รีวิว SRM PC8: ไมล์จักรยานที่ออกแบบมาเพื่อนักกีฬาโดยเฉพาะ

SRM ชื่อนี้คนที่อยู่ในวงการจักรยานมาหลายปีคงผ่านตากันมาบ้าง SRM เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์พาวเวอร์มิเตอร์จากเยอรมัน และเป็นผู้คิดค้นพาวเวอร์มิเตอร์สำหรับจักรยานรายแรกของโลกเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วครับ

การเป็นคนแรกของโลกในด้านใดด้านหนึ่งย่อมได้เปรียบ ก่อนที่ตลาดพาวเวอร์มิเตอร์จะเติบโตมีตัวเลือกมากมายในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ก่อนหน้านี้เป็น SRM ที่แทบจะผูกขาดตลาด และแทบจะเป็นพาวเวอร์มิเตอร์ยี่ห้อเดียวที่ทีมจักรยานอาชีพใช้แข่งขัน

แต่ SRM ไม่ได้ผลิตแค่พาวเวอร์มิเตอร์ เพราะต่อให้มีอุปกรณ์วัดพลัง ถ้าไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้รับข้อมูล power เหล่านั้นและแสดงผลให้เราดูแบบเข้าใจได้ พาวเวอร์มิเตอร์ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เช่นนั้นแล้ว SRM เลยผลิตสินค้าออกมาอีกหนึ่งอย่างนั่นก็คือ SMR PowerControl คอมพิวเตอร์จักรยานนั่นเองครับ

ด้วยดีไซน์ที่ไม่เหมือนคอมพิวเตอร์จักรยานยี่ห้อไหนๆ เลยและด้วยราคา 23,500 บาท หลายคนคงสงสัยว่าเจ้า SRM PC8 นี้มันมีดีอะไร? วันนี้เราจะมาดูกันว่าทำไมคุณควรจะซื้อ หรือควรจะหลีกเลี่ยงครับ

 

SRM PowerControl 8

SRM PC8 เปิดตัวเมื่อปี 2013 นั่นคือเกือบ 6 ปีเต็มแล้ว จะบอกว่าเป็นไมล์จักรยานที่ดีไซน์เก่าที่สุดในตลาดตอนนี้ก็ได้ครับ แต่อ่านต่อไปแล้วจะเข้าใจว่าทำไม SRM ถึงไม่อัปเดตดีไซน์ใหม่ทุกๆ ปีเหมือนแบรนด์คู่แข่ง

นั่นก็เพราะ SRM PC8 ไม่ใช่ไมล์จักรยานแบบที่คุณคิดครับ

เวลาเรานึกถึงไมล์จักรยาน มักจะมีแค่ 1 หรือ 2 รูปแบบ

  1. แบบเบสิค ที่แสดงผลค่าความเร็ว รอบขา ระยะทาง เวลา พวกนี้มักมีราคาไม่แพง
  2. แบบสมาร์ท เช่น Garmin, Wahoo, Bryton, Xplova ที่สามารถจับสัญญาณ GPS และนำทางได้ เชื่อมต่อกับเซนเซอร์ต่างๆ ได้หลากหลายรูปแบบผ่าน protocol อย่าง ANT+ และ Bluetooth ราคามีตั้งแต่ไม่กี่พันไปจนหลายหมื่น

SRM PC8 ไม่ได้อยู่ในกรอบนิยามทั้งสองอย่าง…

ถ้า Garmin เป็นบริษัทที่ทำสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีนำทาง GPS, SRM ก็คือบริษัทที่ทำอุปกรณ์การฝึกซ้อมจักรยานโดยเฉพาะ

ความต่างนี้สำคัญครับ เพราะ SRM PC8 ถูกออกแบบมาในกรอบที่แคบกว่าไมล์อย่าง Garmin หรือ Wahoo มาก มันสร้างมาเพื่อการซ้อมจักรยานอย่างเดียวเท่านั้น

ถ้าดูหน้าตามันคุณจะเห็นว่ามันต่างจากไมล์ทั่วไปที่มักเป็นแนวตั้ง แต่ PC8 ใช้หน้าจอแบบแนวนอน รูปทรงมันดูไม่เหมือนไมล์จักรยานที่เราคุ้นชินกันเท่าไร

หน้าจอออกแบบมาให้แสดงผลเฉพาะข้อมูลการฝึกซ้อมอย่างเดียว นั่นคือคุณไม่สามารถดูแผนที่ หรือเปิดระบบนำทางได้ เพราะมันไม่มีฟังก์ชันพวกนี้ครับ!  (แต่สามารถรับสัญญาณ GPS ได้ นั่นคือเวลาเอาข้อมูลการปั่นมาอัปโหลดเข้าโปรแกรมอย่าง Strava มันจะบอกได้ว่าคุณปั่นไปที่ไหนมาบ้าง)

ตัวจอก็ไม่ใช่หน้าจอสัมผัส ดูเผินๆ เหมือนโทรศัพท์มือถือสมัยโบราณที่คนแก่ชอบใช้

แต่นั่นคือจุดเด่นของ PC8 ครับ ข้อมูลต่างๆ บนหน้าจอแสดงผลแบบคมกริบ และเห็นชัดในทุกสภาพแสง ต่อให้แดดจะส่องลงมาตรงๆ ก็ตาม และมองเห็นในทุกองศา จะก้มจะเงย จะมองจากข้างๆ ก็เห็นตัวเลขชัดกริ๊บ นั่นเพราเป้าหมายการใช้งานที่ SRM ออกแบบมาคือให้นักกีฬาที่ซ้อมและแข่งขันจริงจังใช้ ควรจะอ่านหน้าจอได้ในทุกสภานการณ์และสภาพอากาศ​

ถึงแดดจะส่องลงจอตรงๆ และมองจากมุมเฉียงเยื้อง ก็ยังแสดงผลชัดแจ๋ว

ถ้าเรามานับฟีเจอร์กันแบบเต็มๆ แล้ว SRM PC8 คงจะเป็นไมล์ที่โลว์เทคที่สุด นี่คือสิ่งที่มันทำไม่ได้

  • ดูแผนที่และนำทางผ่าน GPS
  • Strava Live Segment
  • เชื่อมต่อสมาร์ทโฟน, แสดงข้อความ SMS
  • แอพพลิเคชันเพิ่มเติมเหมือน Garmin IQ
  • ปรับรูปแบบการแสดงผลหน้าจอ (ทำได้นิดหน่อย)
  • และอีกหลายอย่างที่ไมล์ Garmin และ Wahoo ทำได้เป็นมาตรฐาน

ตัวเครื่อง: แข็งแรง, คลาสสิค

จุดเด่นที่สุดของ PC8 ก็คือ build quality ตัวเครื่องทำจากอลูมิเนียมแบบชิ้นเดียว ให้ฟีลลิงสัมผัสที่แข็งแรง และแพง ดูโปรครับ ตัวบอดี้กันน้ำกันฝุ่น

เรื่องความทนทานผมประทับใจเป็นพิเศษ เพราะมีครั้งหนึ่งเคยปั่นอยู่กลางเมืองบนถนนพระราม 9 แล้วเจอทางกระเทือนแบบไม่ทันตั้งตัว เครื่อง PC8 หลุดออกจากเมาท์บนแฮนด์ครับ ตกไปกลางถนนแล้วโดนรถเหยียบเต็มๆ! เชี่ย จะรอดมั้ย หัวใจตกอยู่ตาตุ่มเลย

แต่มันรอดครับ! บอดี้เป็นรอยถลอกนิดหน่อย แต่ใช้งานได้ปกติทุกอย่าง ถ้าเป็น Garmin Edge 1000 ที่ใช้อยู่คงแหลกสลายไปแล้ว

ด้านหลังตัวเครื่องมีช่องเสียบสาย USB โดยใช้หัวด้านที่เสียบกับเครื่องแบบ magnetic (แต่สายอีกด้านเป็น USB ธรรมดา) นั่นหมายความว่าคุณใช้สาย USB อื่นๆ กับเครื่อง PC8 ไม่ได้ ถ้าสายหายจะเดือดร้อนครับ

เมาท์เป็นแบบ กดล็อกลงไปตรงๆ โดยจะมีเดือยค้ำด้านบนไว้ให้ไม่หลุด

 

ใช้งาน: เข้าใจยากทีแรก แต่ง่ายเมื่อใช้เป็น

ถ้าคุณใช้ PC8 เป็นครั้งแรกอาจจะงงครับ เพราะปุ่มสามปุ่มที่มีบนตัวเครื่อง ไม่ได้ทำหน้าที่ตามชื่อปุ่มที่มันบอก!

  • ปุ่มซ้ายสุด (Pro) เอาไว้ดูหน้าจอ Interval คล้ายๆ หน้า Lap ใน Wahoo/ Garmin
  • ปุ่มกลาง (Mode) ใช้สลับหน้าจอแสดงผลหน้าต่างๆ
  • ปุ่มขวาสุด (Set) เริ่มบันทึก lap (เหมือนกด Start ใน Garmin/ Wahoo)

ตอนใช้รอบแรกก็ไปไม่เป็นเลยทีเดียว เพราะปกติเวลาเราใช้ Garmin หรือ Wahoo เวลาจะเริ่มปั่น เราต้องกด “Start” เพื่อให้มันบันทึกข้อมูล แต่สำหรับ PC8 เราไม่มีปุ่มสตาร์ท เพราะมันเป็นระบบ Always on เครื่องจะบันทึกการปั่นอัตโนมัติในทุกครั้งที่เราเริ่มปั่น เพราะงั้นมันไม่มีการกด Start หรือ Stop ครับ

ถ้าจะหยุดบันทึกก็กดปุ่ม Mode เพื่อให้เครื่องเข้าสู่โหมด Stand by (ถ้ากดซ้ำอีกที มันจะถามว่าจะ resume ride มั้ย มันก็จะบันทึกข้อมูลการปั่นต่อ แต่ถ้าเราเลือก New Ride มันก็จะรีเซ็ตค่าใหม่ พร้อมบันทึกข้อมูลการปั่นครั้งที่แล้วเก็บไว้เป็นไฟล์ในตัวเครื่อง)

ก่อนจะออกตัวปั่นเราเลือกได้ 3 ออปชัน: continue ปั่นต่อโดยนับสถิติต่อจากการปั่นครั้งที่แล้ว, new ride (เริ่มนับทุกอย่างใหม่) หรือเปลี่ยนโปรไฟล์จักรยาน (กลาง)

แต่ถ้าคุณดูรูปข้างบนคุณจะเห็นคำว่า “Start” ที่มุมขวาล่าง! ซึ่งก็อาจจะทำให้งงได้ครับ เพราะมันย้อนแย้งกับสิ่งที่ผมบอกไปข้างต้น

การกด Start ของ PC8 เปรียบได้กับการทำ lap ของ Garmin นั่นเอง เมื่อเรากด Start, PC8 จะเปลี่ยนหน้าจอเป็น ‘Interval’ แล้วเริ่มบันทึกข้อมูลเฉพาะของ lap นี้ครับ ถ้ากด stop เมื่อไรมันก็กลับไปหน้าจอหลัก แสดงข้อมูลการปั่นตั้งแต่เริ่มต้น

โดยรวมแล้วนี่คือฟังก์ชันทั้งหมดของ PC8 ครับ มีแค่นี้แหละ!

ถ้าเรากดปุ่ม Mode ตรงกลาง หน้าจอจะเปลี่ยนได้ 3-4 อย่าง ค่ามาตรฐานคือหน้า AVG (โชว์ความเร็ว,วัตต์, หัวใจ, รอบขา แบบเฉลี่ย), หน้า Max (โชว์ค่า Max แบบเดียวกับในหน้า AVG), และโชว์กราฟ altitude ของเส้นทางที่เราปั่นมา

Altitude graph

ถ้าเราอยากเปลี่ยน data filed ที่แสดงผล เราต้องต่อ PC8 เข้ากับคอมพิวเตอร์ก่อน เพราะมันปรับผ่านเครื่อง PC8 ไม่ได้ โหลดแอปมันมาแล้วเสียบ PC8 ต่อกับคอมพ์ก็จะปรับ data field ได้ตามใจชอบ แค่คลิกลากประเภท data ที่เราต้องการไปวางในหน้าจอก็เสร็จแล้ว จริงๆ ถ้าไม่คิดมาก ปรับในคอมลากวางๆ แบบนี้เร็วกว่านั่งจิ้มผ่านเครื่องครับ

โปรแกรม PC8 Device Agent (Mac/ PC) ใช้ดาวน์โหลดข้อมูลการปั่นและปรับตั้งค่าต่างๆ ของเครื่อง PC8 ทั้งหมด รวมถึง data field ที่เราต้องการใช้แสดงผลด้วย ค่าหลักๆ ที่เราต้องใช้ก็มีเกือบหมด แต่อาจจะไม่เยอะเท่า Garmin / Wahoo รุ่นใหม่ๆ แล้วก็ปรับ layout หน้าจอได้นิดหน่อย จากตัวเลือกด้านขวามือ
ตัวอย่างสรุปหน้าจอ interval เวลาเราทำเซ็ต / lap เสร็จแล้ว เราสามารถดูข้อมูลสรุปแบบหน้าเดียวจบแบบนี้ได้ง่ายๆ บนเครื่องเลย ไม่ต้อง scroll ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนในไมล์ใช้หน้าจอแนวตั้ง
นอกจากโปรแกรม PC8 Device Agent ที่ใช้เซ็ตเครื่องแล้ว ก็ยังมี SRMX โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลการปั่นที่ละเอียดมาก แต่หน้าตาอาจจะใช้ยากหน่อยเทียบกับแอปสมัยใหม่อย่าง Strava แต่มันก็ดูข้อมูลได้ละเอียดกว่าเยอะครับ อย่างที่บอกไป ออกแบบมาให้นักกีฬาอาชีพและโค้ชใช้เป็นหลักล่ะนะ

เวลาใช้งานตอนปั่นจริง ถ้าเข้าใจโหมดการทำงานของมันแล้ว ผมกลับชอบมากกว่าคอมพิวเตอร์รุ่นอื่น เพราะหน้าจอแบบ wide screen ทำให้ดูข้อมูลได้สบายตา

ข้อมูลที่เราต้องการจะดูจริงๆ เช่น Speed, Cadence, Power, Heart Rate ก็อยู่ในที่ๆ มันควรจะอยู่ ตัวเลขแบบเรโทรที่ PC8 ใช้ เมื่อบวกกับหน้าจอ LCD ที่คมชัดมากๆ และคอนทราสต์สูงสู้แสงแดดได้ดีแล้ว ก็สรุปได้ว่ามันคือหน้าจอแสดงผลที่อ่านง่ายที่สุดที่เคยใช้มาครับ

 

Real Time Power

ประเด็นหนึ่งที่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของเครื่อง SRM PC8 คือการแสดงผลค่าพาวเวอร์ คุณปรับได้แค่สองโหมด คือแสดงเป็นค่า real time หรือ avg 30s

ถ้าใครซ้อม interval บ่อยๆ อาจจะรู้สึกว่ามันมีให้เลือกน้อยไป ถ้าทำ interval ระยะสั้นคุณอาจจะอยากได้ avg power 5-10 วินาที เพื่อสมูทค่าพาวเวอร์ระยะสั้น ไม่ให้วัตต์มันกระโดดจนทำเซ็ตลำบาก

อย่างไรก็ดี ด้วยที่ PC8 และพาวเวอร์มิเตอร์ของ SRM มี sampling rate ที่สูงกว่ายี่ห้ออื่น เวลาให้มันแสดงค่า power แบบ real time มันจะค่อนข้างนิ่งครับ วัตต์ไม่ค่อยกระโดดขึ้นลงจนอ่านไม่ได้

ใน PC8 ผมใช้การแสดงผลแบบ real time ซ้อมได้สบายๆ เช่นเทียบ Garmin EDGE 1000 ที่ผมใช้ ซึ่งปกติเปิดแสดงผลเป็น power avg 10s ตลอดเวลา ถ้าเปิดแบบ real time ค่ามันจะเหวี่ยงเกิน ขี่ตามยาก

 

แบตเตอรีทน แต่ปิดเครื่องไม่ได้

แบตเตอรี PC8 อึดพอสมควร ใช้งานปกติอยู่ได้ราวๆ 16-20 ชั่วโมง แต่ถ้าคุณปิดฟังก์ชัน GPS แบตจะทนขึ้นอีกสองเท่า ถ้าเปิด standby แบตจะอยู่ได้เป็นเดือนครับ

หน้าจอ stand by แสดงผลแบตเตอรีตลอดเวลา

ทั้งนี้ PC8 ไม่มีปุ่ม power เหมือนคอมพิวเตอร์อื่นๆ พูดง่ายๆ คือปิดไม่ได้ครับ เวลาไม่ใช้งานมันจะอยู่ในโหมด standby ซึ่งบนหน้าจอจะแสดงสถานะแบตเตอรีให้เราเห็น ข้อดีก็คือ ไม่ต้องกลัวลืมชาร์จเครื่อง เพราะเรารู้ตลอดเวลาว่าแบตเหลือแค่ไหน ในคอมพ์รุ่นอื่นๆ เราต้องเปิดเครื่องก่อนถึงจะรู้ และอาจจะลืมชาร์จ รู้ตัวอีกทีจะออกปั่น ก็อ้าว แบตหมดนี่หว่า

แบตเตอรีถอดเปลี่ยนเองไม่ได้ ถ้าแบตเสื่อมต้องส่งศูนย์ซ่อม ค่าเปลี่ยนพร้อมตรวจเช็คเครื่องครั้งละ 59 ยูโร หรือประมาณ 2,100 บาท

 

จุดอ่อน

ถึงจะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีหลายจุดที่ผมไม่ชอบเช่นกัน

  1. งาน QC ยังไม่ดีเท่าไร ถึงเครื่องจะทนทานต่อการกระแทกและโดนรถทับมาแล้ว แต่ปัญหาที่ผู้ใช้เจอบ่อยคือน้ำเข้าครับ ผมเคยเอามันปั่นตากฝนครั้งเดียว น้ำซึมเข้าไปในจอจนไปทำลายจอ LCD ในที่สุด (ซึ่งก็ส่งเคลมไปไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไร เพราะเขาเคลมว่ามันต้องกันน้ำ) SRM บอกว่าล็อตหลังๆ ไม่มีปัญหานี้แล้ว เครื่องที่ผมใช้อายุหลายปีแล้ว บอกไม่ได้ว่าล็อตใหม่ๆ ดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า
  2. ไม่มี Bluetooth แต่เอาจริงๆ แล้วก็ไม่รู้จะต่อ Bluetooth กับอะไรเหมือนกัน เพราะซอฟต์แวร์เครื่องมันไม่มีฟังก์ชันที่จะต้องใช้การเชื่อมต่อนี้ครับ
  3. จับสัญญาณ GPS ช้ามาก บางทีรอเกือบห้านาที นั่นคือ จะใช้ GPS เป็นตัววัดความเร็วนี่ไม่เวิร์กมากๆ วิธีแก้คือใช้ speed sensor แทนครับ
  4. ราคา ด้วยราคา 23,500 บาท เทียบกับฟีเจอร์ที่มีแล้วก็ไม่คุ้มเลยครับ แต่ทำไมราคาถึงสูงมาก? ถ้าเทียบกับไมล์จักรยานคู่แข่งแล้ว SRM มีต้นทุนการผลิตสูงกว่ามาก PC8 ทุกตัวทำในเวิร์กช็อป SRM ในเยอรมัน ซึ่งค่าแรงสูงกว่าไมล์ที่ผลิตในเอเชีย และผลิตในปริมาณที่น้อยกว่ามาก

ทั้งนี้ ด้วยที่มันไม่ใช่ไมล์ยอดนิยม ราคามือสองเลยตกเยอะครับ หาได้ตั้งแต่ 10,000-15,000 บาท เผื่อใครอยากลอง

 

สรุป

ที่ตั้งใจทำรีวิว SRM PC8 นี่เพราะคิดว่าคงมีหลายคนที่สงสัยครับว่ามันคือไมล์อะไร ดียังไง ทำไมโปรใช้กัน ถึงเดี๋ยวนี้จะเหลือไม่กี่ทีมแล้วที่ SRM สปอนเซอร์ ส่วนหนึ่งเพราะตลาดไมล์จักรยานแข่งขันสูงขึ้นมากและมีผู้เล่นเยอะขึ้น พร้อมจะสนับสนุนทีมใหญ่

และเหตุผลที่โปรยังใช้ SRM PC8 อยู่ (บางทีม) อาจจะเป็นการสรุปรีวิวที่ดีที่สุดครับ นั่นคือ มันเป็นไมล์จักรยานที่เรียบง่าย ใช้ง่าย ออกแบบดี ไม่มีฟีเจอร์ที่นักกีฬาไม่ต้องการ

Target customer ของ SRM คือนักกีฬาอาชีพ ไม่ใช่ consumer ทั่วไปแบบเราๆ โดย SRM ไม่สนใจเลยว่าคนปั่นทั่วไปต้องการใช้ไมล์จักรยานทำอะไรบ้าง (เช่นนำทาง)

ที่มันไม่มีฟีเจอร์นำทางก็เพราะนักกีฬาอาชีพไม่ต้องการการนำทาง เวลาแข่งเส้นทางมันก็ล็อกอยู่แล้ว ถนนก็ปิด รถนำก็มี ขี่ยังไงก็ไม่หลง หน้าที่ของไมล์ก็แค่แสดงข้อมูลให้เห็นชัดและแม่นยำที่สุด ทนทาน เชื่อใจได้ ไม่รวน ก็พอแล้ว ซึ่ง SRM PC8 ก็ตอบโจทย์พวกนี้ได้ทั้งหมด

ถ้าดูจากฟีเจอร์การใช้งานแล้ว ไม่มีเหตุผลที่คุณควรจะซื้อ PC8 โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่คงมีไมล์จักรยานแค่เครื่องเดียว อย่างน้อยๆ มันก็ควรจะนำทางได้ อะไรที่ PC8 ทำได้ ไมล์ตัวอื่นที่ราคาถูกกว่าก็ทำได้ทั้งหมด และทำได้มากกว่าด้วย

แต่สิ่งหนึ่งที่ไมล์ตัวอื่นสู้ PC8 ไม่ได้ในความเห็นผมคือ User experience

ฟีลลิงมันเหมือนใช้ precision instrument ที่ออกแบบมาดีและใช้งานเฉพาะทาง จะจับ ถือ วางก็ไม่ต้องกังวลว่ามันจะพัง หน้าจออ่านง่ายและชัดเจน จะบอกว่าเหมือนนาฬิกาข้อมือ automatic ก็ว่าได้ ถึงจะไม่ฉลาดและแม่นยำเหมือน smart watch แต่ก็มีสเน่ห์ของมันที่อธิบายได้ยาก

คุณซื้อ PC8 เพราะคุณให้คุณค่าอย่างอื่นมากกว่าฟีเจอร์ มันอาจจะเป็นฟีลลิงการใช้งาน หรือเพราะมัน handmade ในเยอรมัน หรืออาจจะเพราะคุณชอบลุคแบบโปร หรือคุณอยากสนับสนุนบริษัทที่คิดค้นพาวเวอร์มิเตอร์ได้สำเร็จเป็นคนแรก แต่ความคุ้มค่าไม่ใช่เหตุผลที่ดีแน่นอนครับ //

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *