รีวิว: Storck Aernario G1

ถ้าใครอ่านรีวิวจักรยานบ่อยๆ คุณอาจจะพอรู้ว่า Storck Aernario เป็นจักรยานที่ได้รับรางวัลเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นจักรยานที่ดีที่สุดแห่งปีจาก Tour Magazine นิตยสารเทสต์จักรยานชื่อดังจากเยอรมันและอีกหลายๆ สำนักอย่าง Road.cc, Bikeradar, Cyclingweekly และ Cyclingtips

ถ้ามันดีจริงทำไมไม่สปอนเซอร์นักปั่นอาชีพ? DT เคยสัมภาษณ์มาร์คัส สตอร์ค เจ้าของแบรนด์ Storck Bicycle เมื่อสองปีก่อน เขาบอกว่า

“ถ้าจะเอาเงินและทรัพยากรจากบริษัทเล็กๆ ที่พนักงานไม่ถึง 30 คน ไปทุ่มให้โปรทีมปีละหลายล้านยูโร ผมเอาเงินมาพัฒนาสินค้าให้ดีที่สุดดีกว่า ทำไมลูกค้าผมต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนั้นด้วย?”

แน่นอนจักรยาน Storck ไม่ใช่แบรนด์ราคาถูก ตั้งแต่มาร์คัสเปิดบริษัทในปี 1995 Storck ขึ้นชื่อว่าเป็นบูทีคแบรนด์ประสิทธิภาพสูง DT เคยพูดถึงมาร์คัสและบริษัทของเขาหลายครั้งแล้วอ่านได้ที่ลิงก์นี้ และ ลิงก์นี้ครับ

เมื่อรู้ว่าจะได้ทดสอบจักรยานเบอร์หนึ่งในใจของรีวิวเวอร์ทั่วโลก โจทย์นี้ก็ยากทีเดียว บอกตามตรงว่าผมรู้สึก “ข้องใจ” กับสารพัดรางวัลที่ Aernario ได้มา คิดในใจว่า มันจะดีอะไรได้ขนาดนั้น? มันจะเหนือกว่าจักรยานยี่ห้ออื่นมากมายเชียวหรือ? ตอนที่เรารีวิว Storck Scenero ผมก็คิดว่ามันเป็นรถที่ดีมากๆ คันหนึ่ง นิ่ม ไหล บังคับดี แต่ยังไม่พุ่งติดเท้าถูกใจขาซิ่งเท่าไร

BiB Bike ผู้นำเข้า Storck ให้เฟรม Aernario เรามาลองหลายเดือน แล้วมันจะดีอย่างที่ว่ามั้ย? มาดูกันครับ

การออกแบบ

Aernario คือเฟรมแอโรหรือเปล่า? พอเห็นชื่อ “Aernario” แล้วคุณอาจจะคิดว่ามันคือจักรยานแอโรลู่ลมเหมือนที่กำลังเป็นกระแสกันตอนนี้ Storck เองก็โฆษณาว่ามันคือจักรยานแอโรด้วยการออกแบบท่อด้วยดีไซน์ ‘Sectional Aerodynamic Shaping’ แปลง่ายๆ คือถ้าคุณเอาเลื่อยหั่นเฟรมในแนวนอน (ground pararel) มันจะออกมาเป็นแบบนี้

SAS-Sectional-Aerodynamic-Shaping_01

 

สังเกตว่าลักษะท่อเวลาผ่าแนวนอนแล้ว ท่อต่างๆ ที่เห็นจะเป็นทรงหยดน้ำ (tear drop) ตั้งแต่ท่อนอน ท่อนั่ง ยันหางหลังครับ มาร์คัสแกเชื่อว่าลมปะทะจะเป็นลมที่ขนานพื้นเสมอ การออกแบบท่อทรงหยดน้ำที่ลู่ลมให้ขนานกับพื้นแทนที่จะตั้งฉากกับท่อนั่งเหมือนเฟรมแอโรยี่ห้ออื่นจะลด drag ได้ดีที่สุด…

แต่ผลการทดสอบในอุโมงค์ลมของ Tour Magazine ฉบับมกราคม 2014 (นิตยสารที่ให้ Aernario เป็นจักรยานยอดเยี่ยมแห่งปีนั่นหละครับ) เฟรม Aernario กลับได้ผลแอโร่แย่ที่สุดเทียบกับเสือหมอบแอโรแบรนด์อื่น (แต่คุณสมบัติอื่นๆ ดีกว่าคู่แข่งทั้งหมด)  ผมเคยถามมาร์คัสตอนมาเปิดตัวเฟรม Aerfast ที่ไทยว่า ผลทดสอบคุณมันอยู่ล่างสุดของตารางเลยนะ เขาค้านว่า “ในอุโมงค์ลมอาจจะใช่ แต่เวลาใช้งานบนถนนจริง จักรยานเราลู่ลมกว่า เพราะลมไม่ได้มาจากด้านหน้าอย่างเดียว มีทั้งด้านข้าง ด้านเฉียงและลมส่ง เราตั้งใจออกแบบให้ทรงท่อลดแรงปะทะในทุกๆ ทางครับ”

ส่วนนี้จะเชื่อใครเราคงต้องตัดสินใจเอง เพราะยังไม่เคยมีใครทดสอบความลู่ลมของเฟรมในชีวิตจริงแบบเทียบกันหลายๆ ยี่ห้ออย่างมีมาตรฐานครับ แต่ที่แน่ๆ เมื่อเทียบกับเฟรมแอโร่อื่นที่ DT เคยทดสอบ Aernario จะไม่มีปัญหาเรื่องรถเป๋เพราะลมตีข้างเลย

Storck ผลิตจักรยานแต่ละไซส์แบบ ‘proportional tubing’ นั่นคือแทนที่จะใช้ท่อต่างๆ สัดส่วนเดียวกันทั้งหมดทุกไซส์ (เช่นความหนาของท่อและการเลย์อัปชั้นคาร์บอน) Storck เลือกออกแบบท่อของแต่ละไซส์ให้พอดีกับขนาดของผู้ปั่น ผลที่ได้คือจักรยานไซส์ใหญ่สุดไปจนถึงเล็กสุดจะได้ฟีลลิ่งการปั่นเหมือนกันทั้งหมด ไม่มีอาการไซส์ใหญ่ย้วย ไซส์เล็กแข็งกระด้าง แต่ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย เป็นอะไรที่แบรนด์คู่แข่งเริ่มใช้ในการผลิตแล้วเหมือนกัน

เฟรมทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งหมด รวมถึงห้องกระโหลกและดรอปเอาท์ กระโหลกใช้ขนาด Pressfit 86.5 น้ำหนักเฟรมเริ่มต้นที่ 890 กรัม ตะเกียบหนัก 300 กรัม เฟรมซ่อนสายเกียร์และเบรค ใช้หลักอานขนาด 31.6mm รองรับเกียร์ไฟฟ้า

อีกจุดเด่นของเฟรม Aernario คือระบบรัดหลักอาน ซึ่งเป็นลักษระ seat-pin ซ่อนอยู่ใต้ท่อนอน นอกจากจะลดน้ำหนักเพราะไม่ต้องใช้รัดหลักอานต่างหากแล้วยังดูเรียบร้อยเพราะซ่อนอยู่ในตัวเฟรม เมื่อไม่ต้องมีรัดหลักอานต่างหากแล้ว ผู้ผลิตสามารถลดความยาวของท่อนั่ง (seat tube) ทำให้ชักหลักอานได้สูง หลักอานเลยมีระยะให้ตัวมากขึ้น (flex) กระจายแรงสะเทือนจากถนน ปั่นได้สบายขึ้น

Storck ใช้ดรอปเอาท์แนวนอน เหมือนจักรยานลู่ เขาอ้างว่ามันช่วยให้ออกแบบช่วงหางหลังได้สติฟขึ้น อาจจะดีจริงอย่างที่เขาบอกครับ แต่ปัญหาคือเวลาจะถอดใส่ล้อเพื่อเอาขึ้นรถยนต์หรือลงกระเป๋ามันจะไม่สะดวกเหมือนดรอปเอาท์แนวตั้ง ต้องใช้มือช่วยจนเปื้อน

 

Storck เป็นผุ้ผลิตรายแรกที่ผลิตตะเกียบจักรยานคาร์บอน ตะเกียบ Stiletto คู่นี้หนัก 300g เท่านั้น
Storck เป็นผุ้ผลิตรายแรกที่ผลิตตะเกียบจักรยานคาร์บอนตั้งแต่ปี 1995 ตะเกียบ Stiletto คู่นี้หนัก 300 กรัมเท่านั้น
ระบบรัดหลักอานที่ซ่อนในลักษณะ seat pin เพิ่มพื้นที่ให้หลักอานให้ตัวได้มากกว่าปกติ
ระบบรัดหลักอานที่ซ่อนในลักษณะ seat pin เพิ่มพื้นที่ให้หลักอานให้ตัวได้มากกว่าปกติ

 

มิติรถ (Geometry)

aernario geometry

เฟรม Aernario องศารถค่อนข้างซิ่ง ท่อคอสั้นและท่อนอนยาวกว่าปกติ ไซส์ 51cm ที่เราทดลอง ท่อนอนยาวถึง 538mm (และ effective top tube ปาไป 551mm!) นั่นหมายความว่าคุณต้องใช้สเต็มสั้นกว่าปกติที่เคยใช้เพราะระยะ reach ยาวกว่าเฟรมยี่ห้ออื่น จากปกติผมใช้สเต็มประมาณ 100mm คันนี้ใช้สเต็มแค่ 80mm ถ้าเซ็ตได้ลงตัวแล้วมันจะให้ฟีลที่มั่นคงมาก เป็นเอกลักษณ์ของจักรยาน Storck ทุกรุ่น

ดูในชาร์จ ท่อคอ Aernario อาจจะดูต่ำ (size 51, 115mm!) แต่สังเกตว่า stack ไม่ได้ต่ำ (ลองเปิดตาราง geometry ยี่ห้ออื่นเทียบดูครับ) เพราะตะเกียบ Storck ยาวกกว่าแบรนด์อื่นประมาณ​ 12mm บวกกับองศาท่อคอที่ค่อนข้างชัน

จะเห็นว่า Storck ฟิตไม่ค่อยเหมือนจักรยานยี่ห้ออื่น ถ้าคุณซื้อ Storck ต้องเช็คกับฟิตเตอร์ดีๆ ก่อนครับ จากที่ทดสอบทั้งหมด 3 คัน ผมได้ลองไซส์ 47 2 คัน (Scenero G2, Visioner C) และไซส์ 51 1 คัน (Aernario) ความสูง 165cm, Inseam 78cm แต่แขนยาวกว่าคนสูงเท่ากัน และชอบ handling ของไซส์ 51 มากกว่า ท่าปั้นก้มเหยียดและคุมรถได้นิ่งกว่าไซส์ 47
กระโหลก Pressfit 86.5

ประสิทธิภาพ

จักรยานคันที่ทดสอบมากับชุดเกียร์ Shimano Dura-Ace 9000 หลักอาน UNO คาร์บอน, แฮนด์คาร์บอน และสเต็มอลูจาก Syntace ล้อ Campagnolo Zonda กับยาง Specialized S-Works Turbo Cotton คันนี้เรามีโอกาสได้ปั่นร่วม 3 เดือนเต็มในทุกสภาพเส้นทาง รวมถึงได้ใช้ลงแข่ง 3 รายการครับ

ความพุ่ง: 5/5

มีจักรยานไม่กี่คันที่เวลาคุณได้ลองปั่นแล้วจะอดยิ้มไม่ได้ และ Storck Aernario เป็นหนึ่งในนั้น ไม่ใช่เฟรมที่เบาที่สุดในตลาดตอนนี้แต่รู้สึกได้ทันทีตั้งแต่กดลูกบันไดแรกว่ารถคันนี้เร่งได้ดี กดแล้วติดเท้ามากๆ จะออกแรงมากหรือน้อยเฟรมก็ตอบสนองรวดเร็วทันใจ

เฟรมให้ความรู้สึกว่องไว คล่องตัวกว่าที่คาด โดยเฉพาะเวลากดกระแทกขึ้นเขา รู้สึกปั่นขึ้นได้เรื่อยๆ ชวนให้คนปั่นอยากลุกขึ้นกระทืบบันไดแรงๆ อาการหน่วงไม่มีให้เห็น ตรงนี้ทำได้ดีกว่าเฟรมรุ่นน้องอย่าง Scenero และ Visioner C อย่างเห็นได้ชัดในเส้นทางเดียวกัน (ขึ้นเขาใหญ่ฝั่งด่านปราจีน) เป็นเฟรมที่ขึ้นเขาสนุกมากครับ

การควบคุม: 5/5 

เช่นเดียวกับเฟรม Scenero G2, Storck เป็นรถที่ให้ความรู้สึกมั่นคงที่สุดที่ DT เคยทดสอบ เข้าโค้งคมถูกใจขาซิ่งแต่ไม่มีอาการส่าย ถ้าจะให้อธิบายแบบเห็นภาพชัดๆ คือมันทำให้เรารู้สึกว่าเราลงเขาช้าลง (แต่จริงๆ ความเร็วไม่ได้ลดลง)

ฟีลลิ่งนี้มาจาก geometry ของรถที่เป็นเอกลักษณ์ ท่อนอนยาว ระยะ reach ยาว กับองศาท่อคอชันทำให้จุดศูนย์ถ่วงผู้ปั่นอยู่ต่ำ คุมรถได้มั่นคง, fork rake ที่สั้นกว่ายี่ห้ออื่นช่วยเพิ่มระยะ trail ทำให้รถนิ่งที่ความเร็วสูง และเชนสเตย์สั้นกว่าทุกแบรนด์ในตลาดทำให้ช่วงหลังรถสติฟถ่ายแรงเข้าโค้งได้คมกริบ ที่ทำเชนสเตย์สั้นได้ก็เพราะใช้ดรอปเอาท์แบบแนวนอนนั่นเอง

รวมกันแล้วเลยได้รถที่ handling สมบูรณ์แบบ เข้าโค้ง ลงเขาได้นิ่ง รู้สึกเราอยู่ในความควบคุมตลอดเวลา แต่อาจจะไม่ถูกจริตคนที่ชอบรถหน้าไวแบบฟีลรถสปอร์ตครับ

ความสบาย: 4.5/5 

การจะออกแบบจักรยานให้สติฟตอบสนองแรงกดดี แต่เฟรมก็ให้ตัว ลดความสะเทือนได้ด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย รถแข่งส่วนใหญ่อาจจะสติฟ แต่ก็ต้องยอมเสียเรื่องความสบายไปบ้าง Storck Aernario ก็เช่นกัน ไม่ใช่รถที่ “นิ่ม” ที่สุด แต่นิ่มมากในบรรดาเฟรมแข่ง บริเวณท่อคอ (headtube) ค่อนข้างแข็ง แต่ไม่ถึงกับกระด้างมือ

ถ้าอยากได้ความสบายสูงสุด แนะนำให้ใช้หลักอานและแฮนด์คาร์บอน…เฟรมราคาขนาดนี้จะไม่ใช้อะไหล่คาร์บอนก็กะไรอยู่

อะไหล่ส่วนอื่นคงไม่ลงรายละเอียดอะไรมาก กรุ๊ป Dura-Ace สับเปลี่ยนเกียร์ได้สมบูรณ์แบบ เร็ว แม่นยำ ฟีลลิ่งและแรงเบรคเป็นมาตรฐานของวงการ น่าเสียดายว่าไม่ได้ลองเฟรมกับล้อคาร์บอนดีๆ ถ้าได้ล้อน้ำหนักเบายาง tubular คงขี่สนุกกว่านี้ครับ

'Secret Sauce' ของ Storck ที่ทำให้รถ handling ดีเป็นพิเศษมาจากการออกแบบให้ท่อนอนยาวกว่าปกติ ทำให้จุดศูนย์ถ่วงผู้ใช้ต่ำ บังคับรถได้ง่ายไม่ส่าย ระยะฐานล้อสั้น ยและองศาท่อคอกับท่อนั่งที่ชันกว่าแบรนด์อื่น ช่วยให้เข้าโค้งความเร็วสูงได้คมแต่รถก็ยังนิ่ง ขี่ได้อย่างมั่นใจ

 

สรุป: ไร้เทียมทาน

จากที่สงสัยตั้งแง่ว่ามันจะเป็นเฟรมที่ขี่ดีจนได้รางวัลมากมายอะไรขนาดนั้น เทสต์กันเต็มที่ 3 เดือนก็พอเข้าใจว่าทำไมครับ Storck Aernario เป็นเฟรมที่ครบเครื่องในแบบที่น้อยเฟรมจะทำได้ ตอบสนองแรงกดดีเยี่ยม ออกตัวแบบพุ่งติดเท้า บังคับมั่นคง และขี่สบายไม่สะเทือนเหมือนเฟรมแข่งอื่นๆ

จุดเด่นที่สุดของ Aernario ไม่ใช่ความพุ่ง แต่เป็นเรื่องการบังคับควบคุมที่นิ่งและคม โดยรวมแล้วเป็นเฟรม all-round ที่ดีที่สุดที่ DT เคยทดสอบมาครับ ถึงจะไม่ใช่จักรยานที่แล่นใน Tour de France แต่การันตีได้เลยว่าประสิทธิภาพไม่เป็นรองเฟรมไหนๆ ในวงการโปร

ทั้งนี้ทั้งนั้น เฟรมจะดีแค่ไหนก็ไม่สามารถตอบโจทย์ทุกคนได้ Aernario มีองศาท่าปั่นยืดและต่ำ เจ้าของรถควรจะมีความยืดหยุ่นและแข็งแรงสักหน่อยเพื่อให้ขี่ได้สนุกที่สุด ถ้าจะซื้อ ก็แนะนำให้ไปทำฟิตติ้งก่อนครับ

แน่นอนว่าประสิทธิภาพขนาดนี้ก็มากับราคามหาโหดเช่นกัน เฟรมเซ็ตราคาตั้ง 189,000 บาท ทำให้ Storck Aernario เป็นหนึ่งในเฟรมเซ็ตเสือหมอบที่แพงที่สุดในตลาดตอนนี้ เฟรมไม่มีลวดลายให้เลือกมาก โลโก้สัญลักษณ์ต่างๆ ก็อาจจะไม่ถูกใจหลายๆ คน (น่าจะเป็นแบรนด์เดียวที่กล้าใช้ฟอนต์แบบ Serif!! มาร์คัสแกบอกว่ามัน “คลาสสิค” ดี…) เฟรมเป็นสีขาวด้านซึ่งเลอะง่ายและทำความสะอาดยาก*  ดรอปเอาท์แนวนอนก็กวนใจเวลาที่ต้องถอดล้อหลังบ่อยๆ ข้ออ้างเรื่องความลู่ลมก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ และราคาขนาดนี้เราหวังว่าน้ำหนักเฟรมน่าจะน้อยกว่านี้สักนิดนึงเมื่อเทียบกับคู่แข่งรุ่นใหม่ๆ ในตลาดครับ

*ในปี 2016 Storck Aernario G1 เปลี่ยนชื่อเป็น Aernario Pro G1 และเคลือบเฟรมแบบบเงา gloss ซึ่งน่าจะลดปัญหาการทำความสะอาดได้ คันที่เราลองเป็นรุ่นปี 2014 ครับ

ราคาเฟรมเซ็ต: 189,000

ตัวแทนจำหน่าย: BiB Bike Thailand

Official Site: www.storckworld.com

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *