รีวิว: Storck Aerfast Pro G1

หลายคนอาจจะจำได้ว่า DT เคยรีวิวเฟรม Storck Aernario ไปเมื่อต้นปี และเป็นหนึ่งในจักรยานที่ดีที่สุดที่เราเคยปั่น มันตอบสนองแรงได้ดีเยี่ยมในขณะที่ปั่นได้สบายไม่สะท้านสะเทือน มีความพุ่งดุดันและบังคับลงเขาเข้าโค้งได้นิ่งมั่นคง น้ำหนักก็ไม่มากสักเท่าไร แต่เราติดใจเรื่องแอโรไดนามิกหรือความลู่ลมของเฟรมที่ Storck เคลมว่ายอดเยี่ยมแต่ไม่มีข้อมูลให้มาเปรียบเทียบ

แต่ในยุคที่เสือหมอบสไตล์แอโรกำลังมาแรง เฟรม Aernario ดูเหมือนจะเป็นเฟรมแนวแข่งขันลูกผสมออกไปทางแนวไต่เขา เบาพุ่งมากกว่ารถแอโรตัดลม ถ้าคิดว่ามันเป็นเสือหมอบ all-rounder ก็จัดว่าอยู่แถวหน้าของวงการ

แต่ Storck ก็ไม่ได้ยอมปล่อยเซกเมนท์หมอบแอโรให้แบรนด์อื่นกินส่วนแบ่งไปง่ายๆ ครับ สิงหาคม 2014, Storck เปิดตัวเฟรม Aerfast G1 ซึ่งเป็นเสือหมอบแอโรเต็มตัว ทำรูปทรงออกมาเป็นเฟรมแอโรเต็มตัว มีการซ่อนสาย ซ่อนเบรค โดยยังอยากทีจะคงคาแรคเตอร์ handling ของ Storck ไว้ให้ครบ ทั้งเซฟวัตต์และปั่นดีด้วย น้ำหนักเบาด้วย

กว่าจะเริ่มวางจำหน่ายกันจริงๆ จังๆ ก็เลยมาถึงกลางปี 2015 และ DT ได้มาเทสต์ในปี 2016 — Aerfast คันนี้เป็นผมกับพี่กุ๊ก แมวทองสลับกันเทสต์ แต่พี่กุ๊กจะขี่เป็นหลัก ลองมาดูกันว่ามันยังรักษามาตรฐานเฟรมเทพอย่าง Aernario ได้มั้ยครับ

การออกแบบ

แอโรไดนามิก

เทียบกับผู้ผลิตจักรยานรายอื่นๆ ที่ทำเสือหมอบแอโรออกมาขายแล้ว ต้องบอกว่า Storck มีแนวคิดที่ต่างกับคนอื่นพอสมควรในเรื่องการออกแบบเฟรมลู่ลม หัวใจสำคัญของแนวคิดแอโรไดนามิกของ Storck คือคอนเซปต์ Ground Parallel Aerodynamic นั่นคือผู้ออกแบบเชื่อว่าทิศทางที่ลมจะปะทะจักรยานนั้นเป็นแนวนอนขนานกับพื้นโลก เฟรมน่าจะลดแรงต้านลมได้ดีกว่า เช่นนั้นแล้วรูปทรงท่อของจักรยานก็ควรจะเป็นทรงที่รับแรงปะทะในแนวนอน (เจ้าอื่นทำท่อทรงแอโร้แนวตั้ง) ด้วย

Aerfast cross section-1

ถ้าเราผ่าเฟรม Aerfast ในแนวนอน เราจะเห็นว่าท่อทุกส่วนของเฟรมนั้นมีรูปทรงลู่ลมครับ ท่อล่างจึงเป็นทรง tapered ทั้งบริเวณจุดปะทะลม และด้านหลังท่อ เป้าหมายก็คือทำให้ลมไหลผ่านจักรยานทั้งคันได้ลื่นที่สุด Storck ไม่ได้อ้างข้อมูลการทดสอบในอุโมงค์ลมใดๆ แต่ใช้ CFD (Computational Fluid Dynamic) ในการออกแบบ ซึ่งบริษัทก็เคลมว่าเร็วลู่ลม มากๆ ไม่แพ้ใคร แต่จะเร็วสู้เฟรมแอโรรุ่นล่าสุดอย่าง Madone 9 หรือ Venge ViAS มั้ยก็คงไม่ถึงขั้นนั้น

ตะเกียบหน้าและหลักอาน

ตะเกียบหน้าเป็นทรงแอโร ตะเกียบมากับซางคาร์บอนทรงเทเปอร์เข้ารูปกับท่อคอ เฟรมเดินสายภายในเฟรมทั้งหมด แต่ไม่มีการซ่อนสายเกียร์หรือเบรคบริเวณ cockpit เพราะออกแบบมาให้ใช้กับแฮนด์ธรรมดา ส่วนหลักอาน ใช้วิธีการยึดแบบ seat pin วางตำแหน่งยึดไว้ใต้ท่อนอน ลดน้ำหนักได้พอสมควรเพราะไม่ต้องใช้ตัวรัดหลักอาน

ท่อคอ

สเป็คท่อคอใช้ tapered ขนาดมาตรฐาน 1 1/8′ ด้านบนและ 1 1/4 ด้านล่าง ช่วยทั้งเรื่องความสติฟและการบังคับควบคุมรถ headset cups ที่ให้มาก็เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ด้วย ลูกปืนท่อคอใช้ของ Across แบบ Angular contact bearing ซะด้วย

กระโหลก

ใช้แบบ Pressfit ขนาด 86.5mm ตามสมัยนิยม จัดว่าเป็นกระโหลกที่กว้างพอสมควรครับ ทำให้สามารถออกแบบเชนสเตย์และท่อนั่งให้กว้างขึ้นด้วย ได้ความสติฟเพิ่ม ลดน้ำหนักได้ และกระจายแรงสะเทือนได้ดีอีก

Aerfast selected-9

ตะเกียบทรงแอโร กับน้ำหนักราวๆ 370g และเบรคหน้าแบบ single mount ไม่ซ่อนแต่ก็เปลี่ยนเป็นรุ่นที่เบากว่าหรือแรงเบรคดีกว่าได้ไม่ยาก
ตะเกียบทรงแอโร กับน้ำหนักราวๆ 370g และเบรคหน้าแบบ single mount ไม่ซ่อนแต่ก็เปลี่ยนเป็นรุ่นที่เบากว่าหรือแรงเบรคดีกว่าได้ไม่ยาก
วิธีการเดินสายเบรคหลัง ร้อยผ่านท่อล่างแล้วทะลุออกตรงกลางเฟรมใกล้ๆ กระโหลก เข้าสู่ตัวเบรค direct mount ด้านหลัง สายเบรคแทบไม่คดเลย
วิธีการเดินสายเบรคหลัง ร้อยผ่านท่อล่างแล้วทะลุออกตรงกลางเฟรมใกล้ๆ กระโหลก เข้าสู่ตัวเบรค direct mount ด้านหลัง สายเบรคแทบไม่คดเลย

 

เบรค

Storck เลือกที่จะซ่อนเบรคหลังไว้ใต้กระโหลก ใช้เบรคแบบ direct mount แต่เบรคหน้าไม่ซ่อน วางไว้หน้าตะเกียบและเป็นเบรคแบบ single mount ธรรมดา เมื่อเบรคอยู่ใต้กระโหลกก็หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งยึดเบรคที่ท่อซีทสเตย์ ทำให้ซีทสเตย์ให้ตัวซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้นและเซฟน้ำหนักด้วย

ดรอปเอาท์หลังยังคงใช้แบบแนวและรองรับยางกว้างได้ถึง 28mm

น้ำหนัก

การออกแบบเฟรมแอโรมักจะต้องใช้เนื้อวัสดุมากกว่าเฟรมทั่วๆ ไปเพื่อให้รูปทรงท่อที่ลู่ลม ท่อที่ลู่ลมไม่ค่อยจะสติฟ ก็ต้องเพิ่มวัสดุเข้าไปอีกทำให้เฟรมแอโรส่วนใหญ่หนักกว่าเฟรม all round นั่นเองครับ Storck ยังคงใช้เทคโนโลยี Propotional tubing ในจักรยานแต่ละไซส์จะใช้ท่อต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นเฟรมคนละขนาดกัน เพื่อให้ได้คาแรคเตอร์เฟรมที่ใกล้เคียงกันทุกไซส์ และเป็นการ optimise น้ำหนักด้วย เฟรมไซส์เล็กก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ท่ออ้วนและกว้างเท่าเฟรมไซส์ใหญ่ แต่ก็ทำให้การผลิตมีราคาแพง

เฟรมไซส์ 47cm (ที่เราทดสอบ) ขึ้นตาชั่งแล้วออกมาที่ 995 กรัม และตะเกียบที่ยังไม่ตัดซางอยู่ที่ 370 กรัม หนักกว่า Aernario เล็กน้อย และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของเสือหมอบแอโรตัวท็อปในตลาด แต่ก็หนักถ้าเทียบกับเฟรม all round ราคานี้

รุ่น สี ราคา

Storck Aerfast มีให้เลือกสามรุ่น: Comp, Pro และ Platinum ทั้งสามรุ่นใช้เฟรมจากโมลด์เดียวกันแต่ใช้เนื้อคาร์บอนต่างกัน รุ่น Platinum จะเบาและแพงที่สุด เบากว่ารุ่น Comp ถึง 260 กรัม แต่ถ้า DT เข้าใจไม่ผิด ที่ไทยน่าจะมีขายแค่รุ่น Pro และ Platinum ครับ

ราคาตั้ง Storck Aerfast Pro G1 ที่ 164,000 บาท และ Platinum ที่ 226,000 บาท

มิติรถ (Geometry)

สิ่งที่ผมแปลกใจที่สุดใน Aerfast คือเรื่อง Geometry ที่แทบจะทิ้งแนวคิดการออกแบบรถของ Storck ไปหมดเลย ดูผังมิติรถแล้วนึกว่าดูของ Cervelo อยู่ Storck เปลี่ยนการวัดไซส์รถจากปกติบอกไซส์ตามขนาดท่อนั่ง มาเป็น XS, S, M, L, XL

aerfast stock5

สิ่งที่เปลี่ยนไปในทุกไซส์ๆ เลยคือ ท่อคอสูงขึ้น ท่อนอนสั้นลง และองศาท่อคอก็ชันน้อยลง Stack สูง Reach สั้น จากรถที่ปกติองศาซิ่ง ก้ม เหยียด และต้องใช้สเต็มสั้นกว่าปกติ กลายมาเป็นเสือหมอบที่เซ็ตรถไม่ต่างจากยี่ห้ออื่นๆ

ลองดูตัวอย่างสัดส่วน Stack กับ Reach ในไซส์ S ของ Aerfast เทียบกับ 51 ของ Aernario ครับ

  • Aerfast (S): Stack 552mm, Reach 369mm | Ratio = 1.495
  • Aernario (51): Stack 526mm, Reach 399mm | Ratio = 1.31

เทียบกันไซส์ต่อไซส์แล้ว Aerfast reach จะสั้นกว่า Aernario ประมาณ 1–2 เซนติเมตรในทุกไซส์

Storck อธิบายว่าตั้งใจออกแบบมาให้เป็นเสือหมอบแอโรที่ปั่นได้ง่ายที่สุด (นั่นคือไม่ต้องเป็นก้มและยืดมาก) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับนักปั่นหลายๆ คนที่อยากขี่เสือหมอบแอโร และการที่ท่อคอสูงก็ไม่ต้องรองแหวนหลายชั้นด้วย พูดง่ายๆ คือออกแบบรถมาเอาใจตลาด แต่ก็เสียเอกลักษณ์ไปไม่น้อยครับAerfast selected-3

ประสิทธิภาพ

สเป็ค

สำหรับสเป็คในการทดสอบครั้งนี้เป็นเฟรม Storck Aerfast G1 ไซส์ XS ชุดเกียร์ Shimano Ultegra 6800 Mechanical, แฮนด์ Syntace คาร์บอน, สเต็ม Syntace ล้อ Nich ATEM 2 40mm และ Campagnolo Eurus กับยาง Continental GP4000s เป็นชุดอะไหล่มาตรฐานในจักรยานของแมวทอง เวลาเทสต์เลยจับความรู้สึกเทียบกับคันอื่นๆ ที่เคยลองได้ไม่ยากนัก น้ำหนักทั้งคันออกมาที่ 7.1 กิโลกรัม

การตอบสนองแรง: 4.5/5

สั้นๆ เลยสำหรับเฟรม Aerfast มันเป็นอีกหนึ่งเฟรมที่ปั่นแล้วไม่รู้สึกเหมือนจักรยานแอโร คือมีความคล่องตัวสูง กระฉับกระเฉง บาลานซ์การถ่ายและการออกแรงของผู้ปั่นได้ดีทีเดียว รู้สึกได้ถึงความสติฟและแน่นของกระโหลก กดเค้นแล้วไม่มีอาการเสียแรง แต่ผมว่ามันยังขาดฟีลพุ่งปรู๊ดของ Aernario พอสมควร (เฟรมหนักกว่า) การขึ้นความเร็วยกสปรินต์ก็ถ่ายแรงได้ต่อเนื่องสมูทดี และให้ฟีลมั่นคงที่ความเร็วสูงๆ

การบังคับควบคุม: 4/5

เหมือนที่บอกไปข้างบน Geometry ที่เปลี่ยนไปมีผลกับ handling ของ Aerfast มากครับ จากที่ได้ลอง Storck มาแล้วเกือบทุกรุ่น เห็นชัดว่า Aerfast บังคับได้ใกล้เคียง Visioner C มากกว่า Aernario นั่นคือ ฟีลลิ่งที่ว่าถึงจะลงเขาด้วยความเร็วสูงก็ยังให้ความรู้สึกช้าและคุมรถอยู่ได้อย่างมั่นใจ หายไปหมด ซึ่งฟีลลิ่งมั่นคงและนิ่งๆ อันนี้เป็นจุดเด่นที่สุดของ Storck เลยก็ว่าได้ ก็เลยเสียดายเหมือนกัน

ฟีลลิ่งการบังคับของ Aerfast จะเหมือนเสือหมอบแข่งขันทั่วๆ ไป คือหน้าไวพอสมควรและรู้สึกเร็ว แต่ด้วยที่รถออกแบบมาได้สมดุลดีอยู่แล้วบวกกับระยะเชนสเตย์ที่ค่อนข้างสั้นเพราะใช้ดรอปเอาท์แนวนอน ก็ยังมีความคล่องตัวอยู่เวลาที่ต้องเจอโค้งหักๆ

อีกอย่างที่ช่วยเรื่องการควบคุมคือเบรคหลังแบบ Direct Mount ที่ฟีลลิงการเลียเบรคทำได้ดีกว่าเบรคแบบจุดยึดเดียวอย่างเห็นได้ชัด ตรงนี้ก็ทำให้การลงเขาง่ายขึ้นด้วยเพราะลดความเร็วได้ละเอียดกว่าปกติครับ

ด้วยความที่ทรงท่อมีขนาดใหญ่ เวลาเจอลมข้างแรงๆ ก็มีเป๋ได้เหมือนกันตามสไตล์เสือหมอบแอโร ตั้งแต่ลองมาก็เป๋ทุกคันครับ ยังไม่เจอคันที่ไม่เป๋ ท่อกว้างดักลม

ความสบาย: 4.25/5

จุดนี้ยังคงความเป็น Storck ได้ดีอยู่ คือออกแบบรถให้สติฟ แต่ก็ยังขี่สบาย ช่วงท่อคอซับแรงดีกว่า Aernario ช่วงหลังก็ไม่กระเทือนจนสะท้าน แต่ทั้งนี้มันก็ยังไม่ได้นิ่มแบบรถเอนดูรานซ์หรืออย่าง Colnago C60 ที่ DT เพิ่งรีวิวไปนะครับ ยังคงฟีลรถแข่งอยู่

Aerfast selected-2

ท่อคอแบบ tapered และค็อกพิทไม่ integrated แต่ผู้ใช้ก็สามารถเลือกใช้แฮนด์ หรือสเต็มที่ต้องการได้
ท่อคอแบบ tapered และค็อกพิทไม่ integrated แต่ผู้ใช้ก็สามารถเลือกใช้แฮนด์ หรือสเต็มที่ต้องการได้
เชนสเตย์กว้างและอวบ
เชนสเตย์กว้างและอวบ

 

สรุป

จุดเด่น

  • เฟรมคล่องตัว ให้ความรู้สึกลู่ลม น้ำหนักไม่มากนัก
  • ไม่นุ่มมาก แต่ก็สามารถลดแรงสั่นสะเทือนได้กับพื้นผิวขรุขระได้ดี
  • การควบคุม การเบรกและการเข้าโค้งบนพื้นที่สูงชันทำได้มั่นคง มีความคล่องตัวกว่าหมอบแอโรทั่วๆ ไป
  • ตอบสนองต่อแรงปั่นและแรงสปรินต์ได้ดี พุ่งกระชากไม่เสียจังหวะ
  • รองรับระบบเกียร์ทั้งแบบสายเคเบิลและไฟฟ้า
  • ดูแลรักษาง่าย จากการออกแบบที่ใช้อุปกณ์ร่วมกับ ยี่ห้อ อื่นๆได้ (ช่างชอบประกอบง่าย)
  • รูปทรงแปลกตา ไม่ค่อยซ้ำใคร

 

จุดที่ควรปรับปรุง 

  • ต้องซื้อเบรค direct mount ต่างหาก แต่ข้อดีคือเบรคนี้ให้ประสิทธิภาพการเลียเบรกที่ดีกว่าเบรคธรรมดา ตัวเลือกเบรค direct mount มีให้เลือกจาก FSA, Shimano และ Campagnolo แต่ SRAM ยังไม่มี
  • การถอดเปลี่ยนล้อหลังที่ต้องยอมมือเลอะจับโซ่ ด้วยการออกแบบที่ให้ความปลอดภัยเมื่อน็อตล้อหลังหลุดคลาย แล้วล้อไม่หลุดระหว่างการออกแรงปั่น
  • สีและ finish น่าจะเนียนเนี้ยบกว่านี้สักนิด
  • ถึงจะเป็นเฟรมแอโร ก็ยังจัดว่าไม่สุด อย่างเฟรมแอโรแบรนด์อื่นที่พยายามซ่อนทั้งสายเบรคและเกียร์จนหมดจดรวมถึงการใชแฮนด์แอโรน เฟรม Aerfast ยังเดินสายเหมือนจักรยานธรรมดา แน่นอนว่าง่ายต่อการซ่อมบำรุงและเลือกใช้อะไหล่ แต่ก็ขาดเรื่องความหล่อและลู่ลมไปพอสมควร (สายเคเบิ้ลนี่เอาจริงๆ แล้วกินหลายวัตต์ครับ) จริงๆ ตรงนี้เลือกหาแฮนด์แอโรมาใช้เองก็ช่วยได้ครับ
  • มิติและองศารถที่ขี่ง่ายขึ้นแต่เสียเอกลักษณ์ความเป็น Storck ไปเยอะเหมือนกัน
  • ราคา ยังคงความพรีเมียมแบบ Storck อยู่

8.5/10

ราคาเฟรมเซ็ต: 164,000 บาท

ตัวแทนจำหน่าย: BiB Bike

Official Site: www.storckworld.com

* * *
Aerfast selected-10
Aerfast selected-1

Aerfast selected-12

Screen Shot 2559-06-04 at 9.41.27 AM

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *