หลายปีที่ผ่านมาจักรยาน Storck ขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์ระดับบูทีค ติดภาพลักษณ์จักรยานประสิทธิภาพสูง ในราคาที่สูงตามไปด้วย ซึ่งเป็นปัญหาของคนที่อยากจะเป็นเจ้าของแบรนด์ชื่อดังจากเยอรมนีแต่ทรัพย์ในกระเป๋าไม่ค่อยจะเอื้ออำนวย เพราะเฟรมเสือหมอบคาร์บอนรุ่น “เริ่มต้น” ของ Storck มากับราคาระดับ 7x,xxx+
แต่มาร์คัส สตอร์ก เจ้าของบริษัทเชื่อว่ามันคงดีกว่าถ้าเราสามารถผลิตจักรยานที่ดีให้นักปั่นเข้าถึง Storck ได้ง่ายขึ้น เช่นนั้นแล้ว เขาเลยผลิตโมเดลใหม่ออกมาเมื่อสิ้นปี 2014 นั่นคือ Storck Visioner C ซึ่งเป็นเฟรมคาร์บอนของ Storck ที่ราคาถูกที่สุดในไลน์อัปทั้งหมด (6x,xxx)
แน่นอนว่า Storck ยังคงอยากจะรักษาคาแรคเตอร์และฟีลการปั่นที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ไว้ แต่ก็ต้องการจะลดต้นทุนด้วย เช่นนั้นแล้วเฟรม Visioner C จึงมีน้ำหนักมากกว่าเฟรมรุ่นพี่อย่าง Scenero G3 และ Aernario อยู่ไม่น้อยกับน้ำหนักเฟรม 1,250g ในไซส์ 47cm มาคู่กับตะเกียบ Stiletto ที่หนัก 360g
สำหรับ Visioner C รุ่นเล็กที่สุดคือ 44cm ออกแบบมาให้เหมาะกับผู้หญิงและชาวเอเชียที่มีสรีระเล็กเป็นพิเศษโดยเฉพาะ
จักรยาน Storck มักจะมีดีกรีได้รางวัลทุกคัน Visioner C เองก็ได้รางวัล Road Bike of the Year จาก www.road.cc และได้ 4.5 เต็ม 5 ดาวจาก Bikeradar.com ทดสอบจริงจะเป็นยังไง? ลองมาดูกันครับ
การออกแบบ
เฟรม Visioner C ที่ DT ได้มาทดลองเป็นไซส์ 47cm จริงๆ แล้ว Storck มีเฟรมที่ชื่อ Visioner อยู่แล้วแต่เป็นเฟรมที่ทำจากอลูมินัม ตัว C ในชื่อ Visioner C จึงหมายถึงเฟรมที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์นั่นเอง ส่วนตะเกียบที่ให้มาก็เป็นฟูลคาร์บอน น้ำหนัก 360g มีรูปร่างเพรียวบาง
Proportional Tubing: แน่นอนว่าเฟรม Storck ต้องมากับเทคโนโลยี Proportional tubing หรือการออกแบบให้เฟรมทุกไซส์มีคาแรคเตอร์การปั่นคล้ายๆ กัน ขนาดความหนาของผนังท่อในเฟรมแต่ละไซส์จะต่างกันไป ไม่ได้ใช้ท่อขนาดเดียวกัน ทำให้ได้รถที่มีค่าความสติฟใกล้เคียงกันทุกไซส์ ตัดปัญหารถไซส์เล็กแข็งกระด้างและรถไซส์ใหญ่ปั่นแล้วรู้สึกย้วยเสียพลัง ส่วนตัวเฟรมนั้นทำจากเส้นใยคาร์บอนไฟเบอร์แบบทิศทางเดียว (uni-directional)
All Rounder Design: รูปทรงเฟรม Visioner C เป็นทรงรถที่เราเรียกว่ารถแนว “ไต่เขา” หรือแนว all-round ไม่ใช่ทรงลู่ล่มแอโรไดนามิคตามสมัยนิยม ซึ่งรถทรงนี้ก็จะเน้นการตอบสนองแรง การพุ่งกระชากทันใจ และความสบายเป็นหลัก
ท่อนอนเป็นทรงกึ่งๆ กลม หนาและมีขนาดใหญ่ ห้องกระโหลกก็ใหญ่เป็นพิเศษตามไซส์กระโหลก PressFit 86.5 ส่วนเชนสเตย์ค่อนข้างอวบหนาแน่น ช่วยลดอาการ flex ของช่วงหางหลังได้ดี ใช้คู่กับซีทสเตย์เพรียวบางช่วยกระจานแรงสะเทือนจากด้านหลังของรถ
Internal Cable Routing: เฟรมเดินสายแบบร้อยภายในทั้งหมด และรองรับชุดเกียร์ทั้งแบบ mechanical และไร้สาย มีจุดยึดแบตเตอรี่ Di2 ชัดเจน ติดตั้งได้ไม่ยาก
Rear Facing Dropout: แน่นอน Storck ยังคงใช้หางหลังแบบ rear facing dropout เหมือนจักรยานฟิกซ์เกียร์ ตรงนี้ช่วยเรื่อง geometry ของรถ ที่ทำให้เชนสเตย์สั้นเป็นพิเศษ ซึ่งส่งผลต่อการ handling บังคับรถ แต่ก็น่ารำคาญตรงที่เวลาถอดล้อ มันใส่ยากและเปื้อนมือเพราะยังไงก็ต้องจับโซ่ครับ
โดยรวมแล้ว เป็นการดีไซน์แบบ traditional ซึ่งรถสไตล์นี้มักจะมีความสติฟและรับแรงสะเทือนได้ดีอยู่แล้ว Storck เลือกผลิตไลน์สินค้าใหม่แทนที่การลดต้นทุน เพิ่มน้ำหนักเฟรมรุ่นเก่าอย่าง Scenero และ Aernario ให้ได้เฟรมที่ราคาถูกลง ซึ่งผมว่าเข้าท่าดี เพราะก็เป็นการแยกไลน์สินค้าชัดเจนไปเลย
มิติรถ (Geometry)
Storck ยังใช้มิติองศารถเหมือนกันแทบทุกรุ่น สำหรับ Visioner C ก็ไม่ต่าง นั่นคือเป็นรถสไตล์รถแข่ง ท่อคอสั้น ท่อนอนยาว บังคับให้เราปั่นในท่าที่ต้องก้มต่ำระดับหนึ่ง ทั้ง head / seat angle ยังใช้ 73.5 องศา เหมือนเดิม เมื่อใช้คู่กับ fork rake ระยะแค่ 38mm แล้วก็เป็นสูตรสำเร็จของ Storck ที่ให้คาแรคเตอร์การบังคับควบคุมที่มั่นคงและนิ่งเป็นเอกลักษณ์ของจักรยาน Storck ทุกรุ่น
ประสิทธิภาพ
DT ได้ลองจักรยานคันนี้นานเหมือนกันครับ ประมาณสองเดือน ระยะทางราว 600 กิโลเมตร และได้เอาไปใช้แข่งในงาน Rapha Prestige Penang ที่ต้องปีนเขากันกว่า 3,200 เมตรกับสภาพถนนที่ไม่ค่อยจะดีนัก สเป็คเรายังใช้ของเดิมๆ ที่ DT เคยใช้ทดสอบรถคันอื่น ล้อ Campagnolo Zonda, ยาง Specialized S-Works Turbo Cotton, ชุดแฮนด์สเต็ม Zero ซึ่งเป็นแบรนด์ Inhouse ของ Storck, หลักอาน Uno และเบาะ Specialized Romin Evo และชุดเกียร์ Shimano Ultegra 6800 Mechanical
การตอบสนองแรง: 4/5
เวลาที่ได้ขี่จักรยานโคตรมหาสติฟและพุ่งดีอย่าง Canyon Ultimate CF หรือ Storck Aernario แล้ว จักรยานที่ค่าตัวถูกกว่าครึ่งอย่าง Visioner จะมีประสิทธิภาพยังไง? คำตอบคือดีกว่าที่คิดเยอะเลยครับ บนเส้นทาง Prestige Penang ที่ต้องปีนเขาที่ชันที่สุดในเกาะปีนังนี่ เปิดโอกาสให้เราได้ย่ำทดสอบเฟรม Visioner พอดี ความรู้สึกที่ได้คือเฟรมตอบสนองแรงได้ดีมาก ไม่มีอาการ flex ย้วยให้เห็นเลย ไม่ว่าจะเป็นจังหวะที่ต้องไต่เขาความชันระดับ 15-18% หรือการพุ่งสปรินต์ออกจากโค้ง จุดเด่นอยู่ที่ห้องกระโหลกและท่อคอที่แน่นปั้ก ถ่ายส่งแรงได้มีประสิทธิภาพครับ
แต่ด้วยน้ำหนักเฟรมที่มากกว่ารุ่นพี่หลายร้อยกรัม และเลย์อัปที่คงไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรีดความสติฟทุกรูขุมขนอย่างเฟรมตัวท็อป ก็รู้สึกได้ว่าเฟรมยังตอบสนองได้ไม่ถึงขีดสุด แต่ก็จัดว่าดีเทียบเท่าเฟรมสไตล์เดียวกันในระดับราคานี้ ถ้าเทียบกับ Scenero รุ่นพี่ Visioner ให้ความรู้สึกส่งแรงได้ทันใจกว่า คงมาจากรูปทรงท่อแบบกลมที่เน้นการตอบสนองแรง เมื่อเทียบกับท่อทรงหยดน้ำของ Scenero ที่ไม่ให้ความรู้สึกระฉับกระเฉงนัก
เรื่องการควบคุมจัดว่าก็อปปี้เฟรมอื่นๆ ของ Storck ที่เราเคยเทสต์กันครบทุกด้านครับ Handling นิ่งและมั่นคง สร้างความมั่นใจให้คนปั่นได้ดี แต่จะมีฟีลที่ “ช้า” สักหน่อยเวลาเข้า-ออกโค้ง ถ้าชอบแนวปรู๊ดปร๊าดหน้าไวใจเร็วสไตล์วัยรุ่นเหมือนพวกรถโปรทัวร์อาจจะไม่ใช่แนว
คาแรคเตอร์การ handling ของ Storck มาจากมิติรถที่ไม่เหมือนใคร ระยะ trail ยาว, เชนสเตย์สั้น ช่วงหลังจึงแน่นและสติฟดีมาก บวกกับท่าปั่นที่ต้องก้มต่ำกว่ารถปกติช่วยให้จุดศูนย์ถ่วงต่ำและได้รถที่มั่นคงเวลาลงเขานั่นเอง
ความสบาย: 4.5/5
ส่วนนี้ผมคิดว่าทำได้ดีกว่า Aernario ไม่มีอะไรต้องคอมเมนต์มากนัก เฟรมซับแรงกระแทกดีถึงจะต้องเจอสภาพถนนผุๆ พังๆ ก็ไม่รู้สึกสะเทือนก้น ตะเกียบหน้าซับแรงดีเป็นจุดเด่นของตะเกียบ Storck อยู่แล้ว
สรุป: สมเหตุสมผล
ถ้าไม่ติดว่าอยากเล่นเสือหมอบแอโร่ Storck Visioner C ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวในระดับราคาหกหมื่น รวมๆ แล้วเป็นรถที่ดีไซน์ได้สมดุลดีระหว่างการตอบสนองแรง การบังคับควบคุมและความสบาย เป็นเสือหมอบรอบด้านที่ปั่นได้สนุกในทุกสภาพเส้นทางครับ ทั้งสายแข่งขันที่ต้องการรีดประสิทธิภาพและแบบขี่เล่นเน้นท่องเที่ยว อาจจะไม่ตอบโจทย์คนที่อยากได้รถแอโร่ไหลๆ เท่าไร แต่ Storck ก็มีออปชันอื่นให้คุณเลือกถ้าสนใจแนวนั้น
มีข้อติตรงไหน? น้ำหนักเฟรมน่าจะเบาได้กว่านี้กับเฟรมระดับราคานี้ครับ และผมก็ยังไม่ชอบดรอปเอาท์แบบ rear-facing อยู่ดีเพราะถอดล้อลำบาก และหวังว่าในอนาคตคงได้เห็นทรงท่อที่ลู่ลมขึ้นเล็กน้อย โดยยังคงคาแรคเตอร์รถ all-round อยู่ เหมือนกับที่ Cervelo, Canyon, Specilaized และ Scott ทำกับเฟรม all-round ของเขานั่นคือไม่ได้ทำท่อให้เป็นเฟรมทรงแอโร่ แต่ก็เพิ่มดีกรีความลู่ลมจากรูปทรงสมัยใหม่ครับ
คนที่ชอบ Storck อยู่แล้วแต่ไม่อยากแตะเฟรมราคาหกหลักก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ยังคงรักษาความเป็น Storck ได้ทุกด้าน
*รถที่เราทดสอบเป็นรุ่นพี่ 2014/2015 มากับสีฟ้า electric blue แต่สำหรับโมเดลปีใหม่จะเป็นสีดำด้านครับ
ราคาเฟรมเซ็ต: 68,000
ตัวแทนจำหน่าย: BiB Bike Thailand
Official Site: www.storckworld.com
* * *
คุณอาจจะเห็นว่า DT ไม่พูดถึงเรื่องความคุ้มค่าในการทดสอบสินค้าของเรา ทำไม? เราเชื่อว่าความคุ้มค่าเป็นเรื่องที่เป็นปัจเจกอย่างมากครับ สินค้าคุ้มค่าหรือไม่ เราวัดจากตรงไหน? เพียงแค่ประสิทธิภาพต่อราคาคงไม่เพียงพอ เพราะเช่นเดียวกับการซื้อสินค้าอื่นๆ แต่ละคนให้ค่ากับสิ่งของไม่เหมือนกัน แบรนด์บูทีคอย่าง Storck หรือ THM แน่นอนย่อมมีราคาสูงกว่าแบรนด์คู่แข่ง
สินค้าไฮเอนด์ทุกชนิดย่อมต้องผ่านจุดที่เรียกว่ากฏแห่งการเพิ่มขึ้นที่ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ (Law of diminishing return) นั่นคือ ไม่ว่าสินค้าจะดีเลิศแค่ไหน แต่ถึงจุดหนึ่งสัดส่วนประสิทธิภาพต่อราคามันย่อมไม่ได้ดีไปกว่าคู่แข่งในราคาใกล้ๆ กันหรือถูกกว่า มูลค่าในส่วนที่เพิ่มมาก็เป็นเรื่องของแบรนด์ การตลาด ภาษีสังคม และความพอใจของผู้ซื้อ ซึ่งแต่ละคนให้คุณค่าและมูลค่าในจุดนี้ไม่เหมือนกัน เราเชื่อว่าการตีค่าว่าสินค้าตัวไหนคุ้มไม่คุ้มจึงไม่มีประโยชน์ แต่แน่นอนว่าถ้าเราเจอสินค้าตัวไหนที่ประสิทธิภาพเกินราคาค่าตัวมันเราจะคอมเมนต์ไว้ในตัวรีวิวแน่นอนครับ