DT พาเที่ยว: บุกบ้าน STORCK Bicycle (2)

“หลายคนวิจารณ์คุณว่า คุณออกแบบจักรยานเพื่อเอาชนะรีวิวนิตยสาร”
“ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นเรื่องผิดตรงไหน?”

“….”

“เอางี้ ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คนเยอรมันอย่างเราเป็นชาติที่ชอบการวัดผล”

“ถ้าอะไรที่มันประเมิณค่าด้วยตัวเลขไม่ได้ มันก็ไม่มีความหมายอะไร คอลัมนิสต์บอกว่าจักรยานคันนี้สติฟจังเลย ผมถามว่ามันสติฟแค่ไหนหละ? แล้วมันมีประโยชน์อะไรกับผู้บริโภค? คำพูดเชิงนามธรรมที่นิตยสารชอบใช้กันไม่มีความหมายอะไร ถ้ามันวัดผลไม่ได้”

ส่วนตัวผมอาจจะไม่เห็นด้วยกับความคิดของมาร์คัส จริงอยู่ว่าการวัดผลได้เป็นเรื่องที่ดี เพราะมันทำให้ความรู้สึกทางนามธรรมเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่การที่จักรยานให้ตัวได้ดี หรือมีค่าความสติฟมากที่สุดในห้องทดลอง อาจจะไม่ได้แปลว่ามันเป็นจักรยานที่ปั่นได้ดีที่สุดก็ได้ เพราะในการสร้างจักรยานหนึ่งคัน มันมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ไม่ใช่แค่องศารถและเกรดเนื้อคาร์บอน ความมหัศจรรย์ของผู้ผลิตจักรยานฝีมือดีคือการที่พวกเขาสามารถทำให้ปัจจัยที่จำเป็นออกมาลงตัวกลายเป็นจักรยานที่ปั่นดี ตามโจทย์การออกแบบของมัน แต่ละคนย่อมมีความรู้สึกต่อจักรยานแต่ละคันต่างกันไป ความชอบคาแรคเตอร์จักรยานของคนหนึ่งคนอาจจะไม่เหมือนอีกคนก็ได้

timeline-1990_04

มาร์คัส สตอร์ก เริ่มต้นชีวิตในวงการจักรยานตั้งแต่ปี 1970

พ่อแม่เขาเป็นเจ้าของร้านจักรยานเล็กๆ ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ร้านของครอบครัวสตอร์กเป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยานหลายๆ ยี่ห้อ จนปี 1986 มาร์คัสเริ่มขยับขึ้นมาดูแลกิจการร้านเต็มตัว เขาดึงเอาแบรนด์ชื่อดังอย่าง Trek และ Cannondale เข้ามาจำหน่ายในประเทศเยอรมันเป็นรายแรก

ถึงธุรกิจนำเข้าจักรยานจะไปได้ดี มาร์คัสก็ไม่หยุดความสนใจแค่การเป็นดีลเลอร์และผู้นำเข้า ช่วงต้นปี 1990 เขาเริ่มสร้างแบรนด์จักรยานของตัวเองในชื่อ 2-Danger และ Bike-Tech ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเข้าสู่การผลิตและออกแบบจักรยานเต็มตัว แบรนด์ของมาร์คัสมีผลงานที่น่าสนใจหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือขาจานคาร์บอนชิ้นแรกของโลกในชื่อ Power Arms ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 280 กรัม

แต่การทำธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง ถึงแบรนด์ส่วนตัวของเขาจะไปได้ดี แต่ธุรกิจนำเข้าจักรยานเริ่มมีปัญหา

“ปัญหาของการเป็นผู้นำเข้าสินค้าอยู่ที่ว่า ถ้าคุณมีปัญหากับแบรนด์เมื่อไร ธุรกิจของคุณก็มีสิทธิพังได้เดี๋ยวนั้น เพราะคุณเอาชีวิตไปฝากไว้กับเขา” และนั่นคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อ Trek ยุติการขายจักรยาน Klien ในเยอรมันทั้งหมดด้วยเหตุผลทางธุรกิจ (Trek ซื้อกิจการ Klein ไปก่อนหน้านี้) สำหรับครอบครัว Storck จักรยาน Klien คือแบรนด์ที่หล่อเลี้ยงธุรกิจนำเข้าของเขาเกือบทั้งหมด

“จะบอกว่าผมเจ๊งเลยก็ได้ เราแทบไม่เหลืออะไรเลย”

มาร์คัสใช้ know-how ที่เขาเรียนรู้ในวงการมาทั้งหมด ตัดสินใจรื้อฟื้นแบรนด์ Storck ที่พ่อแม่เขาเคยทำชื่อเสียงไว้อีกครั้ง ขณะเดียวกัน เขาตัดความสัมพันธ์กับ Trek โดยสิ้นเชิง Storck Bicycle เปิดตัวด้วยเฟรมอลูมินัมที่ทำในสหรัฐ Scenario Pro ซึ่งมาพร้อมกับตะเกียบคาร์บอน Stiletto ที่หนักเพียง 300 กรัม และยังถือสถิติตะเกียบเสือหมอบที่เบาและสติฟที่สุดในโลกเป็นเวลาหลายปี

ผลงานการออกแบบของมาร์คัสเริ่มเป็นที่ยอมรับในวงการจักรยานเยอรมัน และชนะรางวัลการออกแบบหลายสำนัก รางวัลที่เขาได้มามีมากเกินที่จะนำมาลงไว้ตรงนี้ (ดูได้ที่นี่) เป็นจุดที่น่าสนใจครับ เพราะผมสังเกตว่าผู้ผลิตจักรยานยุโรปหลายๆ เจ้าโดยเฉพาะชาวเยอรมัน ชอบที่จะส่งผลงานตัวเองเข้าประกวดมาก มี Storck เป็นเจ้าหลักที่ได้รางวัลแทบทุกปีจาก panel ชื่อดัง ทั้ง Red Dot Design Award, International Forum Design Award (iF) แต่ส่งแล้วก็ใช่ว่าจะชนะง่ายๆ เพราะอย่าง iF ผู้เข้าประกวดต้องเจอคู่แข่งกว่า 2,000 รายจาก 37 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า ซึ่ง Storck ชนะเกือบทุกปี ในมุมกลับกัน แบรนด์อเมริกันและคอนทิเนนทัลยุโรปจะไม่ค่อยสนใจเรื่องการประกวดเท่าไร

award-eins_02

“ผมว่าการกลับมาพัฒนาแบรนด์ Strock อีกครั้ง เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตของผม…”

“As you know, the rest is history.”

 

Back to the office

ตั้งแต่ที่ลงเรื่องไปเที่ยวสำนักงานใหญ่ Storck มีคนอ่านถามเข้ามาว่า ถ้ามาร์คัสทำธุรกิจที่ตัวเองเป็นหัวเรือคนเดียวอย่างนี้ วันนึงถ้าเขาตายไปจะทำยังไง? เป็นคำถามที่ผมก็เคยถามเขาเหมือนกัน ถึงแม้ธุรกิจจักรยานไฮเอนด์ของเขาจะดีขึ้นขนาดไหน (ตอนนี้มีโชว์รูมอยู่ในเยอรมัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทย) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมแทบทั้งหมดเป็นฝีมือของเขาเอง ถ้าถามว่า Storck คือแบรนด์อะไร? คงตอบได้ไม่ยากว่ามันคือลูกของมาร์คัส ถึงแม้จะอายุเข้า 50 ปี แต่เขายังเดินธุรกิจในรูปแบบเดียวกับ Startup ที่ลงไปมีส่วนร่วมในทุกองคาพยพของบริษัท รวมถึงการออกทัวร์ไปปั่นกับลูกค้า Storck รอบโลกปีละหลายทริป

ซึ่งมันทำให้เกิดคำถามเหมือนในกรณีของ Apple ที่ทุกคนต่างสงสัยว่าถ้า Jobs ตายไปแล้ว Apple จะยังเป็น Apple อยู่หรือเปล่า?

มาร์คัสบอกว่าเขาและภรรยา – เฮเลน่า ตัดสินใจที่จะไม่มีลูก และจะไม่มีนามสกุลสตอร์กคนต่อไปที่จะมาสานต่อกิจการ

“คุณไม่ใช่คนแรกที่ถามเรื่องนี้หรอก ผมคิดไว้ว่า ถ้าวันหนึ่งที่ผมหมดแรงทำงานแล้ว ผมอยากให้บริษัทนี้เป็นของพนักงานทุกคน”​

ซึ่งถึงวันนั้นแล้วจักรยาน Storck จะยังเป็น Storck อยู่หรือเปล่า เวลาเท่านั้นที่จะตอบได้ครับ

ในตอนที่สองเราจะมาดูส่วนที่เป็นออฟฟิศของ Strock Bicycle GMBH กัน

Storck HQ Visit (28 of 44)

1. เราวกกลับเข้ามาอาคารหลักที่เป็นโชว์รูม ซึ่งชั้นบนทางด้านหลังจะเป็นส่วนออฟฟิศ ที่นี่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยพอสมควร จะเข้าออกตึกต้องมีคีย์การ์ดสแกนเข้า แต่ว่าที่นี่ไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัย

Storck HQ Visit (30 of 44)

2. ห้องแรกที่เจอหลังขึ้นบันไดมาเป็นส่วนของโลจิสติกส์ที่ดีลกับซัพพลายเออร์และโรงงานของ Storck ในจีน จักรยาน Storck ผลิตในประเทศจีนทุกคัน ผมถามมาร์คัสว่าผู้บริโภครู้สึกยังไงกับการที่แบรนด์บูทีคอย่าง Storck ไม่ได้ทำมือในยุโรป เขาตอบกลับมาสั้นๆ “ผมไม่เคยปิดบังเรื่องแหล่งการผลิต เรามั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานการผลิต จะทำที่ไหนในโลกไม่ใช่เรื่องสำคัญ​ มันอยู่ที่ว่าคุณคุมคุณภาพได้ดีขนาดไหน”

Storck second (1 of 1)

3. ห้องทำงานของเฮเลน่า ภรรยาของมาร์คัส เฮเลน่าช่วยดูแลเรื่องหลังบ้านทั้งหมดของบริษัท

Storck HQ Visit (29 of 44)

4. กระเถิบเข้ามาอีกนิด ห้องถัดไปที่เราเห็นเป็นส่วนของฝ่ายบัญชีและการเงิน

Storck HQ Visit (36 of 44)

5. ส่วนที่เราสนใจที่สุดน่าจะเป็นแผนกดีไซน์และออกแบบครับ Storck มีดีไซน์เนอร์สองคน และวิศวกรสองคน

Storck HQ Visit (32 of 44)

6. รูปนี้วิศวกรกำลังโชว์ไฟล์ CAD ของเฟรม Storck Aerfast เฟรมแอโรรุ่นใหม่ให้เราดู เฟรม Aernario ถูกวิจารณ์จากหลายสำนักว่า ถึงแม้จะเป็นจักรยานที่สื่อหลายแห่งต่างยกให้เป็นจักรยานที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของวงการ แต่กลับไม่แอโรสมชื่อเอาเสียเลย มาร์คัสเลยอยากจะทำจักรยานที่แอโรที่สุดให้ได้

Storck second (1 of 1)-6

7. Storck มีแนวคิดเรื่องแอโรไดนามิกต่างกับผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ พอสมควร (ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมเฟรม Aernario ถึงทดสอบในอุโมงค์ลมได้ผลไม่ดีนัก) เฟรมแอโรทุกยี่ห้อในตลาดออกแบบท่อให้ลู่ลมในมุม 90 องศากับพื้น แต่มาร์คัสบอกว่า กระแสลมที่กระทบกับจักรยานจะมาในแนวขนานกับพื้นตลอดเวลา ไม่ใช่แนวตั้ง จึงเป็นที่มาของการออกแบบท่อในทรง Ground Pararrel Aerodamic ซึ่งถ้าเราตัดผ่าครึ่งเฟรม Aerfast จะพบว่าทรงท่อนั้นเป็นทรงหยดน้ำ (NACA Teardrop) ในลักษณะขนานกับพื้นตั้งแต่กระโหลกไปจนถึงท่อคอ! จะไม่ทำมุมฉากเหมือนเจ้าอื่นๆ ซึ่งตรงนี้ก็คงบอกไม่ได้ว่าทฤษฏีใครถูก มาร์คัสไม่เชื่อเรื่องการทดสอบในอุโมงค์ลมเพราะเขาคิดว่ามันไม่สะท้อนกระแสลมในชีวิตจริงเลยสักนิดเดียว

Storck HQ Visit (33 of 44)

8. นอกจากการดีไซน์เฟรมแล้ว Strock Bicycle ยังขึ้นชื่อเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บนจักรยาน มาร์คัสเชื่อว่าเหตุผลที่จักรยานคู่แข่งอาจจะมีประสิทธิภาพไม่ดีอย่างที่มันควรจะเป็นมาจาก การที่แบรนด์ต่างๆ พึ่งอะไหล่จากผู้ผลิต OEM มากเกินไป ชิ้นส่วนเล็กๆ อย่างรัดหลักอานก็มีผลต่อการใช้งาน ในภาพนี้วิศวะกำลังโชว์ดีไซน์รัดหลักอานน้ำหนักเบา (มาก) ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ไลน์การผลิต

Storck second (1 of 1)-2

9. ห้องนี้สำหรับฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง (คนเดียว) ซึ่งดูแลการออกแบบเว็บไซต์ของ Storck ด้วย

Storck HQ Visit (35 of 44)

10. โฉมใหม่ของเว็บ Storck อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรอบสุดท้ายก่อนเปิดตัวที่งาน Eurobike

Storck HQ Visit (37 of 44)

11. เข้ามาที่ห้องทำงานของมาร์คัส ห้องเรียบร้อยสไตล์เยอรมัน มีโน้ตบุ๊คที่ใช้ทำงานแค่เครื่องเดียว ตบแต่งด้วยเฟรมจักรยานที่เขาภูมิใจที่สุด

Storck HQ Visit (39 of 44)
Storck HQ Visit (38 of 44)

12. Fascenario 0.7 IS, Scenario, Aernario Signature…มาร์คัสมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Lightweight จักรยานส่วนตัวของเขาจะใช้ล้อ Lightweight เกือบทั้งหมด แถมเป็น Lightweight แบบ Custom made ซะด้วย

Storck second (1 of 1)-5
Storck second (1 of 1)-4

13. ในออฟฟิศ มาร์คัสเก็บหนังสือหลายเล่มที่ลงเรื่องจักรยาน Storck และเก็บผลงานการประกวดทั้งหมดไว้บริเวณชั้นบนสุดที่ใช้รับแขก คนที่มีที่ทับหนังสือเป็น headtube ต้นแบบนี่มันก็พอสะท้อนได้ว่าเขาภูมิใจในผลงานของตัวเองขนาดไหนครับ

Storck second (1 of 1)-3

14. ทัวร์สำนักงานใหญ่ Strock ก็จบลงเท่านี้ครับ ผมว่าเขาเป็นคนที่มีเอกลักษณ์มากคนหนึ่ง ในมุมมองของคนทั่วไป มาร์คัสอาจจะเป็นวิศวกรที่เก่งกาจ ออกแบบเฟรมชนะการประกวดได้หลายต่อหลายครั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาคือนักธุรกิจที่เก่งและประสบความสำเร็จมากครับ เขาจะไม่คุยอวดในจุดนี้เท่าไร มาร์คัสได้เปรียบคู่แข่งตรงที่เขามีมุมมองการออกแบบจักรยานและการทำมาร์เก็ตติ้งที่ไม่เหมือนใคร จนแบรนด์​ Storck อยู่ในพื้นที่ๆ โดดเด่นตลอดเวลา 

เขาเคยพูดว่า “เราโฆษณาไม่เก่ง คนอเมริกันออกแบบจักรยานใหม่ทุกปี ทุกครั้งจะพูดว่ามันดีกว่ารุ่นเก่า 10% นะ งั้นผมถามว่าเฟรมเก่า 5 ปีของเขา มันแย่กว่ารุ่นล่าสุด 50% เลยหรือ!? ก็คงไม่ใช่  Storck อาจจะไม่มีโมเดลจักรยานมากมายหลายรุ่น รถเราอาจจะไม่ได้อัปเดตทุกปีหรือสองปี แต่ผมเชื่อว่าเราออกแบบให้ดีที่สุดครั้งเดียวก็พอแล้ว ”

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *