภูเขา Eagle AXS มาใช้คู่กับจานหน้า Red eTap AXS ได้เหมือนในรูปนี้ครับ

อย่างไรก็ดี ถ้าต้องการใช้ตีนผี Eagle คู่กับชิฟเตอร์ Red แบบในรูป คุณต้องใช้โซ่ Eagle จะใช้โซ่ Flattop ของ Red ไม่ได้

ลูกรอกตีนผีปรับขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม 11T เป็น 12T ลูกรอกตัวล่างมากับดีไซน์แบบ narrow-wide และตีนผีใหม่มากับมอเตอร์ออกแบบใหม่แรงดีกว่าเดิมที่ช่วยให้เปลี่ยนเกียร์ได้ไวขึ้นจากรุ่นก่อนเล็กน้อย

ส่วนสับจานหน้า ดีไซน์ไม่ต่างจากเดิมมาก ส่วนสำคัญคือปรับระยะการติดตั้งแบตเตอรีให้ออกห่างตัวเฟรมมากขึ้น เพื่อที่จะได้รองรับยางหน้ากว้างได้สูงสุด 40mm

แบตเตอรีใช้รุ่นเดียวกับ eTap รุ่นก่อนทั้งหมด อายุการใช้งานต่อการชาร์จประมาณ 60 ชั่วโมง ใช้เวลาชาร์จจนเต็ม 1 ชั่วโมง 

 

มือเกียร์และดิสก์เบรก: ปรับเปลี่ยนเล็กน้อย แต่ขนาดไม่เล็กลง

มือเกียร์ eTap ดิสก์ โดยรวมแล้วไม่ต่างจากมือเกียร์ SRAM Red eTap HRD ยังเป็นระบบดิสก็เบรกไฮดรอลิคเหมือนเดิม แต่ปรับพื้นผิวยางฮู้ดให้หนึบมือกว่าเดิม และตัวปุ่มเปลี่ยนเกียร์ให้ฟีดแบคที่เฟิร์มขึ้นและเสียงดังชัดเจนว่าเรากดเปลี่ยนเกียร์แล้ว

ตรงนี้จะเห็นชัดว่าดีไซน์ของ SRAM ต่างกับ Shimano โดยสิ้นเชิง ฮู้ดดิสก์เบรกของ Shimano เน้นทำขนาดให้เล็กกระชับที่สุดให้ใกล้เคียงฮู้ดริมเบรก ส่วนของ SRAM คงขนาดเท่าเดิม ใหญ่กว่าฮู้ดริมเบรกพอสมควร

ตัวก้ามเบรกยกของเดิมมาทั้งหมดทั้งริมเบรกและดิสก์เบรก 

ส่วนที่ปรับใหม่คือใบโรเตอร์ดิสก์เบรก Centerline XR ตัวใบโรเตอร์ทำจากเหล็กแต่แกนยึดทำจากอลูมิเนียม มีให้เลือกทั้งแบบ centerlock และ six-bolt ใบโรเตอร์ที่มากับชุดเป็นขนาด 160mm ทั้งจานหน้าและหลัง

ริมเบรกไม่ได้ต่างจาก SRAM Red รุ่นก่อนมากนัก และใช้ริมเบรกชุดเดิมร่วมกับชุดขับใหม่ได้ 

 

จานหน้าดีไซน์ใหม่ มีพาวเวอร์มิเตอร์ในตัว

อีกชิ้นส่วนที่เห็นดีไซน์ใหม่ได้ชัดเจนก็คือจานหน้าซึ่งทำจากอลูมิเนียมชิ้นเดียวทำให้ได้จานหน้าที่สติฟฟ์และเบากว่าเดิม 

ใบจานหน้ามีให้เลือกหลายขนาด 

  • แบบ 2x มีขนาด 50-37T, 48-35T, และ 46-33T 
  • แบบ 1x มีขนาด 50T (aero), 48T (aero), 46T, 44T, 42T, 40T, 38T และ 36T
  • ชุดใบจานมีให้เลือกทั้งแบบที่มากับพาวเวอร์มิเตอร์ในตัว และแบบที่ไม่มีพาวเวอร์มิเตอร
  • ตัวพาวเวอร์เป็น Quarq Dzero แบบติดสไปเดอร์ที่วัดพลังแยกซ้าย-ขวา กับค่าความแม่นยำ +/- 1.5%
  • ขาจานธรรมดาที่ไม่มีพาวเวอร์มิเตอร์ ไม่สามารถซื้อเฉพาะตัวพาวเวอร์ยูนิทมาอัปเกรดทีหลังได้ ถ้าอยากได้รุ่นพาวเวอร์มิเตอร์ก็ต้องซื้อใหม่ทั้งชุด

อย่างไรก็ดี มันมีจุดที่หลายคนอาจจะไม่ชอบครับ นั่นคือในรุ่นพาวเวอร์มิเตอร์นั้น ตัวพาวเวอร์ยูนิทมันเป็นชิ้นเดียวกับใบจาน เพราะมันทำจากอลูมิเนียมชิ้นเดียว

ถ้าสมมติฟันใบจานหน้าคุณสึกหรือเสีย จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คุณต้องเปลี่ยนทั้งชุด (รวมพาวเวอร์ด้วย)

ซ้าย: ชุดใบจานที่ไม่มีพาวเวอร์มิเตอร์ / ขวา: ชุดใบจานที่มีพาวเวอร์มิเตอร์

เหตุผลที่ SRAM ออกแบบให้พาวเวอร์มิเตอร์และใบจานเป็นยูนิทเดียวกันเลย เขาบอกว่าเพื่อลดความไม่แม่นยำที่เกิดจากแรงเครียดแรงเค้นที่สะสมในตัววัสดุใบจานหลังจากใช้ไปนานๆ และดีไซน์นี้ยังช่วยให้ผลิตชุดใบจานที่สติฟฟ์และเบากว่าเดิม ทั้งนี้ SRAM ยังเคลมว่าชุดใบจานรุ่นใหม่จะมีอายุการใช้งานทนทานกว่าชุดจาน SRAM 11 speed อย่างน้อย 50%

คนที่ซื้อใบจานพาวเวอร์มิเตอร์ สามารถเอาใบเก่าที่สึกหรือเสื่อมสภาพแล้วไปแลกซื้อใบจานพาวเวอร์มิเตอร์ใหม่ในราคาครึ่งเดียว แต่ก็แน่นอนว่าการซื้อใบจานใหม่พร้อมพาวเวอร์ทั้งชุด เพื่อเปลี่ยนใบจานที่สึกก็เป็นอะไรที่สิ้นเปลืองมาก คนที่ใช้งานจักรยานเป็นประจำ จนใบสึกไวอาจจะรู้สึกว่าไม่คุ้มครับ

ชุดขาจาน 1x Aero สำหรับ TT Set up

สำหรับคนที่ใช้รถไตรกีฬาและรถ Time Trial SRAM ก็มีชุดสำหรับรถ Tri/ TT โดยเฉพาะ ส่วนที่เพิ่มมาคือ BlipBox แบบใหม่ที่ออกแบบให้ฝังกับแอโรบาร์ ลู่ลมกว่าเดิม ตีนผี สับจาน เบรคใช้ร่วมกับ Road 

 

กะโหลก DUB กับขนาดขาจานใหม่ 

ถ้าใครเล่นเสือภูเขามาก่อนก็คงรู้จักกะโหลก DUB ของ SRAM อยู่แล้วซึ่งคราวนี้เอามาใช้ในฝั่ง Road ด้วย แล้วมันต่างกับกะโหลก BB30/ GXP ยังไง?

DUB ย่อมาจาก Durable Unifying Bottom Bracket อธิบายง่ายๆ ตามนี้ครับ อันดับแรกเข้าใจเรื่องขนาดแกนขาจานก่อน

  • กะโหลก GXP ใช้กับแกนขาจานโลหะขนาด 24/22mm
  • กะโหลก BB30 ใช้แกนขาจานอลูมิเนียม 30mm
  • กะโหลก DUB ใช้แกนขาจานอลูมิเนียม  28.99mm

SRAM ต้องการความทนทานของกะโหลก GXP คู่กับความสติฟฟ์ของกะโหลก BB30 เลยออกมาเป็นมาตรฐานใหม่ที่เรียกว่า DUB

  • กะโหลก DUB ใช้ได้กับเฟรมจักรยานได้แทบทุกเฟรม ไม่ว่าจะใช้กะโหลกแบบไหนก็ตาม BSA, PF86, PF92, BB30, PF30, BB386EVO ในขณะที่กะโหลก GXP ใช้ได้กับเฟรมที่รองรับแกนขาจาน 24mm เท่านั้น
  • ขนาดแกนขาจาน DUB เล็กกว่า BB30 แต่ใหญ่กว่า GXP ซึ่ง SRAM เคลมว่าไซส์ 28.99mm นี้ช่วยให้ทำลูกปืนกะโหลกที่ทนทานแข็งแรงดีกว่าระบบ GXP ขณะเดียวกันก็ได้ความสติฟฟ์ที่เทียบเท่ากับกะโหลกแกน 30mm ด้วย
  • กะโหลก DUB มีซีลกันน้ำกันฝุ่นที่ดีกว่ากะโหลก GXP
  • สะดวกตรงที่ แทนที่เวลาเปลี่ยนขาจานจะต้องมานั่งเช็คขนาดขาจานว่าเป็นแบบไหน (24mm vs 30mm) เราก็แค่ใช้ขาจาน DUB (28.99mm) รุ่นเดียว แล้วซื้อตัวกะโหลก DUB ให้แมทช์กับขนาดกะโหลกที่เฟรมจักรยานเราใช้

 

โม่ XDR 

จากที่เพิ่มเกียร์มาหนึ่งเกียร์ ขนาดของโม่ (freehub body) ก็ต้องกว้างขึ้น 2mm เพื่อที่จะใส่เฟือง 12 Speed ได้ครับ SRAM ยกเอามาตรฐานโม่ XDR   จากเสือภูเขามาใช้กับชุดเกียร์รุ่นใหม่ จากเดิมที่ใช้โม่ XD ในระบบ 11 Speed 

หมายความว่าคุณสามารถใช้ชุดเกียร์ 12 Speed ได้กับล้อแทบทุกยี่ห้อ เพียงแค่ต้องเปลี่ยนโม่เป็น XDR เบื้องต้น SRAM กล่าวว่าผู้ผลิตล้อแทบทุกแบรนด์ในตลาด (ยกเว้น Shimano) กำลังเร่งทำโม่ใหม่ออกมาสำหรับคนที่อยากจะใช้ชุดขับ 12 speed 

 

ถาม-ตอบ

  • SRAM Red eTap AXS มีวางจำหน่ายแล้ว ติดต่อตัวแทนจำหน่ายประเทศไทยเพื่อสอบถามราคา 
  • มีให้เลือกทั้งแบบริมเบรกและดิสก์เบรก โดยเบื้องต้นจะมีเฉพาะรุ่นดิสก์เบรกก่อน รุ่นริมเบรกจะตามมาทีหลัง
  • ใช้กับล้อ 9-10-11 Speed ได้ แต่ต้องเปลี่ยนโม่เป็น XDR (ซื้อต่างหากจากแบรนด์ผู้ผลิตล้อที่คุณใช้อยู่)
  • ใช้งานร่วมกับ SRAM Red eTap 11 Speed ไม่ได้ทุกประการ
  • ใช้งานกับอะไหล่ชุดเกียร์ 11 Speed ไม่ได้ทุกชิ้นส่วน (ขนาดโซ่ เฟือง จาน ใบจานต่างกันหมด)
  • ถ้าต้องการใช้ชุดขับ Red eTap AXS 12 speed กับเฟรม Trek ที่ใช้กะโหลก BB90 หรือเฟรมที่ใช้กะโหลกแบบ Italian Threaded ผู้ใช้ต้องซื้อชุดขาจาน Red แกน GXP (มีขายต่างหาก)

 

ราคา

Groupset (Road) ราคา (USD)
2x Hydraulic Road Disc Brake w/ Power $4,158
2x Hydraulic Road Disc Brake $3,648
2x Rim Brake w/ Power $3,998
2x Rim Brake $3,488
1x Hydraulic Road Disc Brake w/ Power $3,708
1x Hydraulic Road Disc Brake $3,198
1x Hydraulic Road Disc Brake Aero w/Power $3,688
1x Hydraulic Road Disc Brake Aero $3,178
1x Rim Brake Aero w/Power $3,348
1x Rim Brake Aero $2,838

น้ำหนัก


GROUPSETS
2X 2x power 1x Aero
ROAD
RED Disc 2,518g 2,553g 2,103g
RED Rim 2,254g 2,290g 2,070g
AERO (TT)
RED Disc 2,343g 2,379g 2,159g
RED Rim 2,052g 2,088g 1,868g

 

Gallery

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *